ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒

หน้าที่ ๓๐๒.

ปัญจสติกขันธกะ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
สังคายนาปรารภคำของพระสุภัททวุฑฒบรรพชิต
[๖๑๔] ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปชี้แจงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลาย ครั้งหนึ่ง เราออกจากเมืองปาวาเดินทางไกล ไปเมืองกุสินารากับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ครั้งนั้น เราแวะจากทาง นั่งพักอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง อาชีวก ผู้หนึ่ง ถือดอกมณฑารพในเมืองกุสินาราเดินทางไกลมาสู่เมืองปาวา เราได้เห็น อาชีวกนั้นเดินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้ถามอาชีวกนั้นว่า ท่านทราบข่าว พระศาสดาของเราบ้างหรือ อาชีวกตอบว่า ท่านขอรับ ผมทราบ พระสมณโคดม ปรินิพพานได้ ๗ วันทั้งวันนี้แล้ว ดอกมณฑารพนี้ผมถือมาจากที่ปรินิพพานนั้น บรรดาภิกษุเหล่านั้น ท่านที่ยังไม่ปราศจากราคะ บางพวกประคองแขนคร่ำครวญ ดุจมีเท้าขาดล้มลงกลิ้งเกลือกไปมารำพันว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเร็วนัก ดวงตาหายไปจากโลกเร็วนัก ส่วนพวกที่ ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ ย่อมอดกลั้นได้ ด้วยคิดว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง สิ่งที่เที่ยงนั้น จะได้ในสังขารนี้แต่ไหนเล่า ท่านทั้งหลาย ครั้งนั้น เรา ได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลยท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรเลย ข้อนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่าง ความเว้น ความเป็นอย่างอื่น จากสัตว์และสังขารที่รักที่ชอบใจทั้งปวงทีเดียวย่อมมี สิ่งที่ เที่ยงนั้นจะได้ในสังขารนั้นแต่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ต้องมีความแตกสลายเป็นธรรมดา ข้อที่จะปรารถนาว่า สิ่งนั้นอย่าได้สลายเลย นี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ครั้งนั้น พระสุภัททวุฑฒบรรพชิต นั่งอยู่ในบริษัทนั้น เธอ ได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่าพอเถิด ท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรไปเลย พวกเรา พ้นไปดีแล้วจากพระมหาสมณะนั้น ด้วยว่าพวกเราถูกเบียดเบียนว่า สิ่งนี้ควรแก่พวก เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็ทำสิ่งนั้นได้ ไม่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๓.

ปรารถนาจักทำสิ่งใด ก็ไม่ทำสิ่งนั้น เอาเถิด ท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนา พระธรรมและพระวินัยเถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อม ถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคลจะ มีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง อวินยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคล จักเสื่อมกำลัง ฯ
สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูป
[๖๑๕] ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ขอพระเถระ จงคัดเลือกภิกษุ ทั้งหลายเถิดขอรับ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป จึงคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป หย่อนอยู่องค์หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า ท่านเจ้าข้า ท่าน พระอานนท์นี้ยังเป็นเสกขบุคคลอยู่ก็จริง แต่ไม่ลุอำนาจฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติและท่านได้เรียนพระธรรมและพระวินัยเป็นอันมาก ในสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุนั้น ขอพระเถระจงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วยเถิด ลำดับนั้น พระมหากัสสปจึงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วย จึงพระเถระทั้งหลายปรึกษากันว่า พวกเราจักสังคายนาพระธรรมและพระวินัยที่ไหนดีหนอ ครั้นแล้วเห็นพร้อมกันว่า พระนครราชคฤห์ มีโคจรคามมาก มีเสนาสนะเพียงพอ สมควรแท้ที่พวกเราจะอยู่ จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ สังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่ควร เข้าจำพรรษาในพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
ญัตติทุติยกรรมวาจา
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนครราช- *คฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษา ในพระนครราชคฤห์ นี้เป็นญัตติ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๐๔.

ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษาในพระนครราชคฤห์ การสมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและ พระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษาในพระนครราชคฤห์ ชอบแก่ท่าน ผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่งไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด สงฆ์สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ให้จำพรรษาในพระนครราชคฤห์เพื่อ สังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่พึงจำพรรษาในพระ นครราชคฤห์ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ
เรื่องปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรม
[๖๑๖] ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลายได้ไปพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนา พระธรรมและพระวินัย แล้วปรึกษากันว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงสรร- *เสริญการปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมไว้ ถ้ากระไรพวกเราจักปฏิสังขรณ์ เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมในเดือนต้น แล้วจักประชุมสังคายนาพระธรรมและ พระวินัยในเดือนท่ามกลาง ครั้งนั้น พระเถระได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุด ทรุดโทรมในเดือนต้น ฯ
พระอานนท์สำเร็จพระอรหัต
[๖๑๗] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายัง เป็นเสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้น ไม่ควรแก่เรา จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ ล่วงไปด้วยกายคตาสติ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีจึงเอนกายด้วยตั้งใจว่า จักนอน แต่ ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้น จากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ ที่ประชุม ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๗๒๙๘-๗๓๖๙ หน้าที่ ๓๐๒-๓๐๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=7298&Z=7369&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=100              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=614              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [614-617] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=7&item=614&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=9323              The Pali Tipitaka in Roman :- [614-617] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=7&item=614&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=9323              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd21/en/brahmali# https://suttacentral.net/pli-tv-kd21/en/horner-brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :