ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๔๐๓.

๒. ฉันโนวาทสูตร (๑๔๔)
[๗๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระ สารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่านพระฉันนะ อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ เฉพาะ ท่านพระฉันนะอาพาธ ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ฯ [๗๔๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหาจุนทะยังที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะดังนี้ว่า ดูกรท่านจุนทะ มาเถิด เราจะเข้าไปหาท่านพระฉันนะยังที่อยู่ ไต่ถามถึงความไข้ ท่านพระมหาจุนทะรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ต่อนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่าน พระมหาจุนทะ ได้เข้าไปหาท่านพระฉันนะยังที่อยู่ แล้วทักทายปราศรัยกับท่าน พระฉันนะ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระฉันนะ ดังนี้ว่า ดูกรท่านฉันนะ ท่านพอทน พอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่ กำเริบ ปรากฏความทุเลาเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความกำเริบหรือ ฯ ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกข- *เวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏ ความทุเลาเลย ฯ [๗๔๓] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเหลือประมาณกระทบขม่อมของ กระผม เหมือนบุรุษมีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อม ฉะนั้น กระผมจึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏ ความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๔๔] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะของกระผม อยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังให้การขันศีรษะด้วยชะเนาะอย่างมั่น ฉะนั้น กระผมจึง

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๐๔.

ทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏ ความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๔๕] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเหลือประมาณปั่นป่วนท้องของ กระผม เหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาด เอามีดแล่โคอันคมคว้าน ท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ [๗๔๖] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ความร้อนในกายของกระผมเหลือ ประมาณ เหมือนบุรุษมีกำลัง ๒ คน จับบุรุษมีกำลังน้อยที่อวัยวะป้องกันตัวต่างๆ แล้ว นาบ ย่าง ในหลุมถ่านเพลิง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ ปรากฏความทุเลาเลย ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจักหาศาตรามาฆ่าตัว ไม่ อยากจะได้เป็นอยู่เลย ฯ [๗๔๗] สา. ท่านฉันนะอย่าได้หาศาตรามาฆ่าตัวเลย จงเป็นอยู่ก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนาให้ท่านฉันนะเป็นอยู่ ถ้าท่านฉันนะไม่มีโภชนะเป็นที่สบาย ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีเภสัชเป็นที่สบาย ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีคนบำรุงที่สมควร ผมจักคอยบำรุงท่านเอง ท่านฉันนะอย่าได้หา ศาตรามาฆ่าตัวเลย จงเป็นอยู่ก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนาให้ท่านฉันนะเป็นอยู่ ฯ [๗๔๘] ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ไม่ใช่กระผมไม่มีโภชนะเป็นที่ สบาย ไม่ใช่ไม่มีเภสัชเป็นที่สบาย ไม่ใช่ไม่มีคนบำรุงที่สมควร ก็แหละกระผม ได้ปรนนิบัติพระศาสดามาตลอดกาลนาน ด้วยความพอพระทัย มิใช่ด้วยความไม่ พอพระทัย ความจริงการที่ภิกษุปรนนิบัติพระศาสดาด้วยความพอพระทัย มิใช่ ด้วยความไม่พอพระทัย นั่นเป็นการสมควรแก่สาวก ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจงทรงจำไว้อย่างนี้ว่า ฉันนภิกษุจักหาศาตรามาฆ่าตัว อย่างมิให้ถูกตำหนิได้ ฯ สา. พวกเราจักขอถามปัญหาท่านฉันนะสักเล็กน้อย ถ้าท่านฉันนะเปิด โอกาสพยากรณ์ปัญญาได้ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๐๕.

ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โปรดถามเถิด กระผมฟังแล้วจึงจักรู้ ฯ [๗๔๙] ดูกรท่านฉันนะ ท่านพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่ รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเราหรือ ท่านพิจารณาเห็นโสต โสตวิญญาณ ... ท่านพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ... ท่านพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ... ท่านพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ... ท่านพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเราหรือ ฯ ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ กระผมพิจารณาเห็นโสต โสตวิญญาณ ... กระผมพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ... กระผมพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ... กระผมพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ... กระผมพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ [๗๕๐] สา. ดูกรท่านฉันนะ ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุ วิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ อัตตาของเรา ฯ ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในโสต ในโสตวิญญาณ ... ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในฆานะ ในฆานวิญญาณ ... ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ... ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในกาย ในกายวิญญาณ ...

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๐๖.

ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในมโน มโนวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในจักษุ ใน จักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในโสต ในโสตวิญญาณ ... กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในฆานะ ในฆานวิญญาณ ... กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ... กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในกาย ในกายวิญญาณ ... กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในมโน ในมโนวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ [๗๕๑] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าว กะท่านพระฉันนะดังนี้ว่า ดูกรท่านฉันนะ เพราะฉะนั้นแล ท่านควรใส่ใจคำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคนั้นไว้ตลอดกาลเนืองนิตย์แม้ดังนี้ว่า บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิ อาศัยอยู่แล้ว ย่อมมีความหวั่นไหว สำหรับผู้ไม่มีตัณหาและทิฐิอาศัย ย่อมไม่มี ความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมีความสงบ ก็ไม่มี ตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมาเกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติและอุปบัติ เมื่อไม่มีจุติและอุปบัติ ก็ไม่มี โลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละที่สุดแห่งทุกข์ ครั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ กล่าวสอนท่านพระฉันนะด้วยโอวาท นี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะ หลีกไป ฯ [๗๕๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระฉันนะ เมื่อท่านพระสารีบุตรและท่านพระ มหาจุนทะหลีกไปแล้วไม่นาน ได้หาศาตรามาฆ่าตัวเสียทันทีนั้น ท่านพระสารีบุตร

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๐๗.

จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระฉันนะหาศาตรามาฆ่าตัวเสียแล้ว ท่านจะมีคติ อย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ฉันนภิกษุพยากรณ์ ความเป็นผู้ไม่ ควรตำหนิต่อหน้าเธอแล้วมิใช่หรือ ฯ สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบ้านในแคว้นวัชชีนามว่าปุพพชิระ ที่หมู่ บ้านนั้น ท่านพระฉันนะยังมีสกุลมิตร สกุลสหาย และสกุลคนที่คอยตำหนิอยู่ ฯ [๗๕๓] พ. ดูกรสารีบุตร ฉันนภิกษุยังมีสกุลมิตร สกุลสหาย และ สกุลที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่า ควรถูกตำหนิด้วยเหตุเพียง เท่านี้ไม่ ดูกรสารีบุตร บุคคลใดแล ทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้นเรา เรียกว่า ควรถูกตำหนิ ฉันนภิกษุหามีลักษณะนั้นไม่ ฉันนภิกษุหาศาตรามาฆ่าตัว อย่างไม่ควรถูกตำหนิ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ฉันโนวาทสูตร ที่ ๒
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๙๕๒๕-๙๖๔๐ หน้าที่ ๔๐๓-๔๐๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=9525&Z=9640&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=14&A=9525&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=44              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=741              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=14&A=9481              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=6037              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=14&A=9481              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=6037              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i741-e.php# https://suttacentral.net/mn144/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]