ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๗. สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๘
เรื่องพระอริฏฐะ มิจฉาทิฏฐิ
[๖๖๒] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง มีทิฏฐิ ทรามเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรม เหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุหลายรูปได้ทราบข่าวว่า พระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง มีทิฏฐิทรามเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็น ธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ แล้วพากันเข้าไปหา พระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง ถามว่า อาวุโส อริฏฐะ ข่าวว่า ท่านมีทิฏฐิทรามเห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้ จริงหรือ? อ. จริงอย่างว่านั้นแล อาวุโสทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่าเป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่. ภิ. อาวุโส อริฏฐะ ท่านอย่าได้ว่าอย่างนั้น ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าว ตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย ธรรมอันทำอันตรายพระผู้มี- *พระภาคตรัสไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษใน กามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนร่างกระดูก มีทุกข์ มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนคบหญ้า ... กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนความฝัน ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนของยืม ... กาม- *ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนผลไม้ ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบ เหมือนเขียงสำหรับสับเนื้อ ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนแหลนหลาว ... กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนศีรษะงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษ ในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก. พระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง แม้อันภิกษุเหล่านั้นว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ก็ยังยึดถือ ทิฏฐิเห็นปานนั้นอยู่ ด้วยความยึดมั่นอย่างเดิม ซ้ำยังกล่าวยืนยันว่า ผมกล่าวอย่างนั้นจริง อาวุโสทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้. เมื่อภิกษุเหล่านั้น ไม่อาจเปลื้องพระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้งจากทิฏฐิอันทราม นั้นได้ จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ.
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้งว่า ดูกรอริฏฐะ ข่าวว่า เธอมีทิฏฐิทรามเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตราย แก่ผู้เสพได้จริงไม่ จริงหรือ? พระอริฏฐะทูลรับว่า เป็นจริงดังรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้ทั่วถึงธรรม ที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจ ทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เพราะเหตุไร เธอจึงเข้าใจธรรมที่เราแสดงแล้ว อย่างนั้นเล่า ธรรมอันทำอันตราย เรากล่าวไว้โดยบรรยายเป็นอันมากมิใช่หรือ? และธรรม เหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง กามทั้งหลายเรากล่าวว่ามีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนร่าง กระดูก ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือน คบหญ้า ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนความฝัน ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนของยืม ... กามทั้งหลายเรา กล่าวว่าเปรียบเหมือนผลไม้ ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนเขียงสำหรับสับเนื้อ ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนแหลนหลาว ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนศีรษะงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอชื่อว่า กล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิที่ตนยึดถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลายตนเอง และชื่อว่าประสบบาปมิใช่บุญเป็น อย่างมาก เพราะข้อนั้นแหละ จักเป็นไปเพื่อผลไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อผลเป็นทุกข์แก่เธอ ตลอดกาลนาน การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๑๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่าเป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้น หาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มี- *พระภาคเจ้าไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย แน่ะเธอ พระผู้มี พระภาคเจ้าตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้น อาจ ทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ขืนถืออยู่อย่างนั้นแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศห้ามจนหนที่ ๓ เพื่อสละการนั้นเสีย ถ้าเธอ ถูกสวดประกาศห้ามอยู่จนหนที่ ๓ สละการนั้นเสียได้ การสละได้ดั่งนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ เป็นปาจิตตีย์.
เรื่องพระอริฏฐะ มิจฉาทิฏฐิ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๖๖๓] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง ประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า พูดอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่าเป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ ผู้เสพได้จริงไม่. [๖๖๔] บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ที่พูดอย่างนี้. บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุพวกอื่น คือ ภิกษุพวกที่ได้เห็น ที่ได้ยินเหล่านั้น พึงว่ากล่าวว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มี พระภาคไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย แน่ะเธอ พระผู้มีพระภาคตรัสธรรม อันทำอันตรายไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง พึงว่า กล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม ถ้าเธอสละได้ การสละได้ดังนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าเธอสละไม่ได้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายทราบเรื่องแล้ว ไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายพึงคุมตัวภิกษุนั้นมา ณ ที่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วพึงว่ากล่าวว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัส อย่างนั้นเลย แน่ะเธอ พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมอันทำอันตรายไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้น อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้ง ที่สาม ถ้าเธอสละได้ การสละได้ดังนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ. [๖๖๕] ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศห้าม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสวด ประกาศห้ามอย่างนี้:- ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมนุภาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิอันเป็นบาปมีอย่างนี้เป็นรูป บังเกิด แก่ภิกษุมีชื่อนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านี้หาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุนั้นไม่สละ ทิฏฐินั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดประกาศห้ามภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อละทิฏฐินั้น นี่เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิอันเป็นบาปมีอย่างนี้เป็นรูป บังเกิด แก่ภิกษุมีชื่อนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ เธอไม่ละทิฏฐิ นั้น สงฆ์สวดประกาศห้ามภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อสละทิฏฐินั้น การสวดประกาศห้ามภิกษุ มีชื่อนี้ เพื่อสละทิฏฐินั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่าน ผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ... ภิกษุมีชื่อนี้ อันสงฆ์สวดประกาศห้ามแล้ว เพื่อสละทิฏฐินั้น ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.
บทภาชนีย์
[๖๖๖] จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุด ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ติกะปาจิตตีย์
[๖๖๗] กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่ยอมสละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ติกะทุกกฏ
กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่ยอมสละ ต้องอาบัติทุกกฏ.
อนาปัตติวาร
[๖๖๘] ภิกษุผู้ไม่ถูกสวดประกาศห้าม ๑ ภิกษุผู้ยอมสละ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุ อาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๘ จบ.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๒๙๙๗-๑๓๑๑๗ หน้าที่ ๕๕๖-๕๖๐. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=12997&Z=13117&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=12997&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=104              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=662              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=7750              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9784              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=7750              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9784              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc68/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc68/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]