ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๓. ปิยทัสสีพุทธวงศ์

๑๓. ปิยทัสสีพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระปิยทัสสีพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุชาตะ ได้มีพระสยัมภูพระนามว่าปิยทัสสี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ไม่มีผู้เสมอเหมือน มีพระยศยิ่งใหญ่ [๒] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้มียศอันนับมิได้ ทรงรุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์ ทรงขจัดความมืดทั้งปวงแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร [๓] (สาวก)ของพระพุทธเจ้าผู้มีพระเดชไม่มีอะไรเปรียบปาน มีการบรรลุธรรม ๓ ครั้ง เทวดาและมนุษย์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ [๔] ท้าวสุทัสสนเทวราช มากราบทูลถึงมิจฉาทิฏฐิ พระศาสดาเมื่อจะทรงบรรเทามิจฉาทิฏฐิ ของท้าวเทวราชนั้นจึงทรงแสดงธรรม [๕] ครั้งนั้น มหาชนได้มาประชุมกันมากมาย ประมาณไม่ได้ เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๙,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๒ [๖] ในกาลที่พระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน ทรงฝึกช้างโทณมุข เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๘๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ [๗] แม้พระปิยทัสสีพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง พระสาวกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๑ [๘] พระมุนีขีณาสพประมาณ ๙๐ โกฏิ มาประชุมร่วมกัน ในการประชุมครั้งที่ ๓ มีพระมุนีขีณาสพประมาณ ๘๐ โกฏิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๓. ปิยทัสสีพุทธวงศ์

[๙] สมัยนั้น เราเป็นมาณพมีชื่อว่ากัสสปะ เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ จบไตรเพท๑- [๑๐] เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว เกิดความเลื่อมใส ได้บริจาคทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิสร้างสังฆาราม [๑๑] ครั้นถวายอารามแก่พระองค์แล้ว ร่าเริง ตื้นตันใจ ได้สมาทานสรณคมน์และเบญจศีลให้มั่นคง [๑๒] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับนั่ง ท่ามกลางสงฆ์ ทรงพยากรณ์เราว่า “ใน ๑๑๘ กัป มาณพนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า” พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๓] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยาจักประทับนั่งโคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสที่ที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ @เชิงอรรถ : @ ไตรเพท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวดๆ เรียกชื่อว่า ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท @และอาถรรพเวท (ที.สี. (แปล) ๙/๒๕๖/๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๓. ปิยทัสสีพุทธวงศ์

ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๓. ปิยทัสสีพุทธวงศ์

[๑๔] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป [๑๕] กรุงชื่อว่าสุธัญญะ กษัตริย์พระนามว่าสุทัตตะเป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าสุจันทาเป็นพระชนนี ของพระศาสดาพระนามว่าปิยทัสสี [๑๖] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๙,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือสุนิมมลปราสาท วิมลปราสาท และคิริคูหาปราสาท [๑๗] มีนางสนมกำนัล ๓๓,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าวิมลา พระราชโอรสพระนามว่ากัญจนาเวฬะ [๑๘] พระองค์ผู้สูงสุดแห่งบุรุษทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงราชพาหนะคือรถออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๑๙] พระมหาวีรมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ที่พระอุทยานอุสภวันน่ารื่นรมย์ใจ [๒๐] พระปาลิตเถระและพระสัพพทัสสีเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าโสภิตะเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระศาสดาพระนามว่าปิยทัสสี [๒๑] พระสุชาตาเถรีและพระธรรมทินนาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นกุ่ม [๒๒] สันทกอุบาสกและธรรมิกอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก วิสาขาอุบาสิกาและธรรมทินนาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์

[๒๓] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้มีพระยศนับไม่ถ้วน ทรงพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- มีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก ปรากฏดังต้นพญาไม้สาละ [๒๔] รัศมีไฟ รัศมีดวงจันทร์ รัศมีดวงอาทิตย์ ก็ไม่เหมือนกับพระรัศมีพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น หาผู้เสมอมิได้ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๕] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ มีพระจักษุ ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ในโลกประมาณ ๙๐,๐๐๐ ปี [๒๖] แม้พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนพระองค์นั้น แม้คู่พระอัครสาวกซึ่งไม่มีผู้เทียบเคียงเหล่านั้น ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ [๒๗] พระมุนีผู้ประเสริฐพระนามว่าปิยทัสสี เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อัสสัตถาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้น ที่อัสสัตถารามนั้น สูงถึง ๓ โยชน์ ฉะนี้แล
ปิยทัสสีพุทธวงศ์ที่ ๑๓ จบ
๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระอัตถทัสสีพุทธเจ้า
[๑] ในมัณฑกัปนั้นแล ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ทรงขจัดความมืด๒- ใหญ่ออกไปแล้ว ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ @ ความมืด หมายถึงความมืดคือโมหะ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๖๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๕๖-๖๖๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=205              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=7901&Z=7950                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=194              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=194&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=6696              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=194&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=6696                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :