ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
เมถุนสูตร
[๔๗] ครั้งนั้นแล ชานุสโสณีพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า แม้ ท่านพระโคดมก็ทรงปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวผู้ใดว่าประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์ บุคคลนั้น เมื่อจะกล่าว โดยชอบ พึงกล่าวเรานั่นแล เพราะเราประพฤติพรหมจรรย์ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์เต็มที่ ฯ ชา. ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็อะไรชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่ง พรหมจรรย์ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ ถูกแล้ว สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม แต่ยังยินดี การขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และนวดฟั้นของมาตุคาม พอใจ ชอบใจ ถึงความ ปลื้มใจ ด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหม- *จรรย์ ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบ ด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้ ฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม และไม่ ยินดีการขัดสี ลูบไล้ ให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม แต่ยังกระซิก กระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการ เสสรวลนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม และไม่ กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม แต่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคาม ด้วยจักษุของตน พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการเล็งแลนั้น แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิก กระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคามและไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุ ของตน แต่ได้ฟังเสียงมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้าง นอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยเสียงนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิก กระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุ ของตน และไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี แต่ตามนึกถึงการ หัวเราะ พูด เล่นหัว กับมาตุคามในกาลก่อน พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยอาการนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิก กระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุ ของตน ไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้ อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี และไม่ได้ตามนึกถึงการหัวเราะ การ พูด การเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน แต่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดี ก็ดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ พอใจ ชอบใจ ถึงความ ปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหม- *จรรย์ ฯลฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิก กระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุมาตุคามด้วยจักษุของตน เอง ไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี ไม่ได้ตามนึกถึงการหัวเราะ การพูด การ เล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน และไม่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้ง ปรารถนาเพื่อเป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งว่า เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือ เทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยความปรารถนานั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ ดูกรพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้ ฯ ดูกรพราหมณ์ เรายังพิจารณาเห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้ อย่างใด อย่างหนึ่งว่า ยังละไม่ได้ในตน เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น แต่เมื่อใด เราไม่ พิจารณาเห็นเมถุนสังโยค ๗ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งว่า ยังละไม่ได้ในตน เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อม ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ก็ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้มีใน ที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชานุสโสณีพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๗

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๑๒๒๑-๑๒๙๗ หน้าที่ ๕๔-๕๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=1221&Z=1297&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=23&A=1221&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=47              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=47              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=23&A=1173              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4114              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=23&A=1173              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4114              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i041-e.php#sutta7 https://suttacentral.net/an7.50/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]