ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๓
เรื่องตระกูลหนึ่ง
[๗๘๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ในพระนครสาวัตถี มีตระกูลหนึ่งเป็น ตระกูลที่เลื่อมใส ทั้งสองสามีภรรยาเจริญด้วยศรัทธา แต่หย่อนด้วยโภคทรัพย์ เขาได้สละของ เคี้ยวของฉันอันเป็นอาหารมื้อเช้า ซึ่งบังเกิดในตระกูลนั้นทั้งหมด แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บางคราว ถึงกับอดอาหารอยู่. ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระ ศากยบุตรจึงได้รับอาหารไม่รู้จักประมาณ สามีภรรยาคู่นี้ได้ถวายแก่สมณะเหล่านี้แล้ว บางคราว ถึงกับอดอาหารอยู่ ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงได้ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระพุทธานุญาตพิเศษ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดเจริญด้วยศรัทธา แต่ หย่อนด้วยโภคทรัพย์ เราอนุญาตให้สมมติว่าเป็นเสกขะแก่ตระกูลเห็นปานนั้นด้วยญัตติทุติยกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงให้เสกขะสมมติอย่างนี้.
เสกขสมมติ
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้เสกขสมมติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ตระกูลมีชื่อนี้เจริญด้วยศรัทธา แต่หย่อน ด้วยโภคสมบัติ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สมมติว่าเป็นเสกขะแก่ ตระกูลมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ตระกูลมีชื่อนี้เจริญด้วยศรัทธา แต่หย่อน ด้วยโภคสมบัติ สงฆ์ให้สมมติว่าเป็นเสกขะแก่ตระกูลมีชื่อนี้ การให้สมมติว่าเป็น เสกขะแก่ตระกูลมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. การให้สมมติว่าเป็นเสกขะ สงฆ์ให้แล้วแก่ตระกูลมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๔๔. ๓. ก. อนึ่ง ภิกษุใด รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในสกุลที่สงฆ์ สมมติว่าเป็นเสกขะเห็นปานนั้น ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึง แสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉัน แสดงคืนธรรมนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.
เรื่องตระกูลหนึ่ง จบ.
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๗๘๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ในพระนครสาวัตถีมีงานมหรสพ พวกชาวบ้านนิมนต์ ภิกษุทั้งหลายไปฉัน แม้ตระกูลนั้นก็ได้นิมนต์ภิกษุทั้งหลายไปฉัน ภิกษุทั้งหลายไม่รับนิมนต์ รังเกียจอยู่ว่า การรับของเคี้ยวของฉันในตระกูลที่สมมติว่าเป็นเสกขะ ด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวฉัน พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว เขาจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พวกเราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เพราะพระคุณเจ้าทั้งหลายไม่รับนิมนต์ฉันของพวกเรา ภิกษุทั้งหลายได้ยินเขาเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระพุทธานุญาตพิเศษ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อันทายก นิมนต์แล้ว รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ด้วยมือ ของตนแล้ว เคี้ยวฉันได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ ๑
๑๔๔. ๓. ข. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับนิมนต์ก่อน รับของเคี้ยวก็ดี ของ ฉันก็ดี ในตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะเห็นปานนั้น ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะ แสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ.
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๗๙๐] โดยสมัยต่อจากนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเป็นกุลุปกะของตระกูลนั้น ครั้นเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสกแล้วถือบาตจีวรเดินผ่านเข้าไปในตระกูลนั้น ครั้นถึงแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่ เขาจัดถวาย ภิกษุนั้นเกิดอาพาธในทันใด จึงชาวบ้านเหล่านั้นได้กล่าวอาราธนาภิกษุนั้นว่า นิมนต์ ฉันเถิดขอรับ ภิกษุนั้นไม่รับนิมนต์ รังเกียจอยู่ว่า ภิกษุผู้อันทายกไม่ได้นิมนต์ไว้ก่อน รับของเคี้ยว ของฉันในตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวฉัน พระผู้มีพระภาคทรง ห้ามแล้ว ดังนี้แล้วไม่อาจไปบิณฑบาต ได้อดอาหารแล้ว ครั้นหายจากอาพาธแล้ว เธอได้ไปสู่ อารามแจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระพุทธานุญาตพิเศษ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธรับ ของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในตระกูลที่สงฆ์สมมติว่า เป็นเสกขะ ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยว ฉันได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ ๒
๑๔๔. ๓. ค. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับนิมนต์ก่อน มิใช่ผู้อาพาธ รับของ เคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในตระกูลทั้งหลายที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะเห็นปานนั้น ด้วยมือ ของตน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น.
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๗๙๑] คำว่า ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ความว่า ตระกูลที่ชื่อว่าอันสงฆ์ สมมติว่าเป็นเสกขะ ได้แก่ตระกูลที่เจริญด้วยศรัทธา แต่หย่อนด้วยโภคสมบัติ ได้รับสมมติ ด้วยญัตติทุติยกรรมว่าเป็นเสกขะ. บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า ในตระกูลทั้งหลายที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ได้แก่ตระกูลทั้งหลาย เห็น ปานนั้น ที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ. ที่ชื่อว่า ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ คือเขาไม่ได้นิมนต์เพื่อฉันในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ไว้ ภิกษุ เดินผ่านอุปจารเรือนเข้าไป เขาจึงนิมนต์ นี้ชื่อว่าไม่ได้รับนิมนต์ไว้. ที่ชื่อว่า ได้รับนิมนต์ คือ เขานิมนต์เพื่อฉันในวันนี้หรือพรุ่งนี้ไว้ ภิกษุมิได้เดินผ่าน อุปจารเข้าไป เขานิมนต์ นี้ชื่อว่า ได้รับนิมนต์. ที่ชื่อว่า มิใช่ผู้อาพาธ คือ สามารถไปบิณฑบาตได้. ที่ชื่อว่า ผู้อาพาธ คือ ไม่สามารถไปบิณฑบาตได้. ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะห้า ของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่าของเคี้ยว ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะห้า คือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑. ภิกษุไม่ได้รับนิมนต์ไว้ มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวของฉันไว้ด้วยหมายใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ ทุกๆ คำกลืน.
บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
[๗๙๒] ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็น เสกขะ ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน แล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ. ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ภิกษุสงสัยอยู่ ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ. ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ.
ทุกกฏ
ภิกษุรับของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อทำเป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน. มิใช่ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็น เสกขะ ... ต้องอาบัติทุกกฏ. มิใช่ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ภิกษุสงสัยอยู่ ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
มิใช่ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็น เสกขะ ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๗๙๓] ภิกษุได้รับนิมนต์ไว้ ๑ ภิกษุอาพาธ ๑ ภิกษุฉันของเป็นเดน ภิกษุผู้ได้รับ นิมนต์ไว้หรือผู้อาพาธ ๑ ภิกษุฉันภิกษาที่เขาจัดไว้ในที่นั้นเพื่อภิกษุอื่นๆ ๑ ภิกษุฉันภัตตาหารที่ เขานำออกจากเรือนไปถวาย ๑ ภิกษุฉันนิตยภัต ๑ ภิกษุฉันสลากภัต ๑ ภิกษุฉันปักขิกภัต ๑ ภิกษุฉันอุโปสถิกภัต ๑ ภิกษุฉันปาฏิปทิกภัต ๑ ภิกษุฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ที่เขาถวายบอกว่า เมื่อปัจจัยมีก็นิมนต์ฉัน ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๓ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๔๙๒๗-๑๕๐๕๒ หน้าที่ ๖๔๗-๖๕๒. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=14927&Z=15052&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=2&A=14927&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=132              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=788              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=2&A=9389              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10326              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=2&A=9389              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10326              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pd3/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pd3/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]