ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๗. ปรายนสูตร
[๓๓๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤค- *ทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ก็สมัยนั้น เมื่อภิกษุผู้เถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมกันอยู่ที่โรงกลม ได้เกิดการสนทนากันขึ้นในระหว่างว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในปัญหาของเมตเตยยมาณพ ใน ปรายนสูตรว่า ผู้ใดทราบส่วนสุดทั้งสองด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วน ท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าวล่วงเครื่อง ร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้ว ดังนี้ ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ส่วนสุดที่ ๑ เป็นไฉนหนอ ส่วนสุดที่ ๒ เป็นไฉน อะไรเป็นส่วนท่ามกลาง อะไรเป็นเครื่องร้อยรัด ฯ เมื่อสนทนากันอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะเป็นส่วนสุด ที่ ๒ ความดับแห่งผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่า ตัณหาย่อมร้อยรัดผัสสะและเหตุเกิดขึ้นแห่งผัสสะนั้น เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพ นั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็น ผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อดีตเป็นส่วนสุดที่ ๑ อนาคตเป็นส่วนสุดที่ ๒ ปัจจุบัน เป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดอดีต อนาคต และปัจจุบันนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่ง ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ใน ปัจจุบันเทียว ฯ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สุขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๑ ทุกขเวทนาเป็นส่วน สุดที่ ๒ อทุกขมสุขเวทนาเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่า ตัณหาย่อมร้อยรัดสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนานั้นไว้ เพราะเป็น ที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ย่อม กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนด รู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัด นาม รูป และวิญญาณนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เทียว ฯ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๑ อายตนะ ภายนอก ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๒ วิญญาณเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ และวิญญาณ นั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรม ที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สักกายะเป็นส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดสักกายะเป็น ส่วนสุดที่ ๒ ความดับสักกายะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะ ว่าตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัดสักกายะ เหตุเกิดสักกายะ และความดับสักกายะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควร รู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควร กำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พวกเราทั้งปวงเทียวได้พยากรณ์ตามปฏิภาณของตนๆ มาเถิด เราทั้งหลายจักพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูล เนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่พวกเรา โดยประการ ใด เราทั้งหลายจักทรงจำข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นไว้ โดยประการนั้น ภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ครั้งนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้พากันเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้กราบทูลการที่สนทนาปราศรัยทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำของใครหนอเป็นสุภาษิต พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย คำของเธอทั้งปวงเป็นสุภาษิตโดยปริยาย อนึ่ง เราหมายเอาข้อความ ที่กล่าวไว้ในปัญหาของเมตเตยยมาณพ ในปรายนสูตรว่า ผู้ใดทราบส่วนสุดทั้ง ๒ ด้วยปัญญา แล้วไม่ติดอยู่ในส่วน ท่ามกลาง เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นก้าว ล่วงเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้แล้ว ดังนี้ ฯ เธอทั้งหลายจงฟังข้อความนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสะเป็น ส่วนสุดที่ ๑ เหตุเกิดผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๒ ความดับผัสสะเป็นส่วนท่ามกลาง ตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด เพราะว่าตัณหาย่อมร้อยรัดผัสสะ เหตุเกิดผัสสะ และ ความดับผัสสะนั้นไว้ เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งภพนั้นๆ ด้วยเหตุเท่านี้แล ภิกษุ จึงชื่อว่าย่อมรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควร รู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันเทียว ฯ
จบสูตรที่ ๗

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๙๓๖๘-๙๔๔๒ หน้าที่ ๔๐๘-๔๑๑. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=9368&Z=9442&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=22&A=9368&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=312              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=332              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=22&A=9408              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3286              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=22&A=9408              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3286              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i326-e.php#sutta7 https://suttacentral.net/an6.61/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]