ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
กรณียเมตตสูตรในขุททกปาฐะ
[๑๐] กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาจะตรัสรู้บทอันสงบ แล้วอยู่ พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบ ระงับ มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุล ทั้งหลาย ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุ ให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงแผ่ไมตรีจิตในสัตว์ทั้งหลาย ว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตน ถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้ สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ผอมหรือพี และสัตว์เหล่าใดมีกาย ยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด ขอ สัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึง ข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึง ปรารถนาทุกข์แก่กันและกันเพราะความกริ้วโกรธ เพราะความ เคียดแค้น มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วย การยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น ก็กุลบุตรนั้น พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณไปในโลก ทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้นยืนอยู่ก็ดี เดิน อยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วง เหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าว วิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหาร ในธรรมวินัยของพระอริย เจ้านี้ กุลบุตรผู้เจริญเมตตา ไม่เข้าไปอาศัยทิฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัศนะ กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายออก ได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้แล ฯ
จบเมตตสูตร
จบขุททกปาฐะ
-----------------------------------------------------
คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
[๑๑] ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จ แล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไป อยู่ ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐ ที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้นเพราะสุจริต ๓ อย่าง เหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวร ไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คน โน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่ระงับ ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้น ด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลัก สิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับ ในกาล ไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อม ระงับเพราะความไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า ก็ชนเหล่า อื่นไม่รู้สึกว่า พวกเราย่อมยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ ส่วน ชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมรู้สึก ความหมายมั่นย่อม ระงับจากชนเหล่านั้น มารย่อมรังควาญบุคคลผู้มีปรกติเห็น อารมณ์ว่างาม ผู้ไม่สำรวมแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ ประมาณในโภชนะ เกียจคร้าน มีความเพียรเลว เหมือน ลมระรานต้นไม้ที่ทุรพล ฉะนั้น มารย่อมรังควาญไม่ได้ซึ่ง บุคคลผู้มีปรกติเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่ สำรวมดีแล้วใน อินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธา ปรารภ ความเพียร เหมือนลมระรานภูเขาหินไม่ได้ ฉะนั้น ผู้ใด ยังไม่หมดกิเลสดุจน้ำฝาดปราศจากทมะและสัจจะจักนุ่งห่มผ้า กาสายะผู้นั้นไม่ควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสายะ ส่วนผู้ใดมีกิเลส ดุจน้ำฝาดอันคายแล้ว ตั้งมั่นแล้วในศีลประกอบด้วยทมะ และสัจจะ ผู้นั้นแลย่อมควรเพื่อจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ชน เหล่าใดมีความรู้ในธรรมอันหาสาระมิได้ว่าเป็นสาระ และมี ปกติเห็นในธรรมอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่บรรลุธรรมอันเป็นสาระ ชน เหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และรู้ธรรม อันหาสาระมิได้ โดยความเป็นธรรมอันหาสาระมิได้ ชน เหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมบรรลุธรรมอันเป็น สาระ ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่บุคคลมุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อม รั่วรดจิตที่บุคคลไม่อบรมแล้ว ฉันนั้น ฝนย่อมไม่รั่วรดเรือน ที่บุคคลมุงดี ฉันใด ราคะย่อมไม่รั่วรดจิตที่บุคคลอบรมดีแล้ว ฉันนั้น บุคคลผู้ทำบาปย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ย่อมเศร้าโศกใน โลกหน้า ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้น ย่อมเศร้าโศก บุคคลผู้ทำบาปนั้นเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตน แล้ว ย่อมเดือดร้อน ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ย่อม บันเทิงในโลกหน้า ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง ผู้ทำบุญไว้ แล้วนั้นย่อมบันเทิง ผู้ทำบุญไว้แล้วนั้นเห็นความบริสุทธิ์ แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงอย่างยิ่ง บุคคลผู้ทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า ย่อม เดือดร้อนในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้นย่อมเดือดร้อนว่า บาปเราทำแล้ว บุคคลผู้ทำบาปนั้นไปสู่ทุคติแล้ว ย่อมเดือด ร้อนโดยยิ่ง ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ย่อม เพลิดเพลินในโลกหน้า ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง ผู้ ทำบุญไว้แล้วย่อมเพลิดเพลินว่า บุญอันเราทำไว้แล้ว ผู้ทำ บุญไว้แล้วนั้นไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินโดยยิ่ง หากว่า นรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรม อันการกบุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้ นรชนนั้น ย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ประดุจ นายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจ- โครส ฉะนั้น หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้น้อย ย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ละราคะ โทสะ และ โมหะแล้ว รู้ทั่วโดยชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว ไม่ถือมั่น ในโลกนี้หรือในโลกหน้า นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่ง คุณเครื่องความเป็นสมณะ ฯ
จบยมกวรรคที่ ๑
คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒
[๑๒] ความไม่ประมาท เป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย ชนผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย ชน เหล่าใดประมาทแล้วย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว บัณฑิต ทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทราบเหตุนั่นโดยความ แปลกกันแล้ว ย่อมบันเทิงในความไม่ประมาท ยินดีแล้ว ในธรรมอันเป็นโคจรของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเหล่านั้น เป็นนักปราชญ์ เพ่งพินิจ มีความเพียรเป็นไปติดต่อ มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ย่อมถูกต้องนิพพานอันเกษมจาก โยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มี ความหมั่น มีสติ มีการงานอันสะอาด ผู้ใคร่ครวญแล้วจึงทำ ผู้สำรวมระวัง ผู้เป็นอยู่โดยธรรม และผู้ไม่ประมาท ผู้มี ปัญญาพึงทำที่พึ่งที่ห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้ ด้วยความหมั่น ความไม่ประมาท ความสำรวมระวัง และความฝึกตน ชน ทั้งหลายผู้เป็นพาลมีปัญญาทราม ย่อมประกอบตามความ ประมาท ส่วนนักปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือน ทรัพย์อันประเสริฐสุด ท่านทั้งหลายอย่าประกอบตามความ ประมาทอย่าประกอบการชมเชยด้วยสามารถความยินดีในกาม เพราะว่าคนผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์ เมื่อใด บัณฑิตย่อมบรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาท เมื่อนั้นบัณฑิตผู้มีความประมาทอันบรรเทาแล้วนั้น ขึ้นสู่ ปัญญาดุจปราสาท ไม่มีความโศก ย่อมพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ ผู้มีความโศก นักปราชญ์ย่อมพิจารณาเห็นคนพาล เหมือน บุคคลอยู่บนภูเขามองเห็นคนผู้อยู่ที่ภาคพื้น ฉะนั้น ผู้มี ปัญญาดี เมื่อสัตว์ทั้งหลายประมาทแล้ว ย่อมไม่ประมาท เมื่อสัตว์ทั้งหลายหลับ ย่อมตื่นอยู่โดยมาก ย่อมละบุคคล เห็นปานนั้นไป ประดุจม้ามีกำลังเร็วละม้าไม่มีกำลังไป ฉะนั้น ท้าวมัฆวานถึง ความเป็นผู้ประเสริฐ ที่สุดกว่า เทวดาทั้งหลาย ด้วยความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความ ไม่ประมาท ความประมาทบัณฑิตติเตียนทุกเมื่อ ภิกษุยินดี แล้วในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท เผา สังโยชน์น้อยใหญ่ไป ดังไฟไหม้เชื้อน้อยใหญ่ไป ฉะนั้น ภิกษุผู้ยินดีแล้วในความไม่ประมาทหรือเห็นภัยใน ความประ มาทเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อมรอบ ย่อมมีในที่ใกล้นิพพาน ทีเดียว ฯ
จบอัปปมาทวรรคที่ ๒
คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓
[๑๓] นักปราชญ์ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอกรักษาได้โดยยาก ห้ามได้โดยยาก ให้ตรง ดังช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น จิตนี้อันพระโยคาวจรยกขึ้นแล้วจากอาลัย คือเบญจกาม คุณเพียงดังน้ำ ซัดไปในวิปัสสนากรรมฐานเพียงดังบก เพื่อ จะละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรน ดุจปลาอันชาวประมง ยกขึ้นแล้ว จากที่อยู่คือน้ำโยนไปแล้วบนบก ดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น การ ฝึกฝนจิตที่ข่มได้ยาก อันเร็ว มีปรกติตกไปในอารมณ์ อันบุคคลพึงใคร่อย่างไร เป็นความดี เพราะว่าจิตที่บุคคล ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ นักปราชญ์พึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยาก ละเอียดอ่อนมีปกติตกไปตามความใคร่ เพราะว่าจิตที่บุคคล คุ้มครองแล้วนำสุขมาให้ ชนเหล่าใดจักสำรวมจิตอันไปใน ที่ไกล ดวงเดียวเที่ยวไป หาสรีระมิได้ มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย ชนเหล่านั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์ แก่บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ไม่รู้แจ่มแจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย ภัยย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ ผู้มี จิตอันราคะไม่รั่วรด ผู้มีใจอันโทสะไม่ตามกระทบแล้ว ผู้มีบุญและบาปอันละได้แล้ว ผู้ตื่นอยู่ กุลบุตรทราบกายนี้ว่า เปรียบด้วยหม้อแล้ว พึงกั้นจิตนี้ให้เปรียบเหมือนนคร พึงรบมารด้วยอาวุธคือ ปัญญา อนึ่ง พึงรักษาตรุณวิปัสสนา ที่ตนชนะแล้ว และไม่พึงห่วงใย กายนี้อันบุคคลทิ้งแล้ว มีวิญญาณปราศแล้วไม่นานหนอจักนอนทับแผ่นดิน ประดุจ ท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ โจรหัวโจกเห็นโจรหัวโจก ก็หรือคน มีเวรเห็นคนผู้คู่เวรกันพึงทำความฉิบหาย และความทุกข์ใดให้ จิตที่บุคคลตั้งไว้ผิดพึงทำบุคคลนั้นให้เลวยิ่งกว่าความฉิบหาย และความทุกข์นั้นมารดาบิดาไม่พึงทำเหตุนั้นได้ หรือแม้ญาติ เหล่าอื่นก็ไม่พึงทำเหตุนั้นได้ จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น ฯ
จบจิตตวรรคที่ ๓
คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔
[๑๔] ใครจักรู้แจ้งแผ่นดินนี้ ใครจักรู้แจ้งยมโลกและมนุษยโลกนี้ พร้อมกับเทวโลก ใครจักเลือกสรรบทธรรมที่เราแสดงดีแล้ว ดุจนายมาลาการผู้ฉลาด เลือกสรรดอกไม้ ฉะนั้น พระเสขะ จักรู้แจ้งแผ่นดิน พระเสขะจักรู้แจ้งยมโลกและมนุษยโลกนี้ พร้อมกับเทวโลก พระเสขะจักเลือกสรรบทธรรมที่เรา แสดงดีแล้วดุจนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกสรรดอกไม้ ฉะนั้น ภิกษุทราบกายนี้ว่า เปรียบด้วยฟองน้ำ ตรัสรู้พร้อมเฉพาะ กายนี้ว่ามีพยับแดดเป็นธรรม ตัดดอกไม้อันเป็นประธาน ของมารแล้ว พึงไปสู่ที่ที่มัจจุราชไม่เห็น มัจจุย่อมจับนระ ผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ ทั้งหลายนั่นเทียวไป เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดบ้านอันหลับแล้ว ไป ฉะนั้น มัจจุผู้ทำซึ่งที่สุด ย่อมทำนระผู้มีใจอันซ่าน ไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลาย ไม่อิ่ม แล้วในกามคุณนั่นแล ไว้ในอำนาจ ภมรไม่ยังดอกไม้ อันมีสีให้ชอกช้ำ ลิ้มเอาแต่รสแล้วย่อมบินไป แม้ฉันใด มุนีพึงเที่ยวไปในบ้าน ฉันนั้น บุคคลไม่พึงใส่ใจคำแสลงหู ของชนเหล่าอื่น ไม่พึงแลดูกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ ของชนเหล่าอื่น พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของ ตนเท่านั้น ดอกไม้งามมีสีแต่ไม่มีกลิ่นแม้ฉันใด วาจาสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำ ฉันนั้น ดอกไม้งามมีสีมีกลิ่น แม้ฉันใด วาจาสุภาษิตย่อมมีผลแก่บุคคลผู้ทำดี ฉันนั้น นายมาลาการพึงทำกลุ่มดอกไม้ให้มาก แต่กองแห่งดอกไม้ แม้ฉันใด สัตว์ [ผู้มีอันจะพึงตายเป็นสภาพ] ผู้เกิดแล้ว พึงทำกุศลให้มาก ฉันนั้น กลิ่นดอกไม้ย่อมฟุ้งทวนลมไป ไม่ได้ กลิ่นจันทน์หรือกฤษณา และกระลำพัก ย่อมฟุ้งทวน ลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษย่อมฟุ้งทวนลมไปได้ เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปทั่วทิศ กลิ่นคือศีลเป็นเยี่ยมกว่าคันธชาติ เหล่านี้ คือจันทน์ กฤษณา ดอกบัว และมะลิ กลิ่นกฤษณา และจันทน์นี้ เป็นกลิ่นมีประมาณน้อย ส่วนกลิ่นของผู้ มีศีลทั้งหลายเป็นกลิ่นสูงสุด ย่อมฟุ้งไปในเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย มารย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีลถึงพร้อมแล้ว มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท ผู้พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ โดยชอบ ดอกปทุมมีกลิ่นหอม พึงเกิดในกองแห่งหยากเยื่อ อันเขาทิ้งแล้วในใกล้ทางใหญ่นั้น ย่อมเป็นที่รื่นรมย์ใจ ฉันใด พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อปุถุชน ทั้งหลายผู้เป็นเพียงดั่งกองหยากเยื่อ ย่อมไพโรจน์ล่วงปุถุชน ทั้งหลายผู้เป็นดังคนบอดด้วยปัญญา ฉันนั้น ฯ
จบปุปผวรรคที่ ๔
คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕
[๑๕] ราตรียาวแก่คนผู้ตื่นอยู่ โยชน์ยาวแก่คนผู้เมื่อยล้า สงสาร ยาวแก่คนพาลผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม ถ้าว่าบุคคลเมื่อเที่ยวไป ไม่พึงประสบสหายประเสริฐกว่าตน หรือสหายผู้เช่นด้วย ตนไซร้ บุคคลนั้นพึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่น เพราะว่า คุณเครื่องความเป็นสหาย ย่อมไม่มีในคนพาล คนพาล ย่อมเดือดร้อนว่า บุตรของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ดังนี้ ตนนั่นแลย่อมไม่มีแก่ตน บุตรทั้งหลายแต่ที่ไหน ทรัพย์แต่ ที่ไหน ผู้ใดเป็นพาลย่อมสำคัญความที่ตนเป็นพาลได้ ด้วย เหตุนั้น ผู้นั้นยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาลมีความ สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแลเรากล่าวว่าเป็นพาล ถ้าคน พาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้จักรสแกง ฉะนั้น ถ้าว่าวิญญูชนเข้าไปนั่ง ใกล้บัณฑิตแม้ครู่หนึ่ง ท่านย่อมรู้ธรรมได้ฉับพลัน เหมือน ลิ้นรู้รสแกงฉะนั้น คนพาลมีปัญญาทราม มีตนเหมือนข้าศึก เที่ยวทำบาปกรรมอันมีผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อม เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้า ชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อมเสพผลของกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อน ในภายหลัง กรรมนั้นแลทำแล้วเป็นดี บุคคลอันปีติโสมนัส เข้าถึงแล้ว [ด้วยกำลังแห่งปีติ] [ด้วยกำลังแห่งโสมนัส] ย่อมเสพผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นดี คนพาล ย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำหวาน ตลอดกาลที่บาปยังไม่ให้ผล แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น คนพาล ถึงบริโภคโภชนะด้วยปลายหญ้าคาทุกเดือนๆ เขาย่อมไม่ถึง เสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้ว ๑๖ หน ของพระอริย บุคคลทั้งหลายผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว ก็บาปกรรมบุคคล ทำแล้วยังไม่แปรไป เหมือนน้ำนมในวันนี้ยังไม่แปรไป ฉะนั้น บาปกรรมนั้นย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้า ปกปิดแล้ว ฉะนั้น ความรู้นั้นย่อมเกิดแก่คนพาลเพื่อสิ่งมิใช่ ประโยชน์อย่างเดียว ความรู้ ยังปัญญาชื่อว่ามุทธาของเขา ให้ฉิบหายตกไป ย่อมฆ่าส่วนแห่งธรรมขาวของคนพาลเสีย ภิกษุผู้เป็นพาล พึงปรารถนาความสรรเสริญอันไม่มีอยู่ ความ ห้อมล้อมในภิกษุทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในอาวาส และ การบูชาในสกุลของชนเหล่าอื่น ความดำริย่อมบังเกิดขึ้นแก่ ภิกษุพาลว่า คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสองฝ่าย จงสำคัญ กรรมที่บุคคลทำแล้วว่า เพราะอาศัยเราผู้เดียว คฤหัสถ์และ บรรพชิตเหล่านั้นจงเป็นไปในอำนาจของเราผู้เดียว ในบรรดา กิจน้อยและกิจใหญ่ทั้งหลาย กิจอะไรๆ อิจฉา [ความริษยา] มานะ [ความถือตัว] ย่อมเจริญแก่ภิกษุพาลนั้น ภิกษุ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้ารู้ยิ่งแล้ว ซึ่งปฏิปทา ๒ อย่าง นี้ว่า ปฏิปทาอันเข้าอาศัยลาภเป็นอย่างหนึ่ง ปฏิปทาเครื่อง ให้ถึงนิพพานเป็นอย่างหนึ่ง ดังนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลิน สักการะ พึงพอกพูนวิเวกเนืองๆ ฯ
จบพาลวรรคที่ ๕
คาถาธรรมบท ปัณฑิตวรรคที่ ๖
[๑๖] บุคคลพึงเห็นบุคคลใดผู้มักชี้โทษ เหมือนบุคคลผู้บอก ขุมทรัพย์ มักกล่าวข่มขี่ มีปัญญา พึงคบบุคคลผู้เป็นบัณฑิต เช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น มีแต่คุณที่ประเสริฐ โทษที่ลามกย่อมไม่มี บุคคลพึงกล่าวสอน พึงพร่ำสอน และพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ ก็บุคคลนั้น ย่อมเป็น ที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย แต่ไม่เป็นที่รักของพวกอสัตบุรุษ บุคคลไม่ควรคบมิตรเลวทราม ไม่ควรคบบุรุษอาธรรม์ ควร คบมิตรดี ควรคบบุรุษสูงสุด บุคคลผู้อิ่มเอิบในธรรม มีใจผ่องใสแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรม ที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ ก็พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำ ไป พวกช่างศรย่อมดัดลูกศร พวกช่างถากย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกฝนตน ภูเขาหินล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่น ไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น ห้วงน้ำลึก ใสไม่ขุ่นมัว แม้ฉันใด บัณฑิตทั้งหลายฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใส ฉันนั้น สัตบุรุษทั้งหลายย่อมเว้นในธรรม ทั้งปวงโดยแท้ สัตบุรุษทั้งหลายหาใคร่กามบ่นไม่ บัณฑิต ทั้งหลายผู้อันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่แสดงอาการ สูงๆ ต่ำๆ บัณฑิตย่อมไม่ทำบาปเพราะเหตุแห่งตน ไม่ทำ บาปเพราะเหตุแห่งผู้อื่น ไม่พึงปรารถนาบุตร ไม่พึงปรารถนา ทรัพย์ ไม่พึงปรารถนาแว่นแคว้น ไม่พึงปรารถนาความ สำเร็จแก่ตนโดยไม่ชอบธรรม บัณฑิตนั้นพึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา ประกอบด้วยธรรม ในหมู่มนุษย์ ชนผู้ที่ถึงฝั่งมี น้อย ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ย่อมเลาะไปตามฝั่งทั้งนั้น ก็ชน เหล่าใดแล ประพฤติตามธรรมในธรรมอันพระสุคตเจ้าตรัส แล้วโดยชอบ ชนเหล่านั้นข้ามบ่วงมารที่ข้ามได้โดยยาก แล้ว จักถึงฝั่ง บัณฑิตออกจากอาลัยแล้ว อาศัยความไม่มีอาลัย ละธรรมดำแล้วพึงเจริญธรรมขาว บัณฑิตพึงปรารถนาความ ยินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้โดยยาก ละกามทั้งหลายแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล พึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่อง เศร้าหมองจิต ชนเหล่าใดอบรมจิตด้วยดีโดยชอบ ในองค์แห่ง ธรรมสามัคคีเป็นเครื่องตรัสรู้ ชนเหล่าใดไม่ถือมั่น ยินดี แล้วในการสละคืนความถือมั่น ชนเหล่านั้นมีอาสวะสิ้นแล้ว มีความรุ่งเรืองปรินิพพานแล้วในโลก ฯ
จบปัณฑิตวรรคที่ ๖
คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗
[๑๗] ความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่ผู้ที่มีทางไกลอันถึงแล้ว ผู้มีความ โศกปราศไปแล้ว ผู้พ้นวิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง ผู้มีกิเลส เครื่องร้อยรัดทั้งปวงอันละได้แล้ว ท่านผู้มีสติย่อมขวนขวาย ท่านย่อมไม่ยินดีในที่อยู่ ท่านละความห่วงใยเสีย เหมือน หงส์สละเปือกตมไป ฉะนั้น ชนเหล่าใดไม่มีการสั่งสม มีโภชนะอันกำหนดแล้ว มีสุญญตวิโมกข์และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นโคจร คติของชนเหล่านั้น รู้ได้โดยยาก เหมือนคติ ฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น ภิกษุใดมีอาสวะสิ้นแล้ว อันตัณหา และทิฐิไม่อาศัยแล้วในอาหาร มีสุญญตวิโมกข์และอนิมิตต วิโมกข์เป็นโคจร รอยเท้าของภิกษุนั้นไปตามได้โดยยาก เหมือนรอยเท้าของฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น อินทรีย์ของภิกษุ ใดถึงความสงบระงับ เหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้ว แม้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุนั้น ผู้มีมานะ อันละได้แล้ว หาอาสวะมิได้ ผู้คงที่ ภิกษุผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว มีใจเสมอด้วยแผ่นดิน ผู้คงที่ เปรียบดังเสาเขื่อน มีวัตรดี ปราศจากกิเลสเพียงดังเปือกตม ผ่องใส เหมือนห้วงน้ำที่ ปราศจากเปือกตมมีน้ำใส ย่อมไม่พิโรธ สงสารทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้คงที่ มีอาสวะสิ้นแล้ว เช่นนั้น ใจ วาจา และกายกรรมของภิกษุผู้ขีณาสพนั้น ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะ รู้โดยชอบ สงบระงับ คงที่ เป็นธรรมชาติสงบแล้ว นรชนใด ไม่เชื่อต่อผู้อื่น รู้นิพพานอันปัจจัยอะไรๆ ทำไม่ได้ ผู้ตัดที่ต่อ มีโอกาสอันขจัดแล้ว มีความหวังอันคลายแล้ว นรชนนั้น แลเป็นบุรุษผู้สูงสุด พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมอยู่ในที่ใดคือ บ้านหรือป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอน ที่นั้นเป็นภาคพื้นอันบุคคล พึงรื่นรมย์ ชนไม่ยินดีในป่าเหล่าใด ป่าเหล่านั้น ควร รื่นรมย์ ผู้มีราคะไปปราศแล้วทั้งหลาย จักยินดีในป่าเห็น ปานนั้น เพราะว่าท่านไม่ใช่ผู้แสวงหากาม ฯ
จบอรหันตวรรคที่ ๖
คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘
[๑๘] หากว่าวาจาแม้ตั้งพันประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้ บทอันเป็นประโยชน์บทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบ ประ- เสริฐกว่า คาถาแม้ตั้งพันประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ ไซร้ คาถาบทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบประเสริฐกว่า ก็บุคคลใดพึงกล่าวคาถา ประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ ตั้งร้อย บทธรรมบทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบ ประ เสริฐกว่า บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพัน ใน สงคราม บุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงคราม ส่วนบุคคลใดพึงชนะตนผู้เดียว บุคคลนั้นแล ชื่อว่าเป็น ผู้ชนะอย่างสูงสุดในสงคราม ตนแลอันบุคคลชนะแล้ว ประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ๆ อันบุคคลชนะแล้วจัก ประเสริฐอะไร เพราะว่า เทวดา คนธรรพ์ มารกับ ทั้งพรหม พึงทำความชนะของบุรุษผู้มีตนอันฝึกแล้ว มีปกติ ประพฤติสำรวมเป็นนิตย์ ผู้เป็นสัตว์เกิดเห็นปานนั้น ให้กลับแพ้ไม่ได้ ก็การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรม แล้วคนหนึ่ง แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการบูชาของผู้ที่ บูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่งตลอดร้อยปีเสมอทุกเดือนๆ การบูชา ตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร ก็การบูชา ของผู้ที่บูชาท่าน ผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่งแล แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐ กว่าผู้บำเรอไฟในป่าตั้งร้อยปี การบำเรอไฟตั้งร้อยปีนั้น จะประเสริฐอะไร บุคคลผู้มุ่งบุญพึงบูชายัญที่บุคคลเซ่นสรวง แล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่งในโลก ตลอดปีหนึ่ง ยัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคล บูชาแล้ว [ทาน] นั้น แม้ทั้งหมด ย่อมไม่ถึงส่วนที่ ๔ แห่งการอภิวาทในท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลาย การอภิวาทใน ท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลาย ประเสริฐกว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการ อภิวาทเป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์ ก็บุคคล ผู้มีศีลเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ทุศีล มีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้มีปัญญา เพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไร้ปัญญา มีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้ปรารภความเพียร มั่น มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้าน มีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณา เห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไป มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐ กว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นอมตบท มีชีวิต อยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นอมตบท มีชีวิตอยู่ร้อยปี ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุด มีชีวิต อยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นธรรมอันสูง สุดมีชีวิตอยู่ร้อยปี
จบสหัสสวรรคที่ ๘
คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙
[๑๙] บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป เพราะเมื่อทำบุญ ช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึง ทำบาปนั้นบ่อยๆ ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการ สั่งสมบาปนำทุกข์มาให้ หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญ นั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญ นำสุขมาให้ แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาป ยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาป เมื่อนั้น แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญ ยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดกรรมดีย่อมให้ผล เขาจึงเห็นความเจริญ
เมื่อนั้น บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย [พอประมาณ] จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาด น้ำที่ตกทีละหยาดๆ [ฉันใด] คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละ น้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น] บุคคลอย่าพึงดูหมิ่น บุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็ม ได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้า มีพวกน้อย มีทรัพย์มาก เว้นทางที่ควรกลัว ดุจบุรุษผู้ใคร่ ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้ เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบ ฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ ผู้ใดย่อม ประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่ มีกิเลสเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละ ผู้เป็นพาล ดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวนลมไป ฉะนั้น คนบางพวก ย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามก ย่อมเข้าถึงนรก ผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่ง แผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้ ไม่มีเลย อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่งแผ่นดิน ที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว มัจจุพึงครอบงำ ไม่ได้ ไม่มีเลย ฯ
จบปาปวรรคที่ ๙
คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐
[๒๐] ภิกษุทำตนให้เป็นอุปมาว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย แล้วไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึง ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ภิกษุทำตนให้เป็นอุปมาว่า สัตว์ทั้งปวงย่อม สะดุ้งต่ออาชญา ชีวิตเป็นที่รักของสัตว์ทั้งปวง แล้วไม่พึง ฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้น ย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อ ตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข ด้วย อาชญา ผู้นั้นย่อมได้ความสุขในโลกหน้า ท่านอย่าได้ กล่าวคำหยาบกะใครๆ ผู้ที่ท่านกล่าวแล้วพึงกล่าวตอบท่าน เพราะว่าถ้อยคำแข็งดีให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องท่าน ถ้าท่านไม่ยังตนให้หวั่นไหวดุจกังสดาลถูกขจัดแล้ว ท่านนี้ จะเป็นผู้ถึงนิพพาน ความแข็งดีย่อมไม่มีแก่ท่าน นายโคบาล ย่อมต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากิน ด้วยท่อนไม้ฉันใด ความแก่ และความตายย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น คน พาลผู้ไร้ปัญญาทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้สึก ภายหลัง ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง เหมือนบุคคลถูกไฟ ไหม้ ฉะนั้น ผู้ใดย่อมประทุษร้ายในพระขีณาสพผู้ไม่มี อาชญา ผู้ไม่ประทุษร้าย ด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเหตุ แห่งทุกข์ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งพลันทีเดียว คือ เวทนาหยาบช้า ความเสื่อมทรัพย์ ความแตกแห่งสรีระ อาพาธหนัก ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความขัดข้องแต่พระราชา การกล่าวตู่อันร้ายแรง ความสิ้นญาติ ความย่อยยับแห่งโภคะ ทั้งหลาย หรือไฟย่อมไหม้เรือนของเขา เมื่อตายไป เขาผู้ ไร้ปัญญาย่อมเข้าถึงนรก ความประพฤติเปลือย การทรงชฎา การนอนที่เปือกตม การไม่กินข้าว หรือการนอนเหนือแผ่น ดิน ความคลุกคลีด้วยธุลี ความเพียรอันปรารภด้วยความเป็น คนกระโหย่ง ยังสัตว์มีความสงสัยอันข้ามไม่ได้แล้วให้หมด จดไม่ได้ ถ้าแม้บุคคลผู้ประดับแล้ว เป็นผู้สงบ ฝึกแล้ว เที่ยงแล้ว เป็นผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ วางอาชญาใน สัตว์ทุกจำพวก แล้วพึงประพฤติสม่ำเสมอไซร้ บุคคลนั้น ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นสมณะ บุคคลนั้น ชื่อว่าเป็นภิกษุ บุรุษผู้เกียดกันอกุศลวิตกด้วยหิริ มีอยู่ใน โลกน้อยคน บุรุษผู้บรรเทาความหลับตื่นอยู่ ดุจม้าที่เจริญ หลบแส้ หาได้ยาก ม้าที่เจริญถูกนายสารถีเฆี่ยนด้วยแส้ ย่อมทำความเพียร ฉันใด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีความเพียร มีความสังเวช ฉันนั้นเถิด เธอทั้งหลายเป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล วิริยะ สมาธิ และการวินิจฉัยธรรม เป็นผู้มี วิชชาและจรณะอันสมบูรณ์ เป็นผู้มีสติ จักละทุกข์มีประมาณ ไม่น้อยนี้เสียได้ ก็พวกใช้น้ำย่อมไขน้ำไป พวกช่างศรย่อม ดัดลูกศร พวกช่างถากย่อมถากไม้ ผู้มีวัตรอันงามย่อม ฝึกตน ฯ
จบทัณฑวรรคที่ ๑๐
คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑
[๒๑] ร่าเริงอะไรกันหนอ ยินดีอะไรกัน ในเมื่อโลกสันนิวาสถูก ไฟไหม้โพล่งแล้วเป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกความมืดหุ้มห่อ แล้ว เพราะเหตุไรจึงไม่แสวงหาประทีป ท่านจงดูอัตภาพอัน บุญกรรมทำให้วิจิตรแล้ว มีกายเป็นแผล อันกระดูกสามร้อย ท่อนปรุงขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย อันมหาชนดำริกันโดย มาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง รูปนี้คร่ำคร่าแล้ว เป็นรังแห่ง โรค ผุพัง กายของตนอันเปื่อยเน่าจะแตกเพราะชีวิตมีความ ตายเป็นที่สุด กระดูกเหล่าใดเขาไม่ปรารถนาแล้ว เหมือน น้ำเต้าในสารทกาล มีสีเหมือนนกพิราบ จะยินดีอะไร เพราะได้เห็นกระดูกเหล่านั้น สรีระอันกรรมสร้างสรรให้ เป็นเมืองแห่งกระดูก มีเนื้อและเลือดเป็นเครื่องไล้ทา เป็น ที่ตั้งแห่งความแก่ ความตาย ความถือตัว และความลบ หลู่ ราชรถทั้งหลายอันวิจิตรย่อมคร่ำคร่าได้โดยแท้ อนึ่งแม้ สรีระก็เข้าถึงความคร่ำคร่า ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่ เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษแลย่อมสนทนาด้วยสัตบุรุษ บุรุษมีสุตะน้อยนี้ ย่อมแก่เหมือนโคถึก เนื้อของเขาย่อม เจริญ [แต่] ปัญญาของเขาหาเจริญไม่ เราแสวงหานาย ช่างเรือนอยู่ เมื่อยังไม่ประสบ แล่นไปแล้วสู่สงสารมีชาติ ไม่น้อย ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป แน่ะนายช่างเรือน บัดนี้ เราพบท่านแล้ว ท่านจักไม่ต้องสร้างเรือนอีก ซี่โครงของ ท่านทั้งหมดเราหักแล้ว ยอดเรือนเราขจัดเสียแล้ว จิตของ เราถึงแล้วซึ่งนิพพานอันปราศจากสังขาร เราบรรลุความสิ้น แห่งตัณหาแล้ว คนพาลทั้งหลายไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ ได้ทรัพย์ในคราวเป็นหนุ่ม ย่อมซบเซา เหมือนนกกระเรียน แก่ ซบเซาอยู่บนเปือกตม ซึ่งสิ้นปลาแล้ว ฉะนั้น คน พาลทั้งหลายไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราว เป็นหนุ่มย่อมนอนทอดถอนถึงทรัพย์เก่า เหมือนลูกศรสิ้น ไปแล้วจากแล่ง ฉะนั้น ฯ
จบชราวรรคที่ ๑๑
คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒
[๒๒] หากว่าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ พึงรักษาตนนั้นไว้ ให้เป็น อัตภาพอันตนรักษาดีแล้ว บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ ตลอดยามทั้งสาม ยามใดยามหนึ่ง บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภาย หลัง บัณฑิตไม่พึงเศร้าหมอง หากว่าภิกษุพึงทำตนเหมือน อย่างที่ตนพร่ำสอนคนอื่นไซร้ ภิกษุนั้นมีตนอันฝึกดีแล้ว หนอ พึงฝึก ได้ยินว่าตนแลฝึกได้ยาก ตนแลเป็นที่พึ่งของ ตน บุคคลอื่นไรเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้ เพราะว่าบุคคลมีตนฝึกฝน ดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก ความชั่วที่ตนทำไว้เอง เกิดแต่ตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมย่ำยีคนมีปัญญาทราม ดุจเพชรย่ำยีแก้วมณีที่เกิดแต่หิน ฉะนั้น ความเป็นผู้ทุศีล ล่วงส่วน ย่อมรวบรัดอัตภาพของบุคคลใด ทำให้เป็นอัตภาพ อันตนรัดลงแล้ว เหมือนเถาย่านทรายรวบรัดไม้สาละให้เป็น อันท่วมทับแล้ว บุคคลนั้นย่อมทำตนเหมือนโจรผู้เป็นโจก ปรารถนาโจรผู้เป็นโจก ฉะนั้น กรรมไม่ดีและไม่เป็น ประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย ส่วนกรรมใดแล เป็นประโยชน์ ด้วย ดีด้วย กรรมนั้นแลทำได้ยากอย่างยิ่ง ผู้ใดมีปัญญา ทราม อาศัยทิฐิอันลามก ย่อมคัดค้านคำสั่งสอนของพระ- พุทธเจ้า ผู้อรหันต์ เป็นพระอริยเจ้า มีปกติเป็นอยู่โดย ธรรม การคัดค้านและทิฐิอันลามกของผู้นั้น ย่อมเผล็ดเพื่อ ฆ่าตน เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อม เศร้าหมองด้วยตนเอง ไม่ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมหมดจดด้วย ตนเอง ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว คนอื่นพึงชำระคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่ บุคคลไม่พึงยัง ประโยชน์ของตนให้เสื่อม เพราะประโยชน์ของผู้อื่นแม้มาก บุคคลรู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวายในประโยชน์ ของตน ฯ
จบอัตตวรรคที่ ๑๒
คาถาธรรมบท โลกวรรคที่ ๑๓
[๒๓] บุคคลไม่พึงเสพธรรมอันเลว ไม่พึงอยู่ร่วมกับความประมาท ไม่พึงเสพมิจฉาทิฐิ ไม่พึงเป็นคนรกโลก ภิกษุไม่พึงประมาท ในบิณฑะที่พึงลุกขึ้นยืนรับ พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ผู้ ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า พึง ประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติให้ทุจริต ผู้ประพฤติ ธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า มัจจุราช ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก ดุจบุคคลเห็นฟองน้ำ เห็นพยับแดด ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันวิจิตร เปรียบด้วยราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ [แต่] พวกผู้รู้ หาข้องอยู่ไม่ ก็ผู้ใดประมาทแล้วในกาลก่อน ในภายหลังผู้ นั้นย่อมไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือน พระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ผู้ใดทำกรรมอันลามก ผู้นั้นย่อมปิด [ละ] เสียได้ด้วยกุศล บุคคลนั้นย่อมยังโลกนี้ ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น โลกนี้ มืดมน ในโลกนี้น้อยคนที่จะเห็นแจ้ง สัตว์ไปสวรรค์ได้น้อย ดุจนกพ้นจากข่าย ฝูงหงส์ย่อมไปในทางพระอาทิตย์ ท่าน ผู้เจริญอิทธิบาทดีแล้ว ย่อมไปในอากาศด้วยฤทธิ์ นักปราชญ์ ทั้งหลายชนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมออกไปจาก โลก คนล่วงธรรมอย่างเอกเสียแล้ว เป็นคนมักพูดเท็จ ข้าม โลกหน้าเสียแล้ว ไม่พึงทำบาป ย่อมไม่มี คนตระหนี่ย่อม ไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย คนพาลย่อมไม่สรรเสริญทานโดยแท้ ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาทาน เพราะการอนุโมทนาทาน นั่นเอง ท่านย่อมเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า โสดาปัตติ ผลประเสริฐกว่าความเป็นพระราชาเอกในแผ่นดิน กว่าความ ไปสู่สวรรค์ และกว่าความเป็นอธิบดีในโลกทั้งปวง ฯ
จบโลกวรรคที่ ๑๓
คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔
[๒๔] กิเลสชาติอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงชนะแล้ว อันพระองค์ย่อมไม่กลับแพ้กิเลสชาติอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นทรงชนะแล้ว กิเลสบางอย่างย่อมไม่ไปตามใน โลก ท่านทั้งหลายจักนำพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้ ตรัสรู้แล้ว มีอารมณ์หาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย ไปด้วย ร่องรอยอะไร ตัณหามีข่ายส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่มี แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด เพื่อจะนำไปในภพ ไหนๆ ท่านทั้งหลายจักนำพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ตรัสรู้แล้ว มีอารมณ์หาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย ไปด้วย ร่องรอยอะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด ผู้ขวนขวาย แล้วในฌาน เป็นนักปราชญ์ ยินดีแล้วในธรรมเป็นที่เข้าไป ระงับ คือ เนกขัมมะ แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อม รักใคร่พระสัมพุทธเจ้าผู้มีสติเหล่านั้น การได้เฉพาะความ เป็นมนุษย์ยาก ความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายยาก การฟัง พระสัทธรรมยาก การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายยาก ความไม่ทำบาปทั้งปวง ความบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม ความ ชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมกล่าวนิพพานว่าเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ฆ่า สัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อ ว่าเป็นสมณะเลย การไม่เข้าไปว่าร้ายกัน ๑ การไม่เข้าไป ฆ่า ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จัก ประมาณในภัต ๑ การนอนการนั่งอันสงัด ๑ การประกอบ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ความอิ่มในกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีเพราะฝน คือ กหาปณะ กามทั้งหลายมีความเพลิดเพลิน [ยินดี] น้อย เป็นทุกข์ บัณฑิตรู้ดังนี้แล้ว ท่านย่อมไม่ถึงความยินดี ในกามทั้งหลายแม้อันเป็นทิพย์ สาวกของพระสัมมา- สัมพุทธเจ้า เป็นผู้ยินดีแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า อารามและรุกขเจดีย์ว่า เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั้นแลไม่เกษม ที่พึ่ง นั้นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ ทั้งปวงได้ ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อัน ให้ถึงความสงบระงับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งนั้นแล เป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ บุรุษอาชาไนยหาได้ยาก ท่าน ย่อมไม่เกิดในที่ทั่วไป ท่านเป็นนักปราชญ์ย่อมเกิดในสกุล ใด สกุลนั้นย่อมถึงความสุข ความเกิดขึ้นแห่งพระ พุทธเจ้าทั้งหลาย นำสุขมาให้ พระสัทธรรมเทศนานำสุขมา ให้ ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่นำสุขมาให้ ความเพียรของ ผู้พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุข ใครๆ ไม่อาจนับบุญของบุคคล ผู้บูชาซึ่งปูชารหบุคคล คือ พระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระ พุทธเจ้า ผู้ก้าวล่วงธรรมเครื่องเนิ่นช้า ผู้ข้ามความโศกและ ความร่ำไรได้แล้ว ว่าบุญนี้มีประมาณเท่านี้ ใครๆ ไม่อาจ นับบุญของบุคคลผู้บูชาปูชารหบุคคลเหล่านั้น ผู้คงที่ ผู้นิพพาน แล้ว ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ว่าบุญนี้ประมาณเท่านี้ ฯ
จบพุทธวรรคที่ ๑๔
จบปฐมภาณวาร
คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕
[๒๕] เมื่อพวกมนุษย์มีเวรกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ เมื่อพวก มนุษย์มีเวรกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่ เป็นอยู่สบายดีหนอ เมื่อพวกมนุษย์มีความเร่าร้อนกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีความ เร่าร้อนอยู่ เป็นอยู่สบายดีหนอ เมื่อพวกมนุษย์มีความ ขวนขวายอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีความขวนขวายอยู่ เมื่อพวก มนุษย์มีความขวนขวายกันอยู่ เราเป็นผู้ไม่มีความขวนขวายอยู่ เป็นอยู่สบายดีหนอ เราไม่มีกิเลสชาติเครื่องกังวล เป็น อยู่สบายดีหนอ เรามีปีติเป็นภักษาเหมือนเหล่าเทวดา ชั้นอาภัสสระ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์ พระขีณาสพผู้สงบระงับ ละความชนะความแพ้ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอ ด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้ แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ลาภทั้งหลาย มีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุข อย่างยิ่ง บุคคลผู้ปีติในธรรม เมื่อดื่มรส ดื่มรสอันเกิดแต่ วิเวกและรสแห่งความสงบแล้ว ย่อมไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป การเห็นพระอริยะเจ้าทั้งหลายเป็นความดี การอยู่ ร่วมกับพระอริยะเจ้าเหล่านั้น เป็นสุขทุกเมื่อ บุคคลพึงเป็น ผู้มีความสุขเป็นนิตย์ได้ เพราะการไม่เห็นคนพาลทั้งหลาย ด้วยว่าบุคคลผู้สมคบกับคนพาลเที่ยวไป ย่อมเศร้าโศกสิ้น กาลนาน การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นทุกข์ทุกเมื่อ เหมือนการ อยู่ร่วมกับศัตรู ส่วนนักปราชญ์มีการอยู่ร่วมเป็นสุข เหมือน สมาคมแห่งญาติ เพราะเหตุนั้นแล บุคคลพึงคบบุคคลนั้น ผู้เป็นนักปราชญ์ มีปัญญา เป็นพหูสูต มีปกตินำธุระไป มีวัตร เป็นพระอริยะ เป็นสัปบุรุษ ผู้มีปัญญาดีเช่นนั้น เหมือนพระจันทร์คบครองแห่งนักษัตร ฉะนั้น ฯ
จบสุขวรรคที่ ๑๕
คาถาธรรมบท ปิยวรรคที่ ๑๖
[๒๖] บุคคลประกอบตนในกิจที่ไม่ควรประกอบ และไม่ประกอบ ตนในกิจที่ควรประกอบ ละประโยชน์เสีย มักถือเอาสัตว์ หรือสังขารว่าเป็นที่รัก ย่อมทะเยอทะยานต่อบุคคลผู้ประกอบ ตามตน บุคคลอย่าสมาคมแล้วด้วยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่ รัก หรือด้วยสัตว์หรือสังขารอันไม่เป็นที่รัก ในกาลไหนๆ เพราะการไม่เห็นสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก และการเห็น สัตว์หรือสังขารอันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก เพราะการพลัด พรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก ลามก กิเลสเครื่อง ร้อยรัดทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ไม่มีสัตว์และสังขาร อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก ความโศกย่อมเกิดแต่ของที่รัก ภัยย่อมเกิดแต่ของที่รัก ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้น วิเศษแล้ว จากของที่รัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน ความโศกย่อม เกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก ความโศกย่อมไม่มี แก่ผู้พ้นวิเศษแล้ว จากความรัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน ความ โศกย่อมเกิดแต่ความยินดี ภัยย่อมเกิดแต่ความยินดี ความ โศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากความยินดี ภัยจักมี แต่ที่ไหน ความโศกย่อมเกิดแต่กาม ภัยย่อมเกิดแต่กาม ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากกาม ภัยจักมี แต่ที่ไหน ความโศกย่อมเกิดแต่ตัณหา ภัยย่อมเกิดแต่ตัณหา ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากตัณหา ภัยจักมี แต่ที่ไหน ชนย่อมกระทำบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและทัศนะ ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีปกติกล่าวคำสัจ ผู้ทำการงานของตน ให้ เป็นที่รัก ภิกษุพึงเป็นผู้มีความพอใจในนิพพานอันใครๆ บอกไม่ได้ เป็นผู้อันใจถูกต้อง และเป็นผู้มีจิตไม่เกี่ยวเกาะ แล้วในกาม ภิกษุนั้นเรากล่าวว่าผู้มีกระแสในเบื้องบน ญาติ มิตร และเพื่อนผู้มีใจดี ย่อมชื่นชมต่อบุรุษผู้จากไปสิ้นกาล นาน กลับมาแล้วโดยสวัสดี แต่ที่ไกล ว่ามาแล้ว บุญ ทั้งหลาย ย่อมต้อนรับแม้บุคคลผู้ทำบุญไว้ ซึ่งจากโลกนี้ไป สู่โลกอื่น ดุจญาติต้อนรับญาติที่รักผู้มาแล้ว ฉะนั้น ฯ
จบปิยวรรคที่ ๑๖
คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗
[๒๗] บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงละมานะเสีย พึงก้าวล่วง สังโยชน์เสียทั้งหมด ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกตามบุคคลนั้น ผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล บุคคลใดแล พึง ห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ ดุจบุคคลห้ามรถซึ่งกำลัง แล่นไปได้ ฉะนั้น เรากล่าวบุคคลนั้นว่าเป็นสารถี คนนอกนี้ เป็นคนถือเชือก พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะ ความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึง ชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ แม้เมื่อมีของน้อย ถูกขอแล้วก็พึงให้ บุคคล พึงไปในสำนักแห่งเทวดาทั้งหลาย เพราะเหตุ ๓ ประการนี้ มุนีเหล่าใดผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิตย์ มุนีเหล่านั้นย่อมไปสู่สถานที่ไม่จุติ ที่คนทั้งหลายไปแล้วไม่ เศร้าโศก อาสวะทั้งหลายของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้น้อมไปแล้วสู่นิพพาน ย่อมถึง ความไม่มี ดูกรอตุละ การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่ โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูด มาก แม้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษ ผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียว ไม่มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีในบัดนี้ ถ้าว่าผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ทุกวัน ย่อมสรรเสริญบุคคลใด ผู้มีความประพฤติไม่ขาด เป็นนักปราชญ์ ตั้งมั่นแล้วในปัญญาและศีล ใครย่อมควร เพื่อจะนินทาบุคคลนั้นผู้เหมือนดังแท่งแห่งทองชมพูนุท แม้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น แม้ พรหมก็สรรเสริญบุคคลนั้น ภิกษุพึงรักษาความกำเริบทางกาย พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย ละกายทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริต ด้วยกาย พึงรักษาความกำเริบทางวาจา พึงเป็นผู้สำรวมด้วย วาจา ละวจีทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยวาจา พึงรักษา ความกำเริบทางใจ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยใจ ละมโนทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยใจ นักปราชญ์ทั้งหลาย สำรวมแล้วด้วย กาย สำรวมแล้วด้วยวาจา สำรวมแล้วด้วยใจ ท่านเหล่านั้น แล สำรวมเรียบร้อยแล้ว ฯ
จบโกธวรรคที่ ๑๗
คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘
[๒๘] บัดนี้ท่านเป็นดุจใบไม้เหลือง อนึ่ง แม้บุรุษของพระยายมก็ ปรากฏแก่ท่านแล้ว ท่านตั้งอยู่ในปากแห่งความเสื่อม อนึ่ง เสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มี ท่านจงทำที่พึ่งแก่ตน จงรีบ พยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านเป็นผู้มีมลทินอันขจัดแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยียวนจักถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์ บัดนี้ท่าน เป็นผู้มีวัยอันชรานำเข้าไปแล้ว เตรียมจะไปยังสำนักของ พระยายม อนึ่ง ที่พักในระหว่างของท่านก็ยังไม่มี และ เสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มี ท่านจงทำที่พึ่งแก่ตน จงรีบ พยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านเป็นผู้มีมลทินอันขจัดแล้ว ไม่มี กิเลสเครื่องยียวน จักไม่เข้าถึงชาติและชราอีก นักปราชญ์ ทำกุศลทีละน้อยๆ ในขณะๆ พึงขจัดมลทินของตนออกได้ โดยลำดับ เหมือนช่างทองขจัดมลทินของทอง ฉะนั้น สนิม เกิดขึ้นแต่เหล็กเอง ครั้นเกิดขึ้นแต่เหล็กนั้นแล้ว ย่อมกัด เหล็กนั้นแหละ ฉันใด กรรมของตนย่อมนำบุคคลผู้มัก ประพฤติล่วงปัญญาชื่อโธนา ไปสู่ทุคติ ฉันนั้น มนต์มีอัน ไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน เรือนมีการไม่หมั่นเป็นมลทิน ความ เกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ ความประมาทเป็นมลทิน ของผู้รักษา ความประพฤติชั่วเป็นมลทินหญิง ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้ ธรรมทั้งหลายที่ลามกเป็นมลทินแท้ ทั้งใน โลกนี้ทั้งในโลกหน้า เราจะบอกมลทินกว่ามลทินนั้น คือ อวิชชาเป็นมลทินอย่างยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ละมลทินนี้เสียแล้ว จงเป็นผู้ไม่มีมลทินเถิด บุคคลผู้ไม่มีหิริ กล้าเพียงดังกา มักขจัด มักแล่นไป ผู้คะนอง เป็นผู้ เศร้าหมองเป็นอยู่ง่าย ส่วนบุคคลผู้มีหิริ มีปกติแสวงหา ความสะอาดเป็นนิตย์ ไม่หดหู่ ไม่คะนอง มีอาชีวะหมดจด เห็นอยู่เป็นอยู่ยาก นรชนใดย่อมล้างผลาญสัตว์มีชีวิต ถือ เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก คบหาภริยาคนอื่น กล่าว คำเท็จ และประกอบการดื่มสุราเมรัยเนืองๆ นรชนนี้ย่อม ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุนของตนในโลกนี้แล ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า บาปธรรมทั้งหลายอันบุคคลไม่สำรวมแล้ว ความโลภและสภาวะมิใช่ธรรม อย่าพึงย่ำยีท่านเพื่อทุกข์สิ้น กาลนาน ชนย่อมให้ตามศรัทธาตามความเลื่อมใสโดยแท้ บุคคลใดย่อมเป็นผู้เก้อเขินในเพราะน้ำและข้าว ของชนเหล่า อื่นนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่บรรลุสมาธิ ในกลางวันหรือ กลางคืน ส่วนผู้ใดตัดความเป็นผู้เก้อเขินนี้ได้ขาด ถอนขึ้น ให้รากขาดแล้ว ผู้นั้นแลย่อมบรรลุสมาธิ ในกลางวันหรือ กลางคืน ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี โทษ ของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่า บุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบ แต่ปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วย กิ่งไม้ ฉะนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่ง โทษผู้อื่น มีความสำคัญในการยกโทษเป็นนิตย์ บุคคลนั้นเป็น ผู้ไกลจากความสิ้นอาสวะ สมณะภายนอกไม่มี ดังรอยเท้า ไม่มีในอากาศ ฉะนั้น หมู่สัตว์ยินดีแล้วในธรรมเครื่องยัง สัตว์ให้เนิ่นช้า พระตถาคตทั้งหลาย ไม่มีธรรมเครื่องยัง สัตว์ให้เนิ่นช้า สมณะภายนอกไม่มี ดังรอยเท้าไม่มีในอากาศ ฉะนั้น สังขารทั้งหลายเที่ยงไม่มี กิเลสชาติเครื่องยังสัตว์ให้ หวั่นไหวไม่มีแก่พระพุทธเจ้า ฯ
จบมลวรรคที่ ๑๘
คาถาธรรมบท ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙
[๒๙] บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม ด้วยเหตุที่วินิจฉัยอรรถคดีโดย ผลุนผลัน ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิตวินิจฉัยอรรถคดี และความ อันไม่เป็นอรรถคดีทั้งสอง วินิจฉัยบุคคลเหล่าอื่นโดยความ ไม่ผลุนผลัน โดยธรรมสม่ำเสมอ ผู้นั้นชื่อว่าคุ้มครองกฎหมาย เป็นนักปราชญ์ เรากล่าวว่า ตั้งอยู่ในธรรม บุคคลไม่ชื่อว่า เป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงที่พูดมาก บุคคลผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เราเรียกว่า เป็นบัณฑิต บุคคลไม่ชื่อว่า ทรงธรรมด้วยเหตุเพียงที่พูดมาก ส่วนผู้ใดฟังธรรมแม้น้อย แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย [และ] ไม่ประมาท ธรรม ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม บุคคลไม่ชื่อว่าเป็น เถระ เพราะเหตุที่มีผมหงอกบนศีรษะ วัยของบุคคลนั้นแก่ หง่อมแล้ว บุคคลนั้นเรากล่าวว่า เป็นผู้แก่เปล่า สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะและทมะ มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแลมีมลทินอัน คายแล้ว เป็นนักปราชญ์ เราเรียกว่าเป็นเถระ นรชนผู้มัก ริษยา มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่เป็นผู้ชื่อว่ามีรูปงาม เพราะเหตุเพียงพูด หรือเพราะความเป็นผู้มีวรรณะงาม ส่วน ผู้ใดตัดโทษมีความริษยาเป็นต้นนี้ได้ขาด ถอนขึ้นให้รากขาด แล้ว ผู้นั้นมีโทษอันคายแล้ว มีปัญญา เราเรียกว่า ผู้มี รูปงาม บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเพราะศีรษะโล้น บุคคล ผู้ไม่มีวัตร พูดเหลาะแหละ มากด้วยความอิจฉาและความโลภ จักเป็นสมณะอย่างไรได้ ส่วนผู้ใดสงบบาปน้อยใหญ่ได้ โดยประการทั้งปวง ผู้นั้นเรากล่าวว่าเป็นสมณะ เพราะสงบ บาปได้แล้ว บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุด้วยเหตุเพียงที่ขอคนอื่น บุคคลสมาทานธรรมอันเป็นพิษ ไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุด้วยเหตุนั้น ผู้ใดในโลกนี้ลอยบุญและบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ รู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เที่ยวไปในโลก ผู้นั้นแลเราเรียกว่าเป็น ภิกษุ บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะความนิ่ง บุคคลผู้หลงลืม ไม่รู้แจ้ง ไม่ชื่อว่าเป็นมุนี ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิตถือธรรม อันประเสริฐ เป็นดุจบุคคลประคองตราชั่ง เว้นบาปทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นมุนี เพราะเหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่ามุนี ผู้ใดรู้จักโลก ทั้งสอง ผู้นั้นเราเรียกว่าเป็นมุนีเพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ชื่อว่า เป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เรา เรียกว่าเป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง ดูกรภิกษุ ภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ อย่าถึงความชะล่าใจ ด้วยเหตุเพียงศีลและวัตร ด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยการได้ สมาธิ ด้วยการนอนในที่สงัด หรือด้วยเหตุเพียงความดำริ เท่านี้ว่า เราถูกต้องสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ซึ่งปุถุชนเสพ ไม่ได้ ฯ
จบธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙
คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐
[๓๐] ทางมีองค์แปด ประเสริฐกว่าทางทั้งหลาย ธรรมอัน พระอริยะเจ้าพึงถึง ๔ ประการประเสริฐกว่าสัจจะทั้งหลาย วิราคธรรมประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลาย พระตถาคตผู้มีจักษุ ประเสริฐกว่าสัตว์สองเท้าและอรูปธรรมทั้งหลาย ทางนี้เท่า นั้นเพื่อความหมดจดแห่งทัศนะ ทางอื่นไม่มี เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แหละ เพราะทางนี้เป็น ที่ยังมารและเสนามารให้หลง ด้วยว่าท่านทั้งหลายดำเนิน ไปตามทางนี้แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เราทราบชัดธรรม เป็นที่สลัดกิเลสเพียงดังลูกศรออก บอกทางแก่ท่านทั้งหลาย แล้ว ท่านทั้งหลายพึงทำความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อน พระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกชนทั้งหลาย ดำเนินไปแล้ว ผู้เพ่งพินิจ จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้ เมื่อใด บุคคล พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจด เมื่อ ใดบุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความ หมดจด เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นเขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็น ทางแห่งความหมดจด บุคคลหนุ่มมีกำลัง ไม่ลุกขึ้นในกาล เป็นที่ลุกขึ้น เข้าถึงความเป็นคนเกียจคร้าน มีความดำริอัน จมเสียแล้ว ชื่อว่าเป็นคนเกียจคร้าน คนเกียจคร้านย่อม ไม่ประสพทางแห่งปัญญา บุคคลพึงตามรักษาวาจา พึง สำรวมดีแล้วด้วยใจ และไม่พึงทำอกุศลด้วยกาย พึงชำระ กรรมบถ ๓ ประการนี้ให้หมดจด พึงยินดีมรรคที่ฤาษีประ- กาศแล้ว ปัญญาเพียงดังแผ่นดินย่อมเกิด เพราะความ ประกอบโดยแท้ ความสิ้นไปแห่งปัญญาเพียงดังแผ่นดิน เพราะความไม่ประกอบ บัณฑิตรู้ทางสองแพร่งแห่งความ เจริญและความเสื่อมนี้แล้ว พึงตั้งตนไว้โดยอาการที่ปัญญา เพียงดังแผ่นดิน จะเจริญขึ้นได้ ท่านทั้งหลายจงตัดป่า อย่าตัดต้นไม้ ภัยย่อมเกิดแต่ป่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายตัดป่าและหมู่ไม้ในป่าแล้ว จงเป็นผู้ไม่มีป่า เพราะ กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่าแม้ประมาณน้อยในนารีของนระ ยังไม่ ขาดเพียงใด นระนั้นยังมีใจเกาะเกี่ยว ดุจลูกโคผู้ดื่มกิน น้ำนม มีใจเกาะเกี่ยวในมารดาเพียงนั้น ท่านจงตัดความรัก ของตนเสีย ดุจบุคคลเด็ดดอกโกมุทอันเกิดในสรทกาลด้วย ฝ่ามือ ท่านจงเพิ่มพูนทางสงบอย่างเดียว นิพพานอันพระ สุคตทรงแสดงแล้ว คนพาลย่อมคิดผิดว่า เราจักอยู่ในที่ นี้ตลอดฤดูฝน จักอยู่ในที่นี้ตลอดฤดูหนาว และฤดูร้อน ดังนี้ ย่อมไม่รู้อันตราย มัจจุย่อมพาเอาคนผู้มัวเมาในบุตรและ ปสุสัตว์มีมนัสข้องติดในอารมณ์ต่างๆ เหมือนห้วงน้ำใหญ่ พาเอาชาวบ้านผู้หลับไปฉะนั้น เมื่อบุคคลถูกมัจจุผู้ทำซึ่ง ที่สุดครอบงำแล้ว บุตรทั้งหลายย่อมไม่มีเพื่อความต้านทาน บิดาย่อมไม่มีเพื่อความต้านทาน ถึงพวกพ้องทั้งหลายก็ย่อม ไม่มีเพื่อความต้านทาน ความเป็นผู้ต้านทานไม่มีในญาติ ทั้งหลาย บัณฑิตทราบอำนาจประโยชน์นี้แล้ว พึงเป็นผู้ สำรวมแล้วด้วยศีล พึงรีบชำระทางเป็นที่ไปสู่นิพพานพลัน ทีเดียว ฯ
จบมรรควรรคที่ ๒๐

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๒๓๗-๑๐๓๔ หน้าที่ ๑๑-๔๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=237&Z=1034&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=9              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=10              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [10-30] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=25&item=10&items=21              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=5494              The Pali Tipitaka in Roman :- [10-30] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=25&item=10&items=21              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=5494              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i001-e.php#sutta9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/khp/khp.1-9.than.html#khp-9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/khp/khp.9.amar.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/khp/khp.1-9x.piya.html#khp-9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/khp/khp.9.nymo.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/khp/khp.9.budd.html https://suttacentral.net/kp9/en/anandajoti https://suttacentral.net/kp9/en/nanamoli https://suttacentral.net/kp9/en/amaravati https://suttacentral.net/kp9/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/kp9/en/piyadassi https://suttacentral.net/kp9/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :