ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
มาฆสูตรที่ ๕
[๓๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล มาฆมาณพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มี พระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์เป็น ทายก เป็นทานบดี ผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอควรแก่การขอ ย่อมแสวงหา โภคทรัพย์โดยธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมนำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยธรรม ถวายแก่ปฏิคาหก ๑ องค์บ้าง ๒ องค์บ้าง ๓ องค์บ้าง ๔ องค์บ้าง ๕ องค์บ้าง ๖ องค์บ้าง ๗ องค์บ้าง ๘ องค์บ้าง ๙ องค์บ้าง ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง ๑๐๐ องค์บ้าง ยิ่งกว่านั้นบ้าง ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถวายทานอย่างนี้ บูชาอย่างนี้ จะประสบบุญ มากแลหรือ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ เมื่อท่านให้อยู่อย่างนั้น บูชาอยู่ อย่างนั้น ย่อมประสบบุญมากแท้ ดูกรมาณพ ผู้ใดแล เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ควรแก่การขอ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรม ครั้น แสวงหาได้แล้ว ย่อมนำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยธรรม ถวายแก่ปฏิคาหก ๑ องค์ บ้าง ฯลฯ ๑๐๐ องค์บ้าง ยิ่งกว่านั้นบ้าง ผู้นั้นย่อมประสบบุญมาก ฯ ครั้งนั้นแล มาฆมาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๓๖๒] ข้าพระองค์ขอถามพระโคดมผู้ทรงรู้ถ้อยคำ ผู้ทรงผ้ากาสายะ ไม่ยึดถืออะไรเที่ยวไป ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ ควรแก่การขอ เป็น ทานบดี มีความต้องการบุญ มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำ บูชาแก่ ชนเหล่าอื่นในโลกนี้ การบูชาของผู้บูชาอยู่อย่างนี้ จะพึง บริสุทธิ์ได้อย่างไร ฯ พ. (ดูกรมาฆมาณพ) ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ ควรแก่การขอ เป็น ทานบดี มีความต้องการบุญ มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำบูชาแก่ชน เหล่าอื่นในโลกนี้ ผู้เช่นนั้น พึงให้ทักขิไณยบุคคลยินดีได้ ฯ ม. ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ ควรแก่การขอ เป็นทานบดี มีความต้อง- การบุญ มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำบูชาแก่ชนเหล่าอื่นในโลกนี้ ข้า แต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ทรงบอกทักขิไณยบุคคล แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ชนเหล่าใดแลไม่เกี่ยวข้อง หาเครื่องกังวลมิได้ สำเร็จกิจ แล้ว มีจิตคุ้มครองแล้ว เที่ยวไปในโลก พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ พึงหลั่งไทยธรรม บูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดตัด กิเลสเครื่องผูกพันคือสังโยชน์ได้ทั้งหมด ฝึกตนแล้ว เป็น ผู้พ้นเด็ดขาด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ พึงหลั่งไทยธรรม บูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใด พ้นเด็ดขาดจากสังโยชน์ทั้งหมด ฝึกตนแล้ว เป็นผู้หลุดพ้น แล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรม บูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชน เหล่าใดไม่มีมายา ไม่มีความถือตัว มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์ พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมในชนเหล่านั้นตาม กาล ชนเหล่าใดปราศจากความโลภ ไม่ยึดถืออะไรๆ ว่า เป็นของเรา ไม่มีความหวัง มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหม- จรรย์ พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดแล ไม่น้อมไปในตัณหาทั้งหลาย ข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่ยึดถืออะไรๆ ว่าเป็นของเรา เที่ยวไปอยู่ พราหมณ์พึง หลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดไม่มี ตัณหาเพื่อเกิดในภพใหม่ ในโลกไหนๆ คือ ในโลกนี้ หรือในโลกอื่น พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่า นั้นตามกาล ชนเหล่าใดละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดถือ อะไรเที่ยวไป มีตนสำรวมดีแล้ว เหมือนกระสวยที่ตรงไป ฉะนั้น พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดปราศจากความกำหนัด มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว พ้นจากการจับแห่งกิเลส เปล่งปลั่งอยู่ เหมือนพระจันทร์ พ้นแล้วจากราหูจับ สว่างไสวอยู่ฉะนั้น พราหมณ์ พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใด มีกิเลสสงบแล้ว ปราศจากความกำหนัด เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มีคติ เพราะละขันธ์อันเป็นไปในโลกนี้ได้เด็ดขาด พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชน เหล่าใดละชาติและมรณะไม่มีส่วนเหลือ ล่วงพ้นความสงสัย ได้ทั้งปวง พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้น ตามกาล ชนเหล่าใดมีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีเครื่องกังวล หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง เที่ยวไปอยู่ในโลก พราหมณ์ พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใด แล ย่อมรู้ในขันธ์และอายตนะเป็นต้นตามความเป็นจริงว่า ชาตินี้มีในที่สุด ภพใหม่ไม่มี ดังนี้ พราหมณ์พึงหลั่งไทย ธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดเป็นผู้ถึง เวท ยินดีในฌาน มีสติ บรรลุธรรมเครื่องตรัสรู้ดี เป็นที่ พึ่งของเทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก พราหมณ์ผู้มุ่งบุญพึง หลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ฯ ม. คำถามของข้าพระองค์ไม่เปล่าประโยชน์แน่นอน ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสบอกทักขิไณยบุคคลแก่ ข้าพระองค์แล้ว ก็พระองค์ย่อมทรงทราบไญยธรรมนี้ ใน โลกนี้โดยถ่องแท้ จริงอย่างนั้น ธรรมนี้พระองค์ทรงทราบ แจ่มแจ้งแล้ว ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ควรแก่การขอ เป็น ทานบดี มีความต้องการบุญ มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำบูชาแก่ชน เหล่าอื่นในโลกนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ตรัส บอกถึงความพร้อมแห่งยัญแก่ข้าพระองค์ ฯ พ. ดูกรมาฆะ เมื่อท่านจะบูชาก็จงบูชาเถิด และจงทำจิตให้ผ่องใส ในกาลทั้งปวง เพราะยัญย่อมเป็นอารมณ์ของบุคคลผู้บูชายัญ บุคคลตั้งมั่นในยัญนี้แล้ว ย่อมละโทสะเสียได้ อนึ่ง บุคคล ผู้นั้น ปราศจากความกำหนัดแล้ว พึงกำจัดโทสะ เจริญ เมตตาจิตอันประมาณมิได้ ไม่ประมาทแล้วเนืองๆ ทั้งกลาง คืนกลางวัน ย่อมแผ่อัปปมัญญาภาวนาไปทั่วทิศ ฯ ม. ใครย่อมบริสุทธิ์ ใครย่อมหลุดพ้น และใครยังติดอยู่ บุคคล จะไปพรหมโลกได้ด้วยอะไร ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสบอกแก่ ข้าพระองค์ผู้ไม่รู้ ก็พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพรหม ข้าพระองค์ ขออ้างเป็นพยานในวันนี้ เพราะพระองค์เป็นผู้เสมอด้วย พรหมของข้าพระองค์จริงๆ (ข้าแต่พระองค์ผู้มีความรุ่งเรือง) บุคคลจะเข้าถึงพรหมโลกได้อย่างไร ฯ พ. (ดูกรมาฆะ) ผู้ใดย่อมบูชายัญครบทั้ง ๓ อย่าง ผู้เช่นนั้น พึงให้ทักขิไณยบุคคลทั้งหลายยินดีได้ เราย่อมกล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้ควรแก่การขอ ครั้นบูชาโดยชอบอย่างนั้นแล้ว ย่อมเข้า ถึงพรหมโลก ฯ [๓๖๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาฆมาณพได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็น ต้นไป ฯ
จบมาฆสูตรที่ ๕

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๘๖๗๙-๘๗๘๑ หน้าที่ ๓๗๙-๓๘๓. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=8679&Z=8781&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=25&A=8679&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=258              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=361              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=25&A=8710              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=5336              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=25&A=8710              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=5336              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta5 https://suttacentral.net/snp3.5/en/mills https://suttacentral.net/snp3.5/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]