ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
๒๑๕. จีวรรชนกถา
ว่าด้วยน้ำย้อมจีวร
เรื่องย้อมจีวรด้วยโคมัย
[๓๔๔] สมัยนั้น พวกภิกษุใช้โคมัยบ้าง ดินแดงบ้าง ย้อมจีวร จีวรมีสีคล้ำ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ ชนิด คือ น้ำย้อมจากรากไม้ น้ำย้อมจากต้นไม้ น้ำย้อมจากเปลือกไม้ น้ำย้อมจากใบไม้ น้ำย้อมจากดอกไม้ และน้ำย้อมจากผลไม้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๐๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๑๕. จีวรรชนกถา

เรื่องย้อมด้วยน้ำเย็น
สมัยนั้น พวกภิกษุใช้น้ำย้อมที่เย็นย้อมจีวร จีวรมีกลิ่นเหม็นสาบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหม้อย้อมขนาดเล็กไว้ ต้มน้ำย้อม”
เรื่องน้ำย้อมล้น
น้ำย้อมล้นออก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกตะกร้อกันน้ำล้น”
เรื่องไม่รู้ว่าน้ำย้อมเดือดแล้วหรือยังไม่เดือด
สมัยนั้น พวกภิกษุไม่รู้ว่าน้ำย้อมต้มเดือดแล้วหรือยังไม่เดือด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หยดหยาดน้ำลงใน น้ำหรือบนหลังเล็บ”
เรื่องยกหม้อน้ำย้อมลง
สมัยนั้น พวกภิกษุยกหม้อน้ำย้อมลงทำหม้อกลิ้งตกแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกระบวยตักน้ำย้อม เป็นภาชนะมีด้าม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๑๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๑๕. จีวรรชนกถา

เรื่องไม่มีภาชนะสำหรับย้อม
สมัยนั้น พวกภิกษุไม่มีภาชนะสำหรับย้อม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอ่างและหม้อไว้สำหรับ ย้อม”
เรื่องขยำจีวรในถาดและในบาตร
สมัยนั้น พวกภิกษุขยำจีวรลงในถาดบ้าง ในบาตรบ้าง จีวรปริขาด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรางสำหรับย้อม”
เรื่องตากจีวรบนพื้น
สมัยนั้น พวกภิกษุตากจีวรบนพื้นดิน จีวรเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องรองทำด้วยหญ้า”
เรื่องปลวกกัดเครื่องรองทำด้วยหญ้า
เครื่องรองทำด้วยหญ้าถูกปลวกกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวรและสายระเดียง”
เรื่องแขวนจีวรพับกลาง
พวกภิกษุแขวนจีวรพับกลาง น้ำย้อมหยดออกจากชายจีวรทั้งสองข้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๑๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ]

๒๑๕. จีวรรชนกถา

ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกมุมจีวรไว้”
เรื่องชายจีวรชำรุด
ชายจีวรชำรุด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตด้ายผูกมุมจีวร”
เรื่องน้ำย้อมหยดออกจากชายข้างเดียว
น้ำย้อมหยดออกจากชายข้างเดียว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ย้อมจีวร พลิกกลับ ไปกลับมาแต่เมื่อหยาดน้ำยังหยดไม่ขาดสาย อย่าเพิ่งหลีกไป”
เรื่องจีวรแข็ง
สมัยนั้น จีวรกลายเป็นผ้าเนื้อแข็ง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จุ่มลงในน้ำ”
เรื่องจีวรหยาบกระด้าง
สมัยนั้น จีวรเป็นผ้าหยาบกระด้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทุบด้วยฝ่ามือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒๑๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๒๐๙-๒๑๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=37              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=3860&Z=3898                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=147              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=147&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4846              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=147&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4846                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/brahmali#pli-tv-kd8:10.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/horner-brahmali#BD.4.405



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :