ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. พรหมชาลสูตร
ว่าด้วยข่ายแห่งพระสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ
เรื่องสุปปิยปริพาชกกับพรหมทัตมาณพ
[๑] ข้าพเจ้า๑- ได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป แม้สุปปิยปริพาชก๒- ก็ได้เดินทางไกล ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา พร้อมด้วยพรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์เช่นเดียวกัน ทราบว่า ในการเดินทางครั้งนั้น สุปปิยปริพาชกกล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วนพรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระ พุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะ ตรงกันข้ามอย่างนี้ขณะเดินตามหลังพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไป [๒] ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าประทับแรม ณ พระตำหนักหลวงใน พระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ แม้สุปปิยปริพาชกก็เข้าพักแรม ณ พระตำหนักหลวงในพระราชอุทยานกับพรหมทัตมาณพเช่นเดียวกัน ณ ที่นั้น สุปปิยปริพาชกก็กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วน พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะตรงกันข้ามอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ คำว่า ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่นๆ ในเล่มนี้ หมายถึงพระอานนท์ @ สาวกของครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร เป็นนักบวชปริพาชกนิกายหนึ่งที่นุ่งผ้าขาว (ที.สี.อ. ๑/๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

วิธีปฏิบัติเมื่อมีคนติเตียนหรือยกย่องพระรัตนตรัย

[๓] ครั้นเวลาใกล้รุ่ง ภิกษุหลายรูปลุกขึ้นนั่งสนทนากันในหอนั่ง๑- ว่า “ท่าน ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบว่าสัตว์มีอัธยาศัยต่างกัน ดังที่ สุปปิยปริพาชกผู้นี้กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วน พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะตรงกันข้ามขณะเดินตามหลัง พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไป” [๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้น จึง เสด็จไปที่หอนั่ง ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ เมื่อพวกข้าพระพุทธเจ้าลุกขึ้นเวลาใกล้รุ่งได้สนทนากันในหอนั่งว่า ‘ท่าน ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบว่าสัตว์มีอัธยาศัยต่างกัน ดังที่ สุปปิยปริพาชกผู้นี้กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วน พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะตรงกันข้ามขณะเดินตามหลัง พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไป’ เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระพุทธเจ้าพูดค้างไว้ ก็พอดี พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
วิธีปฏิบัติเมื่อมีคนติเตียนหรือยกย่องพระรัตนตรัย
[๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถึงคนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเตียน เรา กล่าวติเตียนพระธรรมหรือกล่าวติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม พวกเธอไม่ควรผูก อาฆาตแค้นเคืองขุ่นใจคนพวกนั้น ถ้าพวกเธอโกรธเคืองหรือไม่พอใจพวกเขา พวก เธอก็จะประสบอันตราย๒- เพราะความโกรธเคืองนั้นได้ อนึ่ง พวกเธอจะรู้ได้หรือว่าที่ พวกเขาพูดนั้นถูกหรือผิด” @เชิงอรรถ : @ อาคารทรงกลม ใช้เป็นที่พักร้อน โดยปกติจะมีสระน้ำและสวนดอกไม้ล้อมรอบ (ที.สี.อ. ๓/๔๓) @ อันตรายในที่นี้หมายถึง อุปสรรคต่อการบรรลุธรรมชั้นสูง (ที.สี.อ. ๖/๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

จูฬศีล

พวกภิกษุกราบทูลว่า “รู้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คำติเตียนนั้น ถ้าเป็นเรื่องไม่จริง พวกเธอควรชี้แจงให้ เห็นชัดว่า ‘เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่มี และไม่ปรากฏในพวกเรา’ [๖] ภิกษุทั้งหลาย ถึงคนพวกอื่นจะพึงกล่าวยกย่องเรา กล่าวยกย่องพระธรรม หรือกล่าวยกย่องพระสงฆ์ก็ตาม พวกเธอไม่ควรทำความรื่นเริงดีใจหรือกระหยิ่มใจ ต่อคนพวกนั้น ถ้าพวกเธอทำความรื่นเริงดีใจหรือกระหยิ่มใจต่อพวกเขา พวกเธอ ก็จะประสบอันตรายเพราะความรื่นเริงดีใจนั้นได้เช่นกัน คำยกย่องนั้น ถ้าเป็นเรื่อง จริง พวกเธอควรยืนยันให้เขารู้ชัดลงไปว่า ‘เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ถูกต้อง มีอยู่ และปรากฏในพวกเรา’
จูฬศีล
[๗] ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน๑- เมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็พึงกล่าวด้วยเรื่อง เล็กน้อย ต่ำต้อยเพียงเรื่องระดับศีลเท่านั้น คือ [๘] ปุถุชนเมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็จะพึงกล่าวว่า ๑. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อ สรรพสัตว์อยู่ ๒. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขา ไม่ได้ให้ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่ทรงเป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่ ๓. พระสมณโคดมทรงละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติ พรหมจรรย์๒- เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๓- อันเป็นกิจของชาวบ้าน @เชิงอรรถ : @ คนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้ เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนานานัปการ @ปุถุชนมี ๒ ประเภท คือ อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต และกัลยาณปุถุชน คนที่ได้ @รับการศึกษาอบรมทางจิตแล้ว (ที.สี.อ. ๗/๕๘-๕๙) @ พรหมจรรย์มีความหมายหลายนัย ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ หรือการงดเว้นจากเมถุนธรรม @(ที.สี.อ. ๑๘๙/๑๖๐) @ กิจของคนคู่ หมายถึงการร่วมประเวณีหรือการเสพสังวาสกัน (ที.สี.อ. ๘/๗๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

จูฬศีล

[๙] ๔. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ ตรัสแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก ๕. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจาก ฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่าย โน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน ตรัสแต่ ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี ๖. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากคำหยาบ คือ ตรัสแต่คำไม่มี โทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมาก รักใคร่พอใจ ๗. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ ตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย ตรัสคำที่มี หลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะ แก่เวลา [๑๐] ๘. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ๙. พระสมณโคดมเสวยมื้อเดียว ไม่เสวยตอนกลางคืน ทรงเว้นขาด จากการเสวยในเวลาวิกาล๑- ๑๐. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล ๑๑. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกาย ด้วยพวงดอกไม้ของหอมและเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่ง การแต่งตัว ๑๒. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่ ๑๓. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับทองและเงิน ๑๔. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๒- @เชิงอรรถ : @ เวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง เวลาวิกาลในที่นี้หมายถึง ผิดเวลาที่กำหนดไว้ คือตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึง @เวลาอรุณขึ้น (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕) @ หมายถึง ธัญญชาติที่มีเมล็ดมีเปลือกสมบูรณ์ พร้อมที่จะงอกได้ เช่นข้าวเปลือก (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

มัชฌิมศีล

๑๕. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ ๑๖. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี ๑๗. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย ๑๘. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ ๑๙. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร ๒๐. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา ๒๑. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน ๒๒. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร ๒๓. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการซื้อขาย ๒๔. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด ๒๕. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการ ตลบตะแลง หรือ ๒๖. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้นและการขู่กรรโชก
จูฬศีล จบ
มัชฌิมศีล
[๑๑] ปุถุชนเมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็จะพึงกล่าวว่า ๑. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่น ที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพรากพืชคาม๑- และภูตคาม๒- เหล่านี้ คือ พืชเกิดจากเหง้า เกิดจากลำต้น เกิดจากตา เกิดจาก ยอด เกิดจากเมล็ด @เชิงอรรถ : @ พืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก (ที.สี.อ. ๑๑/๗๘) @ ของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่ มี ๕ ชนิด คือ ที่เกิดจากเหง้า เช่นกระชาย, เกิดจากต้น เช่นโพ, @เกิดจากตา เช่นอ้อย, เกิดจากยอด เช่นผักชี, เกิดจากเมล็ด เช่นข้าว (ที.สี.อ. ๑๑/๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

มัชฌิมศีล

[๑๒] ๒. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการบริโภคของที่สะสมไว้ เช่นที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังบริโภคของ ที่สะสมไว้เหล่านี้ คือ สะสมข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอน เครื่องประทินผิว ของหอม และอามิส๑- [๑๓] ๓. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยัง ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศลอย่างนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การ ประโคมดนตรี การรำ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่น ตีกลอง การสร้างฉากบ้านเมืองให้งดงาม การละเล่นของคนจัณฑาล การเล่น กระดานหก การละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ การ แข่งชนโค การแข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา การ รำกระบี่กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม การจัด กระบวนทัพ การตรวจกองทัพ [๑๔] ๔. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการขวนขวายในการเล่นการพนัน อันเป็นเหตุแห่งความประมาท เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่ เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังขวนขวายในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความ ประมาทอย่างนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตา หรือ ๑๐ ตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถเล็กๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถเล็กๆ เล่นธนูเล็กๆ เล่นเขียนทาย เล่นทาย ใจ เล่นล้อเลียนคนพิการ [๑๕] ๕. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังใช้ที่นอนสูงใหญ่อย่างนี้ คือ เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย พรมขนสัตว์ เครื่องลาดขนแกะ ลายวิจิตร เครื่องลาดขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีลายรูปดอกไม้ เครื่องลาดยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายเช่นสีหะและเสือ เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ เครื่อง @เชิงอรรถ : @ อามิส คือวัตถุเครื่องล่อใจ เช่นเงินทองเป็นต้น ในที่นี้หมายถึง เครื่องปรุงอาหาร (ที.สี.อ. ๑๒/๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

มัชฌิมศีล

ลาดผ้าไหมประดับรัตนะ เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นางฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้ เครื่องลาดบนหลังช้าง เครื่องลาดบนหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดทำด้วยหนัง เสือ เครื่องลาดหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง [๑๖] ๖. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการขวนขวายในการประดับตกแต่ง ร่างกาย เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายในการประดับตกแต่งร่างกายอย่างนี้ คือ อบผิว นวด อาบน้ำหอม เพาะกาย ส่องกระจก แต้มตา ทัดพวงดอกไม้ ประทินผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับ ข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้ถือ ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้พระขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดและแส้ขนหางจามรี นุ่งห่มผ้าขาวชายยาว [๑๗] ๗. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากเดรัจฉานกถา๑- เช่นที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดเดรัจฉานกถาอย่างนี้ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมือง เรื่องชนบท๒- เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่อง คนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม [๑๘] ๘. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการพูดทุ่มเถียงแก่งแย่งกัน เช่นที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดทุ่มเถียง แก่งแย่งกันอย่างนี้ คือ ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่ผมรู้ทั่วถึง ท่านจะรู้ทั่วถึง ธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด แต่ผมปฏิบัติถูก คำพูดของผมมีประโยชน์ แต่คำพูดของท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควร พูดภายหลัง ท่านกลับพูดเสียก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ผมจับผิด คำพูดของท่านได้แล้ว ผมข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถก็จงหาทางแก้ คำพูดหรือเปลื้องตนให้พ้นผิดเถิด @เชิงอรรถ : @ เดรัจฉานกถา คือ ถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อ @ถกเถียงสนทนากัน (ที.สี.อ. ๑๗/๘๔) @ ในที่นี้หมายถึง เขตปกครองที่ประกอบด้วย เมือง (นคร) หลายๆ เมือง ตรงกับคำว่าแคว้นหรือรัฐในปัจจุบัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

มหาศีล

[๑๙] ๙. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังทำ หน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสารอย่างนี้ คือ รับเป็นสื่อให้พระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีและกุมารว่า ‘ท่านจงไปที่นี้หรือที่โน้น จงนำเอาสิ่งนี้ไป จงเอาสิ่งนี้มาจากที่โน้น’ หรือ [๒๐] ๑๐. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูด เลียบเคียง เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังพูดหลอกลวง เลียบเคียง หว่านล้อม พูดและเล็ม ใช้ลาภต่อลาภ
มัชฌิมศีล จบ
มหาศีล
[๒๑] ปุถุชนเมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็จะพึงกล่าวว่า ๑. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉาน- วิชา๑- เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยัง เลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนาย โชคลาง ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ พิธีเบิกแว่น เวียนเทียน พิธีซัดแกลบบูชาไฟ พิธีซัดรำบูชาไฟ พิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ พิธีเติมเนย บูชาไฟ พิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ พิธีพ่นเครื่องเซ่นบูชาไฟ พิธีพลีกรรมด้วยเลือด วิชาดู อวัยวะ วิชาดูพื้นที่๒- วิชาการปกครอง วิชาทำเสน่ห์๓- เวทมนตร์ไล่ผี วิชาตั้งศาลพระ ภูมิ วิชาหมองู วิชาว่าด้วยพิษ วิชาว่าด้วยแมงป่อง วิชาว่าด้วยหนู วิชาว่าด้วยเสียงนก วิชาว่าด้วยเสียงกา วิชาทายอายุ วิชาป้องกันลูกศร วิชาว่าด้วยเสียงสัตว์ร้อง @เชิงอรรถ : @ วิชาที่ขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน (ที.สี.อ. ๑๗/๘๔) @ ความรู้เรื่องลักษณะอันเป็นคุณเป็นโทษของทำเลที่ตั้งบ้านเรือน และเรือกสวนไร่นาเป็นต้น (ที.สี.อ. ๒๑/๘๘) @ อีกนัยหนึ่ง หมายถึง วิชาการรู้เสียงร้องของสุนัขจิ้งจอก (ที.สี.อ. ๒๑/๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

มหาศีล

[๒๒] ๒. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำนายลักษณะแก้วมณี ลักษณะไม้พลอง ลักษณะผ้า ลักษณะศัสตรา ลักษณะดาบ ลักษณะศร ลักษณะธนู ลักษณะอาวุธ ลักษณะสตรี ลักษณะบุรุษ ลักษณะเด็กชาย ลักษณะเด็กหญิง ลักษณะทาสชาย ลักษณะทาสหญิง ลักษณะช้าง ลักษณะม้า ลักษณะกระบือ ลักษณะโคอุสภะ ลักษณะโคสามัญ ลักษณะแพะ ลักษณะแกะ ลักษณะไก่ ลักษณะนกกระทา ลักษณะ เหี้ย ลักษณะตุ้มหู๑- ลักษณะเต่า ลักษณะมฤค [๒๓] ๓. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักเสด็จหรือ ไม่เสด็จ พระราชาในอาณาจักรจักทรงยกทัพเข้าประชิด พระราชานอกอาณาจักรจัก ทรงล่าถอย พระราชานอกอาณาจักรจักทรงยกทัพมาประชิด พระราชาในอาณาจักร จักทรงล่าถอย ชัยชนะจักตกเป็นของพระราชาในอาณาจักร ความปราชัยจักมีแก่ พระราชานอกอาณาจักร ชัยชนะจักตกเป็นของพระราชานอกอาณาจักร ความ ปราชัยจักมีแก่พระราชาในอาณาจักร พระราชาองค์นี้จักทรงชนะ พระราชาองค์นี้ จักทรงพ่ายแพ้ [๒๔] ๔. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ พยากรณ์ว่าจักมีจันทรคราส สุริยคราส นัก ษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักโคจรถูกทางหรือผิดทาง ดาวนักษัตรจักโคจร ถูกทางหรือผิดทาง จักมีอุกกาบาตและดาวตก แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง ดวงจันทร์ ดวง อาทิตย์ และดาวนักษัตรจักขึ้น ตก มัวหมอง แจ่มกระจ่าง จันทรคราส สุริยคราส หรือนักษัตรคราสจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือดาวนักษัตรโคจรถูก ทางจักมีผลอย่างนี้ โคจรผิดทางจักมีผลอย่างนี้ อุกกาบาตและดาวตก แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง จักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรขึ้น ตก มัวหมอง แจ่มกระจ่าง จักมีผลอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ อีกนัยหนึ่ง หมายถึง ยอดเรือน (ที.สี.อ. ๒๒/๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

มหาศีล

[๒๕] ๕. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ พยากรณ์ว่าฝนจะดี ฝนจะแล้ง จะหา ภิกษาหารได้ง่าย จะหาภิกษาหารได้ยาก จะมีความสงบร่มเย็น จะมีภัย จะมีโรค จะ ไม่มีโรค การคำนวณด้วยวิธีนับนิ้ว (มุททา) การคำนวณด้วยวิธีคิดในใจ (คณนา) การ คำนวณด้วยวิธีอนุมานด้วยสายตา (สังขาน) วิชาฉันทลักษณ์และโลกายตศาสตร์๑- [๒๖] ๖. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ฤกษ์ เรียงหมอน ฤกษ์หย่าร้าง ฤกษ์รวบรวมทรัพย์ ฤกษ์ใช้จ่ายทรัพย์ ทำให้โชคดี ทำให้ เคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนตร์ทำให้ลิ้นแข็ง ทำให้คางแข็ง ทำให้มือสั่น ทำให้คางสั่น ทำให้หูอื้อ เป็นหมอดูลูกแก้ว ใช้หญิงสาวเป็นคนทรง ใช้หญิงประจำ เทวาลัยเป็นคนทรง บวงสรวงดวงอาทิตย์และท้าวมหาพรหม ร่ายมนตร์พ่นไฟ ทำ พิธีเรียกขวัญ หรือ [๒๗] ๗. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน ร่ายมนตร์ขับผี ตั้งศาลพระภูมิ ทำกะเทยให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธีบวง- สรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนตร์ รดน้ำมนตร์ พิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ยาถ่าย ยาแก้โรค ลมตีขึ้นเบื้องบน ยาแก้โรคลมตีลงเบื้องต่ำ ยาแก้ปวดศีรษะ น้ำมันหยอดหู น้ำมัน หยอดตา ยานัตถุ์ ยาหยอดตา ยาป้ายตา เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษาเด็ก (กุมารเวช) การให้สมุนไพรและยา การใส่ยาแล้วล้างออกเมื่อโรคหาย ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปุถุชนกล่าวยกย่องตถาคต ก็พึงกล่าวด้วยเรื่องเล็กน้อย ต่ำต้อย เพียงเรื่องระดับศีลเท่านั้น
มหาศีล จบ
@เชิงอรรถ : @ โลกายตศาสตร์ ในที่นี้หมายถึง วิตัณฑวาทศาสตร์ คือ ศิลปะแห่งการเอาชนะผู้อื่นในเชิงวาทศิลป์ โดย @การอ้างทฤษฎีและประเพณีทางสังคมมาหักล้างสัจธรรม มุ่งแสดงให้เห็นว่าตนฉลาดกว่า มิได้มุ่งสัจธรรม @แต่อย่างใด (ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

ทิฏฐิ ๖๒
ปุพพันตกัปปิกวาทะ ๑๘
ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอดีต
[๒๘] ภิกษุทั้งหลาย มีธรรมเหล่าอื่นอีกที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคต๑- รู้ แจ้งได้เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้อง ตามความเป็นจริง ก็ธรรมที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก ... อันเป็นเหตุให้คน กล่าวยกย่องตถาคตตามความเป็นจริง คืออะไรบ้าง [๒๙] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์๒- พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มี ความเห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิ ต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภ อะไรจึงกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วน อดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง
สัสสตวาทะ ๔
เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง
[๓๐] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตา๓- และโลกว่าเที่ยงด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไร ปรารภอะไรจึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยงด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง
มูลเหตุที่ ๑
[๓๑] ๑. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิด @เชิงอรรถ : @ คำว่า ตถาคต ในที่นี้ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสหมายถึงพระองค์เอง แทนคำว่า “เรา” (อุตตมบุรุษ) @ เป็นคำเรียกพราหมณ์พวกหนึ่งที่เป็นสมณะ ชื่อว่าเป็นสมณะโดยการบวช และชื่อว่าเป็นพราหมณ์โดย @ชาติกำเนิด (ที.สี.อ. ๒๙/๙๕) @ อัตตาในที่นี้หมายถึง วิญญาณอมตะหรืออาตมัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

อย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิ๑- ที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น (บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มี กิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง) ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติบ้าง หลายแสนชาติบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ อย่างนั้นๆ จุติ(เคลื่อน)จากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่าง นั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ ชีวประวัติอย่างนี้ เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจ เสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยง อยู่แน่ เพราะเหตุอะไร เพราะว่าเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ บ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติ บ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติบ้าง หลายแสนชาติบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ อย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มี ตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมา เกิดในภพนี้ เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ อย่างนี้ เพราะการได้บรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ และเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’ @เชิงอรรถ : @ สมาธิแห่งจิต คือสมาธิในรูปาวจรจตุตถฌาน (ที.สี.อ. ๓๑/๙๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง
มูลเหตุที่ ๒
[๓๒] ๒. อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภอะไร จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความ เพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่าง ถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๑- บ้าง ๒ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๓ สังวัฏฏกัปและ วิวัฏฏกัปบ้าง ๔ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๕ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมี อายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสา ระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่ แน่ เพราะเหตุอะไร เพราะว่าเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้ง มั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๒ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๓ สังวัฏฏกัป และวิวัฏฏกัปบ้าง ๔ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๕ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมี @เชิงอรรถ : @ สังวัฏฏกัป คือ กัปฝ่ายเสื่อม, ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป คือ กัปฝ่ายเจริญ, ช่วงระยะเวลา @ที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

อายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เราระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เพราะการได้บรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้ อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์ เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง
มูลเหตุที่ ๓
[๓๓] ๓. อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภอะไร จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความ เพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่าง ถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๒๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๓๐ สังวัฏฏกัป และวิวัฏฏกัปบ้าง ๔๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไป เกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวย สุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกถึงชาติก่อน ได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสา ระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่ แน่ เพราะเหตุอะไร เพราะว่าเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้ง มั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๒๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๓๐ สังวัฏฏกัป และวิวัฏฏกัปบ้าง ๔๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกถึง ชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เพราะการได้ บรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่ เที่ยงอยู่แน่’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง
มูลเหตุที่ ๔
[๓๔] ๔. อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภอะไร จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็นนักตรรกะ๑- เป็นนักอภิปรัชญา๒- แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการคาดคะเนความจริงอย่างนี้ว่า ‘อัตตา และโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อม แล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง @เชิงอรรถ : @ นักตรรกะ(ตกฺกี) ผู้ที่ให้เหตุผลตามแนวของตรรกศาสตร์ (Logic) มี ๔ จำพวก คือ อนุสสติกะ อนุมาน @จากข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ ชาติสสระ อนุมานโดยการระลึกชาติ ลาภิตักกิกะ อนุมานจากประสบการณ์ @ภายในของตน และ สุทธิตักกิกะ อนุมานโดยใช้เหตุผลล้วนๆ (ที.สี.อ. ๓๔/๙๘) @ นักอภิปรัชญา(วีมํสี) ผู้ที่ให้เหตุผลโดยการคาดคะเนความจริงเอาจากการเทียบเคียงจนพอใจถูกใจแล้วยึด @ถือเป็นทฤษฎี เช่น คาดคะเนในเรื่องที่เกี่ยวกับปฐมเหตุของโลกและจักรวาล (ที.สี.อ. ๓๔/๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ เอกัจจสัสสตวาทะ ๔

สรุปสัสสตวาทะ
[๓๕] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตา และโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมี วาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุทั้ง ๔ อย่างนี้ หรือด้วย มูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ [๓๖] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคลยึด ถืออย่างนี้แล้ว ย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้นๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยังรู้ชัด ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่นเมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเองรู้ความเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึงหลุดพ้น เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น [๓๗] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้ เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม ความเป็นจริง
ภาณวารที่ ๑ จบ
เอกัจจสัสสตวาทะ ๔
เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยงเป็นบางอย่าง
[๓๘] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วย มูลเหตุ ๔ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไร จึงมีวาทะ ว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บาง อย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง [๓๙] ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่งเมื่อล่วงไปนานๆ โลกนี้พินาศ เมื่อโลกกำลัง พินาศเหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่อาภัสสรพรหมโลก นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมาน อันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ เอกัจจสัสสตวาทะ ๔

[๔๐] สมัยหนึ่ง เมื่อล่วงไปนานๆ โลกนี้กลับฟื้นขึ้น เมื่อโลกกำลังฟื้นขึ้น วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า เวลานั้นสัตว์ผู้จุติจากชั้นอาภัสสรพรหมโลก เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ ย่อมเกิดที่วิมานพรหมอันว่างเปล่า นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน [๔๑] เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานแต่ผู้เดียวเป็นเวลานานจึงเกิดเบื่อหน่ายว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นพึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ต่อมา สัตว์เหล่าอื่นจุติจากชั้น อาภัสสรพรหมโลกเพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ ย่อมเกิดที่วิมานพรหมเป็นผู้อยู่ร่วมกับ สัตว์นั้น แม้สัตว์พวกนั้นนึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมี ซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นาน แสนนาน [๔๒] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์พวกนั้น ผู้เกิดก่อนมีความคิดอย่างนี้ว่า เรา เป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุม อำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดา ของสัตว์ผู้เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิด เราบันดาลสัตว์เหล่านี้ขึ้นมา เพราะเหตุไร เพราะว่าเรามีความคิดมาก่อนว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นพึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง เรา มีความตั้งใจอย่างนี้และสัตว์เหล่านี้ก็ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลังก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญนี้เป็นพระพรหม เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของ สัตว์ผู้เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิด พระพรหมผู้เจริญบันดาลพวกเราขึ้นมา เพราะ เหตุไร เพราะว่าพวกเราได้เห็นพระพรหมองค์นี้เกิดในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดมา ภายหลัง [๔๓] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์พวกนั้น ผู้เกิดก่อนมีอายุยืน ผิวพรรณ งดงามและมีศักดิ์มากกว่า ส่วนผู้เกิดภายหลังมีอายุสั้น ผิวพรรณทรามและมีศักดิ์ น้อยกว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ เอกัจจสัสสตวาทะ ๔

มูลเหตุที่ ๑
[๔๔] ๕. (๑) ข้อที่สัตว์ผู้จุติ (เคลื่อน) จากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้๑- เป็น เรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อเขามาเป็นอย่างนี้แล้วออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อ บวชแล้วอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็น เหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เป็นพระพรหมผู้เจริญ เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด พระ พรหมผู้เจริญบันดาลพวกเราขึ้นมา ท่านเป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จัก ดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นบันดาลขึ้น มากลับเป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน อายุสั้น ต้องจุติมาเป็นอย่างนี้’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้วจึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่าง เที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง
มูลเหตุที่ ๒
[๔๕] ๖. (๒) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไรจึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลก ว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลาย มีเทวดาพวกหนึ่งชื่อว่า ขิฑฑาปโทสิกะ เทวดาพวกนั้นหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลา เมื่อหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาย่อมหลงลืมสติ เพราะหลง ลืมสติจึงพากันจุติจากชั้นนั้น @เชิงอรรถ : @ จากพรหมโลกมาเกิดเป็นมนุษย์ (ที.สี.อ. ๔๔/๑๐๓-๑๐๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ เอกัจจสัสสตวาทะ ๔

[๔๖] ข้อที่สัตว์ผู้จุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ เขามาเป็นอย่างนี้แล้วออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอาศัยความ เพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘พวกเทวดาผู้เจริญ ผู้ไม่ใช่เหล่าขิฑฑาปโทสิกะย่อมไม่ หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลา เมื่อไม่หมกมุ่นอยู่ในความ สนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาย่อมไม่หลงลืมสติ เพราะไม่หลงลืมสติจึงไม่จุติจาก ชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราเหล่าขิฑฑาปโทสิกะมัวแต่หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮา เกินเวลา เมื่อหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาย่อมหลงลืมสติ เพราะหลงลืมสติจึงต้องจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน อายุสั้น ต้องจุติมา เป็นอย่างนี้’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บาง อย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง
มูลเหตุที่ ๓
[๔๗] ๗. (๓) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลาย มีเทวดาพวกหนึ่งชื่อว่ามโนปโทสิกะ เทวดาพวกนั้นมัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อมัวจ้องจับผิดกันและกันเกิน ควรจึงคิดมุ่งร้ายต่อกัน เมื่อคิดมุ่งร้ายต่อกันจึงเหนื่อยกายเหนื่อยใจพากันจุติจาก ชั้นนั้น [๔๘] ข้อที่สัตว์ผู้จุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ เขามาเป็นอย่างนี้แล้วออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอาศัยความ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อันตานันติกวาทะ ๔

เพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘พวกเทวดาผู้เจริญ ผู้ไม่ใช่เหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่มัว จ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อไม่มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควรก็ไม่คิดมุ่งร้าย ต่อกัน เมื่อไม่คิดมุ่งร้ายต่อกันก็ไม่เหนื่อยกายเหนื่อยใจจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวก เราเหล่ามโนปโทสิกะมัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อมัวจ้องจับผิดกันและกัน เกินควรจึงคิดมุ่งร้ายต่อกัน เมื่อคิดมุ่งร้ายต่อกัน จึงเหนื่อยกายเหนื่อยใจ พากันจุติ จากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน อายุสั้น ต้องจุติมาเป็นอย่างนี้’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บาง อย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง
มูลเหตุที่ ๔
[๔๙] ๘. (๔) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็น นักตรรกะ เป็นนักอภิปรัชญา แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการคาด คะเนความจริงอย่างนี้ว่า ‘สิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เรียกว่าอัตตา เป็นของไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน ต้องผันแปร ส่วนสิ่งที่เรียกว่าจิต ใจ วิญญาณ นี้เรียกว่าอัตตา เป็นของเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไป เช่นนั้นทีเดียว’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บาง อย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อันตานันติกวาทะ ๔

สรุปเอกัจจสัสสตวาทะ
[๕๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บาง อย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บาง อย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ทั้ง ๔ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ [๕๑] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคล ยึดถืออย่างนี้แล้วย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้นๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัดและยังรู้ ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึง หลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น [๕๒] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้ เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม ความเป็นจริง
อันตานันติกวาทะ ๔
เห็นว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด๑-
[๕๓] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลก ไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ก็ สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลก ไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง @เชิงอรรถ : @ คำว่า ที่สุด ในที่นี้หมายถึงขอบเขตของโลก ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง และตามขวาง ซึ่งเป็นข้อที่ยกขึ้นโต้แย้งกัน @ว่า โลกมีขอบเขตกำจัด หรือไม่มีขอบเขตจำกัด (ที.สี.อ. ๕๔/๑๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อันตานันติกวาทะ ๔

มูลเหตุที่ ๑
[๕๔] ๙. (๑) ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัย ความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิต ให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจว่าโลกมีที่สุด เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘โลกนี้มีที่สุด มีสัณฐานกลม เพราะเหตุไร เพราะเราอาศัย ความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำ จิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจว่าโลกมีที่สุด เพราะการบรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่โลก นี้มีที่สุด และมีสัณฐานกลม’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด
มูลเหตุที่ ๒
[๕๕] ๑๐. (๒) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มี ที่สุด ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัยความเพียรเครื่อง เผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัย การใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจว่า โลกไม่มีที่สุด เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดไม่ได้ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่าง นี้ว่า โลกนี้มีที่สุด มีสัณฐานกลม เป็นผู้กล่าวเท็จ (ที่จริงแล้ว) โลกนี้ไม่มีที่สุด หา ที่สุดไม่ได้ เพราะเหตุไร เพราะเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้ง มั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดไม่ได้ เพราะการบรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดไม่ได้’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อันตานันติกวาทะ ๔

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด
มูลเหตุที่ ๓
[๕๖] ๑๑. (๓) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไรจึงมีวาทะว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มี ที่สุด ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัยความเพียรเครื่อง เผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการ ใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจโลกว่า ด้านบนด้านล่างมีที่สุด ด้านขวางไม่มีที่สุด เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘โลกนี้ทั้งมีที่สุดและไม่มีที่สุด สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่าง นี้ว่า โลกนี้มีที่สุด มีสัณฐานกลม เป็นผู้กล่าวเท็จ แม้สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่าง นี้ว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดไม่ได้ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ (ที่จริงแล้ว) โลกนี้ทั้งมีที่สุด และไม่มีที่สุด เพราะเหตุไร เพราะเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจโลกว่า ด้านบนด้านล่างมีที่สุด ด้านขวางไม่มีที่สุด เพราะการบรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่โลกนี้ทั้งมีที่สุดและ ไม่มีที่สุด’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด
มูลเหตุที่ ๔
[๕๗] ๑๒. (๔) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภ อะไร จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็นนักตรรกะ เป็นนัก อภิปรัชญา แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการคาดคะเนความจริงอย่างนี้ ว่า ‘โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้มีที่สุด มีสัณฐานกลม เป็นผู้กล่าวเท็จ แม้สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อมราวิกเขปวาทะ ๔

หาที่สุดไม่ได้ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ แม้สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้ทั้งมีที่สุด และไม่มีที่สุด ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ (ที่จริงแล้ว) โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด
สรุปอันตานันติกวาทะ
[๕๘] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลก ไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่างนี้แล ก็ สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ทั้ง ๔ อย่างนี้หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ [๕๙] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคล ยึดถืออย่างนี้แล้วย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้นๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยังรู้ ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึง หลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น [๖๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้ เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม ความเป็นจริง
อมราวิกเขปวาทะ๑-
ความเห็นหลบเลี่ยง ไม่แน่นอน
[๖๑] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะหลบเลี่ยง @เชิงอรรถ : @ ลัทธิที่มีความเห็นหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นความเห็นที่ลื่นไหลจับได้ยากเหมือนปลาไหล @(ที.สี.อ. ๖๑/๑๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อมราวิกเขปวาทะ ๔

ไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนด้วย มูลเหตุ ๔ อย่าง
มูลเหตุที่ ๑
[๖๒] ๑๓. (๑) ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล’ เขามีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราไม่ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็น กุศลหรือเป็นอกุศล จะพึงตอบว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คำตอบก็จะเป็นเท็จ คำเท็จนั้นจะนำความเดือดร้อนซึ่งจะนำอันตรายมาให้แก่เราได้’ ดังนั้น เขาจึงตอบว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศลก็หามิได้’ เพราะกลัวและรังเกียจการกล่าวเท็จ เมื่อ ถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ จึงกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่า ‘เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าว หลบเลี่ยงไม่แน่นอน
มูลเหตุที่ ๒
[๖๓] ๑๔. (๒) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อม กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ไม่รู้ ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล’ เขามีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดว่ สิ่งนี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จะพึงตอบว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) โทสะ (ความขัดเคือง) ปฏิฆะ (ความขัดใจ) จะพึงมีแก่เราได้ เรื่องนี้จะเป็นเหตุให้เรายึดมั่นอันจะนำความเดือดร้อนซึ่งจะนำอันตรายมาให้แก่เราได้’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อมราวิกเขปวาทะ ๔

ดังนั้น เขาจึงตอบว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศลก็หามิได้’ เพราะกลัวและ รังเกียจการยึดมั่น เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ จึงกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ว่า ‘เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว ปรารภแล้วจึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อม กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน
มูลเหตุที่ ๓
[๖๔] ๑๕. (๓) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภ อะไร จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าว หลบเลี่ยงไม่แน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ไม่รู้ชัดตาม ความเป็นจริงว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล’ เขามีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็น อกุศล จะพึงตอบว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต มี ปัญญาลึกซึ้ง ชำนาญการโต้วาทะ แม่นยำดุจขมังธนูมีอยู่แน่แท้ สมณพราหมณ์ เหล่านั้นจะเที่ยวกล่าวแก้ทิฏฐิด้วยปัญญา พวกเขาจะซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนเราใน เรื่องนี้ เราจะไม่อาจโต้ตอบได้ การโต้ตอบไม่ได้นั้นจะทำให้เราเดือดร้อนซึ่งจะ นำอันตรายมาให้แก่เราได้’ ดังนั้น เขาจึงตอบว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศล ก็หามิได้’ เพราะกลัวและรังเกียจการซักถาม เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ จึง กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่า ‘เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่าง อื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าว หลบเลี่ยงไม่แน่นอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อมราวิกเขปวาทะ ๔

มูลเหตุที่ ๔
[๖๕] ๑๖. (๔) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไรจึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อม กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็น คนเขลางมงาย เพราะความเขลางมงาย พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อม กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่า ‘ถ้าท่านถามเราอย่างนี้ว่า โลกหน้ามีจริงหรือ หากเรา มีความเห็นว่า โลกหน้ามีจริง ก็จะตอบว่า มีจริง แต่เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ถ้าท่านถามเรา ว่า โลกหน้าไม่มีหรือ หากเรามีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี ก็จะตอบว่า ไม่มี ฯลฯ ถ้าท่านถามเราว่า โลกหน้ามีและไม่มีหรือ ฯลฯ โลกหน้าจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็ มิใช่หรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิด๑- มีจริงหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ ที่ผุดเกิดมีและไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริงหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มีหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีและไม่มีหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรม ชั่วจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคต๒- เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้วตถาคตเกิด อีกและไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิด อีกก็มิใช่หรือ หากเรามีความเห็นว่า หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ ก็จะตอบว่า หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะ ว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ แต่เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าว หลบเลี่ยงไม่แน่นอน @เชิงอรรถ : @ โอปปาติกะ สัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดา @และสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) @ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่นๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ @พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อธิจจสมุปปันนวาทะ ๒

สรุปอมราวิกเขปวาทะ
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอ ถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง นี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกพอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อม กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ด้วยมูลเหตุทั้ง ๔ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่งใน ๔ อย่างนี้ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ๑- อันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูก ต้องตามความเป็นจริง
อธิจจสมุปปันนวาทะ ๒
เห็นว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า อัตตาและโลก เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วย มูลเหตุ ๒ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะ ว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มี เหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง
มูลเหตุที่ ๑
[๖๘] ๑๗. (๑) ภิกษุทั้งหลาย มีทวยเทพชื่ออสัญญีสัตว์จุติ (เคลื่อน) จาก ชั้นนั้นเพราะเกิดสัญญาขึ้น ข้อที่สัตว์ผู้จุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นสิ่งที่เป็น ไปได้ เมื่อเขามาเป็นอย่างนี้แล้วออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิต ให้ตั้งมั่น ตามระลึกถึงความเกิดสัญญา ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย เพราะเหตุไร เพราะเมื่อก่อนเราไม่ได้มีแล้ว บัดนี้ก็ไม่มี จึงน้อมไปเพื่อเป็นผู้สงบ’ @เชิงอรรถ : @ ความเต็มเหมือนสัสสตทิฏฐิ ข้อ ๓๖ และ ๓๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ สรุปปพพันตกัปปิกวาทะ ๑๘

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลก ว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย
มูลเหตุที่ ๒
[๖๙] ๑๘. (๒) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและ โลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลก นี้เป็นนักตรรกะ เป็นนักอภิปรัชญา แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการ คาดคะเนความจริงอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย’ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ แล้ว จึงมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย
สรุปอธิจจสมุปปันนวาทะ
[๗๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้น เองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่ มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุทั้ง ๒ อย่างนี้หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อัน เป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง
สรุปปุพพันตกัปปิกวาทะ ๑๘
[๗๑] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นกำหนดขันธ์ (สรรพสิ่ง) ส่วนอดีต มีความเห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิ ต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่างนี้แล ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก กล่าว ยืนยันด้วยมูลเหตุทั้ง ๑๘ อย่างนี้หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๘ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ สัญญีวาทะ ๑๖

[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคลยึด ถืออย่างนี้แล้ว ย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้นๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยัง รู้ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความ เกิด ความดับ คุณ โทษแห่งเวทนา และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็น จริง ตถาคตจึงหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น [๗๓] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้ เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม ความเป็นจริง
อปรันตกัปปิกวาทะ ๔๔
ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต
[๗๔] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ (สรรพสิ่ง) ส่วน อนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะ แสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัย อะไรปรารภอะไรจึงกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภ ขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง
สัญญีวาทะ๑- ๑๖
เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา
[๗๕] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย แล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง ก็ สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะว่า อัตตาหลังจาก ตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง @เชิงอรรถ : @ ลัทธิที่ถือว่า หลังจากตายแล้วอัตตายังมีสัญญาเหลืออยู่ คำว่า สัญญา ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความจำได้ @หมายรู้ธรรมดา แต่หมายถึงภาวะที่เป็นความรู้สึกรู้ขั้นละเอียด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ สัญญีวาทะ ๑๖

[๗๖] สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า ๑๙. (๑) อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๒๐. (๒) อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๒๑. (๓) อัตตาทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๒๒. (๔) อัตตาที่มีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมี สัญญา ๒๓. (๕) อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๒๔. (๖) อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๒๕. (๗) อัตตาทั้งที่มีที่สุดและไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมี สัญญา ๒๖. (๘) อัตตาที่มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตาย แล้วมีสัญญา ๒๗. (๙) อัตตาที่มีสัญญาอย่างเดียวกัน ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมี สัญญา ๒๘. (๑๐) อัตตาที่มีสัญญาต่างกัน ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๒๙. (๑๑) อัตตาที่มีสัญญาเล็กน้อย ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๓๐. (๑๒) อัตตาที่มีสัญญาหาประมาณมิได้ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญา ๓๑. (๑๓) อัตตาที่มีสุขอย่างเดียว ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๓๒. (๑๔) อัตตาที่มีทุกข์อย่างเดียว ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๓๓. (๑๕) อัตตาที่มีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา ๓๔. (๑๖) อัตตาที่มีทุกข์ก็มิใช่ มีสุขก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมี สัญญา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อสัญญีวาทะ ๘

สรุปสัญญีวาทะ ๑๖
[๗๗] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย แล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่า มีสัญญา ด้วยมูลเหตุทั้ง ๑๖ อย่างนี้ หรือด้วย มูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๖ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คน กล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง
ภาณวารที่ ๒ จบ
อสัญญีวาทะ ๘
เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา
[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย แล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย แล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง [๗๙] สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า ๓๕. (๑) อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา ๓๖. (๒) อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา ๓๗. (๓) อัตตาทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มี สัญญา ๓๘. (๔) อัตตาที่มีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่ มีสัญญา ๓๙. (๕) อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา ๔๐. (๖) อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา ๔๑. (๗) อัตตาทั้งที่มีที่สุดและไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มี สัญญา ๔๒. (๘) อัตตาที่มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว ไม่มีสัญญา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ ๘

[๘๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย แล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่างนี้ แล สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มี สัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่า ไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุทั้ง ๘ อย่างนี้หรือ ด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๘ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คน กล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง
เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ ๘
เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า อัตตาหลังจาก ตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัย อะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง [๘๒] สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า ๔๓. (๑) อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี สัญญาก็มิใช่ ๔๔. (๒) อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่ มีสัญญาก็มิใช่ ๔๕. (๓) อัตตาทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มี สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ๔๖. (๔) อัตตาที่มีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ๔๗. (๕) อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี สัญญาก็มิใช่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อุจเฉทวาทะ ๗

๔๘. (๖) อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ๔๙. (๗) อัตตาทั้งที่มีที่สุดและไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มี สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ๕๐. (๘) อัตตาที่มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ [๘๓] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย แล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่า มีสัญญา ก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุก จำพวกมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติ อัตตาหลังจากตายแล้วว่า มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยมูลเหตุทั้ง ๘ อย่าง นี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๘ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุ ให้คนกล่าวยกย่องตถาคตตามความเป็นจริง
อุจเฉทวาทะ๑-
เห็นว่าหลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ
[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่าหลังจากตายแล้ว อัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมี วาทะว่า หลังจากตายแล้ว อัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และ ความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง [๘๕] ๕๑. (๑) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้มีวาทะมีทรรศนะอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตานี้มีรูปมาจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา หลังจากตายแล้ว อัตตาย่อมขาดสูญพินาศ ไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้อัตตานี้จึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของ สัตว์อย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ ลัทธิที่ถือว่าตายแล้วไม่เกิดอีก เป็นแนวคิดเชิงวัตถุนิยม ลัทธินี้ทำให้หมกมุ่นในกามสุข (ที.สี.อ. ๘๔/๑๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อุจเฉทวาทะ ๗

[๘๖] ๕๒. (๒) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่เป็นทิพย์ มีรูปเป็น กามาวจร๑- บริโภคข้าวเป็นอาหาร ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตานั้น หลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศ ไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้อัตตาจึงขาดสูญ เด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่ เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๘๗] ๕๓. (๓) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่เป็นทิพย์ มีรูป สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้ เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความ พินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๘๘] ๕๔. (๔) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์ คนนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้น อากาสานัญจายตนะ โดยกำหนดว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับ ปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่ เรารู้เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่า นี้อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความ พินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๘๙] ๕๕. (๕) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ @เชิงอรรถ : @ เทวดาชั้นกามาวจร ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี @(ที.สี.อ. ๘๖/๑๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ อุจเฉทวาทะ ๗

อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้นวิญญาณัญ- จายตนะ โดยกำหนดว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดย ประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้วจะขาด สูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์ พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๙๐] ๕๖. (๖) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้น อากิญจัญญายตนะ โดยกำหนดว่าไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้ โดยประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้ว จะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีก ของสัตว์อย่างนี้ [๙๑] ๕๗. (๗) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้นเนว- สัญญานาสัญญายตนะ โดยกำหนดว่านั่นละเอียด นั่นประณีต เพราะล่วง อากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตา นั้นหลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญ เด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่ เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๙๒] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า หลังจากตายแล้ว อัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ด้วย มูลเหตุ ๗ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่าหลังจาก ตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีก ของสัตว์ด้วยมูลเหตุทั้ง ๗ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๗ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตตามความเป็นจริง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ทิฏฐิ ๖๒ ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ ๕

ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ๑-
เห็นว่ามีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน
[๙๓] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า มีสภาพบางอย่าง เป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่า เป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วย มูลเหตุ ๕ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะ ว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่า เป็น บรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง [๙๔] ๕๘. (๑) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้มีวาทะมีทรรศนะอย่างนี้ ว่า ‘ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุที่อัตตานี้เอิบอิ่มเพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณ ๕ จึงชื่อว่า บรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัตินิพพาน ในปัจจุบันว่า เป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้ [๙๕] ๕๙. (๒) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่จะบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรมได้เพราะเหตุเพียงเท่า นี้ เพราะเหตุไร เพราะกามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ผันแปรเป็นธรรมดา เพราะกามนั้น ผันแปรไปเป็นอื่น ความโศกเศร้า ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ความไม่ สบายใจ และความคับแค้นใจจึงเกิดขึ้น เพราะเหตุที่อัตตานี้สงัดจากกามและ อกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขเกิดจากวิเวกอยู่ จึงชื่อว่าบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติ นิพพานในปัจจุบันว่า เป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้ [๙๖] ๖๐. (๓) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่จะบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรมได้เพราะเหตุเพียงเท่า @เชิงอรรถ : @ ลัทธิที่ถือว่า สามารถบรรลุนิพพาน หรือสามารถดับทุกข์ได้โดยง่ายในอัตภาพนี้ เป็นความเข้าใจของ @พวกที่เห็นความเพลิดเพลินจากกามคุณว่าเป็นนิพพาน หรือเห็นความสุขจากฌานว่าเป็นนิพพาน @(ที.สี.อ. ๙๗/๑๑๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

สรุปทิฏฐิ ๖๒

นี้ เพราะเหตุไร เพราะปฐมฌานที่มีวิตกมีวิจารนั้นบัณฑิตกล่าวว่า ยังหยาบอยู่ เพราะเหตุที่วิตกวิจารสงบไป อัตตานี้จึงบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ จึงชื่อว่าบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติ นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้ [๙๗] ๖๑. (๔) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่จะบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรมได้เพราะเหตุเพียงเท่านี้ เพราะเหตุไร เพราะทุติยฌานที่ยังมีปีติเป็นเหตุให้จิตเบิกบานนั้นบัณฑิตกล่าวว่า ยังหยาบอยู่ เพราะเหตุที่ปีติจางคลายไป อัตตานี้จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข จึงชื่อว่าบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์ พวกหนึ่งบัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้ [๙๘] ๖๒. (๕) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่จะบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรมได้เพราะเหตุเพียงเท่า นี้ เพราะเหตุไร เพราะตติยฌานที่จิตยังคำนึงถึงสุขอยู่นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ยังหยาบ อยู่ เพราะเหตุที่ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสก่อนดับไปก่อน อัตตานี้ จึงบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ จึงชื่อว่าบรรลุ นิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัตินิพพานใน ปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้
สรุปทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ
[๙๙] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า มีสภาพบางอย่าง เป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่า เป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วย มูลเหตุ ๕ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า มีสภาพ บางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

สรุปทิฏฐิ ๖๒

สัตว์ ด้วยมูลเหตุทั้ง ๕ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างนี้ ไม่ พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง [๑๐๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นกำหนดขันธ์ (สรรพสิ่ง) ส่วน อนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะ แสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุทั้ง ๔๔ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใด อย่างหนึ่งใน ๔๔ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่อง ตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง [๑๐๑] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่ กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่างนี้แล [๑๐๒] ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต ที่ กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต หรือที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความ เห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุทั้ง ๖๒ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใด อย่างหนึ่งใน ๖๒ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ [๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคล ยึดถืออย่างนี้แล้วย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้นๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยังรู้ ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษแห่งเวทนา และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึงหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น [๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้ เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม ความเป็นจริง
(ทิฏฐิ ๖๒ จบ)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ว่าด้วยการบัญญัติอัตตาและโลกเพราะความแส่หา ความดิ้นรน ของคนมีตัณหา

ว่าด้วยการบัญญัติอัตตาและโลกเพราะความแส่หา ความดิ้นรน
ของคนมีตัณหา
[๑๐๕] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของ พวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเท่านั้น [๑๐๖] พวกที่มีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและ โลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้า ใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน [๑๐๗] พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลก ไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็น ความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน [๑๐๘] พวกที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวก เขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน [๑๐๙] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติ อัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง ข้อนั้นเป็นความ เข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน [๑๑๐] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง ข้อนั้นเป็นความ เข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเท่านั้น [๑๑๑] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลัง จากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวกเขา ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน [๑๑๒] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตา หลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวก เขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ว่าด้วยการบัญญัติอัตตาและโลกเพราะผัสสะเป็นเหตุ

[๑๑๓] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วย มูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน [๑๑๔] พวกที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาด สูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง ข้อนั้นเป็น ความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหา เหมือนกัน [๑๑๕] พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัติ นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง ข้อนั้นเป็น ความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหา เหมือนกัน [๑๑๖] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของ คนมีตัณหาเท่านั้น [๑๑๗] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่ กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความ เห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของ พวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเท่านั้น
ว่าด้วยการบัญญัติอัตตาและโลกเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ [๑๑๙] พวกที่มีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและ โลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะ เป็นเหตุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ว่าด้วยการบัญญัติอัตตาและโลกเพราะผัสสะเป็นเหตุ

[๑๒๐] พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ [๑๒๑] พวกที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ [๑๒๒] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติ อัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะ เป็นเหตุ [๑๒๓] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภ ขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง ข้อนั้นก็ เพราะผัสสะเป็นเหตุ [๑๒๔] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตา หลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ [๑๒๕] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตา หลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ [๑๒๖] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วย มูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ [๑๒๗] พวกที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาด สูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง ข้อนั้นเพราะ ผัสสะเป็นเหตุ [๑๒๘] พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัติ นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง ข้อนั้นเพราะ ผัสสะเป็นเหตุ [๑๒๙] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง ข้อ นั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

[๑๓๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่ กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความ เห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
[๑๓๑] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๓๒] พวกที่มีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและ โลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่ พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๓๓] พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่ มีที่สุดด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๓๔] พวกที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้นๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๓๕] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติ อัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่ พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๓๖] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภ ขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง เป็นไปไม่ได้ เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๓๗] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลัง จากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ว่าด้วยวัฏฏะที่เจ้าลัทธิตั้งไว้

[๑๓๘] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตา หลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๓๙] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วย มูลเหตุ ๘ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๔๐] พวกที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศและความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลย ที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๔๑] พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัติ นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลย ที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๔๒] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้ [๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่ กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่ พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
ว่าด้วยวัฏฏะที่เจ้าลัทธิตั้งไว้
[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง พวกที่มีวาทะว่า บางอย่าง เที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ฯลฯ พวก ที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มี เหตุปัจจัย ฯลฯ พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

ตายแล้วมีสัญญา ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ฯลฯ พวก ที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพ บางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ฯลฯ พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต ฯลฯ พวก ที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้ง ส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกรับสัมผัส (ผัสสะ)๑- ทางผัสสายตนะ ๖ แล้ว เกิดเวทนา (ความรู้สึก) เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีตัณหา (ความอยาก) เพราะ ตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีอุปาทาน (ความยึดมั่น ถือมั่น) เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึง เกิดมีภพ (ความมี ความเป็น) เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดมีชาติ (ความเกิด) เพราะ ชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดมีชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความไม่สบายกาย) โทมนัส (ความไม่สบายใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ)
ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น
[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุรู้ชัดถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษแห่ง ผัสสายตนะ ๖ และอุบายเครื่องสลัดผัสสายตนะเหล่านั้นออกตามความเป็นจริง เมื่อนั้นเธอย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น
อุปมาเหมือนชาวประมงทอดแห
[๑๔๖] ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวก ที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ @เชิงอรรถ : @ สัมผัส หรือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก เช่น ตากระทบรูป เป็นต้น @พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทิฏฐิ ๖๒ เริ่มต้นจากผัสสะนำไปสู่เวทนา สุดท้ายก็คือความทุกข์ ดังนั้นจึงไม่อาจนำ @ไปสู่ความดับทุกข์ได้แต่อย่างใด (ที.สี.อ. ๑๔๔/๑๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ทั้งหมดถูกทิฏฐิ ๖๒ นี้ซึ่งเป็นดุจตาข่าย ปกคลุมเอาไว้ ตกอยู่ในตาข่ายนี้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้ ติดอยู่ในตาข่ายนี้ ถูกปกคลุมเอาไว้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้เอง เปรียบเหมือนชาวประมง หรือลูกมือชาวประมง ผู้ชำนาญ ใช้แหตาถี่ทอดลง หนองน้ำเล็กๆ เขาคิดว่า บรรดาสัตว์ตัวใหญ่ในหนองน้ำแห่งนี้ทั้งหมดถูกแหครอบ เอาไว้ อยู่ในแหนี้ เมื่อผุดขึ้นก็ผุดอยู่ในแหนี้ ติดอยู่ในแหนี้ ถูกครอบเอาไว้ เมื่อผุด ขึ้นก็ผุดอยู่ในแหนี้ ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่ กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่างๆ ทั้งหมดถูกทิฏฐิ ๖๒ นี้๑- ซึ่งเป็นดุจตาข่าย ปกคลุมเอาไว้ ตกอยู่ในตาข่ายนี้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้ ติดอยู่ในตาข่ายนี้ ถูกปกคลุมเอาไว้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้เอง ฉันนั้น
อุปมาร่างกายเหมือนผลมะม่วง
[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคตขาดตัณหาที่พาไปสู่ภพเสียแล้ว๒- เทวดาและมนุษย์จักเห็นกายของตถาคตได้ชั่วเวลายังดำรงอยู่ หลังจากกายแตก สลายไปเพราะสิ้นชีวิตแล้ว เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก เปรียบเหมือนเมื่อกลุ่มผลมะม่วงถูกตัดขั้ว ผลมะม่วงทั้งหมดที่ห้อยอยู่กับขั้วก็ ย่อมติดตามขั้วนั้นไป ฉันใด กายของตถาคตขาดตัณหาที่พาไปสู่ภพเสียแล้ว เทวดา และมนุษย์จักเห็นกายของตถาคตได้ชั่วเวลาที่ยังดำรงอยู่ หลังจากกายแตกสลายไป เพราะสิ้นชีวิตแล้ว เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก ฉันนั้น” @เชิงอรรถ : @ ทิฏฐิ ๖๒ คือทฤษฎีทางอภิปรัชญาที่มีอยู่ในอินเดีย ทั้งก่อนและร่วมสมัยกับพระพุทธองค์ มีอยู่ทั้งหมด ๖๒ @ทฤษฎี พระพุทธองค์ทรงยกมาแสดงเพื่อยืนยันว่า พระองค์ทรงรู้ทฤษฎีดังกล่าวอย่างแจ่มแจ้ง และทรง @แสดงพรหมชาลสูตรครอบคลุมทฤษฎีเหล่านั้นทั้งหมด เปรียบเหมือนชาวประมงใช้แหทอดคลุมปลาไว้ได้ @ทั้งหมด ฉะนั้น @ ไม่มีตัณหาที่จะเป็นเหตุให้เกิดอีก (ที.สี.อ. ๑๔๗/๑๑๗-๑๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

[๑๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ธรรมบรรยายนี้มีชื่อว่าอะไร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ว่า ข่ายแห่ง ประโยชน์ (อรรถชาละ) ก็ได้ ข่ายแห่งธรรม (ธรรมชาละ) ก็ได้ ข่ายแห่ง สัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ (พรหมชาละ) ก็ได้ ข่ายแห่งทิฏฐิ(ทิฏฐิชาละ) ก็ได้ ตำราพิชัยสงคราม (สังคามวิชัย) อันยอดเยี่ยมก็ได้๑-” [๑๔๙] ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณภาษิตนี้จบลง โลกธาตุที่ประกอบด้วย ๑๐,๐๐๐ จักรวาลได้หวั่นไหวแล้วแล
พรหมชาลสูตรที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ที่ชื่อว่า ข่ายแห่งประโยชน์ เพราะเหตุที่ในพรหมชาลสูตร พระพุทธองค์ทรงแจกแจงประโยชน์ในโลกนี้ @และประโยชน์ในโลกหน้าอันเป็นดุจตาข่ายไว้ ที่ชื่อว่า ข่ายแห่งธรรม เพราะพระองค์ตรัสถึงแบบแผน @และลัทธิธรรมเนียมอันเป็นดุจตาข่ายไว้ ที่ชื่อว่า ข่ายแห่งทิฏฐิ เพราะพระองค์ทรงแจกแจงทิฏฐิ ๖๒ อัน @เป็นดุจตาข่ายที่ผูกมัดผู้ที่มีความเชื่อลัทธิเหล่านี้ไว้ และที่ชื่อว่า ตำราพิชัยสงครามเพราะผู้ที่ฟังสูตรนี้แล้ว @สามารถพิชิต เทวปุตตมาร ขันธมาร มัจจุมาร หรือกิเลสมารได้ (ที.สี.อ. ๑๔๘/๑๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๔๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๑-๔๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=9&siri=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=9&A=1&Z=1071                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=9&item=1&items=90              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=9&item=1&items=90              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i001-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.01.0.bodh.html https://suttacentral.net/dn1/en/sujato https://suttacentral.net/dn1/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :