ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๔. การณปาลีสูตร
[๑๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น การณปาลีพราหมณ์ใช้คนให้ทำการงานของเจ้าลิจฉวีอยู่ ได้เห็นปิงคิยานีพราหมณ์เดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ถามว่า อ้อ ท่านปิงคิยานี มาจากไหนแต่ยังวัน (แต่วันนัก) ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า ข้าพเจ้ามาจากสำนัก พระสมณโคดม ฯ กา. ท่านปิงคิยานีย่อมเข้าใจพระปรีชา (ความฉลาดด้วยปัญญา) ของ พระสมณโคดมว่า เห็นจะเป็นบัณฑิตนั้นอย่างไร ฯ ปิ. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไรจึงจักรู้พระปรีชาของ พระสมณโคดม ผู้ใดพึงรู้พระปรีชาของพระสมณโคดม แม้ผู้นั้นพึงเป็นเช่นกับ พระสมณโคดมนั้นแน่นอน ฯ กา. ได้ยินว่า ท่านปิงคิยานีสรรเสริญพระสมณโคดมยิ่งนัก ฯ ปิ. ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไรจึงจักสรรเสริญพระสมณโคดม และ ท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสรรเสริญแล้วๆ ว่า เป็นผู้ประเสริฐที่สุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ กา. ก็ท่านปิงคิยานีเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงเลื่อมใสยิ่งนักใน พระสมณโคดมอย่างนี้ ฯ ปิ. ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษผู้อิ่มในรสอันเลิศแล้ว ย่อมไม่ ปรารถนารสที่เลวเหล่าอื่น ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมไม่ปรารถนาวาทะของสมณะเป็นอันมากเหล่าอื่น โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถูกความหิว และความอ่อนเพลียครอบงำ พึงได้รวงผึ้ง เขา พึงลิ้มรสโดยลักษณะใดๆ ก็ย่อมได้รสดีอันไม่เจือ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมได้ความดีใจ ย่อมได้ความเลื่อมใส แห่งใจ โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุรุษพึงได้ไม้จันทน์แห่งจันทน์ เหลืองหรือจันทน์แดง พึงสูดกลิ่นจากที่ใดๆ เช่นจากราก จากลำต้น หรือ จากยอด ก็ย่อมได้กลิ่นหอมดี กลิ่นแท้ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดม พระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ก็ย่อมได้ความปราโมทย์ ย่อมได้โสมนัส โดยลักษณะนั้น ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นายแพทย์ผู้ฉลาดพึง บำบัดอาพาธของเขาโดยเร็ว ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจของเขา ย่อมหมดไปโดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น เปรียบเหมือนสระน้ำมีน้ำใสน่าเพลินใจ น้ำเย็น น้ำขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ บุรุษผู้ร้อนเพราะแดด ถูกแดดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย เดินมาถึง เขาลงไปในสระน้ำนั้น อาบ ดื่ม พึง ระงับ ความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวง ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความกระวนกระวาย ความ เหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวงของเขา ก็ย่อมระงับไป โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น ฯ เมื่อปิงคิยานีพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว การณปาลีพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างขวาลงบนแผ่นดิน ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มี พระภาคประทับอยู่ เปล่งอุทานสามครั้งว่า ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วกล่าวต่อไปว่า ท่านปิงคิยานี ภาษิต ของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานี ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานี ประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดมพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุ สงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านปิงคิยานีจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๕๕๐๒-๕๕๕๖ หน้าที่ ๒๔๐-๒๔๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=5502&Z=5556&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=194              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=194              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [194] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=22&item=194&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=1670              The Pali Tipitaka in Roman :- [194] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=22&item=194&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=1670              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i191-e.php#sutta4 https://suttacentral.net/an5.194/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :