ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

หน้าที่ ๓๑.

สุมนวรรคที่ ๔
๑. สุมนสูตร
[๓๑] ครั้งนั้นแล สุมนาราชกุมารี ๑- แวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และ ราชกุมารี ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน พระวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาค ๒ คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งไม่ให้ คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึง สุคติโลกสวรรค แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน พึงมีความพิเศษ แตกต่างกันหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสุมนา คนทั้งสองนั้นพึงมีความ พิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็นเทวดาย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์ ดูกรสุมนา ผู้ที่ให้เป็น เทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้ ฯ สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความ พิเศษแตกต่างกันหรือ ฯ พ. ดูกรสุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็น มนุษย์ ย่อมข่มคนไม่ให้ได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ด้วยอายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์ ดูกรสุมนา ผู้ให้เป็นมนุษย์ย่อมข่มคนผู้ ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้ ฯ สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวช แต่คนทั้งสอง นั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ พ. ดูกรสุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ คนที่ให้ เป็นบรรพชิต ย่อมข่มคนที่ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ เมื่อออกปากขอย่อม @๑. ราชธิดาของพระเจ้าปเสนทิโกศล

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๒.

ได้จีวรมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บิณฑบาตมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้เสนาสนะมาก เมื่อไม่ออก ปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บริขารคือยาที่เป็นเครื่องบำบัดไข้มาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย และจะอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อน พรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่ พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็น ส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย ดูกรสุมนา ผู้ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้ ฯ สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุอรหัตแต่คนทั้งสอง นั้นทั้งที่ได้บรรลุอรหัตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ พ. ดูกรสุมนา เราไม่กล่าวว่ามีเหตุแตกต่างกันใดๆ ในวิมุตติ กับ วิมุตติ ข้อนี้ ฯ สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็น อุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต ฯ พ. อย่างนั้นสุมนา อย่างนั้นสุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะ บุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึง ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศย่อมสว่างกว่า หมู่ดาวทั้งปวงในโลก ด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วย ศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวง ในโลกด้วยจาคะ ฯ เมฆที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้า ปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอนและที่ ลุ่ม ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๓.

ทัสนะ เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วย ฐานะ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และเปี่ยม ด้วยโภคะ ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ในปรโลก ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๖๙๖-๗๔๘ หน้าที่ ๓๑-๓๓. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=696&Z=748&pagebreak=1 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=22&A=696&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=31              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=31              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=22&A=694              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=297              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=22&A=694              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=297              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i031-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an5.31/en/sujato https://suttacentral.net/an5.31/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]