ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๒. โทณสูตร
[๑๙๒] ครั้งนั้นแล โทณพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า พระสมณะโคดมไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ หรือไม่เชื้อเชิญ ด้วยอาสนะ ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ข้อนั้นเห็นจะเป็น เหมือนอย่างนั้น เพราะท่านพระโคดมไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วย อาสนะ ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ข้อนี้ไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโทณะ แม้ท่านก็ย่อมปฏิญาณว่าเป็นพราหมณ์มิใช่ หรือ ฯ ท. ข้าแต่ท่านพระโคดม ผู้ใดเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวว่าเป็นพราหมณ์ อุภโตสุชาติทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่ว บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและเกฏุภะ พร้อมทั้งอักขระประเภท มีคัมภีร์ อิติหาสะเป็นที่ห้า เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ ผู้นั้นเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงหมายซึ่งข้าพระองค์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๒๙.

นั้นเทียว เพราะข้าพระองค์เป็นพราหมณ์อุภโตสุชาติทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์ เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุ และเกฏุภะ พร้อมทั้งอักขระประเภท มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ห้า เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทายมหาปุริสลักษณะ ฯ พ. ดูกรโทณะ บรรดาฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษี อัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตระ ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภัคคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอก มนต์ พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้ ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ ที่ท่าน ขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ท่าน กล่าวไว้ บอกไว้ ฤาษีเหล่านั้นย่อมบัญญัติพราหมณ์ไว้ ๕ จำพวกนี้ คือ พราหมณ์ ผู้เสมอด้วยพรหม ๑ พราหมณ์เสมอด้วยเทวดา ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดีและชั่ว ๑ พราหมณ์จัณฑาลเป็นที่ ๕ ดูกรโทณะ ท่านเป็นพราหมณ์จำพวกไหนในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น ฯ โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้ แต่ข้าพระองค์รู้ว่าเป็นพราหมณ์เท่านั้น ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงธรรมแก่ ข้าพระองค์ โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้ ฯ พ. ดูกรโทณะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ฯ โทณพราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ ตรัสว่า ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้เป็น อุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่ว บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมารพรหม- *จรรย์เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว ย่อมแสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์เพื่อ อาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมในการแสวงหา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๐.

นั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การ เป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจาร อย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ มีใจประกอบด้วย เมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณ มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ฯ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... ประกอบด้วยมุทิตา ... ประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้อง บน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เธอเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการนี้แล้ว เมื่อ ตายไปย่อมเข้าถึงสุคติพรหมโลก ดูกรโทณะ พราหมณ์เป็นผู้ชื่อว่าเสมอด้วยพรหม อย่างนี้แล ฯ ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครๆ จะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว ย่อมแสวงหาทรัพย์ สำหรับบูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรม ไม่แสวงหาอย่างไม่เป็นธรรม ก็ธรรม ในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือ กระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๑.

ในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยการซื้อ ด้วยการขาย ย่อม แสวงหาพราหมณีเฉพาะที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่ด้วยสตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล เนสาท ช่างจักสาน ช่าง ทำรถ เทหยากเยื่อ สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู ดูกรโทณะ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่ สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมี ครรภ์ไซร้ มาณพหรือมาณวิกาย่อมเป็นผู้ชื่อว่าเกิดแต่กองอุจจาระ เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูก อ่อน เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมีลูกอ่อนไซร้ มาณพหรือมาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าดื่มของไม่สะอาด เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมี ลูกอ่อน พราหมณีนั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์ มิใช่ต้องการความใคร่ ความ สนุก ความยินดี ต้องการบุตรอย่างเดียว เขามีบุตรหรือธิดาแล้ว จึงปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอ เจริญฌานทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกร- *โทณะ พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาอย่างนี้แล ฯ ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีอย่างไร พราหมณ์ในโลก นี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์สำหรับ บูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรม ในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือ กระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๒.

ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมใน การแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยการซื้อ การขาย ย่อมแสวงหา พราหมณีเฉพาะผู้ที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่ สตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล เนสาท ช่างจักสาน ช่างทำรถ เทหยากเหยื่อ สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู ดูกรโทณะ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์ย่อมสมสู่สตรีมีครรภ์ ไซร้ มาณพหรือมาณวิกาย่อมเป็นผู้ชื่อว่าเกิดแต่กองอุจจาระ เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูก อ่อน เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมีลูกอ่อนไซร้ มาณพหรือมาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าดื่มของไม่สะอาด เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูก อ่อน พราหมณีนั้นย่อมเป็นพราหมณีของพราหมณ์ มิใช่ต้องการความใคร่ ความ สนุก ความยินดี ต้องการบุตรอย่างเดียว เขามีบุตรหรือธิดาแล้ว ปรารถนา ความยินดีในบุตรหรือธิดานั้น ครอบครองทรัพย์สมบัติ ไม่ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาดำรงอยู่ในความประพฤติดีของพราหมณ์แต่ปางก่อน ไม่ล่วงละเมิด พราหมณ์ผู้ ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของพราหมณ์แต่ปางก่อน ไม่ล่วงละเมิด เพราะเหตุดังนี้ แล ชาวโลกจึงเรียกว่าพราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี ดูกรโทณะ พราหมณ์เป็นผู้ มีความประพฤติดีอย่างนี้แล ฯ ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีชั่วอย่างไร พราหมณ์ใน โลกนี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมารพรหมจรรย์เรียนมนต์ อยู่ ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์สำหรับบูชา อาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมใน การแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยกสิกรรม พณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้องเที่ยว

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๓.

ภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหา ภรรยาโดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง ย่อม แสวงหาพราหมณีผู้ที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่พราหมณีบ้าง สตรีชั้น กษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์บ้าง ชั้นศูทรบ้าง ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นจักสาน บ้าง ชั้นช่างทำรถบ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง มีลูกอ่อนบ้าง มีระดูบ้าง ไม่ มีระดูบ้าง พราหมณีนั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์ ต้องการความใคร่บ้าง ความ สนุกบ้าง ความยินดีบ้าง ต้องการบุตรบ้าง เขาไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของ พราหมณ์แต่ปางก่อน ล่วงละเมิดพราหมณ์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของ พราหมณ์แต่ปางก่อน ล่วงละเมิด เพราะเหตุดังนี้ พราหมณ์ชาวโลกจึงเรียกว่าผู้มี ความประพฤติดีและชั่ว ดูกรโทณะ พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีและชั่วอย่าง นี้แล ฯ ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาลอย่างไร พราหมณ์ในโลก นี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมารพรหมจรรย์เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์สำหรับ บูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยกสิกรรมบ้าง ด้วยพาณิชยกรรมบ้าง ด้วยโครักขกรรมบ้าง ด้วยการเป็นนักรบบ้าง ด้วยการรับ ราชการบ้าง ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง ย่อมแสวงหาพราหมณีที่ เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่พราหมณีบ้าง สตรีชั้นกษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์ บ้าง ชั้นศูทรบ้าง ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นช่างจักสานบ้าง ชั้นช่างทำรถ บ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง มีลูกอ่อนบ้าง มีระดูบ้าง ไม่มีระดูบ้าง พราหมณี นั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์ ต้องการความใคร่บ้าง ความสนุกบ้าง ความยินดี

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๔.

บ้าง ต้องการบุตรบ้าง เขาสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่าง พวกพราหมณ์ ได้กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านปฏิญาณว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเหตุไรจึงสำเร็จการ เลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่าง เขาได้ตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนไฟ ย่อมไหม้สิ่งที่สะอาดบ้าง สิ่งที่ไม่สะอาดบ้าง แต่ไฟย่อมไม่ติดด้วยสิ่งนั้น แม้ ฉันใด ถ้าแม้พราหมณ์สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่างไซร้ แต่พราหมณ์ย่อม ไม่ติดด้วยการงานนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน พราหมณ์สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงาน ทุกอย่าง เพราะเหตุดังนี้แล พราหมณ์ชาวโลกจึงเรียกว่า พราหมณ์จัณฑาล ดูกร โทณะ พราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาลอย่างนี้แล ฯ ดูกรโทณะ บรรดาฤาษีที่เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษี อัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตระ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภัคคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอก มนต์ พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ ที่ท่าน ขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่าน กล่าวไว้ บอกไว้ ฤาษีเหล่านั้นย่อมบัญญัติพราหมณ์ไว้ ๕ จำพวก คือ พราหมณ์ ผู้เสมอด้วยพรหม ๑ พราหมณ์ผู้เสมอด้วยเทวดา ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติ ดี ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดีและชั่ว ๑ พราหมณ์จัณฑาลเป็นที่ ๕ ดูกร โทณะ ท่านเป็นพราหมณ์จำพวกไหน ในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น ฯ โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์ย่อมไม่ยัง แม้พราหมณ์จัณฑาลให้เต็มได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศ ธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๕.

เป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอด ชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๕๒๑๕-๕๓๗๖ หน้าที่ ๒๒๘-๒๓๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=5215&Z=5376&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=192              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=192              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [192] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=22&item=192&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=1604              The Pali Tipitaka in Roman :- [192] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=22&item=192&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=1604              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i191-e.php#sutta2 https://suttacentral.net/an5.192/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :