ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
โลหิจจสูตร
[๒๐๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะอยู่ ณ อรัญญกุฎี ใกล้ มักกรกฏนคร ในอวันตีชนบท ครั้งนั้นแล พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมาก ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของโลหิจจพราหมณ์ ได้พากันเข้าไปยังอรัญญกุฎีของท่านพระ มหากัจจายนะ ครั้นแล้วพากันเดินตามกันไปมา เที่ยวตามกันไปรอบๆ กุฎีเล่น เสเลยยกกีฬามีเสียงเอ็ดอึงอึกทึกอยู่ว่า อันสมณะโล้นเหล่านี้เป็นเชื้อแถวคฤหบดี เป็นชั้นเลว เป็นเหล่ากอเกิดแต่เท้าแห่งพรหม อันชาวแว่นแคว้นเหล่านี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ดังนี้ ฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัจจายนะออกจากวิหารแล้ว ได้กล่าวกะมาณพ เหล่านั้นว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย พวกเธออย่าได้ส่งเสียงไป เราจักกล่าวธรรม ให้เธอทั้งหลายฟัง เมื่อท่านพระมหากัจจายนะกล่าวอย่างนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นก็ ได้พากันนิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัจจายนะได้กล่าวกะมาณพเหล่านั้นด้วย คาถาทั้งหลายว่า ฯ [๒๐๖] พราหมณ์เหล่าใด ย่อมระลึกถึงธรรมของพราหมณ์ ดั้งเดิมได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้สูงสุดโดยศีล เป็นผู้ก่อน กว่า ทวารทั้งหลายย่อมเป็นอันพราหมณ์เหล่านั้นคุ้มครองแล้ว รักษาดีแล้ว เพราะครอบงำความโกรธเสียได้ พราหมณ์ เหล่าใด ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์ดั้งเดิมได้ พราหมณ์ เหล่านั้นเป็นผู้ประพฤติในธรรม (กุศลกรรมบถ) และใน ฌาน พราหมณ์เหล่าใดละเลยธรรมข้อนี้เสีย เป็นผู้เมาด้วย โคตรว่า พวกเราผู้อันความโกรธครอบงำแล้ว ผู้มีอาชญา ในตนมากมาย ผู้ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่สดุ้งและ มั่นคง จึงประพฤติไม่สม่ำเสมอ การสมาทานวัตรทั้งปวง คือ การไม่กิน การนอนบนหนาม การอาบน้ำในเวลาเช้า และพระเวท ๓ ของบุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวาร เป็นการเปล่า ผล เหมือนของปลื้มใจอันบุรุษได้แล้วในความฝันฉะนั้น การ กล่าวสรรเสริญบริขารภัณฑ์เหล่านี้ คือ หนังเสือทั้งเล็บ ชะฎา การหมักหมมมูลฟัน มนต์ ศีลพรตที่กล่าวว่าเป็นตบะ การ ล่อลวง ไม้เท้าอันคด และการประพรมน้ำที่กล่าวว่าเป็น ความรู้ของพวกพราหมณ์ เป็นการบำเพ็ญเพื่ออามิส อันพวก พราหมณ์ทำแล้ว ส่วนจิตอันตั้งมั่นดีแล้ว อันผ่องใส ไม่ หม่นหมอง ไม่เหี้ยมโหดในสัตว์ทั้งปวง ข้อนั้นเป็นทางแห่ง การถึงความเป็นพรหม ฯ [๒๐๗] ครั้งนั้นแล มาณพเหล่านั้นขัดเคือง ไม่พอใจ ได้พากัน เข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะโลหิจจพราหมณ์ว่า ขอ ท่านผู้เจริญพึงทราบเถิด พระสมณมหากัจจายนะค่อนว่า คัดค้านมนต์ของพราหมณ์ ทั้งหลายโดยส่วนเดียว เมื่อมาณพเหล่านั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ ก็ขัดเคือง ไม่พอใจ ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์จึงคิดดังนี้ว่า การที่เราพึงด่า พึงเหน็บแนม พึงบริภาษพระสมณมหากัจจายนะ เพราะเชื่อฟังคำของมาณพเป็น แน่นอนนี้ ไม่สมควรแก่เราเลย อย่ากระนั้นเลย เราไปหาแล้วถามดูเถิด ครั้ง นั้นแล โลหิจจพราหมณ์กับมาณพเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่ อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระมหากัจจายนะว่า ท่านกัจจายนะผู้เจริญ พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมาก ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของ ข้าพเจ้า ได้มาแล้วในที่นี้หรือหนอแล ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า ดูกรพราหมณ์ พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมาก ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของท่าน ได้มาแล้วใน ที่นี้ ฯ โล. ท่านกัจจายนะผู้เจริญได้ปราศรัยอะไรกับมาณพเหล่านั้นบ้างหรือ ฯ ก. ดูกรพราหมณ์ อาตมาได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นแล ฯ โล. ก็ท่านกัจจายนะผู้เจริญได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างไรเล่า ฯ ก. ดูกรพราหมณ์ อาตมาได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ฯ พราหมณ์เหล่าใด ย่อมระลึกถึงธรรมของพราหมณ์ดั้งเดิมได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้สูงสุดโดยศีล เป็นผู้ก่อนกว่า ฯลฯ ข้อนั้นเป็นทางแห่งการถึงความเป็นพรหม ฯ ดูกรพราหมณ์ อาตมาได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างนี้แล ฯ โล. ท่านกัจจายนะผู้เจริญได้กล่าวว่า ผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ดังนี้ ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มี ทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ฯ ก. ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อม ยินดีในรูปที่น่ารัก ย่อมยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติอันไม่เข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิต มีอารมณ์อันน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ตามความเป็นจริง โดยประการที่อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกเหล่านั้นบังเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้น ไม่ ดับไปหาส่วนเหลือมิได้ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ... สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ... ลิ้มรส ด้วยลิ้นแล้ว... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมยินดีในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมยินร้ายในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก มีสติอัน ไม่เข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์อันน้อยอยู่ และไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญา วิมุติ ตามความเป็นจริง โดยประการที่อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกบังเกิดขึ้นแล้ว แก่บุคคลนั้น ไม่ดับไปโดยหาส่วนเหลือมิได้ ดูกรพราหมณ์ บุคคลเป็นผู้มีทวารอัน ไม่คุ้มครองแล้ว ด้วยประการอย่างนี้แล ฯ [๒๐๘] ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ข้อที่ท่านกัจจายนะผู้เจริญกล่าว บุคคลเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้วว่า ผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้วนี้ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ท่านกัจจายนะผู้เจริญได้กล่าวว่า ผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ดังนี้ ด้วย เหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ฯ ดูกรพราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ยินดี ในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์ หาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ตามความเป็นจริง โดยประการที่อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ดับไปโดย หาส่วนเหลือมิได้ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ... สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ... ลิ้มรสด้วยลิ้น แล้ว... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมไม่ยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก มีสติอันเข้า ไปตั้งไว้แล้ว มีจิตมีอารมณ์หาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญา วิมุติ ตามความเป็นจริง โดยประการที่อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกบังเกิดขึ้นแล้ว แก่ภิกษุนั้น ดับไปโดยหาส่วนเหลือมิได้ ดูกรพราหมณ์ ภิกษุเป็นผู้มีทวารอัน คุ้มครองแล้ว ด้วยประการอย่างนี้แล ฯ [๒๐๙] ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ข้อที่ท่านกัจจายนะผู้เจริญกล่าว บุคคลเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วว่า เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วนี้ น่า อัศจรรย์ ไม่เคยมี ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้า แต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ท่านกัจจายนะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิด ของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุ จักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าแต่ท่านกัจจายนะผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านกัจจายนะผู้เจริญ จงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป อนึ่ง ขอท่านกัจจายนะผู้เจริญจงเข้าไปสู่โลหิจจสกุล เหมือนอย่างที่ ท่านกัจจายนะผู้เจริญเข้าไปสู่สกุลอุบาสกทั้งหลายในมักกรกฏนครเถิด มาณพ ทั้งหลายหรือมาณวิกาทั้งหลายเหล่าใดในโลหิจจสกุลนั้น จักกราบไหว้ จักลุกขึ้น ต้อนรับท่านกัจจายนะผู้เจริญ หรือจักนำอาสนะ จักถวายน้ำแก่ท่านกัจจายนะผู้ เจริญ สามีจิกรรม มีการกราบไหว้เป็นต้นนั้นจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ ความสุขตลอดกาลนาน แก่มาณพหรือมาณวิกาเหล่านั้น ฯ
จบสูตรที่ ๙

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๓๐๕๑-๓๑๕๐ หน้าที่ ๑๓๑-๑๓๕. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=3051&Z=3150&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=18&A=3051&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=18&siri=112              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=205              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=18&A=2998              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=1037              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=18&A=2998              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=1037              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i191-e.php#sutta9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.132.wlsh.html https://suttacentral.net/sn35.132/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.132/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]