ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
คิลายนสูตร
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการ
[๑๖๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้น ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มี พระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน พระเจ้ามหานามศากย- *ราช ได้ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มี พระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน ครั้งนั้น พระเจ้า มหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อม ฉันได้ยินมาว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำ จีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้หม่อมฉัน ยังไม่ได้ฟัง ยังไม่ได้รับมา เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า อุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าว สอนอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก. [๑๖๒๘] พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา พึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการว่า ท่านจงเบาใจเถิดว่า ท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีศีลที่ พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ. [๑๖๒๙] ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา ครั้นปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการนี้แล้ว พึงถามอย่างนี้ ว่า ท่านมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใย ในมารดาและบิดาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็น ธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำ ความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในมารดาและ บิดาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในมารดาและบิดาของเราแล้ว. [๑๖๓๐] อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านยังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่ หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขา อย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในบุตร และภริยา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในบุตรและภริยา ก็จักตายไปเหมือน กัน ขอท่านจงละความห่วงใยในบุตรและภริยาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละ ความห่วงใยในบุตรและภริยาของเราแล้ว [๑๖๓๑] อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ท่านยังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อัน เป็นของมนุษย์อยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์ อยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่า กามอันเป็น ของมนุษย์ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้น จาตุมหาราชเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว จิตของเรา น้อมไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว. [๑๖๓๒] อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่า ประณีต กว่า พวกเทพชั้นจาตุมหาราช ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราช แล้วน้อมจิต ไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์เถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราช แล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวก เทพชั้นยามายังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ... พวกเทพชั้นดุสิตยังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นยามา ... พวกเทพชั้นนิมมานรดียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดุสิต ... พวกเทพ ชั้นปรนิมมิตวสวัตตียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นนิมมานรดี ... พรหมโลกยังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้ว น้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้ว จิตของเราน้อมไปในพรหมโลกแล้ว. [๑๖๓๓] อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ แม้พรหมโลกก็ไม่ เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในสักกายะ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพรหมโลก แล้วนำจิต เข้าไปในความดับสักกายะเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพรหมโลกแล้ว เรานำ จิตเข้าไปในความดับสักกายะแล้ว ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันของ อุบาสก ผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี คือ พ้นด้วยวิมุติเหมือนกัน.
จบ สูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๙๗๔๐-๙๗๙๑ หน้าที่ ๔๐๖-๔๐๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=9740&Z=9791&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=19&siri=372              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1627              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1627-1633] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=19&item=1627&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=8135              The Pali Tipitaka in Roman :- [1627-1633] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=19&item=1627&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=8135              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn55/sn55.054.than.html https://suttacentral.net/sn55.54/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :