ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
ฉันนสูตร
[๑๐๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่าน พระมหาจุนทะ และท่านพระฉันนะ อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สมัยนั้นแล ท่านพระ ฉันนะอาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระ- *สารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่านพระมหาจุนทะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะว่า ดูกรท่านจุนทะ เราจงพากันเข้าไปหาท่าน พระฉันนะ ถามถึงความเป็นไข้เถิด ท่านพระมหาจุนทะรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ เข้าไปหาท่านพระฉันนะถึงที่ อยู่ แล้วนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระฉันนะว่า ดูกรท่านฉันนะ ท่านพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนา ลดลง ไม่กำเริบขึ้น ความทุเลาปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ ฯ [๑๐๕] ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ลดลงเลย ความกำเริบปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เอาเหล็ก แหลมคมทิ่มศีรษะ ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งเข้ากระทบที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ฯลฯ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเอาเส้นเชือกหนังอันเหนียวขันที่ศีรษะ ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งเสียดแทงที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ เปรียบเหมือนนายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ขยัน เอามีดสำหรับแล่เนื้อ โคที่คมกรีดท้อง แม้ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งย่อมเสียดแทงท้องของกระผม ฉันนั้น เหมือนกัน ฯลฯ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ๒ คน จับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่า คนละแขน ลนให้เร่าร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด ความเร่าร้อนในกายของ กระผมก็มากยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ลดลงเลย ความกำเริบปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระ สารีบุตร กระผมจักนำศาตรามา ไม่ปรารถนาเป็นอยู่ ดังนี้แล้ว ก็นำศาตรามา ฯ [๑๐๖] ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านพระฉันนะจงเยียวยาอัตภาพให้ เป็นไปเถิด เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านพระฉันนะเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปอยู่ ถ้าโภชนะเป็นที่สบายมิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าเภสัชเป็น ที่สบายมิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าพวกอุปัฏฐากที่สมควร มิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักอุปัฏฐากเอง ท่านพระฉันนะอย่านำศาตรามาเลย จงเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปเถิด เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านพระฉันนะเยียวยา อัตภาพให้เป็นไปอยู่ ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โภชนะ เป็นที่สบายของกระผมมิใช่ไม่มี โภชนะเป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้อุปัฏฐาก เป็นที่สบายของกระผมก็มิใช่ไม่มี เภสัชเป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้อุปัฏฐาก ที่สมควรของกระผมมิใช่ไม่มี อุปัฏฐากที่สมควรของกระผมมีอยู่ ก็พระศาสดาอัน กระผมบำเรอแล้วด้วยอาการเป็นที่พอใจอย่างเดียว ไม่บำเรอด้วยอาการเป็นที่ไม่พอ ใจตลอดกาลนานมา ข้อที่พระสาวกบำเรอพระศาสดาด้วยอาการเป็นที่พอใจ ไม่ บำเรอด้วยอาการเป็นที่ไม่พอใจ นี้สมควรแก่พระสาวก ความบำเรอนั้นไม่เป็นไป ฉันนภิกษุจักนำศาตรามา ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจงทรงจำความนี้ไว้อย่างนี้ ดังนี้เถิด ฯ [๑๐๗] สา. เราทั้งหลายขอถามปัญหาบางข้อกะท่านพระฉันนะ ถ้าท่าน พระฉันนะให้โอกาสเพื่อจะแก้ปัญหา ฯ ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร นิมนต์ถามเถิด กระผมฟังแล้วจักให้ทราบ ฯ สา. ท่านพระฉันนะ ท่านย่อมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณและธรรม ทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน ของเรา ฯลฯ ท่านย่อมพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้ แจ้งด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ หรือ ฯ ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมย่อมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯลฯ กระผมย่อมพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และ ธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่น ไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯ [๑๐๘] สา. ดูกรท่านพระฉันนะ ท่านเห็นอย่างไร รู้อย่างไร ในจักษุ ในจักษุวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณา เห็นจักษุ จักษุวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯลฯ ท่านเห็นอย่างไร รู้ อย่างไรในใจ ในมโนวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯ [๑๐๙] ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมเห็นความดับ รู้ความดับ ในจักษุ ในจักขุวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ จึง พิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯลฯ กระผมเห็นความดับ รู้ความดับ ในใจ ในมโนวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโน วิญญาณ จึงพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วย มโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ [๑๑๐] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าว กะท่านพระฉันนะว่า ดูกรท่านพระฉันนะ เพราะเหตุนั้นแล แม้ความพิจารณาเห็นนี้ เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ท่านพึงทำไว้ในใจให้ดีตลอดกาลเป็น นิตย์ไป ความหวั่นไหวของบุคคลที่มีตัณหา มานะและทิฐิอาศัยอยู่ ยังมีอยู่ ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ไม่มีตัณหา มานะและทิฐิอาศัยอยู่ เมื่อความ หวั่นไหวไม่มี ย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ไม่มีความเพลิดเพลิน เมื่อไม่มี ความเพลิดเพลิน ความมาความไปก็ไม่มี เมื่อความมาความไปไม่มี จุติและอุปบัติ ก็ไม่มี เมื่อจุติและอุปบัติไม่มี โลกนี้และโลกหน้าก็ไม่มี และระหว่างโลกทั้งสอง ก็ไม่มี นี้แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหา จุนทะ ครั้นกล่าวสอนท่านพระฉันนะด้วยโอวาทนี้แล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป ครั้นเมื่อท่านทั้งสองหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระฉันนะก็นำศาตรามา ฯ [๑๑๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระฉันนะนำศาตรามาแล้ว ท่านมีคติและอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสารีบุตร ความเป็นผู้ไม่เข้าไป อันฉันนภิกษุพยากรณ์แล้วต่อหน้าเธอมิใช่ หรือ ฯ สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วัชชีคามอันมีชื่อว่า บุพพวิชชนะมีอยู่ สกุล ที่เป็นมิตรและสกุลที่เป็นสหายในวัชชีคามนั้น เป็นสกุลที่ท่านพระฉันนะเข้าไป มีอยู่ ฯ พ. ดูกรสารีบุตร ก็สกุลที่เป็นมิตรและสกุลที่เป็นสหายเหล่านั้น เป็น สกุลที่พระฉันนภิกษุเข้าไป มีอยู่ แต่เราไม่กล่าวว่า ฉันนภิกษุมีสกุลที่ตนพึง เข้าไปด้วยเหตุเท่านั้นเลย ภิกษุใดแล ละทิ้งกายนี้ด้วย เข้าถือกายอื่นด้วย เรา กล่าวภิกษุนั้นว่า มีสกุลที่ตนพึงเข้าไป สกุลนั้นย่อมไม่มีแก่ฉันนภิกษุ ฉันนภิกษุ มิได้เข้าไป ศาตราอันฉันนภิกษุนำมาแล้ว ดูกรสารีบุตร เธอพึงทรงจำความนี้ไว้ อย่างนี้ดังนี้เถิด ฯ
จบสูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๑๓๔๙-๑๔๔๓ หน้าที่ ๕๙-๖๓. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=1349&Z=1443&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=18&A=1349&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=18&siri=67              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=104              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=18&A=1363              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=425              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=18&A=1363              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=425              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i101-e.php#sutta4 https://suttacentral.net/sn35.87/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.87/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]