ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
พระวินัยปิฎก
เล่ม ๕
มหาวรรค ภาค ๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จัมมขันธกะ
เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร
[๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์. ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช เสวยราชสมบัติเป็นอิสราธิบดี ใน หมู่บ้านแปดหมื่นตำบล ก็สมัยนั้น ในเมืองจัมปา มีเศรษฐีบุตรชื่อโสณโกฬิวิสโคตร เป็น สุขุมาลชาติ ที่ฝ่าเท้าทั้งสองของเขามีขนงอกขึ้น คราวหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ราษฎรในตำบลแปดหมื่นนั้นประชุมกันแล้วทรงส่งทูตไปใน สำนักเศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะ ดุจมีพระราชกรณียกิจสักอย่างหนึ่ง ด้วยพระบรมราชโองการว่า เจ้าโสณะจงมา เราปรารถนาให้เจ้าโสณะมา จึงมารดาบิดาของเศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้พูด ตักเตือนเศรษฐีบุตรนั้นว่า พ่อโสณะ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสอง ของเจ้า ระวังหน่อยพ่อโสณะ เจ้าอย่าเหยียดเท้าทั้งสองไปทางที่พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ จง นั่งขัดสมาธิตรงพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อเจ้านั่งแล้ว พระเจ้าอยู่หัว จักทอดพระเนตรเท้า ทั้งสองได้ ครั้งนั้น ชนบริวารทั้งหลายได้นำเศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะไปด้วยคานหาม ลำดับนั้น เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราชถวายบังคมแล้วนั่งขัดสมาธิ ตรงพระพักตร์ของท้าวเธอ ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นโลมชาติที่ฝ่าเท้าทั้งสองของเขา แล้ว ทรงอนุศาสน์ประชาราษฎรในตำบลแปดหมื่นนั้น ในประโยชน์ปัจจุบัน ทรงส่งไปด้วยพระบรม- *ราโชวาทว่า ดูกรพนาย เจ้าทั้งหลายอันเราสั่งสอนแล้วในประโยชน์ปัจจุบัน เจ้าทั้งหลาย จงไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคของเราพระองค์นั้นจักทรงสั่งสอนเจ้าทั้งหลาย ในประโยชน์ ภายหน้า ครั้งนั้น พวกเขาพากันไปทางภูเขาคิชฌกูฏ.
พระสาคตเถระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ก็สมัยนั้น ท่านพระสาคตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค จึงพวกเขาพากันเข้าไปหา ท่านพระสาคตะ แล้วได้กราบเรียนว่า ท่านขอรับ ประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนี้ เข้ามาในที่นี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอประทานโอกาสขอรับ ขอพวกข้าพเจ้าพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ท่านพระสาคตะบอกว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงอยู่ ณ ที่นี้สักครู่หนึ่งก่อน จนกว่าอาตมาจะ กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ดังนี้ และเมื่อพวกเขากำลังเพ่งมองอยู่ข้างหน้า ท่าน พระสาคตะดำลงไปในแผ่นหินอัฒจันทร์ผุดขึ้นตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูล คำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนี้พากันเข้ามา ณ ที่นี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรสาคตะ ถ้ากระนั้นเธอจงปูลาดอาสนะ ณ ร่มเงาหลังวิหาร ท่าน พระสาคตะทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า ทราบเกล้าฯ แล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วถือตั่งดำลงไปตรง พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค เมื่อประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนั้นกำลังเพ่งมองอยู่ตรงหน้า จึงผุดขึ้นลากแผ่นหินอัฒจันทร์แล้วปูลาดอาสนะในร่มเงาหลังพระวิหาร.
เสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร แล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ ที่จัดไว้ ณ ร่มเงาหลังพระวิหาร จึงประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนั้นเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้ว ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และพวกเขาพากันสนใจแต่ท่านพระสาคตะเท่านั้น หาได้ สนใจต่อพระผู้มีพระภาค ไม่ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพวกเขา ด้วยพระทัยแล้ว จึงตรัสเรียกท่านพระสาคตะมารับสั่งว่า ดูกรสาคต ถ้ากระนั้น เธอจงแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ ให้ยิ่งขึ้นไปอีก ท่านพระสาคตะทูลรับสนองพระพุทธาณัติว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วเหาะขึ้นสู่ เวหาส เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง สำเร็จการนอนบ้าง บังหวนควันบ้าง โพลงไฟบ้าง หายตัวบ้าง ในอากาศกลางหาว ครั้นแสดงอิทธิปฏิหาริย์อันเป็นธรรมยวดยิ่งของมนุษย์หลายอย่าง ในอากาศกลางหาว แล้วลงมาซบศีรษะลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้า พระพุทธเจ้าเป็นสาวกพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้า พระพุทธเจ้าเป็นสาวก ดังนี้ จึงประชาชนตำบลแปดหมื่นนั้นพูดสรรเสริญว่า ชาวเราผู้เจริญ อัศจรรย์นัก ประหลาดแท้ เพียงแต่พระสาวกยังมีฤทธิ์มากถึงเพียงนี้ ยังมีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ พระศาสดาต้องอัศจรรย์แน่ ดังนี้ แล้วพากันสนใจต่อพระผู้มีพระภาคเท่านั้น หาสนใจต่อท่าน พระสาคตะไม่
ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพวกเขาด้วยพระทัย แล้ว ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถาโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกบรรพชา เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรง ประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่ง นั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้า ที่สะอาด ปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว ได้ บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ในคำสอนของ พระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีป ในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเหล่านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำพวกข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็น อุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะออกบวช
[๒] ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้มีความปริวิตก ดังนี้ว่า ด้วยวิธีอย่างไรๆ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติ พรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ไฉนหนอ เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ครั้น ประชาชนเหล่านั้นชื่นชมยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มี พระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว หลังจากประชาชนพวกนั้นหลีกไปแล้วไม่นานนัก เขาได้ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ด้วยวิธีอย่างไรๆ ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระพุทธเจ้าข้า เศรษฐีบุตร โสณโกฬิวิสะได้รับบรรพชา อุปสมบทในพุทธสำนักแล้ว ก็แลท่านพระโสณะอุปสมบทแล้ว ไม่นาน ได้พำนักอยู่ ณ ป่าสีตวันท่านปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิต ดุจสถานที่ฆ่าโค ฉะนั้น. ครั้งนั้น ท่านพระโสณะไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ ว่า บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่ปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉน จิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นเล่า สมบัติในตระกูลของเราก็ยัง มีอยู่ เราอาจบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ถ้ากระไร เราพึงสึกเป็นคฤหัสถ์แล้วบริโภคสมบัติ และบำเพ็ญกุศล ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงอันตรธานที่คิชฌกูฏบรรพต มาปรากฏพระองค์ ณ ป่าสีตวัน เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น คราวนั้น พระองค์พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จเที่ยวจาริกตามเสนาสนะ ได้เสด็จเข้าไปทางสถานที่เดินจงกรมของท่านพระโสณะ ได้ทอด พระเนตรเห็นสถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิต ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของใครหนอ เปื้อนโลหิต เหมือนสถานที่ฆ่าโค ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ท่านพระโสณะปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจน เท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของท่านจึงเปื้อนโลหิต ดุจสถานที่ฆ่าโค ฉะนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของท่านพระโสณะ ครั้นแล้วประทับ นั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ถวาย แม้ท่านพระโสณะก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่.
ตั้งความเพียรสม่ำเสมอเทียบเสียงพิณ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระโสณะผู้นั่งเฝ้าอยู่ว่า ดูกรโสณะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ได้มีความปรีวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ ปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉน จิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นเล่า สมบัติในตระกูลของเราก็ยังมีอยู่ เราอาจบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ถ้ากระไร เราพึงสึกเป็นคฤหัสถ์ แล้วบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ดังนี้ มิใช่หรือ? ท่านพระโสณะทูลรับว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์ เธอ ฉลาดในเสียงสายพิณ มิใช่หรือ? โส. อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอตึงเกินไป คราวนั้นพิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม? โส. หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอหย่อนเกิน ไป คราวนั้นพิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม? โส. หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ตั้งอยู่ในคุณภาพสม่ำเสมอ คราวนั้น พิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม? โส. เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรโสณะ เหมือนกันนั่นแล ความเพียรที่ปรารภเกินไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนนัก ก็เป็นไปเพื่อเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งความเพียร แต่พอเหมาะ จงทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระพุทธพจน์ว่า จะปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว ทรง อันตรธานที่ป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะ แล้วมาปรากฏพระองค์ ณ คิชฌกูฏบรรพต เปรียบ เหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น.
พระโสณะสำเร็จพระอรหัตผล
ครั้นกาลต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ ทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลาย เสมอกัน และได้ถือนิมิตในความสม่ำเสมอ ครั้นแล้วได้หลีกออกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไป ไม่นานเท่าไรนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุด พรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องประสงค์ ด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละ เข้าถึงอยู่แล้ว ได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ เราได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลบรรดา พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านพระโสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งแล้ว
พรรณนาคุณของพระขีณาสพ
[๓] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้คิดว่า ถ้ากระไรเราพึงพยากรณ์ อรหัตผลในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค ว่าดังนี้:- พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใด เป็นพระอรหันต์มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ของตนได้ถึงแล้วโดยลำดับ มีกิเลส เครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ภิกษุนั้นย่อมน้อมใจ ไปสู่ เหตุ ๖ สถาน คือ ๑. น้อมใจไปสู่บรรพชา ๒. น้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด ๓. น้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน ๔. น้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน ๕. น้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา และ ๖. น้อมใจไปสู่ความไม่หลงไหล พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้อาศัย คุณแต่เพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา ดังนี้พระพุทธเจ้าข้า ก็ข้อนี้ไม่พึง เห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่า ตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึงน้อมใจสู่บรรพชา โดยที่ตน ปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้ ปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมใจไปในความเงียบสงัด ดังนี้ พระพุทธ- *เจ้าข้า ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึง น้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความ เงียบสงัด โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด โดยที่ตน ปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้ เชื่อถือสีลัพพตปรามาส โดยความเป็นแก่นสารเป็นแน่ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน ดังนี้ พระพุทธเจ้าข้า ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควร ทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความ ไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ ... จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจ ไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ ... จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจ ไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ ... จึงน้อมใจไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจ ไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ พระพุทธเจ้าข้า แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ผ่านมาสู่คลองจักษุ ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้น อันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็น ความเกิดและความดับของจิตนั้น แม้หากสัททารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต .... แม้หากคันธารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยฆานะ .... แม้หากรสารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยชิวหา .... แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยกาย .... แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน ผ่านมาสู่คลองใจของภิกษุผู้มี จิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์ ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นความเกิด และความดับของจิตนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ไม่ได้เลย แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก .... แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ .... แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้ ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหว สะเทือนสะท้าน ไม่ได้เลย แม้ฉันใด. พระพุทธเจ้าข้า แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ผ่านมาสู่คลองจักษุ ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของ ภิกษุนั้นอันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อม พิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตนั้น. แม้หากสัททารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต .... แม้หากคันธารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบด้วยฆานะ .... แม้หากรสารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบด้วยชิวหา .... แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยกาย .... แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน ผ่านมาสู่คลองใจของภิกษุผู้มีจิต หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์ ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นความเกิด และความดับของจิตนั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล.
นิคมคาถา
[๔] ภิกษุน้อมไปสู่บรรพชา ๑ ผู้น้อมไปสู่ความเงียบสงัด แห่งใจ ๑ ผู้น้อมไปสู่ความไม่เบียดเบียน ๑ ผู้น้อมไปสู่ ความสิ้นอุปาทาน ๑ ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นตัณหา ๑ ผู้น้อม ไปสู่ความไม่หลงไหลแห่งใจ ๑ ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดย ชอบ เพราะเห็นความเกิด และความดับแห่งอายตนะ ภิกษุมีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบนั้น ไม่ต้องกลับ สะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว กิจที่จำจะต้องทำก็ไม่มี เปรียบ เหมือนภูเขาที่ล้วนแล้วด้วยศิลาเป็นแท่งทึบอันเดียวกัน ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ทั้งที่น่าปรารถนา และไม่น่า ปรารถนาทั้งสิ้น ย่อมทำท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉัน นั้น จิตของท่านตั้งมั่น หลุดพ้นแล้ว ท่านย่อมพิจารณา เห็นความเกิด และความดับของจิตนั้นด้วย.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๑-๒๒๓ หน้าที่ ๑-๑๐. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=1&Z=223&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=5&A=1&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=1              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=1              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=5&A=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3641              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=5&A=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3641              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/horner-brahmali

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]