ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เทวทหวรรค
๑. เทวทหสูตร (๑๐๑)
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สักยนิคม อันมีนามว่า เทวทหะ ในสักกชนบท สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ [๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใด อย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะ เหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ จักมีความไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความสิ้นกรรม เพราะ สิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา เพราะสิ้น เวทนา ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัดได้แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มักมีวาทะอย่างนี้ ฯ [๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเข้าไปหาพวกนิครนถ์ผู้มีวาทะอย่างนี้แล้ว ถามอย่างนี้ว่า ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ จริงหรือที่มีข่าวว่า พวกท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็น ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ ในก่อน ทั้งนี้เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ จักมีความไม่ถูกบังคับ ต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จักมีความ สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวง จักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัดได้แล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์นั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้วย่อมยืนยัน เราจึงถามพวกนิครนถ์นั้นอย่างนี้ว่า ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้มีแล้วในก่อน มิใช่ไม่ได้มีแล้ว ฯ นิครนถ์เหล่านั้นตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ เรา. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำ บาปกรรมไว้ในก่อน มิใช่ไม่ได้ทำไว้ ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ เรา. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำ บาปกรรมอย่างนี้บ้างๆ ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ เรา. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัด ได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เราต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว จักเป็นอันเราสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ เรา. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญ กุศลธรรมในปัจจุบันละหรือ ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ [๔] เรา. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ เท่าที่พูดกันมานี้เป็นอันว่า พวกท่าน ไม่ทราบว่า เราทั้งหลายได้มีแล้วในก่อน มิใช่ไม่ได้มีแล้ว ไม่ทราบว่า เราทั้งหลาย ได้ทำบาปกรรมไว้ในก่อน มิใช่ไม่ได้ทำไว้ ไม่ทราบว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรม อย่างนี้บ้างๆ ไม่ทราบว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เราต้อง สลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว จักเป็นอันเราสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด ไม่ทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุ ไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใด อย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็น เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ ไม่ทำ กรรมใหม่ จักมีความไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความ สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัดได้แล้ว ฯ ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ก็ถ้าพวกท่านพึงทราบว่า เราทั้งหลายได้มีแล้วในก่อน มิใช่ไม่ได้มีแล้ว พึงทราบว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้ในก่อน มิใช่ไม่ได้ ทำไว้ พึงทราบว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมอย่างนี้บ้างๆ พึงทราบว่า ทุกข์ เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เราต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เรา สลัดได้แล้ว จักเป็นอันเราสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด พึงทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุ ควรจะ พยากรณ์ได้ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็น ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ ในก่อน ทั้งนี้เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ จักมีความไม่ถูก บังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ ทั้งปวงจักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัดได้แล้ว ฯ [๕] ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ เปรียบเหมือนบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรที่มียาพิษ อาบไว้อย่างหนาแล้ว พึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้าเจ็บแสบ เพราะเหตุการ เสียดแทงของลูกศร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขาพึงให้หมอผ่าตัดรักษา หมอผ่าตัดใช้ศาตราชำแหละปากแผลของเขา เขาพึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ แม้เพราะเหตุถูกศาตราชำแหละปากแผล หมอผ่าตัดใช้เครื่องตรวจค้น หาลูกศร เขาพึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ แม้เพราะเหตุถูกเครื่อง ตรวจค้นหาลูกศร หมอผ่าตัดถอนลูกศรออก เขาพึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ แม้เพราะเหตุถอนลูกศรออก หมอผ่าตัดใส่ยาถอนพิษที่ปากแผล เขา พึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ แม้เพราะเหตุใส่ยาถอนพิษที่ปากแผล สมัยต่อมา เขามีแผลหาย มีผิวหนังสนิท จึงไม่มีโรค มีความสุข เสรี เป็น อยู่ได้ตามลำพัง ไปไหนไปได้ จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อน เราถูกยิงด้วย ลูกศรที่มียาพิษอาบไว้อย่างหนา ได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ แม้ เพราะเหตุการเสียดแทงของลูกศร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเราให้หมอผ่าตัด รักษา หมอผ่าตัดใช้ศาตราชำแหละปากแผล เรานั้นได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ แม้เพราะเหตุถูกศาตราชำแหละปากแผล หมอผ่าตัดใช้เครื่องตรวจค้น หาลูกศร เรานั้นได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ แม้เพราะเหตุถูก เครื่องตรวจค้นหาลูกศร หมอผ่าตัดถอนลูกศรออก เรานั้นได้เสวยเวทนาอันเป็น ทุกข์กล้า เจ็บแสบ แม้เพราะเหตุถอนลูกศรออก หมอผ่าตัดใส่ยาถอนพิษที่ ปากแผล เรานั้นได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ แม้เพราะเหตุใส่ยา ถอนพิษที่ปากแผล เดี๋ยวนี้ เรานั้นมีแผลหาย มีผิวหนังสนิท จึงไม่มีโรค มีความสุข เสรี เป็นอยู่ได้ตามลำพัง ไปไหนไปได้ ฉันใด ฯ ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าพวกท่านพึงทราบว่า เรา ทั้งหลาย ได้มีแล้วในก่อน มิใช่ไม่ได้มีแล้ว พึงทราบว่า เราทั้งหลายได้ ทำบาปกรรมไว้ในก่อน มิใช่ไม่ได้ทำไว้ พึงทราบว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรม อย่างนี้บ้างๆ พึงทราบว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้ เราต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว จักเป็นอันเราสลัดทุกข์ ได้ทั้งหมด พึงทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบัน เมื่อเป็น เช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุ ควรจะพยากรณ์ได้ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมด เป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ ไม่ ทำกรรมใหม่ จักมีความไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความ สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัดได้แล้ว ฯ ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ก็เพราะเหตุที่พวกท่านไม่ทราบว่า เราทั้งหลายได้ มีแล้วในก่อน มิใช่ไม่ได้มีแล้ว ไม่ทราบว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้ในก่อน มิใช่ไม่ได้ทำไว้ ไม่ทราบว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมอย่างนี้บ้างๆ ไม่ทราบว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เราต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้ เราสลัดได้แล้ว จักเป็นอันเราสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด ไม่ทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบัน ฉะนั้น พวกนิครนถ์ผู้มีอายุ จึงไม่บังควรจะ พยากรณ์ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ จักมีความไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นของ อันปุริสบุคคลนั้นสลัดได้แล้ว ฯ [๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ พวกนิครนถ์นั้นได้กล่าว กะเราดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ท่านนิครนถ์นาฏบุตร เป็นผู้รู้ธรรมทั้งปวง เป็นผู้ เห็นธรรมทั้งปวง ยืนยันญาณทัสสนะตลอดทุกส่วนว่า เมื่อเราเดินก็ดี ยืนก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะได้ปรากฏติดต่อเสมอไป ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพวกนิครนถ์ผู้มีอายุ บาปกรรมที่พวกท่านทำไว้ในก่อนมีอยู่ พวกท่านจงสลัด บาปกรรมนั้นเสีย ด้วยปฏิปทาประกอบด้วยการกระทำที่ทำได้ยากอันเผ็ดร้อนนี้ ข้อที่ท่านทั้งหลายเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ในบัดนี้นั้น เป็นการ ไม่ทำบาปกรรมต่อไป ทั้งนี้เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ จักมี ความไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความสิ้นกรรม เพราะ สิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา เพราะ สิ้นเวทนา จักเป็นอันพวกท่านสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด ก็แหละคำนั้นถูกใจและควร แก่พวกข้าพเจ้า และเพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจึงได้ชื่นชม ฯ [๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกนิครนถ์กล่าวแล้วอย่างนี้ เราได้กล่าว กะพวกนิครนถ์นั้น ดังนี้ว่า ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ธรรม ๕ ประการนี้แล มีวิบาก ๒ ทางในปัจจุบัน ๕ ประการเป็นไฉน คือความเชื่อ ความชอบใจ การฟัง ตามเขาว่า ความตรึกตามอาการ ความปักใจดิ่งด้วยทิฐิ ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ เหล่านี้แล ธรรม ๕ ประการ มีวิบาก ๒ ทางในปัจจุบัน บรรดาธรรม ๕ ประการนั้น พวกนิครนถ์ผู้มีอายุ มีความเชื่ออย่างไร ชอบใจอย่างไร ร่ำเรียนมาอย่างไร ได้ยินมาอย่างไร ตรึกตามอาการอย่างไร ปักใจดิ่งด้วยทิฐิอย่างไร ในศาสดาผู้มี วาทะเป็นส่วนอดีต ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีวาทะอย่างนี้แล จึงไม่เล็งเห็นการ โต้ตอบวาทะอันชอบด้วยเหตุอะไรๆ ในพวกนิครนถ์ ฯ [๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกะพวกนิครนถ์นั้นต่อไปอีกอย่างนี้ว่า ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมัยใด พวกท่าน มีความพยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่านย่อมเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า แต่สมัยใด พวก ท่านไม่มีความความพยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่าน ย่อมไม่เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า ฯ นิครนถ์รับว่า พระโคดมผู้มีอายุ สมัยใด พวกข้าพเจ้ามีความพยายาม แรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกข้าพเจ้าย่อมเสวยเวทนาอันเป็น ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า สมัยใด พวกข้าพเจ้าไม่มี ความพยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกข้าพเจ้าย่อมไม่ เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า ฯ [๙] พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ เท่าที่พูดกันมานี้เป็นอันว่า สมัยใด พวก ท่านมีความพยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่านย่อมเสวย เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า แต่สมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่าน ย่อมไม่เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุ ไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อม เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่า ด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ จักมีความไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความ สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัด ได้แล้ว ฯ ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ถ้าสมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า มีความ เพียรแรงกล้า สมัยนั้น เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายาม พึงหยุดได้เอง และสมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียร แรงกล้า สมัยนั้น เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายาม พึงหยุดได้เอง เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ควรพยากรณ์ได้ว่า ปุริสบุคคล นี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่า ด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ จักมีความไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความ สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัด ได้แล้ว ฯ ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ก็เพราะเหตุที่ สมัยใด พวกท่านมีความพยายาม แรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่านจึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า แต่สมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายาม แรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่านจึงไม่เสวยเวทนาอันเป็น ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า พวกท่านนั้นเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความเพียรเองทีเดียว ย่อมเชื่อผิดไป เพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ เพราะความหลงว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมด เป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ จักมีความไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความ สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัดได้แล้ว ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เรามีวาทะแม้อย่างนี้แล จึงไม่เล็งเห็นการโต้ตอบวาทะอันชอบด้วยเหตุ อะไรๆ ในพวกนิครนถ์ ฯ [๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกะพวกนิครนถ์นั้นต่อไปอีกอย่างนี้ว่า ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พวกท่านจะพึงปรารถนา ได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผล ในชาติหน้า ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด พวกนิครนถ์นั้นกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ พ. และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ผล ในชาติหน้า ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในปัจจุบันด้วยความพยายามหรือด้วย ความเพียรเถิด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พวก ท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นสุข ขอกรรมนั้น จงเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ พ. และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ผล เป็นทุกข์ ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นสุข ด้วยความพยายามหรือด้วยความ เพียรเถิด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พวก ท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว ขอกรรม นั้นจงเป็นของให้ผลอย่าเพ่อเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ พ. และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ผล ยังไม่เสร็จสิ้น ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วย ความเพียรเถิด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พวก ท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ผลมาก ขอกรรมนั้นจงเป็น ของให้ผลน้อย ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ พ. และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ ผลน้อย ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลมาก ด้วยความพยายามหรือด้วยความ เพียรเถิด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พวก ท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็น ของอย่าให้ผล ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ พ. และพวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า กรรมใดเป็นของไม่ให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผล ด้วยความพยายาม หรือด้วยความเพียรเถิด ฯ นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย ฯ [๑๑] พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ เท่าที่พูดกันมานี้เป็นอันว่า พวกท่านจะ พึงปรารถนาไม่ได้ดังนี้ว่า กรรมใดเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ขอกรรมนั้นจงเป็น ของให้ผลในชาติหน้า ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ว่ากรรมใด เป็นของให้ผลในชาติหน้า ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ด้วยความ พยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ว่ากรรมใดเป็นของให้ผลเป็นสุข ขอกรรมนั้น จงเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ว่ากรรมใด เป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นสุข ด้วยความพยายาม หรือด้วยความเพียรเถิด ว่ากรรมใดเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว ขอกรรมนั้น จงเป็นของให้ผลอย่าเพ่อเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ว่า กรรมใดเป็นของให้ผลยังไม่เสร็จสิ้น ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ว่ากรรมใดเป็นของให้ผลมาก ขอกรรม นั้นจงเป็นของให้ผลน้อย ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ว่ากรรมใด เป็นของให้ผลน้อย ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลมาก ด้วยความพยายามหรือ ด้วยความเพียรเถิด ว่ากรรมใดเป็นของให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็นของอย่าให้ผล ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด ว่ากรรมใดเป็นของไม่ให้ผล ขอกรรม นั้นจงเป็นของให้ผล ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ความพยายามของพวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ไร้ผล ความเพียรก็ไร้ผล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้ การกล่าวก่อนและการ กล่าวตาม ๑- ๑๐ ประการอันชอบด้วยเหตุของพวกนิครนถ์ ผู้มีวาทะอย่างนี้ ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่ง @๑. คือวาทะของพวกครู และอนุวาทะของศิษย์ที่ว่าตามกัน กรรมที่ตนทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้ทำกรรมชั่วไว้ก่อนแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ กล้าเจ็บแสบเห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อม เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้ พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้ถูกอิศวร ชั้นเลวเนรมิตมาแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบ เห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ พวก นิครนถ์ต้องเป็นผู้มีความบังเอิญชั่วแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็น ทุกข์กล้าเจ็บแสบเห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่ง อภิชาติ พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีอภิชาติเลวแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวย เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบเห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งความพยายามในปัจจุบัน พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีความพยายามใน ปัจจุบันเลวแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบเห็น ปานนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรม ที่ตนทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้ พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้ พวกนิครนถ์ก็ ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ พวก นิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความ บังเอิญ พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะ เหตุแห่งอภิชาติ พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งอภิชาติ พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและ ทุกข์ เพราะเหตุแห่งความพยายามในปัจจุบัน พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้า หมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งความพยายามในปัจจุบัน พวก นิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้ การกล่าว ก่อนและการกล่าวตาม ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของพวกนิครนถ์ผู้มีวาทะ อย่างนี้ ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพยายามไร้ผล ความ เพียรไร้ผล อย่างนี้แล ฯ [๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ความพยายามจึงจะมีผล ความ เพียรจึงจะมีผล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ ไม่มีทุกข์ทับถม ๑ ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม ๑ ไม่เป็นผู้หมกมุ่นในความ สุขนั้น ๑ เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ถึงเรานี้จักยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเริ่มตั้ง ความเพียร วิราคะย่อมมีได้เพราะการตั้งความเพียร อนึ่ง ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่ง ทุกข์ เมื่อวางเฉย บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ วิราคะก็ย่อมมีได้ เธอพึงเริ่มตั้งความ เพียร ในทำนองที่ภิกษุยังมีเหตุแห่งทุกข์ เริ่มตั้งความเพียร ย่อมมีวิราคะ เพราะการเริ่มตั้งความเพียร และบำเพ็ญอุเบกขา ในทำนองที่ภิกษุยังมีเหตุแห่ง ทุกข์ วางเฉย บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ ย่อมมีวิราคะ เมื่อเธอนั้นยังมีเหตุแห่งทุกข์ เริ่มตั้งความเพียร วิราคะย่อมมีได้เพราะการตั้งความเพียร แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็ เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว เมื่อเธอนั้นยังมีเหตุแห่งทุกข์ วางเฉย บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ วิราคะย่อมมีได้ แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว ฯ [๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนชายผู้กำหนัด มีจิตปฏิพัทธ์ พอใจอย่างแรงกล้า มุ่งหมายอย่างแรงกล้าในหญิง เขาเห็นหญิงนั้นยืนพูดจา กระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความ คับแค้นใจ จะพึงเกิดขึ้นแก่ชายนั้น เพราะเห็นหญิงคนโน้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ ร่าเริงอยู่กับชายอื่นบ้างหรือไม่ ฯ พวกภิกษุทูลว่า ต้องเป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ ภิ. พระพุทธเจ้าข้า เพราะชายคนโน้นกำหนัดนักแล้ว มีจิตปฏิพัทธ์ พอใจอย่างแรงกล้า มุ่งหมายอย่างแรงกล้าในหญิงคนโน้น ฉะนั้น ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับแค้นใจ จึงเกิดขึ้นได้แก่ เขา เพราะเห็นหญิงนั้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อมาชายคนนั้นมีความดำริอย่างนี้ว่า เรา กำหนัดนักแล้ว มีจิตปฏิพัทธ์ พอใจอย่างแรงกล้า มุ่งหมายอย่างแรงกล้าใน หญิงคนโน้น ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความ คับแค้นใจ จึงเกิดขึ้นแก่เราได้ เพราะเห็นหญิงคนโน้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ ร่าเริงอยู่กับชายอื่น อย่ากระนั้นเลย เราพึงละความกำหนัดพอใจในหญิงคนโน้น ที่เรามีนั้นเสียเถิด เขาจึงละความกำหนัดพอใจในหญิงคนโน้นนั้นเสีย สมัยต่อมา เขาเห็นหญิงคนนั้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ จะพึงเกิดขึ้นแก่ชายนั้น เพราะเห็นหญิงคน โน้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่นบ้างหรือไม่ ฯ ภิ. ข้อนั้นหามิได้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ฯ ภิ. พระพุทธเจ้าข้า เพราะชายคนโน้น คลายกำหนัดในหญิงคนโน้น แล้ว ฉะนั้น ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความ คับแค้นใจ จึงไม่เกิดขึ้นแก่เขา เพราะเห็นหญิงนั้นยืนพูดกระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่ กับชายอื่น ฯ [๑๔] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุไม่เอาทุกข์ ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ทับถม ๑ ไม่สละความสุขที่เกิดขึ้นโดยธรรม ๑ ไม่เป็นผู้ หมกมุ่นในความสุขนั้น ๑ เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ถึงเรานี้จะยังมีเหตุ แห่งทุกข์ เมื่อเริ่มตั้งความเพียร วิราคะย่อมมีได้เพราะการตั้งความเพียร อนึ่ง ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อวางเฉย บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ วิราคะก็ย่อมมีได้ เธอจึงเริ่มตั้งความเพียร ในทำนองที่ภิกษุยังมีเหตุแห่งทุกข์ เริ่มตั้งความเพียร ย่อมมี วิราคะ เพราะการเริ่มตั้งความเพียร และบำเพ็ญอุเบกขา ในทำนองที่ภิกษุยังมี เหตุแห่งทุกข์ วางเฉย บำเพ็ญอุเบกขาอยู่ ย่อมมีวิราคะ เมื่อเธอนั้นยังมีเหตุ แห่งทุกข์ เริ่มตั้งความเพียร วิราคะย่อมมีได้เพราะการตั้งความเพียร แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว เมื่อเธอนั้นยังมีเหตุแห่งทุกข์ วางเฉย บำเพ็ญ อุเบกขาอยู่ วิราคะย่อมมีได้ แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพยายามมีผล ความเพียรมีผล แม้อย่างนี้ ฯ [๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เมื่อเราอยู่ตามสบาย อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อม แต่เมื่อเราเริ่ม ตั้งตนเพื่อความลำบาก อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง อย่า- *กระนั้นเลย เราพึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากเถิด เธอจึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เมื่อเธอเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากอยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง สมัยต่อมา เธอไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุนั้นเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของเธอ เป็นอันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา เธอจึงไม่ต้อง เริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนช่างศร ย่างลน- *ลูกศรบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ เพราะเหตุที่ลูกศรเป็นของอัน ช่างศรย่างลนบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้แล้ว สมัยต่อมา ช่างศร นั้นไม่ต้องย่างลนลูกศรนั้นบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ ข้อนั้นเพราะ เหตุไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะช่างศรนั้นพึงย่างลนลูกศรบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของเขาเป็นอันสำเร็จ แล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา ช่างศรจึงไม่ต้องย่างลนลูกศรบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ ตรงจนใช้การได้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า เมื่อเราอยู่ตามสบาย อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรม ย่อมเสื่อม แต่เมื่อเราเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง อย่ากระนั้นเลย เราพึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากเถิด เธอจึง เริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เมื่อเธอเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากอยู่ อกุศลธรรมย่อม เสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง สมัยต่อมา เธอไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความ ลำบากได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุนั้นเริ่มตั้งตนเพื่อ ความลำบาก เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของเธอ เป็นอันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา เธอจึงไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพยายามมีผล ความเพียรมีผล แม้อย่างนี้ ฯ [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ตถาคตนั้นทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ให้รู้ทั่ว แสดงธรรมไพเราะ ในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ประกาศ พรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดีก็ดี บุตรของคฤหบดีก็ดี คนเกิด ภายหลังในสกุลใดสกุลหนึ่งก็ดี ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ย่อมได้ความ เชื่อในตถาคต เขาประกอบด้วยการได้ความเชื่อโดยเฉพาะนั้น จึงพิจารณาเห็น ดังนี้ว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง เรายังอยู่ ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่เขา ขัดแล้วนี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้า กาสาวพัสตร์แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัยต่อมา เขาละ โภคสมบัติน้อยบ้าง มากบ้าง ละเครือญาติเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ ถึง พร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ละปาณาติบาต เป็นผู้เว้นขาดจาก ปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตราแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์อยู่ ละอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาดจาก อทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้ มีตนเป็นคนสะอาด ไม่ใช่ขโมยอยู่ ละกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นเมถุนอันเป็นธรรมดาของชาวบ้าน ละมุสาวาท เป็นผู้เว้น ขาดจากมุสาวาท เป็นผู้กล่าวคำจริง ดำรงอยู่ในคำสัตย์ เป็นหลักฐานเชื่อถือได้ ไม่พูดลวงโลก ละวาจาส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ได้ยินจากฝ่าย นี้แล้ว ไม่บอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ยินจากฝ่ายโน้นแล้ว ไม่ บอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ทั้งนี้ เมื่อเขาแตกแยกกันแล้ว ก็สมานให้ดีกัน หรือเมื่อเขาดีกันอยู่ก็ส่งเสริม ชอบความพร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนที่พร้อม- *เพรียงกัน ชื่นชมในคนที่พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้กล่าววาจาสมานสามัคคีกัน ละวาจาหยาบ เป็นผู้เว้นขาดจากวาจาหยาบ เป็นผู้กล่าววาจาซึ่งไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักใคร่ จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมากปรารถนา และชอบใจ ละการเจรจาเพ้อเจ้อ เป็นผู้เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ กล่าว ถูกกาล กล่าวตามเป็นจริง กล่าวอิงอรรถ กล่าวอิงธรรม กล่าวอิงวินัย เป็นผู้ กล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้าง มีขอบเขต ประกอบด้วยประโยชน์ ตามกาล เธอเป็นผู้เว้นจากการพรากพืชคามและภูตคาม เป็นผู้ฉันหนเดียว งดฉันในเวลา ราตรี เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล เป็นผู้เว้นขาดจากการทัดทรง และตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่งการแต่ง ตัว เป็นผู้เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เป็นผู้เว้นขาด จากการรับทองและเงิน เป็นผู้เว้นขาดจากการรับธัญญชาติดิบ ๑- เป็นผู้เว้นขาด จากการรับเนื้อดิบ เป็นผู้เว้นขาดจากการรับหญิงและกุมารี เป็นผู้เว้นขาดจาก @๑. ข้าวเปลือกชนิดที่เขาใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของแทนเงินและทองกันในสมัยนั้น การรับทาสีและทาส เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เป็นผู้เว้นขาดจาก การรับไก่และสุกร เป็นผู้เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้าและลา เป็นผู้เว้น ขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน เป็นผู้เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการ รับใช้ เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วย ตาชั่ง การโกงด้วยของปลอมและการโกงด้วยเครื่องตวงวัด เป็นผู้เว้นขาด จากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและการกรรโชก เธอเป็นผู้สันโดษด้วย จีวรเป็นเครื่องบริหารกาย และบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปที่ใดๆ ย่อมถือเอาบริขารไปได้หมด เหมือนนกมีปีก จะบินไปที่ใดๆ ย่อมมีแต่ปีก ของตัวเท่านั้นเป็นภาระบินไป ฯ [๑๗] เธอประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสวยสุข อันปราศจากโทษในภายใน เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต และโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษา จักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ได้ยินเสียงด้วยโสต ... ได้ดมกลิ่น ด้วยฆานะ ... ได้ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... ได้รู้แจ้ง ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิตและโดยอนุพยัญชนะ ย่อม ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวม ในมนินทรีย์ ฯ [๑๘] เธอประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะ เช่นนี้แล้ว ย่อม เสวยสุขอันไม่เจือทุกข์ในภายใน เป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอย กลับ ในเวลาแลดูและเหลียวดู ในเวลาคู้เข้าและเหยียดออก ในเวลาทรง สังฆาฏิ บาตรและจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง ฯ [๑๙] เธอประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะเช่นนี้ ประกอบด้วย อินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอันเป็นอริยะ เช่นนี้แล้ว ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหาร แล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า ละอภิชฌาในโลกได้แล้ว มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความประทุษร้าย คือพยาบาท เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์อยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัย ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้ ฯ [๒๐] เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการอันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ทำ ปัญญาให้ถอยกำลังนี้ได้แล้ว จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่า ความพยายามมีผล ความเพียรมีผล ฯ [๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเข้าทุติยฌาน มี ความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่า ความพยายามมีผล ความเพียรมีผล ฯ [๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้วางเฉยเพราะ หน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่พระอริยะ เรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่า ความพยายามมีผล ความเพียรมีผล ฯ [๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเข้าจตุตถฌาน อัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่า ความพยายาม มีผล ความเพียรมีผล ฯ [๒๔] เธอ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยใน ชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติ บ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบ ชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายสังวัฏกัป บ้าง หลายวิวัฏกัปบ้าง หลายสังวัฏวิวัฏกัปบ้าง ว่าในชาติโน้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มี กำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว บังเกิดในชาติโน้น แม้ในชาตินั้น เราก็มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและ ทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว จึงเข้าถึงในชาตินี้ เธอย่อมระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ เช่นนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่า ความพยายามมีผล ความเพียรมีผล ฯ [๒๕] เธอ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่อญาณเครื่องรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย มอง- *เห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ทราบชัดหมู่สัตว์ผู้ เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบแล้วด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจ มิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป จึงได้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์ผู้กำลัง เป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบแล้วด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน พระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป จึงได้ เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เธอย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เช่นนี้ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่า ความพยายามมีผล ความเพียรมีผล ฯ [๒๖] เธอ เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์ รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะ เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ความพยายามจึงมีผล ความเพียร จึงมีผล ฯ [๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีวาทะอย่างนี้ วาทะ ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของตถาคตผู้มีวาทะอย่างนี้ ย่อมถึงฐานะควรสรรเสริญ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรม ที่ตนทำไว้ในก่อน ตถาคตต้องเป็นผู้ทำกรรมดีไว้ในก่อนแน่ ผลในบัดนี้ จึงเสวย เวทนาอันเป็นสุขหาอาสวะมิได้เห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะ เหตุที่อิศวรเนรมิตให้ ตถาคตต้องเป็นผู้อันอิศวรชั้นดีเนรมิตแน่ ผลในบัดนี้ จึง เสวยเวทนาอันเป็นสุขหาอาสวะมิได้เห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ ตถาคตต้องเป็นผู้มีความบังเอิญดีแน่ ผลในบัดนี้ จึง เสวยเวทนาอันเป็นสุขหาอาสวะมิได้เห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งอภิชาติ ตถาคตต้องเป็นผู้มีอภิชาติดีแน่ ผลในบัดนี้ จึงเสวยเวทนา อันเป็นสุขหาอาสวะมิได้เห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุ แห่งความพยายามในปัจจุบัน ตถาคตต้องเป็นผู้มีความพยายามในปัจจุบันดีแน่ ผล ในบัดนี้ จึงเสวยเวทนาอันเป็นสุขหาอาสวะมิได้เห็นปานนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้า หมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน ตถาคต ต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำ ไว้ในก่อน ตถาคตก็ต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะ เหตุที่อิศวรเนรมิตให้ ตถาคตต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้ ตถาคตก็ต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุข และทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ ตถาคตต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่ เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ ตถาคตก็ต้องน่าสรรเสริญ ถ้า หมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งอภิชาติ ตถาคตต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งอภิชาติ ตถาคตก็ต้องน่า สรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งความพยายามใน ปัจจุบัน ตถาคตต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุ แห่งความพยายามในปัจจุบัน ตถาคตก็ต้องน่าสรรเสริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคต มีวาทะอย่างนี้ วาทะ ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของตถาคตผู้มีวาทะอย่างนี้ จึงถึงฐานะควรสรรเสริญ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ เทวทหสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๑-๕๑๑ หน้าที่ ๑-๒๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1&Z=511&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1-27] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=14&item=1&items=27              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- [1-27] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=14&item=1&items=27              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i001-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.101.than.html https://suttacentral.net/mn101/en/sujato https://suttacentral.net/mn101/en/thanissaro

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :