ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
วิภังควรรค
๑. ภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๑)
[๕๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มี- *พระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคล ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังอุเทศและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๕๒๗] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่ มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียใน วันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ฯ [๕๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มี สังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขาร อย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ [๕๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขาร อย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่าง นี้แลชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง [๕๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรม ของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดใน ธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็น อัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูป บ้าง ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง ย่อมเล็งเห็นสัญญา โดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็น อัตตาว่ามีสังขารบ้าง เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง เล็งเห็น วิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน อย่างไร คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาด ในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาด ในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความ เป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็น อัตตาในรูปบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่า มีเวทนาบ้าง ไม่เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง ย่อม ไม่เล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง ไม่เล็ง เห็นสัญญาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นสังขารโดย ความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง ไม่เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตา ในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๓๔] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไป แล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคล ใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยน กับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความ เพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวไว้ว่า เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของ บุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลายนั้น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๗๐๓๑-๗๑๑๔ หน้าที่ ๒๙๗-๓๐๐. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7031&Z=7114&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=14&A=7031&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=31              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=526              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=14&A=6935              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4421              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=14&A=6935              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4421              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i526-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i526-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.131.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.131.nana.html https://suttacentral.net/mn131/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]