ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
             [๔๕๑] พ. ดีละๆ อนุรุทธ ก็พวกเธอผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่ง
ตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมมีคุณวิเศษคือ ญาณทัสสนะอันประเสริฐ สามารถ
กว่าธรรมของมนุษย์อันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายอันได้บรรลุแล้วหรือ ฯ
             อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ พวกข้าพระองค์ผู้ไม่ประมาท มี
ความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป แต่ไม่ช้า
เท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของพวกข้าพระองค์ ย่อมหายไปได้ พวก
ข้าพระองค์ยังไม่แทงตลอดนิมิตนั้น ฯ
             [๔๕๒] พ. ดูกรอนุรุทธ พวกเธอต้องแทงตลอดนิมิตนั้นแล แม้เราก็
เคยมาแล้ว เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้เองด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อม
รู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็น
รูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุ
เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มี
ความรู้ดังนี้ว่า วิจิกิจฉาแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็วิจิกิจฉาเป็นเหตุสมาธิของเรา
จึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจัก
ทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉาขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๕๓] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นแลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไป
ในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการ
เห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล
เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ
เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า อมนสิการแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็อมนสิการเป็นเหตุ
สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไป
ได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา และอมนสิการขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๕๔] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้น
ได้มีความรู้ดังนี้ว่า ถีนมิทธะแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ถีนมิทธะเป็นเหตุ สมาธิ
ของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉาอมนสิการ และถีนมิทธะขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๕๕] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้
มีความรู้ดังนี้ว่า ความหวาดเสียวแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความหวาดเสียวเป็นเหตุ
สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไป
ได้ ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เกิดมีคนปองร้ายเขาขึ้นที่สอง
ข้างทาง เขาจึงเกิดความหวาดเสียว เพราะถูกคนปองร้ายนั้นเป็นเหตุ ฉันใด ดูกร
อนุรุทธ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความหวาดเสียวแลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความ
หวาดเสียวเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่าง
และการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ
และความหวาดเสียวขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๕๖] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มี
ความรู้ ดังนี้ว่า ความตื่นเต้นแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความตื่นเต้นเป็นเหตุ สมาธิ
ของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษแสวงหาแหล่งขุมทรัพย์แห่งหนึ่ง พบแหล่งขุม-
*ทรัพย์เข้า ๕ แห่งในคราวเดียวกัน เขาจึงเกิดความตื่นเต้น เพราะพบแหล่ง
ขุมทรัพย์ ๕ แห่งนั้นเป็นเหตุ ฉันใด ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความตื่น
เต้นแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความตื่นเต้นเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อ
สมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา
อมนสิการ ถีนมิทธะความหวาดเสียว และความตื่นเต้นขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๕๗] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้
มีความรู้ ดังนี้ว่า ความชั่วหยาบแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความชั่วหยาบเป็นเหตุ
สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหาย
ไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว
ความตื่นเต้น และความชั่วหยาบขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๕๘] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มี
ความรู้ ดังนี้ว่า ความเพียรที่ปรารภเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความเพียร
ที่ปรารภเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่าง
และการเห็นรูปจึงหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษเอามือทั้ง ๒ จับนก
คุ่มไว้แน่น นกคุ่มนั้นต้องถึงความตายในมือนั้นเอง ฉันใด ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้น
เหมือนกันแล ความเพียรที่ปรารภเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แลความเพียร
ที่ปรารภเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่าง
และการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ
ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ และความเพียรที่ปรารภเกินไป
ขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๕๙] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มี
ความรู้ ดังนี้ว่า ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความ
เพียรที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว
แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษจับนกคุ่ม
หลวมๆ นกคุ่มนั้นต้องบินไปจากมือเขาได้ ฉันใด ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้นเหมือน
กันแลความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความเพียรที่ย่อหย่อน
เกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและ
การเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความ
หวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป และความ
เพียรที่ย่อหย่อนเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๖๐] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้
มีความรู้ ดังนี้ว่า ตัณหาที่คอยกระซิบแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ตัณหาที่คอย
กระซิบเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและ
การเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความ
หวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียร
ที่ย่อหย่อนเกินไป และตัณหาที่คอยกระซิบขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๖๑] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้
มีความรู้ ดังนี้ว่า ความสำคัญสภาวะว่าต่างกันแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ความ
สำคัญสภาวะว่าต่างกันเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว
แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เรานั้นจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ
ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภ
เกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ และความสำคัญสภาวะ
ว่าต่างกันขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๖๒] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปใน
ธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการ
เห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็น
เหตุ เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้ ดูกรอนุรุทธ เรา
นั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ลักษณะ
ที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว
แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ
ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกิน
ไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่าง
กัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก ฯ
             [๔๖๓] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นแลรู้ว่า วิจิกิจฉาเป็นเครื่องเกาะจิตให้
เศร้าหมอง จึงละวิจิกิจฉาตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่าอมนสิการเป็น
เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละอมนสิการตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า
ถีนมิทธะเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละถีนมิทธะตัวเกาะจิตให้เศร้าหมอง
เสียได้ รู้ว่า ความหวาดเสียวเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละความหวาด-
*เสียว ตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ความตื่นเต้นเป็นเครื่องเกาะจิตให้
เศร้าหมอง จึงละความตื่นเต้นตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ความชั่วหยาบ
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละความชั่วหยาบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสีย
ได้ รู้ว่า ความเพียรที่ปรารภเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละความ
เพียรที่ปรารภเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ความเพียรที่ย่อหย่อน
เกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปตัวเกาะ
จิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ตัณหาที่คอยกระซิบเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละตัณหาที่คอยกระซิบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ความสำคัญสภาวะว่า
ต่างกันเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง จึงละความสำคัญสภาวะว่าต่างกันตัวเกาะ-
*จิตให้เศร้าหมองเสียได้ รู้ว่า ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้
เศร้าหมอง จึงละลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ ฯ
             [๔๖๔] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปใน
ธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียวแล แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปอย่างเดียวแล
แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืน
และกลางวันบ้าง เรานั้นจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็น
ปัจจัยให้เรารู้สึกแสงสว่างอย่างเดียวแล แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปอย่างเดียวแล
แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืน
และกลางวันบ้าง ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เราไม่ใส่ใจ
นิมิตคือรูป ใส่ใจแต่นิมิตคือแสงสว่าง สมัยนั้น เราย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่าง
เดียวแล แต่ไม่เห็นรูป ส่วนสมัยใดเราไม่ใส่ใจนิมิตคือแสงสว่าง ใส่ใจแต่
นิมิตคือรูป สมัยนั้น เราย่อมเห็นรูปอย่างเดียวแล แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง ตลอด
กลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง ฯ
             [๔๖๕] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปใน
ธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย และรู้สึกแสง
สว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้ ตลอดกลางคืนบ้าง
ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า
อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เรารู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูป
ได้นิดหน่อย และรู้สึกแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณ
มิได้ ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เรามีสมาธินิดหน่อย สมัยนั้น
เราก็มีจักษุนิดหน่อย ด้วยจักษุนิดหน่อย เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย
เห็นรูปได้นิดหน่อย ส่วนสมัยใด เรามีสมาธิหาประมาณมิได้ สมัยนั้น เราก็มี
จักษุหาประมาณมิได้ ด้วยจักษุหาประมาณมิได้ เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างหา
ประมาณมิได้ และเห็นรูปหาประมาณมิได้ ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง
ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง ฯ
             ดูกรอนุรุทธ เพราะเรารู้ว่าวิจิกิจฉาเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละวิจิกิจฉาตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าอมนสิการเป็นเครื่องเกาะจิตให้
เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละอมนสิการตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าถีนมิทธะ
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละถีนมิทธะตัวเกาะจิตให้เศร้าหมอง
ได้ รู้ว่าความหวาดเสียวเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละความ
หวาดเสียวตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความตื่นเต้นเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้า
หมองแล้ว เป็นอันละความตื่นเต้นตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความชั่วหยาบ
เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละความชั่วหยาบตัวเกาะจิตให้เศร้า
หมองได้ รู้ว่าความเพียรที่ปรารภเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็น
อันละความเพียรที่ปรารภเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความเพียรที่ย่อ-
*หย่อนเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละความเพียรที่ย่อหย่อน
เกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าตัณหาที่คอยกระซิบเป็นเครื่องเกาะจิตให้
เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละตัณหาที่คอยกระซิบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าความ
สำคัญสภาวะต่างกันเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละความสำคัญ
สภาวะว่าต่างกันตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้ รู้ว่าลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเป็น
เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว เป็นอันละลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปตัวเกาะจิต
ให้เศร้าหมองได้ เรานั้นจึงได้มีความรู้ดังนี้ว่า เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองนั้นๆ ของ
เรา เราละได้แล้วแล ดังนั้น เราจึงเจริญสมาธิโดยส่วนสามได้ในบัดนี้ ฯ
             [๔๖๖] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้เจริญสมาธิมีวิตกมีวิจารบ้าง ได้เจริญ
สมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิ
มีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยสุขบ้าง ได้เจริญ
สมาธิสหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ฯ
             ดูกรอนุรุทธ เพราะสมาธิชนิดที่มีวิตกมีวิจารบ้าง ชนิดที่ไม่มีวิตกมี
แต่วิจารบ้าง ชนิดที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง ชนิดที่มีปีติบ้าง ชนิดที่ไม่มีปีติบ้าง
ชนิดที่สหรคตด้วยสุขบ้าง ชนิดที่สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง เป็นอันเราเจริญแล้ว
ฉะนั้นแล ความรู้ความเห็นจึงได้เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้
เป็นชาติที่สุด บัดนี้ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี ฯ
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอนุรุทธจึงชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ อุปักกิเลสสูตร ที่ ๘
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๖๑๔๙-๖๓๑๑ หน้าที่ ๒๖๐-๒๖๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6149&Z=6311&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=28              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=439              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [451-466] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=14&item=451&items=16              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=3747              The Pali Tipitaka in Roman :- [451-466] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=14&item=451&items=16              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=3747              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i439-e.php# https://suttacentral.net/mn128/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :