ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๑๔] คำว่า ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มี
ความว่า คำว่า ผู้นั้น คือ ผู้เว้นขาดกามทั้งหลาย. ตัณหาเรียกว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด
ความกำหนัดกล้า ความพอใจ ความชอบใจ ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยสามารถแห่ง
ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดกล้าแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความยินดี
ความยินดีทั่วไป ความข้อง ความติดพัน ความแสวงหา ความลวง ความให้สัตว์เกิด ความ
ให้สัตว์เกี่ยวกับทุกข์ ความเย็บไว้ ความเป็นดังว่าข่าย ความเป็นดังว่ากระแสน้ำ ความซ่านไป
ในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นดังว่าเส้นด้าย ความกระจายไป ความให้อายุเสื่อมไป ความเป็น
เพื่อน ความตั้งมั่น เครื่องนำไปสู่ภพ ความติดอารมณ์ ความตั้งอยู่ในอารมณ์ ความสนิท
ความรัก ความเพ่งเล็ง ความผูกพัน ความหวัง ความจำนง ความประสงค์ ความหวังในรูป
ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังใน
ลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ความปรารถนา ความให้สัตว์
ปรารถนา ความที่จิตปรารถนา ความเหนี่ยวรั้ง ความให้สัตว์เหนี่ยวรั้ง ความที่จิตเหนี่ยวรั้ง
ความหวั่นไหว อาการแห่งความหวั่นไหว ความพรั่งพร้อมด้วยความหวั่นไหว ความกำเริบ
ความใคร่ดี ความกำหนัดในที่ผิดธรรม ความโลภไม่เสมอ ความใคร่ อาการแห่งความใคร่
ความมุ่งหมาย ความปอง ความปรารถนาดี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ
ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-
*ตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน ความกั้น ความปิด ความบัง ความผูก
ความเข้าไปเศร้าหมอง ความนอนเนื่อง ความกลุ้มรุมจิต ความเป็นดังว่าเถาวัลย์ ความปรารถนา
วัตถุต่างๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงมาร เบ็ดมาร วิสัยมาร
แม่น้ำตัณหา ข่ายตัณหา โซ่ตัณหา สมุทรตัณหา อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล เรียกว่า วิสัตติกา.
             คำว่า วิสัตติกา ความว่า เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา. [อันซ่านไป
ในอารมณ์ต่างๆ] เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าแผ่ไป ตัณหา
จึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าแล่นไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าครอบงำ ตัณหา
จึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าสะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้
พูดผิด ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่ามีมูลรากเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะ
อรรถว่ามีผลเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. เพราะอรรถว่าเปรียบด้วยเครื่องบริโภคเป็นพิษ
ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา. อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล
คณะ ที่อยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ
เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน แล่นไป ซ่านไป
ในรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว และในธรรมที่พึงรู้แจ้ง
ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา.
             คำว่า ในโลก คือ อบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก.
             คำว่า เป็นผู้มีสติ ได้แก่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ เมื่อเจริญกายานุปัสสนา
สติปัฏฐานในกาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เมื่อเจริญ
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ. เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔
อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะ
เป็นผู้กระทำธรรมทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดธรรมทั้งหลายที่เป็น
ข้าศึกต่อสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นนิมิตแห่งสติ. เป็น
ผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ชื่อว่า
เป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้อยู่ด้วยสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ชื่อว่า
เป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ. เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือ ชื่อว่า
เป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ระลึกได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้สงบ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็น
ผู้ระงับ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ. ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะ
พุทธานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะธรรมานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะสังฆานุสสติ ชื่อว่า
เป็นผู้มีสติ เพราะสีลานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะจาคานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะ
เทวตานุสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอานาปานัสสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะมรณานุสสติ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะกายคตาสติ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะอุปสมานุสสติ. ความระลึก ความ
ระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ ความระลึก กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความ
ไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ธรรมนี้ เรียก
ว่า สติ. บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบ
ด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่า มีสติ.
             คำว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ มีความว่า
เป็นผู้มีสติ ย่อมข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย ตัณหาชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลก เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้ เพราะ
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          ผู้ใด ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย เหมือนบุคคลเว้นขาดหัวงูด้วยเท้า ผู้นั้น
                          เป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ ในโลกเสียได้.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๕๑-๒๐๙ หน้าที่ ๗-๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=151&Z=209&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=29&siri=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [14] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=29&item=14&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- [14] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=29&item=14&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :