ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
นันทกสูตร
[๒๐๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระ- *นันทกะชี้แจงภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญร่าเริงด้วย ธรรมีกถา ในอุปัฏฐานศาลา ฯ ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จ เข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับยืนรอจนจบกถาอยู่ ณ ซุ้มประตูด้านนอก ครั้น ทรงทราบว่ากถาจบแล้ว ทรงกระแอมและเคาะที่ลิ่มประตู ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตู ให้พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้ว ได้ตรัสกะท่านพระนันทกะว่า ดูกรนันทกะ ธรรมบรรยายของเธอนี่ยาวมาก แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ เรายืนรอฟังจนจบกถาอยู่ที่ซุ้ม ประตูด้านนอกย่อมเมื่อยหลัง ฯ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระนันทกะรู้สึกเสียใจ สะดุ้ง กลัว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ไม่ทราบเกล้าเลยว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก ถ้า ข้าพระองค์พึงทราบเกล้าว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกแล้ว แม้คำประมาณเท่านี้ ก็ไม่พึงแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์เลย ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบว่า ท่านพระนันทกะเสียใจ จึงตรัสกะท่านพระนันทกะว่า ดีแล้วๆ นันทกะ ข้อที่เธอทั้งหลายพึงสนทนาด้วยธรรมีกถานี้ สมควรแก่เธอทั้งหลาย ผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ดูกรนันทกะ เธอทั้งหลายผู้ ประชุมกันพึงทำกิจ ๒ อย่าง คือ ธรรมีกถาหรือดุษณีภาพของพระอริยะ ดูกร นันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์ นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจึงเป็นผู้มี ศรัทธาและมีศีล เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล เมื่อนั้น เธอชื่อว่า เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ยัง ไม่ได้เจโตสมาธิในภายใน อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึง บำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจะพึงเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิในภายใน เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้ เจโตสมาธิในภายใน เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน แต่ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่ง ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ดูกร นันทกะ เปรียบเหมือนสัตว์ ๒ เท้าหรือ ๔ เท้า แต่เท้าข้างหนึ่งของมันเสีย พิการไป อย่างนี้มันชื่อว่า เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ฉันใด ดูกรนันทกะ ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิในภายใน แต่ ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจะพึง มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญา อันยิ่ง ดูกรนันทกะ เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิใน ภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้ บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ฯ ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระ- *นันทกะกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรง ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงด้วยบท ๔ แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปยังพระวิหาร ด้วยพระดำรัสว่า ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ ไม่มีศีล อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้น ให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจะพึงเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา และมีศีล เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ดูกร นันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ยังไม่ได้เจโตสมาธิในภายใน ฯลฯ อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วย คิดว่า อย่างไรหนอ เราจะพึงเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอ ชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ฯ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรมตามกาล ในการสนทนา ธรรมตามกาล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุใน พระธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามใน ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดงธรรม ... แก่ภิกษุ ทั้งหลายด้วยประการใดๆ เธอย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของพระศาสดานั้นๆ เป็นที่เคารพสรรเสริญ ด้วยประการนั้นๆ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ ในการ ฟังธรรมตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรม ... แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดงธรรม ฯลฯ แก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการใดๆ เธอ ย่อมซาบซึ้งอรรถ และซาบซึ้งธรรมในธรรมนั้น ด้วยประการนั้นๆ นี้เป็น อานิสงส์ประการที่ ๒ ในการฟังธรรมตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรม ... แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดงธรรม ฯลฯ แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการใดๆ เธอย่อมแทงตลอดบทแห่งอรรถอันลึกซึ้งในธรรมนั้น เห็นด้วยปัญญา ด้วย ประการนั้นๆ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ในการฟังธรรมตามกาล ในการ สนทนาธรรมตามกาล ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรม ... แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดงธรรม ฯลฯ แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการใดๆ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญด้วยประการนั้นๆ ยิ่งขึ้นไปว่า ท่านผู้นี้ บรรลุ แล้วหรือกำลังบรรลุเป็นแน่ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ ในการฟังธรรม ตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่ภิกษุทั้งหลาย ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุย่อมแสดง ธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการใดๆ ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะ ยังไม่บรรลุ อรหัต ปรารถนาธรรมอันเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรม นั้นแล้ว ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันต- *ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุ ประโยชน์ของตนแล้ว มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพสิ้นสุดแล้ว หลุดพ้น แล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมประกอบธรรมเครื่องอยู่ เป็นสุขในปัจจุบัน นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ ในการฟังธรรมตามกาล ในการ สนทนาธรรมตามกาล ดูกรอาวุโสทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรมตามกาล ใน การสนทนาธรรมตามกาล ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๗๖๑๙-๗๗๑๐ หน้าที่ ๓๒๙-๓๓๓. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=7619&Z=7710&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=23&A=7619&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=167              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=208              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=23&A=7858              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6479              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=23&A=7858              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6479              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i205-e.php#sutta4 https://suttacentral.net/an9.4/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]