ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

หน้าที่ ๔๓๑.

เถรีคาถา ติงสนิบาต
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในติงสนิบาต
สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
คาถาสุภาษิตของนางสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี
[๔๗๒] นักเลงเจ้าชู้คนหนึ่ง ได้ยืนกั้นทางพระสุภาภิกษุณีผู้กำลังเดินไปสู่สวน อัมพวันอันเป็นสถานที่รื่นรมย์ ของหมอชีวกโกมารภัจ พระสุภาภิกษุณี ได้กล่าวกะนักเลงนั้นว่า ฉันทำผิดอะไรต่อท่านหรือ ท่านจึงมายืนขวาง ทางเราไว้ ดูกรอาวุโส บุรุษย่อมไม่ควรถูกต้องหญิงที่บวชแล้วเลย สิกขา อันใด อันพระสุคตทรงบัญญัติไว้แล้ว ในศาสนาที่น่าเคารพแห่งพระ- ศาสดาของเรา เพราะเหตุไร ท่านจึงมายืนขวางเราผู้มีส่วนบริสุทธิ์ด้วย สิกขาเหล่านั้น ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ท่านเป็นผู้มีจิตขุ่นมัว มีธุลีคือ ราคะ เพราะเหตุไรจึงมายืนขวางเราผู้มีจิตไม่ขุ่นมัว ปราศจากธุลีคือราคะ ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน มีจิตหลุดพ้นแล้วจากเบญจขันธ์ทั้งปวง. เมื่อพระเถรีกล่าวเช่นนี้แล้ว นักเลงเจ้าชู้เมื่อจะประกาศความประสงค์ของตน จึงได้ กล่าวคาถาเหล่านี้ความว่า ท่านยังเป็นสาวทั้งรูปก็ไม่เลว การบรรพชา จักทำประโยชน์อะไรให้ท่าน ท่านจงเปลื้องจีวร อันย้อมด้วยน้ำฝาดออกเสียเถิด เชิญท่านมารื่นรมย์ กันในป่าไม้อันมีดอกบานสะพรั่งเถิด และหมู่ไม้เหล่านี้ อันลมพัดเอา ละอองเกษรหอมฟุ้งไปโดยรอบ ฤดูนี้เริ่มฤดูฝน เป็นฤดูมีความสุข เชิญท่านมารื่นรมย์กันในป่าไม้มีดอกสะพรั่งเถิด ก็ต้นไม้ทั้งหลายมีดอก อันบานแล้ว ถูกลมโชยย่อมส่งกลิ่นฟุ้งไปตามลม ถ้าท่านจักอยู่ในป่า แต่ผู้เดียว ความยินดีในป่านั้นจักมีแก่ท่านอย่างไรเล่า ท่านไม่มีเพื่อน ปรารถนาจะไปสู่ป่าใหญ่ที่หมู่เนื้อร้ายอาศัย เกลื่อนกล่นด้วยช้างพลาย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๓๒.

และช้างพังผู้เมามัน เว้นแล้วจากชน น่ากลัว ท่านเป็นตุ๊กตาที่ช่างฉลาด ทำแล้วด้วยทองคำมีสีสุก และเหมือนนางอัปสรเที่ยวอยู่ในสวนจิตรัถ บัดนี้ท่านย่อมงาม ด้วยเครื่องนุ่งห่มแคว้นกาสี อันมีเนื้อละเอียดอ่อน ไม่มีผ้าอื่นเปรียบปาน ถ้าเราทั้งสองได้อยู่ร่วมกัน ฉันพึงยอมอยู่ใน อำนาจของท่าน ดูกรท่านผู้มีดวงตาดังกินนรี ชีวิตของเราก็ยังไม่เป็นที่รัก ไปยิ่งกว่าท่าน ถ้าท่านจักทำตามคำของเรา ท่านจักได้รับความสุข เชิญ ท่านมาอยู่ครองเรือนกับเราเถิด ท่านจักได้อยู่ในปราสาทอันไม่มีลมเข้า มีสาวใช้คอยทำการรับใช้ท่าน ท่านจงนุ่งห่มผ้าแคว้นกาสีมีเนื้อละเอียด จงตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้และเครื่องลูบไล้ผิวพรรณ เราจะทำเครื่อง อาภรณ์ต่างๆ หลายชนิด ซึ่งล้วนด้วยทองคำ และแก้วมณี แก้วมุกดาให้ ขอเชิญท่านขึ้นสู่ที่นอนใหม่อันงามมีค่ามาก อันปูลาดด้วยผ้าขนสัตว์ และฟูกไม่มีธุลีเพราะซักฟอกดีแล้ว ประดับด้วยแก่นจันทน์ มีกลิ่น หอม ดอกบัวใด ผุดขึ้นพ้นน้ำอันอมนุษย์หวงแหนแล้ว ดอกบัวนั้น เป็นของอันใครๆ ไม่เคยใช้สอยเลย ฉันใด ท่านเป็นสาวพรหมจารีก็ ฉันนั้น เมื่ออวัยวะของตนอันใครไม่ได้ใช้สอยเลย จักถึงความคร่ำคร่า ไปเสียเปล่าโดยหาประโยชน์มิได้. เมื่อนักเลงนั้นประกาศความประสงค์ของตนอย่างนี้แล้ว พระเถรีเมื่อจะประกาศความที่ สรีระเป็นสภาพเต็มด้วยซากศพต่างๆ จึงได้กล่าวตอบว่า ในร่างกาย ที่เต็มไปด้วยซากศพ อันจักทอดทิ้งไว้ในป่าช้า มีอันแตก ทำลายไปเป็นธรรมดานี้ อะไรเล่าที่ท่านเข้าใจว่าเป็นแก่นสาร ท่านเห็น สิ่งใดแล้ว มีความพอใจในสิ่งนั้น ขอจงบอกแก่เรา. นักเลงนั้นกล่าวว่า นัยน์ตาทั้งสองของท่านเหมือนนัยน์ตาลูกเนื้อ และเหมือนนัยน์ตานาง กินนรีที่เที่ยวไปภายในภูเขา ความรักของเราเกิดขึ้นอย่างแรงกล้า เพราะ เห็นดวงตาทั้งคู่ของท่าน กามคุณย่อมเจริญแก่เราโดยยิ่ง เพราะเห็นหน้า และนัยน์ตาของท่านซึ่งเปรียบปานดังดอกบัว ปราศจากมลทิน งามดัง

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๓๓.

แผ่นทองคำ แน่ะน้องหญิงผู้มีนัยน์ตาบริสุทธิ์ทั้งยาวทั้งกว้าง แม้เราจัก ไปไกลสักเท่าไร ก็จักไม่นึกถึงอะไรๆ อย่างอื่น จักนึกถึงดวงตาทั้งคู่ ของท่านเท่านั้น น้องรักผู้มีดวงตาดังกินนรี สิ่งอื่นอันเป็นที่รักยิ่งไปกว่า ดวงตาของน้องมิได้มีแก่เราเลย. พระสุภาเถรีตอบว่า ท่านปรารถนาเราผู้เป็นธิดาของพระพุทธเจ้า ชื่อว่าปรารถนาจะดำเนินไป โดยทางผิด ชื่อว่าแสวงหาดวงจันทร์มาเป็นของเล่น ปรารถนาจะโดดขึ้น ภูเขาสิเนรุ บัดนี้ ความกำหนัดในอารมณ์ใด อารมณ์นั้นไม่มีแก่เราใน โลกพร้อมทั้งเทวโลก เราทราบว่าสภาพอันน่ารื่นรมย์แม้ทุกชนิดไม่มีแก่ เรา และเรากำจัดเสียได้แล้วพร้อมทั้งรากด้วยมรรคญาณ สภาพอันน่า รื่นรมย์เป็นเหมือนถูกทิ้งไปในหลุมถ่านเพลิง เหมือนถูกดื่มยาพิษ เรา ทำให้พินาศแล้วแต่ยอด เราเห็นว่าสภาพอันน่ารื่นรมย์แม้ทุกชนิดมิได้ มีแก่เรา และเรากำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งรากด้วยมรรคญาณ เบญจขันธ์นี้ อันหญิงใดไม่พิจารณาแล้ว หรือไม่ได้รับคำสั่งสอนของพระศาสดา ท่าน จงเล้าโลมหญิงเช่นนั้น ท่านมาเล้าโลมเราผู้รู้ตามเป็นจริงนี้ ย่อมจะ ลำบากเปล่า เพราะว่าสติของเรามั่นคงดีแล้ว ในการด่า การไหว้ และ ในสุขทุกข์ ท่านจงรู้ว่า ธรรมอันปัจจัยปรุงแต่งเป็นของไม่งาม ใจของ เราไม่ติดอยู่ในอารมณ์ทั้งปวงเลย เราเป็นสาวิกาของพระสุคตเจ้า เป็นผู้ ดำเนินไปสู่นิพพานด้วยญาณกล่าว คือ อัฏฐังคิกมรรค มีลูกศรอันถอน ขึ้นได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ยินดีอยู่ในเรือนว่างเปล่า ก็รูปภาพทำด้วยใบ ลานหรือท่อนไม้ที่บุคคลทำให้งดงาม ผูกด้วยเชือกหรือเอาไม้ตอกตะปู ติดไว้โดยอาการต่างๆ ทำให้เหมือนกับจะฟ้อนรำได้ เราเคยได้เห็นมา แล้ว เมื่อแก้เชือกและถอนตะปูออกจากรูปนั้น และแยกออกจากกัน แล้ว โดยทำให้เป็นแผนกๆ เรียงรายไว้ เมื่อทำรูปนั้นโดยเป็นชิ้นๆ อย่างนี้ไม่พึงได้ชื่อว่ารูป เมื่อเป็นอย่างนั้น บุคคลพึงตั้งความสำคัญใจ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๓๔.

ไว้ในรูปนั้น จะเป็นประโยชน์อะไร ร่างกายนี้ก็เหมือนรูปไม้ฉะนั้น เว้นจากธรรมมีธาตุ ๔ เป็นต้นเหล่านั้นแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ เว้นจาก ธรรมมีธาตุ ๔ เป็นต้นแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ บุคคลพึงตั้งความสำคัญใจ ไว้ในร่างกายนั้น จะเป็นประโยชน์อะไร เหมือนบุคคลได้เห็นรูปภาพ อันนายช่างผู้ฉลาดวาดเขียนไว้ที่ฝาด้วยหรดาลฉะนั้น ปัญญาสำหรับ มนุษย์ของท่านหาประโยชน์มิได้ เพราะท่านมีความเห็นวิปริตในร่างกาย นั้น แน่ะท่านผู้บอด ท่านเข้าไปยึดถืออัตภาพอันว่างเปล่า เป็นเหมือน พยับแดดที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า และเหมือนดังต้นไม้ทองที่ปรากฏใน ความฝัน เป็นดังเช่นรูปยนต์ที่คนเล่นกล แสดงแล้วในท่ามกลางแห่ง ชน ดวงตาเป็นดังฟองน้ำ ปรากฏเหมือนโพรงไม้มีฟองน้ำตั้งอยู่กลางตา เป็นของมีขี้ตาและน้ำตา เกิดเป็นต่อมดำๆ มีสีต่างๆ กัน. พระสุภาเถรีผู้มีดวงตางาม มีใจไม่ข้องอยู่ในอารมณ์ไหนๆ ได้ควักดวงตา ออกจากเบ้าตา แล้วส่งให้นักเลงนั้นพร้อมกับกล่าวว่าเชิญท่านเอาดวงตา นั้นไปเถิดเราให้ดวงตานั้นแก่ท่าน. ในทันใดนั้น ความกำหนัดในนัยน์ตาของนักเลงนั้นได้หายไปแล้ว นัก เลงนั้นได้ขอให้พระเถรีนั้นอดโทษด้วยคำว่า ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ขอความสวัสดีพึงมีแก่ท่าน การประพฤติอนาจารเช่นนี้ จักไม่มีอีกต่อไป. พระสุภาเถรีกล่าวว่า ท่านกระทบกระทั่งชนเช่นนี้ เหมือนกอดไฟอันลุกโพลง ฉะนั้น. นักเลงกล่าวว่า เราดุจจับอสรพิษ ขอความสวัสดีพึงมีแก่เราทั้งหลายบ้าง ขอท่านจงอด โทษให้เราทั้งหลายเถิด. ก็พระภิกษุณีนั้น พ้นจากนักเลงนั้นแล้ว ได้ไปสู่สำนักของพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐ ได้ชมเชยบุญลักษณะอันประเสริฐ จักษุได้เกิดมีขึ้นเหมือน เดิม.
จบ ติงสนิบาต
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๙๙๒๗-๑๐๐๒๘ หน้าที่ ๔๓๑-๔๓๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=9927&Z=10028&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=472              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=472              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [472] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=26&item=472&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=6632              The Pali Tipitaka in Roman :- [472] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=26&item=472&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=6632              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/ati/tipitaka/kn/thig/thig.14.01.than.html https://suttacentral.net/thig14.1/en/sujato https://suttacentral.net/thig14.1/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :