ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

หน้าที่ ๒๘๑.

อภิญญาวรรคที่ ๖
[๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึงกำหนดรู้ไว้ก็มี ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึงละ เสียก็มี ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึงให้เจริญก็มี ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึง กระทำให้แจ้งก็มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึงกำหนดรู้ เป็นไฉน อุปาทานขันธ์ ๕ นี้เราเรียกว่า ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึงกำหนด รู้ไว้ ก็ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึงละเสียเป็นไฉน คือ อวิชชา และภวตัณหา นี้เราเรียกว่า ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึงละเสีย ก็ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้ว พึงให้เจริญเป็นไฉน คือ สมถะและวิปัสสนา นี้เราเรียกว่า ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญา แล้วพึงให้เจริญ ก็ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึงกระทำให้แจ้งเป็นไฉน คือ วิชชา และวิมุตติ นี้เราเรียกว่า ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้วพึงกระทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล ฯ [๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนริยปริเยสนา การแสวงหาอันไม่ประเสริฐ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ตนเองเป็นผู้ มีชราเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาสิ่งที่มีชราเป็นธรรมดานั่นเอง ๑ ตนเองเป็นผู้มี พยาธิเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาสิ่งที่มีพยาธิเป็นธรรมดานั่นเอง ๑ ตนเองเป็นผู้มี มรณะเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาสิ่งที่มีมรณะเป็นธรรมดานั่นเอง ๑ ตนเองเป็น ผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา นั่นเอง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนริยปริเยสนา ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยปริเยสนา การแสวงหาอย่างประเสริฐ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีชรา เป็นธรรมดาแล้ว ย่อมแสวงหานิพพานอันไม่มีชรา เป็นแดนเกษมจากโยคะ อย่างเยี่ยม ๑ ตนเองเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีพยาธิเป็นธรรมดา แล้ว ย่อมแสวงหานิพพานอันไม่มีพยาธิ เป็นแดนเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ๑

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๘๒.

ตนเองเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีมรณะเป็นธรรมดาแล้ว ย่อม แสวงหานิพพานอันไม่ตาย เป็นแดนเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ๑ ตนเองเป็นผู้มี ความเศร้าหมองเป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาแล้ว ย่อมแสวงหานิพพานอันไม่เศร้าหมอง เป็นแดนเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยปริเยสนา ๔ ประการนี้แล ฯ [๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน คือ ทาน การให้ ๑ เปยยวัชชะ เจรจาถ้อยคำน่ารัก ๑ อรรถจริยา ประพฤติประโยชน์ ๑ สมานัตตตา ความมีตนเสมอ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้แล ฯ [๒๕๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มี- *พระภาคโปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว พึงหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาลุงกยบุตร ทีนี้เราจักกล่าวกะพวกภิกษุหนุ่ม อย่างไรเล่า ในเมื่อท่านเป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ขอโอวาทของตถาคตโดยย่อ พระมาลุงกยบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรง แสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อ แม้ไฉน ข้าพระองค์จะพึงรู้ถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาค แม้ไฉน ข้าพระองค์ พึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร มาลุงกยบุตร เหตุเกิดตัณหา ซึ่งเป็นที่ที่ตัณหาเมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรมาลุงกยบุตร ตัณหาเมื่อเกิดแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นเพราะจีวรเป็นเหตุ ๑ เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ๑ เพราะเสนาสนะ เป็นเหตุ ๑ เพราะความเป็นและความไม่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้เป็นเหตุ ๑ ดูกรมาลุงกยบุตร เหตุเกิดตัณหาซึ่งเป็นที่ที่ตัณหา เมื่อเกิดย่อมเกิดแก่ภิกษุ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๘๓.

๔ ประการนี้แล เมื่อใดแล ภิกษุละตัณหาได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำ ให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ตัดตัณหาได้เด็ดขาด รื้อสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะโดยชอบ ฯ ลำดับนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตร อันพระผู้มีพระภาคทรงโอวาทด้วย พระโอวาทนี้แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป ลำดับนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตรเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ได้กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่ง พรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบ ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ต่อกาลไม่นานเลย ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ก็แลท่านพระมาลุงกยบุตรเป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ [๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน ๔ หรือสถานใดสถานหนึ่ง บรรดาสถาน ๔ นั้น สถาน ๔ เป็นไฉน คือ ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๑ ไม่ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า ๑ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ๑ ตั้งสตรีหรือ บุรุษทุศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึง ความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน ๔ นี้ หรือสถานใดสถานหนึ่งบรรดาสถาน ๔ นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใด ตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน ๔ หรือสถานใดสถานหนึ่งบรรดาสถาน ๔ นั้น สถาน ๔ เป็นไฉน คือ แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๑ ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า ๑ รู้จักประมาณในการ บริโภค ๑ ตั้งสตรีหรือบุรุษผู้มีศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๘๔.

ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมตั้งอยู่ได้นานเพราะ สถาน ๔ นี้ หรือสถานใดสถานหนึ่งบรรดาสถาน ๔ นั้น ฯ [๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชา ประกอบ ด้วยองค์ ๔ ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าทรง ย่อมถึงการนับว่าเป็น ราชพาหนะ องค์ ๔ เป็นไฉน คือ ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชาในโลกนี้ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๑ สมบูรณ์ด้วยกำลัง ๑ สมบูรณ์ด้วยความเร็ว ๑ สมบูรณ์ ด้วยทรวดทรง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชา ประกอบ ด้วยองค์ ๔ นี้แล เป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าทรง ถึงการนับว่าเป็น ราชพาหนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ ด้วยวรรณะ ๑ สมบูรณ์ด้วยกำลัง ๑ สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ ๑ สมบูรณ์ด้วย ทรวดทรง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะอย่างไร ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังอย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อบำเพ็ญกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย กำลังอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์อย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธ- *คามินีปฏิปทา ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรงอย่างไร ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปรกติได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขารอันเป็น ปัจจัยแก่คนไข้ ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรงอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๘๕.

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ฯ [๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชา ประกอบ ด้วยองค์ ๔ ประการ ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าทรง ถึงการ นับว่าเป็นราชพาหนะทีเดียว องค์ ๔ เป็นไฉน คือ ม้าอาชาไนยตัวเจริญของ พระราชาในโลกนี้ เป็นม้าสมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๑ สมบูรณ์ด้วยกำลัง ๑ สมบูรณ์ด้วยความเร็ว ๑ สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย ตัวเจริญของพระราชา ประกอบด้วยองค์ ๔ นี้แล เป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าทรง ถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๑ สมบูรณ์ด้วยกำลัง ๑ สมบูรณ์ ด้วยเชาวน์ ๑ สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ ด้วยวรรณะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ใน สิกขาบททั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังอย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อบำเพ็ญกุศลธรรม เป็นผู้ มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย กำลังอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์อย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ ด้วยเชาวน์อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรงอย่างไร ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรกติได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๘๖.

แก่คนไข้ ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรงอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ฯ [๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ กำลังคือความเพียร ๑ กำลังคือสติ ๑ กำลังคือสมาธิ ๑ กำลังคือปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้แล ฯ [๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ไม่ควรเสพเสนาสนะสงัดอันตั้งอยู่ในราวป่า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้มีปัญญาทราม เพราะกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก และเป็นผู้ โง่เขลาบ้าน้ำลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ไม่ควรเสพเสนาสนะ- *สงัดอันตั้งอยู่ในราวป่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ควรเสพเสนาสนะสงัดอันตั้งอยู่ในราวป่า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้มีปัญญา เพราะเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก และเป็นผู้ไม่ โง่เขลาไม่บ้าน้ำลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ควรเสพ- *เสนาสนะสงัดอันตั้งอยู่ในราวป่า ฯ [๒๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่ฉลาด เป็นอสัปบุรุษ ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกขจัด ถูกทำลาย เป็นผู้ประกอบ ด้วยโทษ วิญญูชนติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรมอันมีโทษ ๑ วจีกรรมอันมีโทษ ๑ มโนกรรมอันมีโทษ ๑ ทิฐิอันมีโทษ ๑ คนพาลผู้ไม่ฉลาด เป็นอสัปบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกขจัด ถูกทำลาย เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ วิญญูชนติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็น อันมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้ฉลาด เป็นสัปบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกขจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่ประกอบด้วยโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน และย่อมได้ประสบบุญเป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๘๗.

คือ กายกรรมอันไม่มีโทษ ๑ วจีกรรมอันไม่มีโทษ ๑ มโนกรรมอันไม่มีโทษ ๑ ทิฐิอันไม่มีโทษ ๑ บัณฑิตผู้ฉลาด เป็นสัปบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกขจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ดังนี้แล ฯ
จบอภิญญาวรรคที่ ๖
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๖๕๖๙-๖๗๒๒ หน้าที่ ๒๘๑-๒๘๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=6569&Z=6722&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=21&A=6569&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=21&siri=142              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=254              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=21&A=7064              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=10233              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=21&A=7064              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=10233              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_21              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i254-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i254-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.252.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.255.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.259.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/04/an04-254.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/04/an04-262.html https://suttacentral.net/an4.254/en/sujato https://suttacentral.net/an4.255/en/sujato https://suttacentral.net/an4.255/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.256/en/sujato https://suttacentral.net/an4.257/en/sujato https://suttacentral.net/an4.258/en/sujato https://suttacentral.net/an4.258/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.259/en/sujato https://suttacentral.net/an4.260/en/sujato https://suttacentral.net/an4.261/en/sujato https://suttacentral.net/an4.262/en/sujato https://suttacentral.net/an4.262/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.263/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]