ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๑๐. เสริสสกวิมาน
ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในเสริสสกวิมาน
[๘๔] ท่านพระควัมปติกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำเทวดา และพวกพ่อค้ามาพบกัน ในเวลาที่พวก พ่อค้าหลงทางในทะเลทราย อนึ่ง ถ้อยคำที่พวกเทวดาและพวกพ่อค้า โต้ตอบกัน ฉันใด ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำนั่น ฉันนั้นเถิด ยังมี พระราชาทรงพระนามว่าปายาสิ มียศ ถึงความเป็นสหายของภุมมเทวดา บันเทิงอยู่ในวิมานของตนเป็นเทวดาแต่ได้มาปราศรัยกับพวกมนุษย์. เสริสสกเทพบุตรถามพวกพ่อค้าด้วยคาถาว่า มนุษย์ทั้งหลายผู้กลัวทางคด หลงทางแล้วมาทำไมในป่าที่น่ารังเกียจ เป็น ที่สัญจรไปแห่งอมนุษย์ เป็นที่กันดารไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร เดินไป แสนยาก เป็นท่ามกลางแห่งทะเลทราย ในทะเลทรายนี้ ไม่มีผลไม้ ไม่มีเผือกมัน หาเชื้อมิได้ จักมีอาหารแต่ที่ไหน นอกจากฝุ่นและทราย อันร้อนทารุณดังไฟเผา ที่นี้มีภาคพื้นอันแข็ง ร้อนดังแผ่นเหล็กแดง หาความสุขมีได้ เท่ากับนรก สถานที่นี้เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกหยาบช้า มีปีศาจเป็นต้น เป็นเหมือนภูมิประเทศถูกสาปแช่งไว้ เออก็พวกท่าน หวังประโยชน์อะไร ไม่ทันพิจารณาคุณและโทษ พากันหลงทางเข้ามา ยังประเทศนี้ เพราะเหตุอะไร เพราะความโลภหรือความกลัวหรือเพราะ ความหลง. พวกพ่อค้าตอบว่า พวกข้าพเจ้าเป็นพ่อค้าเกวียนอยู่ในแคว้นมคธ และแคว้นอังคะ บรรทุก สินค้ามามาก ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความต้องการทรัพย์ ปรารถนาอดิเรกลาภ เพิ่มพูน จึงพากันไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ ข้าพเจ้าทุกคน ไม่อาจจะอดกลั้นความกระหายในเวลากลางวัน และหมายจะอนุเคราะห์ โคทั้งหลาย จึงได้พากันรีบเดินทางมาในราตรี อันเป็นเวลาค่ำคืน ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงได้พลัดจากทางไปสู่ทางผิดมืดมนดุจคนบอด หลงเข้า ไปในป่าที่ไปได้แสนยาก อันเป็นท่ามกลางทะเลทราย มีจิตงงงวย ไม่ อาจกำหนดทิศได้ ดูกรเทพเจ้าผู้ควรบูชา พวกข้าพเจ้าได้เห็นวิมานอัน ประเสริฐของท่านนี้กับตัวท่าน ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนจึงหวังว่าจะรอด ชีวิตได้ยิ่งกว่าก่อน เพราะเห็นวิมานของท่าน กับตัวท่าน พวกข้าพเจ้ามี ความดีใจร่าเริง ขนลุกขนพอง. เสริสสกเทพบุตรกล่าวว่า ดูกรพ่อค้าทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเที่ยวไปสู่ฝั่งทะเลทรายข้างนี้ จดฝั่ง- ทะเลทรายข้างโน้น และไปสู่ทางอันเป็นทางไปยาก ประกอบด้วย เซิงหวายและหลักตอ ข้ามแม่น้ำและภูเขาทั้งหลายไปสู่ทิศต่างๆ เป็น อันมาก เพราะเหตุอยากได้โภคทรัพย์ เมื่อพวกท่านไปสู่แว่นแคว้นของ พระราชาเหล่าอื่น ท่านไปเห็นมนุษย์ในต่างประเทศ เราจะขอฟังสิ่ง อัศจรรย์ที่ท่านทั้งหลายได้ฟัง หรือได้เห็นแล้ว ในสำนักของท่าน ทั้งหลายฯ พวกพ่อค้าตอบว่า ดูกรกุมาร พวกข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นสมบัติมนุษย์ ในประเทศ อื่นทั้งหมด ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่าสมบัติในวิมานของท่านนี้ พวก ข้าพเจ้าได้เห็นวิมานของท่าน อันมีรัศมีไม่ทราม อันเลื่อนลอยไปได้ใน อากาศ จึงอิ่มใจนัก ในวิมานของท่านนี้ มีทั้งสระโบกขรณี พวงมาลา บัวขาบมากมาย มีหมู่รุกชาติอันเผล็ดดอกออกผลอยู่เป็นนิจนิรันดร ส่ง กลิ่นหอมฟุ้งขจรไป ในวิมานนี้ มีเสาแก้วไพฑูรย์สูงร้อยศอก ประดับ ด้วยแก้วผลึก แก้วประพาฬ บุษราคัม และแก้วมณีมีเหลี่ยมกว้าง มี รัศมีแผ่ซ่านไป วิมานของท่านนี้งามดีมีเสาพันหนึ่ง มีอานุภาพหาที่เปรียบ มิได้ เสาเหล่านั้นมีวิมานอันงาม แวดล้อมด้วยกำแพงทอง ด้วยแก้ว ต่างๆ มีหลังคาอันมุงแล้วด้วยแก้วต่างๆ ชนิด วิมานของท่านนี้มีแสง แห่งทองชมพูนุท ทอแสงขึ้นในเบื้องบน ประกอบด้วยปราสาท บันได และแผ่นกระดานอันเกลี้ยง งามดี มั่นคงและทรวดทรงงดงาม สม่ำเสมอ อันบุญกรรมปรุงดีแล้ว น่าดูน่าชม น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก ภายในวิมาน แก้วนั้น มีข้าวและน้ำอันสมบูรณ์ ท่านเองก็แวดล้อมด้วยหมู่นางเทพ- อัปสรเสียงกึกก้องด้วยตะโพน เปิงมาง และดุริยางค์เป็นนิจ ท่านเป็นผู้ อันหมู่เทพยดานอบนบแล้วด้วยการชมเชย และกราบไหว้ ปลาบปลื้ม อยู่ด้วยหมู่เทพนารี บันเทิงใจอยู่ในวิมาน และปราสาทอันประเสริฐน่า รื่นรมย์ใจ มีอานุภาพเป็นอจินไตย ประกอบไปด้วยคุณทั้งปวง ดุจท้าว เวสสุวรรณผู้เป็นใหญ่ ท่านเป็นเทวดาหรือเป็นยักษ์ เป็นท้าวสักกะ จอมเทพหรือเป็นมนุษย์ พวกพ่อค้าเกวียนถามท่าน ขอท่านจงบอกว่า ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร? เสริสสกเทพบุตรตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นเทวดาชื่อว่าเสริสสกะ เป็นผู้รักษาทางกันดารเป็นเจ้าทะเล- ทราย ทำตามคำสั่งของท้าวเวสสุวรรณ รักษาประเทศนี้อยู่. พวกพ่อค้าถามว่า วิมานนี้ท่านได้ตามความปรารถนา หรือเกิดในกาลบางคราว ท่านทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายมอบให้ พ่อค้าเกวียนทั้งหลายถามท่าน วิมานอันเป็นที่ ชอบใจนี้ท่านได้มาอย่างไร? เสริสสกเทพบุตรตอบว่า วิมานอันเป็นที่ชอบใจนี้ มิใช่ข้าพเจ้าได้ตามความปรารถนา มิใช่เกิดขึ้น ในกาลบางคราว ข้าพเจ้ามิได้ทำเอง และเทวดาทั้งหลายก็มิได้มอบให้ วิมานอันเป็นที่ชอบใจนี้ ข้าพเจ้าได้มาเพราะบุญกรรมอันดีงามของตน. พวกพ่อค้าถามว่า อะไรเป็นวัตรและเป็นพรหมจรรย์ของท่าน นี้เป็นวิบากแห่งบุญอะไร ที่ท่านสั่งสมไว้แล้ว พ่อค้าเกวียนทั้งหลาย ถามท่าน วิมานนี้ท่านได้มา อย่างไร? เสริสสกเทพบุตรตอบว่า ข้าพเจ้ามีนามว่าปายาสิ เมื่อครั้งข้าพเจ้าเสวยสมบัติในแคว้นโกศล ข้าพเจ้ามีความเห็นผิดว่าไม่มี มีความตระหนี่เหนี่ยวแน่น มีธรรมอัน ลามกมีปรกติกล่าวว่าขาดสูญ มีสมณะนามว่า กุมารกัสสป เป็นพหูสูต เป็นผู้เลิศในทางมีถ้อยคำอันวิจิตร ครั้งนั้นท่านได้แสดงธรรมกถาแก่ ข้าพเจ้า ได้บรรเทาทิฏฐิผิดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมกถาของ ท่านนั้นแล้ว ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก งดเว้นจากปาณาติบาต จาก อทินนาทาน สันโดษยินดีด้วยภรรยาของตน ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา ข้อนั้นเป็นวัตรและเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า นี้เป็นวิบากแห่งบุญที่ ข้าพเจ้าได้สั่งสมไว้ วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาเพราะบุญกรรมอันดีงามนั้น นั่นแล. พวกพ่อค้าถามว่า ได้ยินว่า ถ้อยคำของนรชนผู้มีปัญญา เป็นบัณฑิต ที่ได้พูดไว้เป็นคำจริง ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่นว่า บุคคลผู้ทำบุญจะไปในที่ใดๆ ย่อมได้ตาม ความปรารถนา บันเทิงใจในที่นั้นๆ ความเศร้าโศก ความร่ำไร การ เบียดเบียน การจองจำ ความเศร้าหมอง มีอยู่ในที่ใดๆ คนทำบาป ย่อมไม่พ้นจากทุคติในกาลไหนๆ ดูกรกุมาร เพราะเหตุใดหนอ ความ โทมนัสจึงได้บังเกิดแก่เทวดาผู้เป็นบริวารของท่านนี้และแก่ท่าน ดุจคน ผู้หลงใหลฟั่นเฟือน และดุจน้ำอันขุ่นในครู่เดียวนี้. เสริสสกเทพบุตรตอบว่า แน่ะพ่อทั้งหลาย ป่าไม้ซึกเหล่านี้เป็นทิพย์มีกลิ่นหอมฟุ้งตลบไปทั่ว วิมานนี้ ใช่แต่เท่านั้น ป่าไม้ซึกนี้ยังกำจัดความมืดได้ทั้งกลางวันและ กลางคืน ล่วงไปร้อยปี เปลือกฝักแห่งต้นซึกนี้จึงจะสุกหล่นลงครั้งหนึ่งๆ เป็นอันรู้ว่าร้อยปีของมนุษย์ล่วงไปแล้ว ดูกรพ่อทั้งหลาย ตั้งแต่ข้าพเจ้า เกิดในเทพนิกายนี้จักตั้งอยู่ในวิมานนี้ตลอด ๕๐๐ ปีทิพย์ แล้วจึงจุติ เพราะสิ้นอายุ เพราะสิ้นบุญ ข้าพเจ้าสยบซบเซา เพราะความเศร้าโศก นั้นนั่นแล. พวกพ่อค้ากล่าวว่า ท่านได้วิมานนี้มานาน จะนับประมาณมิได้ เมื่อท่านเป็นเช่นนั้น จะเศร้าโศกไปทำไมเล่า ก็แหละคนที่มีบุญน้อย เข้าอยู่วิมานนี้นิดหน่อย ควรเศร้าโศกแน่แท้ แต่ท่านมีอายุถึง ๙ ล้านปีของมนุษย์ จะเศร้าโศก ไปทำไมเล่า ท่านอย่าเศร้าโศกไปเลย. เสริสสกเทพบุตรกล่าวว่า ดูกรท่านทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายกล่าวตักเตือนข้าพเจ้าด้วยวาจาอัน เป็นที่รักนั้น สมควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตามรักษาพวกท่าน ท่าน ทั้งหลายจงไปโดยสวัสดี ยังที่ที่ท่านทั้งหลายปรารถนาเถิด. พวกพ่อค้ากล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความต้องการทรัพย์ปรารถนาอดิเรกลาภเพิ่มพูน จึงไป สู่สินธุประเทศและโสวีระประเทศ บัดนี้ พวกข้าพเจ้าขอบวงสรวงท่าน ขอให้ปฏิญาณไว้แก่ท่าน ถ้าพวกข้าพเจ้าได้ทรัพย์สมความปรารถนาแล้ว จักทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรให้ยิ่ง. เสริสสกเทพบุตรกล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำการบูชาแก่เสริสสกเทพบุตรเลย สิ่งที่ท่านพูดถึง ทั้งหมด จักเป็นของท่าน ขอพวกท่านจงงดเว้นกรรมทั้งหลายอันเป็นบาป และจงอธิษฐานการประกอบตามซึ่งธรรม ในหมู่พ่อค้าเกวียนนี้ มีอุบาสก ผู้เป็นพหูสูต สมบูรณ์ด้วยศีลและวัตร มีศรัทธา มีปกติบริจาค มีศีลเป็น ที่รัก มีปัญญาเครื่องพิจารณา เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้รู้ เมื่อรู้สึกอยู่ไม่ พูดมุสา ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่พึงกล่าวคำส่อเสียดให้เขาแตก กัน พูดแต่วาจาอ่อนหวานละมุนละม่อม มีความเคารพ ยำเกรง อ่อนน้อม ไม่เป็นคนทำบาป หมดจดในอธิศีล เป็นคนเลี้ยงมารดา และบิดาโดยธรรม มีความประพฤติบริสุทธิ์ แสวงหาโภคะทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งมารดาและบิดา ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งตน เมื่อมารดาบิดา ล่วงลับไปแล้ว มีจิตน้อมไปในเนกขัมมะ จักประพฤติพรหมจรรย์ เป็น คนตรง ไม่คดโกง ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่พูดโยด้วยอ้างเลศ อุบาสกผู้ทำงานอันบริสุทธิ์ตั้งอยู่ในธรรม เช่นนี้ จะพึงได้ทุกข์อย่างไร เล่า เพราะอุบาสกนั้นเป็นเหตุข้าพเจ้าจึงมาแสดงตนให้ปรากฏ ดูกรพ่อ ค้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวกท่านจึงได้เห็นข้าพเจ้า ก็ถ้าเว้นอุบาสก นั้นเสีย พวกท่านก็จักมืดมน ดุจคนตาบอด หลงเข้าไปในป่า จักเป็น เถ้าถ่านไป อันคนอื่นเบียดเบียนคนอื่นนั้น เป็นการกระทำได้ง่าย การ สมาคมด้วยสัปบุรุษ นำมาซึ่งความสุข. พวกพ่อค้าถามว่า อุบาสกนั้นชื่ออะไร ทำกรรมอะไร มีชื่ออย่างไร มีโคตรอย่างไร ดูกร เทพเจ้าผู้ควรบูชา ท่านมาในที่นี้เพื่ออนุเคราะห์อุบาสกคนใด แม้พวก ข้าพเจ้าก็ต้องการจะเห็นอุบาสกนั้น แม้ท่านรักอุบาสกคนใด ก็เป็นลาภ ของอุบาสกคนนั้น. เสริสสกเทพบุตรกล่าวว่า บุรุษใดเป็นกัลบกมีชื่อว่า สัมภวะเป็นคนรับใช้สอยของพวกท่าน อาศัยการตัดผมเลี้ยงชีพ ท่านทั้งหลายจงรู้บุรุษนั้นว่าเป็นอุบาสก ท่าน ทั้งหลายอย่าได้ดูหมิ่นอุบาสกนั้น ด้วยว่าอุบาสกนั้นผู้มีศีลเป็นที่รัก. พวกพ่อค้ากล่าวว่า ดูกรเทพเจ้าผู้ควรบูชา ท่านพูดถึงช่างตัดผมคนใด ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้จัก แล้ว แต่ก่อนข้าพเจ้าทั้งหลายไม่รู้จักว่าเป็นเช่นนี้เลย เพราะฟังคำ ของท่าน แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักบูชาอุบาสกนั้นเป็นอย่างยิ่ง. เสริสสกเทพบุตรกล่าวว่า มนุษย์ทั้งหมดในโลกนี้ เป็นหนุ่ม แก่หรือปานกลาง มนุษย์เหล่านั้น ทั้งหมดจงขึ้นสู่วิมานนี้แล้ว จงดูผลบุญของคนตระหนี่. พระธรรมสังคีตีกาจารย์ได้รจนาคาถาเหล่านี้ไว้ในที่สุดว่า พวกพ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมดในที่นั้น พากันห้อมล้อมช่างกัลบกนั้นขึ้นสู่ วิมาน ดุจวิมานแห่งท้าววาสะ ด้วยการกล่าวว่าเราก่อนๆ พวกพ่อค้า ทั้งหมดนั้น ได้ประกาศความเป็นอุบาสกว่า เราก่อนๆ ดังนี้ เป็นผู้งด เว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน ยินดีด้วยภรรยาของตน ไม่พูดเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมา พวกพ่อค้าทั้งหมดนั้น ครั้นประกาศความเป็นอุบาสก แล้ว ผู้อันเสริสสกเทพบุตรบอกแล้ว บันเทิงอยู่ด้วยเทวฤทธิ์บ่อยๆ แล้วหลีกไป พวกพ่อค้าเหล่านั้นมีความต้องการด้วยทรัพย์ ปรารถนา อดิเรกลาภเพิ่มพูน ได้ไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ พยายาม ทำตามความปรารถนาของตน ได้ทรัพย์บริบูรณ์ตามความปรารถนา กลับ มาสู่ปาตลีบุตรดังเดิม หาอันตรายมิได้ มีความสวัสดี ไปสู่เรือนของตน พรั่งพร้อมด้วยบุตรและภรรยา มีจิตยินดีโสมนัสปลาบปลื้ม ได้ทำการ บูชาอย่างยิ่งแก่เสริสสกเทพบุตร ให้สร้างเทวาลัยชื่อว่าเสริสสกะ การ คบหาด้วยสัปบุรุษยังประโยชน์ให้สำเร็จอย่างนี้ การคบหาบุคคลผู้มี คุณธรรม มีประโยชน์มาก สัตว์ทั้งปวงย่อมได้รับประโยชน์ และมีความ สุข เพราะคบหาอุบาสกคนหนึ่งๆ
จบ เสริสสกวิมานที่ ๑๐

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๒๗๗๑-๒๙๓๙ หน้าที่ ๑๑๔-๑๒๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=2771&Z=2939&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=84              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=84              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [84] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=26&item=84&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=8196              The Pali Tipitaka in Roman :- [84] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=26&item=84&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=8196              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_26

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :