ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
ธรรมิกวรรคที่ ๕
๑. นาคสูตร
[๓๑๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร สาวัตถี ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์ ว่า ดูกรอานนท์ มาเถิด เราจักเข้าไปยังปราสาทของมิคารมารดา ที่บุพพาราม วิหาร เพื่อพักผ่อนกลางวัน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับ นั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้เสด็จเข้าไปยังปราสาทของ มิคารมารดา ที่บุพพารามวิหาร ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจาก ที่เร้นแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ มาเถิด เราจักไปยังท่าน้ำ ชื่อบุพพโกฏฐกะ เพื่อสรงน้ำ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับ นั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ ได้เสด็จเข้าไปยังท่าน้ำชื่อ บุพพโกฏฐกะ เพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงแล้ว เสด็จขึ้นมา ทรงนุ่งอันตรวาสกได้ยืน ผึ่งพระวรกายอยู่ ฯ ก็สมัยนั้น พระเสวตกุญชรของพระเจ้าปเสนทิโกศล ขึ้นมาจากท่าน้ำ ชื่อบุพพโกฏฐกะ เพราะเสียงดนตรีใหญ่ที่เขาตีประโคม ก็มหาชนเห็นช้างนั้นแล้ว กล่าวชมอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ช้างของพระราชางามยิ่งนัก ช้างของพระราชา น่าดูนัก ช้างของพระราชาน่าเลื่อมใสนัก ช้างของพระราชามีอวัยวะ สมบูรณ์ ฯ เมื่อมหาชนกล่าวชมอย่างนี้แล้ว ท่านพระกาลุทายีได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาชนเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง มีอวัยวะ สมบูรณ์เท่านั้นหรือหนอ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ช้างเป็นสัตว์ ประเสริฐหนอ หรือว่ามหาชนเห็นสัตว์บางอย่างแม้อื่นที่ใหญ่ สูง มีอวัยวะ สมบูรณ์ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ สัตว์นั้นประเสริฐหนอ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกาลุทายี มหาชนเห็นช้างเชือกใหญ่ สูงมี อวัยวะสมบูรณ์บ้าง จึงได้กล่าวชมอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ช้างเป็นสัตว์ประเสริฐ หนอ มหาชนเห็นม้าตัวใหญ่ สูงบ้าง โคตัวใหญ่ สูงบ้าง งูตัวใหญ่ ยาวบ้าง ต้นไม้ใหญ่ สูงบ้าง มนุษย์ผู้มีร่างกายใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์บ้าง จึงได้ กล่าวชมอย่างนี้ว่า ประเสริฐหนอ ดูกรกาลุทายี อนึ่ง บุคคลใดไม่ทำความชั่ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในโลกนี้กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราเรียกบุคคลนั้นว่าผู้ ประเสริฐ ฯ กา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ พระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยดีดังนี้ว่า ดูกรกาลุทายี อนึ่ง บุคคลใดไม่ทำ ความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในโลกนี้กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหม โลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราเรียกบุคคลนั้น ว่าผู้ประเสริฐ ฯ ท่านพระกาลุทายีกราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์ ขออนุโมทนาพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วนี้ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า ข้าพระองค์ได้สดับจากพระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ ดังนี้ว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้ เป็นมนุษย์ทรงฝึกฝนพระองค์แล้ว มีจิตตั้งมั่น ดำเนินไปใน ทางประเสริฐ ๑- ทรงยินดีในธรรมที่ยังจิตให้เข้าไปสงบ ทรง ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง แม้เทวดาทั้งหลายก็ย่อมนอบน้อม พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ทรง @๑. ทางนิพพาน ออกจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ทรงบรรลุธรรมที่ไม่มีกิเลส เครื่องร้อยรัด ทรงยินดีในธรรมอันเป็นที่ออกไปจากกาม ทั้งหลาย คล้ายทองคำที่ถลุงจากหิน ฉะนั้น พระองค์เป็น ผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองล่วงสรรพสัตว์ คล้ายขุนเขาหิมวัน สูง กว่าภูเขาศิลาลูกอื่น ฉะนั้น พระองค์ผู้ทรงนามว่านาคะอัน เป็นจริงนี้เป็นผู้ยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวงผู้มีนามว่านาคะ ข้า พระองค์จักชี้แจงซึ่งความที่พระองค์เป็นผู้เปรียบด้วยช้าง เพราะพระองค์ไม่ทรงทำความชั่วโสรัจจะและอวิหิงสา เป็น เท้าหน้าทั้งสองของพระองค์ผู้เป็นเพียงดังช้างตัวประเสริฐ ตบะ และ พรหมจรรย์เป็นเท้าหลังทั้งสองของพระองค์ผู้เป็น ช้างตัวประเสริฐ พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐอย่างยอด เยี่ยม มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาอันขาว มีสติ เป็นคอ มีปัญญาเป็นเศียร มีการสอดส่องธรรมเป็นปลาย งวง มีธรรมเครื่องเผากิเลสเป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง พระองค์ทรงมีฌาน ทรงยินดีในผลสมาบัติเป็นลมหายใจ ทรง มีจิตเข้าไปตั้งมั่นภายใน ทรงดำเนินไปก็มีจิตตั้งมั่น ทรงยืน อยู่ก็มีจิตตั้งมั่น ทรงบรรทมก็มีจิตตั้งมั่น แม้ประทับนั่ง ก็มีจิตตั้งมั่น ทรงสำรวมแล้วในทวารทั้งปวง นี้เป็นสมบัติ ของพระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ พระองค์ผู้เป็นช้างตัว ประเสริฐย่อมเสวยสิ่งที่ไม่มีโทษ ไม่เสวยสิ่งที่มีโทษ ได้ อาหารและเครื่องนุ่งห่มแล้ว ทรงเว้นการสะสม ทรงตัด สังโยชน์น้อยใหญ่ ทรงตัดเครื่องผูกพันทั้งปวง จะเสด็จไป ทางใดๆ ก็ไม่มีห่วงใยเสด็จไป ดอกบัวชื่อบุณฑริก มีกลิ่น หอม น่ารื่นรมย์ใจ เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ แม้ฉันใด พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ ก็ฉันนั้น ทรงอุบัติ ขึ้นมาดีแล้วในโลก ก็ทรงเบิกบานอยู่ในโลก อันตัณหา มานะ ทิฐิไม่ฉาบทาพระองค์ให้ติดอยู่กับโลก เหมือนดอกประทุมไม่ เปียกน้ำ ฉะนั้น ไฟกองใหญ่ลุกรุ่งโรจน์ ย่อมดับเพราะหมด เชื้อ ฉันใด พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐก็ฉันนั้น คือ เมื่อสังขารทั้งหลายสงบแล้ว ก็เรียกกันว่าเสด็จนิพพาน ข้ออุปมาที่ให้รู้เนื้อความแจ้งชัดนี้ อันวิญญูชนทั้งหลาย แสดงไว้แล้ว พระอรหันต์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐอย่างยอด เยี่ยมทั้งหลาย ย่อมรู้แจ้งชัดซึ่งพระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ ซึ่งพระกาลุทายีผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ แสดงไว้แล้ว พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ ทรงปราศจากราคะ ทรง ปราศจากโทสะ ทรงปราศจากโมหะ ทรงหาอาสวกิเลส มิได้ เมื่อทรงละสรีระ ก็ทรงหาอาสวกิเลสมิได้ จัก เสด็จปรินิพพาน ฯ
จบสูตรที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๘๑๑๓-๘๑๙๘ หน้าที่ ๓๕๖-๓๕๙. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=8113&Z=8198&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=22&A=8113&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=294              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=314              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=22&A=8092              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=2698              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=22&A=8092              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=2698              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i314-e.php# https://suttacentral.net/an6.43/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]