ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
ปัญจกังคสูตร
[๔๐๙] ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะเข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ไหว้ท่านพระอุทายีแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอุทายี ว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้เท่าไรหนอ ท่านพระอุทายี ตอบว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างนี้แล ฯ [๔๑๐] เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าว กะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง ตรัสไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุข เวทนาอันเป็นไปฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันประณีต แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนา ไว้ ๒ อย่างเลย พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ แม้ครั้งที่ ๒ ช่างไม้ ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกข- *เวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาอันเป็นไปในฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ในสุขอันประณีต แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า ดูกร คฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ แม้ครั้งที่ ๓ ช่างไม้ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาอันเป็นไปในฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันประณีต ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะให้ช่างไม้ ตกลงได้ ฝ่ายช่างไม้ก็ไม่สามารถให้ท่านพระอุทายีตกลงได้ ฯ [๔๑๑] ท่านพระอานนท์ ได้ฟังการสนทนาปราศรัยนี้ของท่านพระอุทายี กับช่างไม้ ครั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลการสนทนาปราศรัยแม้นั้นทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่คล้อยตามเหตุอันมีอยู่ ของภิกษุอุทายี ส่วนภิกษุอุทายีก็ไม่คล้อยตามเหตุอันมีอยู่ของช่างไม้ ฯ [๔๑๒] ดูกรอานนท์ โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดย ปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ ดูกรอานนท์ เมื่อ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล ชนเหล่าใดจักไม่สำคัญตาม จักไม่รู้ ตาม จักไม่บันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้จักเป็นอันชนเหล่านั้นหวังได้ คือ ชนเหล่านั้นจักเกิดความบาดหมางกัน เกิดความทะเลาะกัน วิวาทกัน จักทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล ดูกรอานนท์ เมื่อธรรมอันเราแสดง แล้วโดยปริยายอย่างนี้ ชนเหล่าใดจักสำคัญตาม จักรู้ตาม จักบันเทิงตาม ซึ่ง คำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้ชนเหล่านั้นพึงหวังได้ คือ ชนเหล่านั้นจักพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำเจือ ด้วยน้ำนม มองกันและกันด้วยจักษุอันเปี่ยมด้วยความรักอยู่ ฯ [๔๑๓] ดูกรอานนท์ กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ เหล่านี้แล ดูกรอานนท์ สุข โสมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ นี้เราเรียกว่ากามสุข ฯ [๔๑๔] ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชน เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุข นั่น มีอยู่ ฯ [๔๑๕] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีต กว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๑๖] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าทุติยฌานอันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ดูกร อานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๑๗] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วย นามกาย เพราะปีติสิ้นไปเข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีต กว่าสุขนั่น ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวย สุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ [๔๑๘] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น ฯ [๔๑๙] ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อม เสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชน เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๐] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าอากาสานัญจายตนฌานโดยบริกรรมว่า อากาศ ไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาทั้งหลาย เพราะความดับสูญแห่งปฏิฆสัญญา ทั้งหลาย เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญาทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าว อย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๑] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนฌานโดยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด นี้แลเป็นสุข อื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชน ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตาม คำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและ ประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๒] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าอากิญจัญญายตนฌานโดยบริกรรมว่า อะไรหน่อยหนึ่งไม่มี นี้แลเป็น สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอม ตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและ ประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๓] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและ ประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุข โสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ [๔๒๔] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็น ไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีต กว่าสุขนั่น ก็ข้อที่ปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าว สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และย่อมบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุข ข้อนี้นั้นเพราะ เหตุไร ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไร นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์มี วาทะอย่างนี้ พวกเธอพึงค้านอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคไม่ได้ ทรงหมายเอาสุขเวทนาบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุขเลย บุคคลย่อมได้สุขใน ฐานะใดๆ พระตถาคตย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆ อันเป็นสุขไว้ในความสุข ทุกแห่ง ฯ
จบสูตรที่ ๙

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๕๙๔๖-๖๐๖๖ หน้าที่ ๒๕๖-๒๖๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=5946&Z=6066&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=18&siri=213              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=409              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [409-424] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=18&item=409&items=16              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=3089              The Pali Tipitaka in Roman :- [409-424] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=18&item=409&items=16              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=3089              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i391-e.php#sutta9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn36/sn36.019.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn36/sn36.019.nypo.html https://suttacentral.net/sn36.19/en/sujato https://suttacentral.net/sn36.19/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :