ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
๕. นครสูตร
[๒๕๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่กาลตรัสรู้ เมื่อเรายังเป็น พระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า โลกนี้ถึงความลำบาก หนอ ย่อมเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่มีผู้ใดทราบชัด ซึ่งธรรมเป็นที่สลัดออกจากกองทุกข์ คือ ชราและมรณะนี้ได้เลย เมื่อไรหนอ ธรรมเป็นที่สลัดออกไปจากกองทุกข์คือชราและมรณะนี้จึงจักปรากฏ ฯ [๒๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่ออะไรหนอ แลมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ เพราะ การใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติแลมีอยู่ ชราและ มรณะจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอ แลมีอยู่ ชาติจึงมี ... ภพจึงมี ... อุปาทานจึงมี ... ตัณหาจึงมี ... เวทนาจึงมี ... ผัสสะจึงมี ... สฬายตนะจึงมี ... นามรูปจึงมี ... เพราะอะไรเป็น ปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เรานั้นได้ มีความคิดดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอแลมีอยู่ วิญญาณจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อ นามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เรานั้นได้มี ความคิดดังนี้ว่า วิญญาณนี้แลได้กลับแล้วเพียงเท่านี้ ไม่ไปพ้นจากนามรูปได้เลย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ โลกย่อมเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ กล่าวคือ เพราะ นามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะ นามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อนว่า เหตุให้ทุกข์เกิด เหตุให้ทุกข์เกิด ดังนี้ ฯ [๒๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความคิดดังนี้ เมื่ออะไรหนอแล ไม่มีอยู่ ชราและมรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชราและมรณะจึงดับ เพราะการ ใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะ จึงไม่มี เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า เมื่อ อะไรหนอแล ไม่มีอยู่ ชาติจึงไม่มี ... ภพจึงไม่มี ... อุปาทานจึงไม่มี ... ตัณหา จึงไม่มี ... เวทนาจึงไม่มี ... ผัสสะจึงไม่มี ... สฬายตนะจึงไม่มี ... นามรูปจึง ไม่มี ... เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะการใส่ใจโดย แยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอแล ไม่มีอยู่ วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ วิญญาณจึงดับ เพราะการใส่ใจโดยแยบคายของเรานั้น จึงรู้ได้ด้วยปัญญาว่า เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า มรรคนี้เราได้บรรลุแล้วแล ด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้ คือ เพราะนามรูปดับ วิญญาณ จึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เรายังไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อนว่า เหตุให้ ทุกข์ดับ เหตุให้ทุกข์ดับ ดังนี้ ฯ [๒๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษเมื่อเที่ยวไปในป่าทึบ ได้พบมรรคาเก่า หนทางเก่า ที่คนก่อนๆ เคยเดินไปมา เขาเดินตามทางนั้นไป เมื่อกำลังเดินตาม ทางนั้นอยู่ พบนครเก่า พบราชธานีโบราณซึ่งสมบูรณ์ด้วยสวน ป่าไม้ สระโบก- *ขรณี มีเชิงเทิน ล้วนน่ารื่นรมย์ ที่คนก่อนๆ เคยอยู่อาศัยมา ครั้งนั้นแล บุรุษ คนนั้นจึงกราบทูลแด่พระราชาหรือเรียนแก่ราชมหาอำมาตย์ว่า ขอเดชะ พระองค์จง ทราบเถิด พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อเที่ยวไปในป่า ได้พบมรรคาเก่า หนทางเก่าที่คนก่อนๆ เคยเดินไปมา ข้าพระพุทธเจ้าได้เดินตามทางนั้นไป เมื่อ กำลังเดินตามทางนั้นอยู่ได้พบนครเก่า พบราชธานีโบราณ ซึ่งสมบูรณ์ด้วยสวน ป่าไม้ สระโบกขรณี มีเชิงเทิน ล้วนน่ารื่นรมย์ ที่คนก่อนๆ เคยอยู่อาศัยมา ขอพระองค์จงทรงสร้างพระนครนั้นเถิด พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ จึงสร้างเมืองนั้นขึ้น สมัยต่อมา เมืองนั้นเป็นเมืองมั่งคั่งและ สมบูรณ์ขึ้น มีประชาชนเป็นอันมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น และเป็นเมืองถึงความ เจริญ ไพบูลย์ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เราได้พบมรรคาเก่า หนทางเก่า ที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เคยเสด็จไป ก็มรรคาเก่า หนทางเก่า ที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เคยเสด็จไปนั้น เป็นไฉน คือมรรคาอันประกอบ ด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ นี้แล ได้แก่สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลมรรคา เก่า หนทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เคยเสด็จไปแล้ว เราก็ได้ เดินตามหนทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันเป็นทางเก่านั้น เมื่อกำลังเดินตามหนทางนั้นไป ได้รู้ชัดซึ่งชราและมรณะ เหตุเกิดขึ้นแห่งชรา และมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และได้รู้ชัดซึ่งปฏิปทาเครื่องให้ถึงความ ดับชราและมรณะ เมื่อเรากำลังเดินตามทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันเป็นทางเก่านั้นไปอยู่ ได้รู้ชัดซึ่งชาติ ฯลฯ ได้รู้ชัดซึ่งภพ ... ได้รู้ชัด ซึ่งอุปาทาน ... ได้รู้ชัดซึ่งตัณหา ... ได้รู้ชัดซึ่งเวทนา ... ได้รู้ชัดซึ่งผัสสะ ... ได้ รู้ชัดซึ่งสฬายตนะ ... ได้รู้ชัดซึ่งนามรูป ... ได้รู้ชัดซึ่งวิญญาณ ... ได้รู้ชัดซึ่งสังขาร ทั้งหลาย เหตุเกิดขึ้นแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และได้รู้ชัดซึ่งปฏิปทา เครื่องให้ถึงความดับแห่งสังขาร ครั้นได้รู้ชัดซึ่งทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วย องค์ ๘ ประการนั้นแล้ว เราจึงได้บอกแก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ของเราจึงได้เจริญแพร่หลาย กว้างขวาง มีชนเป็น อันมากรู้ เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ประกาศได้เป็นอย่าง ดี ดังนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๒๗๘๐-๒๘๕๔ หน้าที่ ๑๑๔-๑๑๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=16&A=2780&Z=2854&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=16&A=2780&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=16&siri=61              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=250              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=16&A=2546              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=2916              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=16&A=2546              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=2916              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_16              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/16i230-e.php#sutta5 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn12/sn12.065.than.html https://suttacentral.net/sn12.65/en/sujato https://suttacentral.net/sn12.65/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]