ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
อุโปสถสูตร
[๕๑๐] ๗๑. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของ มิคารมารดา ในบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตา ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับในวันอุโบสถ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกร นางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนแต่ยังวันอยู่ นางวิสาขากราบทูลว่า วันนี้ดิฉันเข้าจำ อุโบสถ เจ้าข้า ฯ พ. ดูกรนางวิสาขา อุโบสถมี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน คือ โคปาลก- *อุโบสถ ๑ นิคัณฐอุโบสถ ๑ อริยอุโบสถ ๑ ดูกรนางวิสาขา ก็โคปาลกอุโบสถ เป็นอย่างไร ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนนายโคบาล เวลาเย็นมอบฝูงโคให้ แก่เจ้าของแล้ว พิจารณาดังนี้ว่า วันนี้โคเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ ดื่มน้ำใน ประเทศโน้นๆ พรุ่งนี้โคจักเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ จักดื่มน้ำในประเทศ โน้นๆ แม้ฉันใด ดูกรนางวิสาขา ฉันนั้นเหมือนกัน คนรักษาอุโบสถบางคน ในโลกนี้ พิจารณาดังนี้ว่า วันนี้เราเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ กินของชนิดนี้ๆ พรุ่งนี้เราจะเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ จักกินของกินชนิดนี้ๆ เขามีใจประกอบ ด้วยความโลภอยากได้ของเขา ทำวันให้ล่วงไปด้วยความโลภนั้น ดูกรนางวิสาขา โคปาลกอุโบสถเป็นเช่นนี้แล ดูกรนางวิสาขา โคปาลกอุโบสถที่บุคคลเข้าจำ แล้วอย่างนี้แล ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาล มาก ดูกรนางวิสาขา ก็นิคัณฐอุโบสถเป็นอย่างไร ดูกรนางวิสาขา มีสมณนิกาย หนึ่ง มีนามว่านิครนถ์ นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า มาเถอะ พ่อคุณ ท่านจงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศบูรพา ในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวาง ทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศปัศจิมในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่ สัตว์ที่อยู่ทางทิศอุดรในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศ ทักษิณในที่เลยร้อยโยชน์ไป นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บาง เหล่า ไม่ชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ด้วยประการฉะนี้ นิครนถ์เหล่า นั้นชักชวนสาวกในวันอุโบสถเช่นนั้นอย่างนี้ว่า มาเถอะ พ่อคุณ ท่านจงทิ้งผ้า เสียทุกชิ้นแล้วพูดอย่างนี้ว่า เราไม่เป็นที่กังวลของใครๆ ในที่ไหนๆ และ ตัวเราก็ไม่มีความกังวลในบุคคลและสิ่งของใดๆ ในที่ไหนๆ ดังนี้ แต่ว่า มารดาและบิดาของเขารู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรของเรา แม้เขาก็รู้ว่า ท่านเหล่านี้ เป็นมารดาบิดาของเรา อนึ่ง บุตรและภรรยาของเขาก็รู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบิดาสามี ของเรา แม้เขาก็รู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรภรรยาของเรา พวกทาสและคนงานของเขา รู้อยู่ว่า ท่านผู้นี้เป็นนายของเรา ถึงตัวเขาก็รู้ว่า คนเหล่านี้เป็นทาสและคนงาน ของเรา เขาชักชวนในการพูดเท็จ ในสมัยที่ควรชักชวนในคำสัตย์ ด้วยประการ ฉะนี้ เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะมุสาวาท พอล่วงราตรีนั้นไป เขาย่อม บริโภคโภคะเหล่านั้นที่เจ้าของไม่ได้ให้ เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะ อทินนาทาน ดูกรนางวิสาขา นิคัณฐอุโบสถเป็นเช่นนี้แล ดูกรนางวิสาขา นิคัณฐ- *อุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก ดูกรนางวิสาขา ก็อริยอุโบสถเป็นอย่างไร ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองย่อมทำ ให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัย นี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเสด็จ ไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็น ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เมื่อเธอหมั่นนึกถึงพระตถาคตอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่อง เศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนศีรษะที่เปื้อนจะทำให้ สะอาดได้ด้วยความเพียร ก็ศีรษะที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยขี้ตะกรัน ดินเหนียว น้ำ และความพยายามอัน เกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกรนางวิสาขา ศีรษะที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วย ความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำพรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภพรหม เกิด ความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้า- *หมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนางวิสาขา จิตที่ เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้ว ได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึก ถึงธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลผู้บรรลุจะพึงเห็น เอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูพึงรู้ เฉพาะตน เมื่อเธอหมั่นนึกถึงธรรมอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละ เครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนกายที่เปื้อนจะทำ ให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ดูกรนางวิสาขา ก็กายที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยเชือก จุรณสำหรับอาบน้ำ และความพยายามที่เกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกรนางวิสาขา กายที่เปื้อนย่อมทำ ให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้ว ได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำธรรมอุโบสถอยู่ อยู่ร่วมกับธรรม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภธรรม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา จิตที่ เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนางวิสาขา จิตที่ เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้ว ได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ หมั่นระลึก ถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร นี้คือคู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความ ปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนผ้า ที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ก็ผ้าที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความ เพียรอย่างไร จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยเกลือ น้ำด่าง โคมัย น้ำ กับความ เพียร อันเกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกรนางวิสาขา ผ้าที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาด ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วย ความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำ สังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์ และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภสงฆ์ เกิดความ ปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะ ทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความ เพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทยแก่ตัว ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ ถูกตัณหา ทิฐิลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงศีลอยู่ จิตย่อม ผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนกระจกเงาที่มัวจะทำให้ใสได้ด้วยความเพียร ก็กระจกเงาที่มัวจะทำ ให้ใสได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้ใสได้เพราะอาศัยน้ำมัน เถ้า แปรง กับความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกรนางวิสาขา กระจกที่มัวจะทำให้ ใสได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วย ความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความ เพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงศีลของตน ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล และมีจิต ผ่องใสเพราะปรารภศีล เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้า หมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาพวกชั้นจาตุมหาราชิกามีอยู่ เทวดา พวกชั้นดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาพวกชั้นยามามีอยู่ เทวดาพวกชั้นดุสิตมีอยู่ เทวดา พวกชั้นนิมมานรดีมีอยู่ เทวดาพวกชั้นปรินิมมิตวสวัตตีมีอยู่ เทวดาพวกที่นับเนื่อง เข้าในหมู่พรหมมีอยู่ เทวดาพวกที่สูงกว่านั้นขึ้นไปมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบ ด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มี เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ศีลเช่นนั้น แม้ของเราก็มี เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดใน ภพนั้น สุตะเช่นนั้นแม้ของเราก็มี เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติ จากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น จาคะเช่นนั้นแม้ของเราก็มี เทวดาเหล่านั้นประกอบ ด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มี เมื่อเธอระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของตนกับของเทวดา เหล่านั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนทองที่หมองจะทำให้สุกได้ก็ด้วยความเพียร ทองที่หมองจะทำให้สุกได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สุกได้เพราะอาศัยเบ้า หลอมทอง เกลือ ยางไม้ คีม กับความพยายามที่เกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกร นางวิสาขา ทองที่หมองจะทำให้สุกได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่ เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกเช่นนี้เรียกว่า เข้าจำเทวดาอุโบสถ อยู่ร่วมกับเทวดา มีจิตผ่องใสเพราะ ปรารภเทวดา เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนาง วิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนาง วิสาขา พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการ ฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่จนตลอดชีวิต แม้ เราก็ได้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มี ความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระ อรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของ ที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละ การลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขา ให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ใน วันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็ จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน จนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน ตลอดคืนหนึ่งกับวัน หนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้ง อุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการพูดเท็จ เว้นขาด จากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลกจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก ตลอด คืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการดื่ม น้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แม้จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละ การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่ม น้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถ ก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันหนเดียว เว้นการบริโภคใน ราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาลจนตลอดชีวิต แม้เราก็บริโภคหนเดียว เว้นการ บริโภคในราตรี งดจากการบริโภคในเวลาวิกาล ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ใน วันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถจัก เป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย เว้นขาดจากฟ้อนรำขับร้อง การ ประโคมดนตรี และการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล จากการทัดทรงประดับ และตกแต่งกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่ง การแต่งตัวจนตลอดชีวิต แม้เราก็เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้องการประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล จากการทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วย ดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว ตลอดคืน หนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการ นั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูง ใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วย หญ้าจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาด จากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้า ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอัน เราเข้าจำแล้ว ดูกรนางวิสาขา อริยอุโบสถเป็นเช่นนี้แล อริยอุโบสถอันบุคคล เข้าจำแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความ แผ่ไพศาลมาก อริยอุโบสถมีผลมากเพียงไร มีอานิสงส์มากเพียงไร มีความ รุ่งเรืองมากเพียงไร มีความแผ่ไพศาลมากเพียงไร ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือน ผู้ใดพึงครองราชย์เป็นอิศราธิบดีแห่งชนบทใหญ่ ๑๖ แคว้นเหล่านี้ อันสมบูรณ์ ด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ การครองราชย์ของผู้นั้นยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราชสมบัติที่เป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบ กับสุขที่เป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๕๐ ปีซึ่งเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็น หนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๕๐๐ ปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ดูกรนางวิสาขา ข้อนี้เป็นฐานะที่ จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติที่เป็นของ มนุษย์ เมื่อจะนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกร นางวิสาขา ๑๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้น ดาวดึงส์ โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็น หนึ่งปี โดยปีนั้น พันปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ดูกรนางวิสาขา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความ เป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แลจึง กล่าวว่า ราชสมบัติของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๒๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับ วันหนึ่งของเทวดาชั้นยามา โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น สองพันปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของ เทวดาชั้นยามา ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษ บางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นยามา ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความ ข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับ สุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๔๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นดุสิต โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๔,๐๐๐ ปี อันเป็นทิพย์ เป็น ประมาณอายุของเทวดาชั้นดุสิต ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อ แตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดุสิต ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้า ไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๘๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของเทวดาชั้นนิมมานรดี โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๘,๐๐๐ ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณของอายุของเทวดาชั้นนิมมานรดี ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของ เทวดาชั้นนิมมานรดี ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็น ของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๑,๖๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับ วันหนึ่งของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๑๖,๐๐๐ ปีอันเป็นทิพย์ เป็น ประมาณอายุของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่ จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ดูกรนางวิสาขา เราหมายความเอาข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของ มนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ฯ บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงลักทรัพย์ ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึง ดื่มน้ำเมา พึงงดเว้นเมถุน อันเป็นความประพฤติไม่ ประเสริฐ ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาล ในกลางคืน ไม่พึงทัดทรงดอกไม้ ไม่พึงลูบไล้ของหอม และพึงนอนบน เตียง บนพื้น หรือบนที่ซึ่งเขาปูลาด บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แลว่า อันพระพุทธเจ้า ผู้ถึงที่สุดทุกข์ทรงประกาศไว้ พระจันทร์ พระอาทิตย์ ทั้งสอง ที่น่าดู ส่องแสง โคจรไปทั่วสถานที่ประมาณเท่าใด และ พระจันทร์ พระอาทิตย์นั้น กำจัดความมืด ไปในอากาศ ทำให้ทิศรุ่งโรจน์ ส่องแสงอยู่ในนภากาศ ทั่วสถานที่มี ประมาณเท่าใด ทรัพย์ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้ว ไพฑูรย์ ทองสิงคี และทองคำ ตลอดถึงทองชนิดที่เรียกว่า หฏกะ เท่าที่มีอยู่ในสถานที่ประมาณเท่านั้น ยังไม่ถึงแม้ซึ่ง เสี้ยวที่ ๑๖ ของอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ และทั้งหมด ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของแสงจันทร์และหมู่ดาว เพราะ ฉะนั้นแหละ สตรีบุรุษผู้มีศีล เข้าจำอุโบสถประกอบด้วย องค์ ๘ ทำบุญซึ่งมีสุขเป็นกำไร เป็นผู้ไม่ถูกนินทา ย่อม เข้าถึงสัคคสถาน ฯ
จบมหาวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ติตถสูตร ๒. ภยสูตร ๓. เวนาคสูตร ๔. สรภสูตร ๕. เกสปุตตสูตร ๖. สาฬหสูตร ๗. กถาวัตถุสูตร ๘. ติตถิยสูตร ๙. มูลสูตร ๑๐. อุโบสถสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๕๔๒๑-๕๖๖๖ หน้าที่ ๒๓๒-๒๔๒. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=5421&Z=5666&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=20&A=5421&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=20&siri=115              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=510              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=20&A=5538              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=4998              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=20&A=5538              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=4998              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i501-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an03/an03.070.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/03/an03-071.html https://suttacentral.net/an3.70/en/sujato https://suttacentral.net/an3.70/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]