ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
กุศลกรรมบถ ๑๐
[๔๘๕] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อยคือความประพฤติ ธรรมทางกายมี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรม ทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราเสียแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ ทั้งปวงอยู่. ละการถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่อง ปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย. ละการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ไม่ ถึงความสมสู่ในพวกหญิง ที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดหญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรม ทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ไปในทีประชุม หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไป ในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า บุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า ไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็บอกว่า รู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็บอกว่า เห็น ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะ เหตุเห็นแก่สิ่งของเล็กน้อยบ้าง. ละวาจาอันส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด คือได้ฟังข้างนี้แล้วไม่นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้ หรือได้ฟังข้างโน้นแล้ว ไม่นำมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้น สมานพวกที่แตกกันให้ดีกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่ดีกันให้สนิทสนมบ้าง ชอบใจพวกที่พร้อมเพรียง กัน ยินดีแล้วในพวกที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมในพวกที่พร้อมเพรียงกัน และกล่าววาจาอันทำให้ พร้อมเพรียงกัน. ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ ชอบใจ. ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูดตามความจริง พูด เรื่องที่เป็นประโยชน์ พูดเรื่องที่เป็นธรรม พูดเรื่องที่เป็นวินัยและกล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้าง ได้มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความ ประพฤติเรียบร้อย คือความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรม ทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความโลภมาก ไม่เพ่งเล็งทรัพย์ อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท มีความดำริในใจไม่ชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์ มีแต่สุข รักษาตนเถิด ดังนี้. เป็นผู้มีความเห็นชอบ คือมีความเห็นไม่วิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วมีอยู่ ผลแห่งการ การบูชามีอยู่ ผลแห่งการเซ่นสรวงมีอยู่ ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ โลกหน้ามีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณะและพราหมณ์ ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบผู้ทำโลกนี้ และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอน ให้ผู้อื่นรู้ได้มีอยู่ในโลกนี้ ดังนี้ ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล. ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ เข้าถึงสุคติโลก- *สวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม อย่างนี้แล.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๘๙๕๑-๘๙๙๖ หน้าที่ ๓๖๗-๓๖๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=8951&Z=8996&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=41              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=483              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [485] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=12&item=485&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=6003              The Pali Tipitaka in Roman :- [485] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=12&item=485&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=6003              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i483-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i483-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.041.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.041.nymo.html https://suttacentral.net/mn41/en/sujato https://suttacentral.net/mn41/en/horner https://suttacentral.net/mn41/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :