ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๙. ปาลิเลยยสูตร
ว่าด้วยการรู้เห็นที่ทำให้สิ้นอาสวะ
[๑๗๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี. ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้า ไปยังพระนครโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครโกสัมพีแล้ว ในเวลา ปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บงำเสนาสนะด้วยพระองค์เอง ทรงถือบาตรและ จีวร มิได้รับสั่งเรียกพวกภิกษุที่เป็นอุปัฏฐาก มิได้ตรัสอำลาพระภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียวไม่มี เพื่อนเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริก. [๑๗๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ได้เข้าไป หาท่านพระอานนท์จนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า มาเถอะท่านพระอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงเก็บงำเสนาสนะด้วยพระองค์เอง ทรงถือบาตรและจีวร มิได้ทรงรับสั่งเรียก พวกภิกษุที่เป็นอุปัฏฐาก มิได้ตรัสอำลาพระภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียว ไม่มีเพื่อน เสด็จไปสู่ที่ จาริก. ท่านพระอานนท์ได้ตอบว่า อาวุโส สมัยใด พระผู้มีพระภาค ทรงเก็บงำเสนาสนะ ด้วยพระองค์เอง ทรงถือบาตรและจีวร มิได้ทรงรับสั่งเรียกพวกภิกษุที่เป็นอุปัฏฐาก มิได้ตรัส อำลาภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียว ไม่มีเพื่อน เสด็จหลีกไปสู่ที่จาริก สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงพระประสงค์ ที่จะประทับแต่พระองค์เดียว สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ย่อมเป็นผู้อัน ใครๆ ไม่พึงติดตาม. [๑๗๒] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เสด็จเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ เสด็จถึงป่าปาลิ- *เลยยกะ. ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคนไม้รังอันเจริญ ในป่าปาลิเลยยกะนั้น. ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน ได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วต่างก็สนทนา ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้พากันกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ นานแล้ว ที่พวก ผมได้สดับธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ท่านอานนท์ พวกผมปรารถนาที่จะสดับธรรมี- *กถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์พร้อมกับภิกษุเหล่านั้น พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ โคนไม้รังอันเจริญ ในป่าปาลิเลยยกะ ครั้นแล้ว ต่างถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรง ยังภิกษุเหล่านั้น ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา. [๑๗๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า เมื่อบุคคล รู้อย่างไร เห็นอย่างไรหนอ อาสวะทั้งหลาย จึงสิ้นไปโดยลำดับ? พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ ความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้น ด้วยพระทัย จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราแสดงธรรมด้วยการเลือกเฟ้น แสดงสติปัฏฐาน ๔ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดง สัมมัปปธาน ๔ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดงอิทธิบาท ๔ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดงอินทรีย์ ๕ ด้วย การเลือกเฟ้น แสดงพละ ๕ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดงโพชฌงค์ ๗ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดง อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยการเลือกเฟ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรม ด้วยการเลือกเฟ้น เช่นนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเราแสดงแล้ว ด้วยการเลือกเฟ้นเช่นนี้ เออก็มีภิกษุบางรูป ในธรรมวินัยนี้ ยังเกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า เมื่อบุคคลรู้ได้อย่างไร เห็นอย่างไรหนอ อาสวะทั้งหลาย จึงสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้ได้อย่างไร เห็นอย่างไร อาสวะทั้งหลาย จึงสิ้นไปโดยลำดับ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม มิได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาด ในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นแล เป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไร เป็นเครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขาร นั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชา สัมผัสถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล แม้สังขารนั้นก็ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุง แต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่ แม้อย่างนี้ เห็นอยู่ อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๕] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย แต่ว่าตามเห็นตนมีรูป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นเป็นสังขาร. ก็สังขารนั้นมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็น เครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารนั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชา สัมผัส ถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล แม้สังขารนั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุง แต่ง อันอาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่ แม้อย่างนี้ เห็นอยู่ อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๖] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ย่อมไม่ตามเห็นตนมีรูป แต่ว่าตามเห็นรูปในตน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นแลเป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มี อะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขารนั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ ที่เกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ แม้สังขารนั้นก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่แม้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๗] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ย่อมไม่ตามเห็นตนมีรูป ย่อมไม่ตามเห็นรูปในตน แต่ว่าตามเห็นตนในรูป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นแล เป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารนั้นเกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ แล แม้สังขารนั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนา นั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลรู้อยู่แม้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๘] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ย่อมไม่ตามเห็นตนมีรูป ย่อมไม่ตามเห็นรูปในตน ย่อมไม่ตามเห็นตนในรูป แต่ว่าตามเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนมีเวทนา ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นเวทนาตนใน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนใน เวทนา ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนมีสัญญา ฯลฯ แต่ว่า ตามเห็นสัญญาในตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนในสัญญา ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นสังขาร โดยความ เป็นตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนมีสังขาร ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นสังขารในตน ฯลฯ แต่ว่าตาม เห็นตนในสังขาร ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนมี วิญญาณ ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นวิญญาณในตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนในวิญญาณ. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นแล เป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเครื่อง ก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? สังขารนั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล แม้สังขารนั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้สัมผัสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่แม้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดย ลำดับ. [๑๗๙] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ แต่ว่าเป็นผู้มี ทิฏฐิ เช่นนี้ ว่า ตนก็อันนั้น โลกก็อันนั้น เรานั้นละโลกนี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่เปลี่ยนแปลงเป็นธรรม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทิฏฐิความเห็นว่าเที่ยงเช่นนั้น เป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่แม้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๘๐] ปุถุชนย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิ เช่นนี้ ว่า ตนก็อันนั้น โลกก็อันนั้น เรานั้นละโลกนี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา แต่ว่าเป็นผู้มีทิฏฐิ เช่นนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึงมี เราจักไม่มี บริขารของเราจักไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มีทิฏฐิความเห็นว่าขาดสูญเช่นนั้นเป็น สังขาร. ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลแม้รู้อยู่อย่างนี้ เห็น อยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๘๑] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิ เช่นนี้ ว่า ตนก็อันนั้น โลกก็อันนั้น เรานั้นละโลกนี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา และเป็นผู้ไม่มีทิฏฐิ เช่นนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึง มี เราจักไม่มี บริขารของเราจักไม่มี แต่ว่ายังเป็นผู้มีความสงสัย เคลือบแคลง ไม่แน่ใจใน สัทธรรม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความเป็นผู้มีความสงสัย เคลือบแคลง ไม่แน่ใจในสัทธรรม เช่นนั้นเป็นสังขาร. ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็น กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารนั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชน ผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้อง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วย ประการฉะนี้แล แม้สังขารนั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดนั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลแม้รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดย ลำดับ.
จบ สูตรที่ ๙.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๒๑๑๑-๒๒๒๗ หน้าที่ ๙๒-๙๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=2111&Z=2227&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=17&A=2111&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=17&siri=81              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=170              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=17&A=2325              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7340              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=17&A=2325              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7340              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i149-e.php#sutta9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.081.than.html https://suttacentral.net/sn22.81/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.81/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]