ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
๑๐. ภิกขุนูปัสสยสูตร
[๕๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วได้กล่าว กะท่านพระมหากัสสปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านไปยังที่พำนักของภิกษุณี ด้วยกันเถิด ท่านพระมหากัสสปจึงกล่าวว่า ท่านไปเถิด อาวุโสอานนท์ ท่านเป็น ผู้มีกิจมาก มีธุระมาก แม้ครั้งที่สอง ท่านพระอานนท์ก็พูดกับท่านพระมหากัสสป ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านไปยังที่พำนักของภิกษุณีด้วยกันเถิด ท่าน พระมหากัสสปก็กล่าวว่า ท่านไปเถิดอาวุโสอานนท์ ท่านเป็นผู้มีกิจมาก มีธุระมาก แม้ครั้งที่สาม ท่านพระอานนท์ก็พูดกับท่านพระมหากัสสปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านไปยังที่พำนักของภิกษุณีด้วยกันเถิด ฯ [๕๑๓] ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปนุ่งแล้วถือบาตรและ จีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังที่พำนักของภิกษุณี ครั้นเข้าไป แล้วจึงนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ครั้งนั้นภิกษุณีเป็นอันมาก พากันเข้าไปหาท่าน พระมหากัสสปถึงที่พัก ครั้นเข้าไปแล้วจึงกราบท่านพระมหากัสสป แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นภิกษุณีเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสป ยังภิกษุณีเหล่านั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปครั้นยังภิกษุณีเหล่านั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ [๕๑๔] ครั้งนั้นแล ภิกษุณีชื่อถุลลติสสาไม่พอใจ ถึงเปล่งคำแสดง ความไม่พอใจว่า เพราะเหตุไรเล่า พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปจึงสำคัญธรรมที่ตน ควรกล่าวต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ เปรียบเหมือน พ่อค้าเข็มสำคัญว่าควรขายเข็มในสำนักของช่างเข็มผู้ชำนาญ ฉันใด พระผู้เป็น เจ้ามหากัสสปย่อมสำคัญธรรมที่ตนควรกล่าวต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า อานนท์ผู้เป็นมุนี เปรื่องปราชญ์ ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านพระมหากัสสปได้ยินภิกษุณี ถุลลติสสากล่าว วาจานี้แล้ว จึงกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า อาวุโสอานนท์ เราเป็นพ่อค้าเข็ม ท่านเป็นช่างเข็ม หรือเราเป็นช่างเข็ม ท่านเป็นพ่อค้าเข็ม ท่านพระอานนท์จึงตอบว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัสสปผู้เจริญ ขอท่านโปรดประทานโทษเถิด มาตุคาม เป็นคนโง่ ฯ [๕๑๕] งดไว้ก่อนอาวุโสอานนท์ หมู่ของท่านอย่าเข้าไปสอดเห็นให้ เกินไปนัก ดูกรอาวุโสอานนท์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านถูกนำเข้าไป เปรียบในหมู่ภิกษุ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคบ้างหรือว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดวิเวกอยู่ได้เท่าใด แม้อานนท์ก็หวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศล ธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ได้ เท่านั้นเหมือนกัน ฯ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านผู้เจริญ ฯ ก. ดูกรท่านผู้มีอายุ เราเองถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุเฉพาะพระ พักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศล ธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ [อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ และอภิญญา ๕ มีเปยยาลอย่างนี้] [๕๑๖] อาวุโสอานนท์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านถูกนำ เข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคบ้างหรือว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะ สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ได้อย่างใด แม้อานนท์ก็ทำให้ แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญา ยิ่งเองในทิฏฐธรรมเข้าถึงอยู่ได้อย่างนั้นเหมือนกัน ฯ อา. หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านผู้เจริญ ฯ ดูกรอาวุโส เราเองถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุเฉพาะพระพักตร์พระ- *ผู้มีพระภาคว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมเข้าถึงอยู่ได้ อย่างใด แม้กัสสปก็ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ได้อย่างนั้น เหมือน กัน ฯ [๕๑๗] ดูกรอาวุโส ผู้ใดสำคัญเราว่า ควรปกปิดได้ด้วยอภิญญา ๖ ผู้นั้น ก็ควรสำคัญช้าง ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกครึ่งว่า จะพึงปกปิดด้วยใบตาลได้ ฯ ก็แลภิกษุณีชื่อถุลลติสสาเคลื่อนจากพรหมจรรย์เสียแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๑๐

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๕๖๖๐-๕๗๒๐ หน้าที่ ๒๓๘-๒๔๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=16&A=5660&Z=5720&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=16&siri=148              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=512              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [512-517] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=16&item=512&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=4380              The Pali Tipitaka in Roman :- [512-517] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=16&item=512&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=4380              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_16              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/16i462-e.php#sutta10 https://suttacentral.net/sn16.10/en/sujato https://suttacentral.net/sn16.10/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :