ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
ยสสูตร
[๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกสัมพีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงพราหมณคามแห่งชนชาวโกศล ชื่ออิจฉา- *นังคละ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้พราหมณคามชื่ออิจฉานังคละ ฯ พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ ได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยะตระกูล เสด็จถึงบ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่ที่ ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้พราหมณคามชื่ออิจฉานังคละ ก็กิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้นขจรไปดังนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ ก็การได้เห็นพระอรหันต์ เห็นปานฉะนี้ เป็นการดีแล ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้าน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๑๔.

อิจฉานังคละ เมื่อล่วงราตรีนั้นไป พากันถือของเคี้ยวของกินเป็นจำนวนมาก เข้าไป ทางไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ครั้นแล้วได้ยืนชุมนุมกันส่งเสียงอื้ออึงอยู่ที่ซุ้ม ประตูด้านนอก ฯ สมัยนั้น ท่านพระนาคิตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค พระผู้มี- *พระภาคตรัสถามท่านพระนาคิตะว่า ดูกรนาคิตะ ก็พวกใครที่ส่งเสียงอื้ออึงอยู่นั้น คล้ายพวกชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละเหล่านี้ พากันถือของเคี้ยว ของกินเป็นจำนวนมาก มายืนชุมนุมกันอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก เพื่อถวายพระผู้มี- *พระภาคและพระภิกษุสงฆ์ ฯ พ. ดูกรนาคิตะ เธออย่าติดยศ และยศก็อย่าติดเรา ดูกรนาคิตะ ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอัน เกิดแต่การตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ผู้นั้น ชื่อว่าพึงยินดีสุขอันไม่สะอาด สุขในการหลับนอน และสุขที่อาศัยลาภสักการะ และการสรรเสริญ ฯ น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับ ขอพระสุคต จงทรงรับ บัดนี้เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคจะทรงรับพระผู้มีพระภาคจักเสด็จไปทาง ใดๆ พราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่ตกลงมา น้ำก็ย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงมีศีลและปัญญา ฯ พ. ดูกรนาคิตะ เธออย่าติดยศ และยศอย่าติดเรา ดูกรนาคิตะ ผู้ใด แลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่ง สุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอัน เกิดแต่การตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ผู้นั้น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๑๕.

ชื่อว่าพึงยินดีความสุขที่ไม่สะอาด สุขในการหลับนอน และสุขที่อาศัยลาภ สักการะและการสรรเสริญ ดูกรนาคิตะ แม้เทวดาบางพวกก็ไม่พึงได้ตามความ ปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่การตรัสรู้ ที่เราพึง ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ดูกรนาคิตะ แม้เธอทั้งหลายมา ประชุมพร้อมหน้ากัน ประกอบการอยู่ด้วยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ย่อมมีความ เห็นอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึง ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ ความสงบ สุขอันเกิดแต่การตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก แน่นอน ก็ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะท่านเหล่านี้มาประชุมพร้อม หน้ากัน ประกอบการอยู่ด้วยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะอยู่ ดูกรนาคิตะ เราเห็น ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ใช้นิ้วจี้เล่นกระซิกกระซี้กันและกันอยู่ เรานั้นมี ความคิดอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่ พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ ความสงบ สุขอันเกิดแต่การตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก แน่นอน ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะท่านเหล่านี้มัวใช้นิ้วจี้เล่น กระซิกกระซี้กันและกันอยู่ ฯ ดูกรนาคิตะ ก็เราเห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ฉันอาหารเต็มท้องพอ ความต้องการแล้ว มัวประกอบด้วยความสุขในการนอน สุขในการเอน สุขใน การหลับอยู่ เรานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอัน เกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่การตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตาม ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก แน่นอน ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะท่านเหล่านี้ฉันอาหารเต็มท้องพอความต้องการแล้ว มัวประกอบความสุขใน การนอน สุขในการเอน สุขในการหลับอยู่ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๑๖.

ดูกรนาคิตะ เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ นั่งสมาธิอยู่ที่วิหารใกล้บ้าน เรานั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ คนวัดหรือสมณุทเทสจักบำรุงท่านผู้นี้ ทำให้ เธอไปจากสมาธินั้นเสีย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พอใจด้วยการอยู่ใกล้บ้านของ ภิกษุนั้น ฯ ดูกรนาคิตะ ก็เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ นั่งโงกง่วงอยู่ในป่า เรานั้นมี ความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้นี้พอบรรเทาความลำบากในการนอนหลับนี้ได้แล้ว จักกระทำความสำคัญว่าอยู่ในป่าไว้ในใจได้ประมาณเท่านี้ เพราะเหตุนั้น เราจึง พอใจด้วยการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น ฯ ดูกรนาคิตะ ก็เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ นั่งไม่เป็นสมาธิอยู่ในป่า เรา นั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้นี้จักตั้งมั่นจิตที่ยังไม่ตั้งมั่น หรือจักตามรักษา จิตที่ตั้งมั่นแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น ฯ ดูกรนาคิตะ ก็เราเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถือการอยู่ป่านั่งสมาธิอยู่ เรา นั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ ท่านผู้นี้จักเปลื้องจิตที่ยังไม่หลุดพ้น หรือจักตาม รักษาจิตที่หลุดพ้นแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงพอใจด้วยการอยู่ในป่าของภิกษุนั้น ฯ ดูกรนาคิตะ สมัยใด เราเดินทางไกลไม่เห็นอะไรๆ ข้างหน้าหรือข้างหลัง สมัยนั้น เรามีความผาสุก โดยที่สุดการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ฯ
จบสูตรที่ ๖

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๗๒๕๑-๗๓๒๗ หน้าที่ ๓๑๓-๓๑๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=7251&Z=7327&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=23&siri=159              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=193              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [193] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=23&item=193&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6362              The Pali Tipitaka in Roman :- [193] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=23&item=193&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6362              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i187-e.php#sutta6 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an08/an08.086.than.html https://suttacentral.net/an8.86/en/sujato https://suttacentral.net/an8.86/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :