ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๓)
[๕๔๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารตโปทาราม เขตพระ- *นครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิลุกขึ้นในราตรีตอนใกล้รุ่ง เข้าไปยัง สระตโปทะเพื่อสรงสนานร่างกาย ครั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกลับขึ้นมานุ่งสบง ผืนเดียว ยืนผึ่งตัวให้แห้งอยู่ ขณะนั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวดาตนหนึ่ง มี รัศมีงาม ส่องสระตโปทะให้สว่างทั่ว เข้าไปหาท่านพระสมิทธิยังที่ที่ยืนอยู่นั้น แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๕๔๙] เทวดานั้น พอยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระสมิทธิ ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ ไหม ฯ ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำ ได้หรือ ฯ เท. ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดง ราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ฯ ส. ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ ฯ เท. ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ ขอท่านจงเรียนร่ำ และทรงจำ อุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคล ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯ เทวดานั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ฯ [๕๕๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิ พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว จึงเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ตอนใกล้รุ่ง ข้าพระองค์ลุกขึ้นเข้าไปยังสระตโปทะ เพื่อสรงสนานร่างกาย ครั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกลับมานุ่งแต่สบงผืนเดียว ยืนผึ่งตัวให้แห้งอยู่ ขณะนั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวดาตนหนึ่ง มีรัศมีงาม ส่องสระตโปทะให้สว่างทั่ว เข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่ที่ยืนอยู่นั้น แล้วยืน ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะข้าพระองค์ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ เมื่อเทวดานั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะเทวดานั้นดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวดานั้นกล่าวว่า ดูกร ภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าพระองค์ตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวดา นั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ ขอท่านจงเรียนร่ำ และทรงจำ อุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคล ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เทวดา นั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาคได้โปรดแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ แก่ข้าพระองค์ เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ท่านพระสมิทธิทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธ- *เจ้าข้า ฯ [๕๕๑] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียใน วันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคตจึงทรงลุก จากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังพระวิหาร ฯ [๕๕๒] ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึง ได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดง อุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยัง ไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียใน วันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกออกจากอาสนะเสด็จเข้า ไปยังพระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะ พอจะจำแนกเนื้อ ความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้ากระไร พวก เราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กะท่าน พระมหากัจจานะเถิด ฯ [๕๕๓] ต่อนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่ อยู่ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า ดูกรท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรง แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกกระผมว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียก บุคคล ... นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง พระวิหาร ดูกรท่านกัจจานะ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวก กระผมนั้นได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียก บุคคล ... นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง พระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ดูกรท่านกัจจานะ พวกกระผมนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะ พอจะจำแนกเนื้อ ความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้ากระไร พวก เราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กะท่าน พระมหากัจจานะเถิด ขอท่านพระมหากัจจานะโปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ [๕๕๔] ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบ เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ พึงสำคัญ แก่นของต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นตั้งอยู่ว่า ควรหาได้ที่กิ่งและใบ ละเลยรากและลำต้น เสีย ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่พร้อมหน้าท่านผู้มี อายุทั้งหลาย พวกท่านพากันสำคัญเนื้อความนั้นว่า พึงสอบถามเราได้ ล่วงเลย พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความประเสริฐ ตรัส บอก นำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม ทรงเป็นเจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่ ท่านทั้งหลายจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรง พยากรณ์แก่เราอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด ฯ ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ดูกรท่านกัจจานะ แท้จริง พระผู้มีพระภาคย่อม ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความ ประเสริฐ ตรัส บอก นำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม ทรงเป็น เจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่พวก กระผมจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ แก่พวกกระผมอย่างใด พวกกระผมพึงทรงจำได้อย่างนั้น แต่ว่าท่านพระมหา- *กัจจานะ อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน ยกย่อง สรรเสริญแล้ว และท่านพอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจานะอย่าทำความ หนักใจ โปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ ก. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ข้าพเจ้าจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจานะว่า ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ ฯ [๕๕๕] ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม เรียกบุคคล...นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง พระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ ฯ [๕๕๖] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว อย่างไร คือ มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้ เป็นดังนี้ รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้เป็น ดังนี้ เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้เป็น ดังนี้ กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้เป็น ดังนี้ รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเราได้ เป็นดังนี้ โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเราได้ เป็นดังนี้ ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วย ฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าคำนึง ถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ ล่วงแล้ว ฯ [๕๕๗] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว อย่างไร คือ มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้ เป็นดังนี้ รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วง แล้ว มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้ เป็นดังนี้ เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้ เป็นดังนี้ กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้ เป็นดังนี้ รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเรา ได้เป็นดังนี้ โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเรา ได้เป็นดังนี้ ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่อง ด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึง ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ [๕๕๘] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง อย่างไร คือ บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรูปพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความตั้งใจเป็นปัจจัย จึงเพลิดเพลิน จักษุและรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอโสตของเราพึงเป็นดังนี้ ขอ เสียงพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอฆานะของเราพึงเป็นดังนี้ ขอกลิ่นพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอชิวหาของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรสพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอกายของเราพึงเป็นดังนี้ ขอ โผฏฐัพพะพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอมโนของเราพึงเป็นดังนี้ ขอ ธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความตั้งใจเป็นปัจจัย จึงเพลิด เพลินมโนและธรรมารมณ์ เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ [๕๕๙] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง อย่างไร คือ บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุของเราพึงเป็น ดังนี้ ขอรูปพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความไม่ตั้งใจเป็นปัจจัย จึงไม่ เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยัง ไม่มาถึง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอโสตของเราพึงเป็นดังนี้ ขอเสียงพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอฆานะของเราพึงเป็นดังนี้ ขอกลิ่นพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอชิวหาของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรสพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต... บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอกายของเราพึงเป็นดังนี้ ขอโผฏฐัพพะพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต ... บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอมโนของเราพึงเป็นดังนี้ ขอธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความไม่ตั้งใจเป็นปัจจัย จึงไม่ เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่ มาถึง ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ฯ [๕๖๐] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน อย่างไร คือ มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปทั้ง ๒ อย่างที่เป็น ปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินจักษุ และรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียง... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่น... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรส... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะ... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ อย่างที่เป็น ปัจจุบันด้วยกันแล เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินมโนและ ธรรมารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ดูกรท่านผู้มี อายุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ [๕๖๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรม ปัจจุบันอย่างไร คือ มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปทั้ง ๒ อย่าง ที่เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่ เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรม ปัจจุบัน มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียง ... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่น... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรส... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะ... มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ ทั้ง ๒ อย่างที่ เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่ เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่ง่อนแง่นใน ธรรมปัจจุบัน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรม ปัจจุบัน ฯ [๕๖๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศ โดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม เรียกบุคคล...นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไป ยังพระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ ก็แหละท่านทั้งหลาย หวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลสอบถามเนื้อความนั้นเถิด พระผู้มี- *พระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้ อย่างนั้น ฯ [๕๖๓] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระมหา- *กัจจานะแล้วลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกข้าพระองค์ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม เรียกบุคคล...นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไป ยังพระวิหาร พอพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวกข้าพระองค์นั้น ได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรง แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยัง ไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสีย ในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง เจริญ ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไป ยังพระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์นั้นได้มีความ คิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุร่วมประพฤติ พรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะนี้พอจะ จำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้า กระไร พวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อ ความนี้กะท่านพระมหากัจจานะเถิด ต่อนั้นแล พวกข้าพระองค์จึงเข้าไปหาท่าน พระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนั้นกะท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะจำแนกเนื้อความแก่พวกข้าพระองค์นั้นแล้วโดยอาการดังนี้ โดยบทดังนี้ โดยพยัญชนะดังนี้ ฯ [๕๖๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็น บัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากพวกเธอสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็จะ พยากรณ์เนื้อความนั้นอย่างเดียวกับที่มหากัจจานะพยากรณ์แล้วเหมือนกัน ก็แหละ เนื้อความของอุเทศนั้นเป็นดังนี้แล พวกเธอจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่าง นั้นเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๓
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๗๒๒๓-๗๔๙๓ หน้าที่ ๓๐๖-๓๑๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7223&Z=7493&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=33              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=548              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [548-564] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=14&item=548&items=17              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4487              The Pali Tipitaka in Roman :- [548-564] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=14&item=548&items=17              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4487              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i548-e.php# https://suttacentral.net/mn133/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :