ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๓. นันทิกาเปตวัตถุ
ว่าด้วยบุพกรรมของนางนันทิกาเปรต
[๑๒๓] มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าปิงคละเป็นใหญ่ในสุรัฏฐประเทศ เสด็จไปเฝ้าเจ้าพระโมริยะแล้ว กลับมาสู่สุรัฏฐประเทศ เสด็จมาถึงที่มี เปือกตม ในเวลาเที่ยงซึ่งเป็นเวลาร้อนทอดพระเนตรเห็นทางอันรื่นรมย์ เป็นทางที่เปรตเนรมิตไว้ จึงตรัสบอกนายสารถีว่า ทางนี้น่ารื่นรมย์ เป็น ทางปลอดภัย มีความสวัสดี ไม่มีอุปัทวันตราย ดูกรนายสารถี ท่านจง ตรงไปทางนี้แหละ เมื่อเราไปโดยทางนี้ จักถึงเขตเมืองสุรัฏฐะเร็วทีเดียว พระเจ้าสุรัฏฐะได้เสด็จไปโดยทางนั้น พร้อมด้วยจตุรงคเสนา บุรุษคน หนึ่งสะดุ้งตกใจกลัวได้กราบทูลพระเจ้าสุรัฏฐ์ว่า พวกเราเดินทางผิด เป็นทางน่ากลัวขนพองสยองเกล้า เพราะทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว พวกเราเห็นจะเดิน มาใกล้สำนักพวกอมนุษย์ กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งไป ข้าพระองค์ได้ยินเสียงอัน พิลึกน่าสะพึงกลัว พระเจ้าสุรัฏฐ์ทรงสะดุ้งพระทัย ตรัสกะนายสารถีว่า พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัวขนพองสยองเกล้า เพราะทาง ปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ พวกเราเดินทางผิด พวก เราเห็นจะเดินมาใกล้สำนักพวกอมนุษย์ กลิ่นอมนุษย์ย่อมฟุ้งไป เราได้ ยินเสียงอันน่าสะพึงกลัว แล้วเสด็จขึ้นสู่คอช้าง ทอดพระเนตรไปใน ทิศทั้ง ๔ ได้ทรงเห็นต้นไทรต้นหนึ่ง มีร่มเงาชิดสนิทดี เขียวชอุ่มดุจสี เมฆมีสีและสัณฐานคล้ายเมฆรับสั่งกะนายสารถีว่า ป่าใหญ่เขียวชอุ่มดุจ สีเมฆ มีสีและสัณฐาณคล้ายเมฆปรากฏอยู่นั่นใช่ไหม? นายสารถีกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา นั่นเป็นต้นไทร มีร่มเงาชิดสนิทดี เขียวชอุ่ม มีสีและ สัณฐานคล้ายเมฆ. พระเจ้าสุรัฏฐเสด็จเข้าไปจนถึงต้นไทรใหญ่ที่ปรากฏอยู่ แล้วเสด็จลง จากคอช้าง เสด็จเข้าไปสู่ต้นไทร ประทับนั่งที่โคนต้น พร้อมด้วยหมู่ อำมาตย์ราชบริพาร ได้ทอดพระเนตรเห็นขันน้ำมีน้ำเต็ม และขนมอัน หวานอร่อย บุรุษมีเพศดังเทวดา ประดับด้วยสรรพาภรณ์ เข้าไปเฝ้า พระเจ้าสุรัฏฐแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์เสด็จมา ดีแล้วและพระองค์ไม่ได้เสด็จมาร้าย ข้าแต่พระองค์ผู้กำจัดศัตรู เชิญ พระองค์เสวยน้ำและขนมเถิด พระเจ้าข้า. พระเจ้าสุรัฏฐพร้อมด้วยอำมาตย์และข้าราชบริพาร พากันดื่มน้ำและกิน ขนมแล้ว จึงถามว่า ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ หรือเป็นท้าว สักกปุรินททะ พวกเราไม่รู้จักท่าน จึงถามว่า พวกเราพึงรู้จักท่าน อย่างไร? นันทิกาเปรตกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระองค์ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าว สักกปุรินททะ ข้าพระองค์เป็นเปรต จากประเทศสุรัฏฐ์มาอยู่ที่นี้. พระราชาตรัสถามว่า เมื่อก่อน ท่านอยู่ในประเทศสุรัฏฐ์ มีปกติอย่างไร มีความประพฤติ อย่างไร ท่านมีอานุภาพอย่างนี้ เพราะพรหมจรรย์อะไร? นันทิกาเปรตตอบว่า ข้าแต่พระมหาราชาผู้กำจัดหมู่ศัตรู ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์อำมาตย์ ราชบริพารและพราหมณ์ปุโรหิต จงสดับฟัง ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เมื่อก่อน ข้าแต่พระองค์เป็นบุรุษอยู่ในเมืองสุรัฏฐ์ เป็นคนใจบาป เป็น มิจฉาทิฏฐิ เป็นคนทุศีลตระหนี่ บริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ห้าม ปรามมหาชน ซึ่งพากันทำบุญให้ทาน ทำอันตรายแก่หมู่ชนเหล่าอื่นผู้กำลัง ให้ทานได้ห้ามว่า ผลแห่งทานไม่มีผล ผลแห่งการสำรวม จักมีแต่ที่ไหน ใครๆ ผู้ชื่อว่า เป็นอาจารย์ไม่มี ใครจักฝึกฝนบุคคลผู้ไม่เคยฝึกฝนแล้วเล่า สัตว์ทั้งหลายเป็นสัตว์เสมอกันทั้งสิ้น การเคารพอ่อนน้อมต่อผู้เจริญใน ตระกูล จักมีแต่ที่ไหน กำลังหรือความเพียรไม่มี ความพากเพียรของบุรุษ จักมีแต่ที่ไหน ผลทานไม่มี ทานและศีลไม่ทำบุคคลผู้มีเวรให้หมดจดได้ สัตว์ย่อมได้ของที่ควรได้ สัตว์เมื่อจะได้สุขหรือทุกข์ ย่อมได้สุขหรือทุกข์ อันเกิดแต่ที่น้อมมาเอง มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย ไม่มี โลกอื่น จากโลกนี้ ก็ไม่มี ทานอันบุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผล พลีกรรมไม่มีผล แม้ทานอันบุคคลตั้งไว้ดีแล้วก็ไม่มีผล บุรุษใดฆ่าบุรุษอื่นและตัดศีรษะ บุรุษอื่น จะจัดว่าบุรุษนั้นทำลายชีวิตของผู้อื่นหาไม่ได้ ไม่มีใครฆ่าใคร เป็นแต่ศาตราย่อมเข้าไปในระหว่างอันเป็นช่องกาย ๗ ช่องเท่านั้น ชีพ ของสัตว์ทั้งหลายไม่ขาดสูญ ไม่แตกทำลาย บางคราวมี ๘ เหลี่ยม บางคราวกลมเหมือนงบน้ำอ้อย บางคราวสูงตั้ง ๕๐๐ โยชน์ ใครเล่า สามารถตัดชีพให้ขาดได้ เหมือนหลอดด้ายอันบุคคลซัดไปแล้ว หลอด ด้ายนั้นอันด้ายพันอยู่ ย่อมกลิ้งไปได้ ฉันใด ชีพนั้นก็ฉันนั้น ย่อม แหวกหนีไปจากร่างได้ บุคคลผู้ออกจากบ้านนี้ไปเข้าบ้านอื่น ฉันใด ชีพนั้นก็ออกจากร่างนี้แล้วไปเข้าร่างอื่นฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลออกจาก เรือนหลังนี้แล้วไปเข้าเรือนหลังอื่น ฉันใด แม้ชีพนั้นก็ออกจากร่างนี้ แล้วเข้าไปอาศัยร่างอื่นฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสิ้นกำหนด ๘ ล้าน ๔ แสน มหากัป สัตว์ทั้งหลายทั้งที่เป็นพาล ทั้งที่เป็นบัณฑิตจักยังสงสารให้สิ้น ไป แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เอง สุขทุกข์เหมือนตักตวงได้ด้วย ทะนานและกะเช้า พระชินเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงสุขทุกข์ทั้งปวง สัตว์นอกนี้ ล้วนเป็นผู้ลุ่มหลง เมื่อชาติก่อน ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้จึงได้ เป็นคนหลงถูกโมหะครอบงำ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุศีล ตระหนี่ บริภาษ สมณพราหมณ์ภายใน ๖ เดือน ข้าพระองค์จักทำกาลกิริยา จักตกไป นรกอันเผ็ดร้อน ร้ายกาจโดยส่วนเดียว นรกนั้นมี ๔ เหลี่ยม ๔ ประตู จำแนกออกเป็นส่วนๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็กครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้น นรกนั้นเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิงโชติช่วง แผ่ไปร้อยโยชน์โดย รอบตั้งอยู่ทุกเมื่อ ล่วงไปแสนปี ในกาลนั้นข้าพระองค์จึงจะได้ยินเสียง ในนรกนั้นว่า แน่ะเพื่อนยาก เมื่อพวกเราไหม้อยู่ในนรกนี้ กาล ประมาณแสนปีล่วงไปแล้ว ข้าแต่พระมหาราชา แสนโกฏิปีเป็นกำหนด อายุของสัตว์ผู้หมกไหม้อยู่ในนรก ชนทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นคน ทุศีล ติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกแสนโกฏิปี ข้าพระ- องค์จักเสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกนั้นตลอดกาลนาน นี้เป็นผลแห่ง กรรมชั่วของข้าพระองค์ เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงเศร้าโศกนัก ข้าแต่ พระมหาราชาผู้กำจัดศัตรู เป็นที่เจริญใจของชาวแว่นแคว้น ขอพระองค์ จงทรงสดับคำของข้าพระองค์ ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ ธิดาของ ข้าพระองค์ชื่ออุตตราทำแต่กรรมดี ยินดีแล้วในนิจศีลและอุโบสถศีล ยินดีในทานจำแนกแจกทาน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความ ตระหนี่ มีปกติทำไม่ให้ขาดในสิกขา เป็นสะใภ้อยู่ในตระกูลอื่น เป็นอุบาสิกาของพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงศิริ ข้าแต่พระมหา ราชา ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ นางอุตตราได้เห็นภิกษุผู้สมบูรณ์ ด้วยศีล เข้าไปบิณฑบาตในบ้าน มีจักษุอันทอดลงแล้ว มีสติคุ้มครอง ทวาร สำรวมดีแล้ว เที่ยวไปตามลำดับตรอก เข้าไปสู่บ้านนั้น นางได้ ถวายน้ำขันหนึ่งและขนมมีรสหวานอร่อย แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพระ องค์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอผลทานที่ดิฉันถวายนี้ จงพลันสำเร็จแก่ บิดาของดิฉันที่ตายไปแล้วเถิด ในทันใดนั้น ผลแห่งทานก็บังเกิดมีแก่ ข้าพระองค์ ข้าพระองค์มีความประสงค์สำเร็จได้ดังความปรารถนา บริโภค กามสุขเหมือนดังท้าวเวสสวรรณมหาราช ข้าแต่พระมหาราชาผู้กำจัดศัตรู เป็นที่เจริญใจของชาวแว่นแคว้น ขอพระองค์จงทรงสดับคำของข้าพระ- องค์ พระพุทธเจ้าบัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้เลิศกว่าโลกพร้อมทั้งเทวโลก ขอพระองค์พร้อมทั้งพระโอรสและพระอัครมเหสี จงถึงพระพุทธเจ้า พระองค์นั้นเป็นสรณะเถิด ชนทั้งหลายย่อมบรรลุอมตบทด้วยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ ขอพระองค์พร้อมด้วยพระโอรสและพระอัครมเหสี จงถึงมรรคมีองค์ ๘ และอมตบทเป็นสรณะเถิด พระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติ อยู่ในมรรค ๔ จำพวก และผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวกนี้เป็นพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ประกอบด้วยปัญญาและศีล ขอพระองค์พร้อมทั้ง พระโอรสและพระอัครมเหสี จงถึงพระสงฆ์นั้นเป็นสรณะเถิด ขอพระ- องค์จงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทรงยินดีด้วยพระมเหสีของ พระองค์ ไม่ตรัสเท็จ ไม่ทรงดื่มน้ำจัณฑ์เถิด. พระราชาตรัสว่า ดูกรเทวดา ท่านเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแก่เรา ปรารถนาเกื้อกูลเรา เราจะทำตามคำของท่าน ท่านเป็นอาจารย์ของเรา เราจักเข้าถึงพระพุทธ- เจ้า พระธรรมและพระสงฆ์อันยอดเยี่ยมกว่าเทวดาและมนุษย์ว่าเป็น สรณะ เราจะรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ จะยินดีด้วยพระมเหสี ของตน จะไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา เราจะคลายความเห็นอันชั่วช้า เหมือนโปรยแกรบลอยไปในลมอันแรง เหมือนทิ้งหญ้าและใบไม้ลอย ไปในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว จักเป็นผู้ยินดีแล้วในพระพุทธศาสนา พระเจ้าสุรัฏฐ์ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงงดความเห็นอันชั่วช้า ทรงนอบน้อม ต่อพระผู้มีพระภาค เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศ ปราจีน กลับคืนสู่พระนคร.
จบ นันทิกาเปตวัตถุที่ ๓.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๔๕๙๐-๔๗๐๘ หน้าที่ ๑๘๗-๑๙๑. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=4590&Z=4708&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=26&A=4590&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=123              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=123              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=26&A=4916              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=5808              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=26&A=4916              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=5808              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_26

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]