ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๒๒
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปารายนวรรค
วัตถุคาถา
เรื่องพราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ทูลถามปัญหา
[๑] พราหมณ์พาวรี เป็นผู้เรียนจบมนต์ ปรารถนาความเป็นผู้ไม่ มีกังวล ออกจากพระนครโกศลอันน่ารื่นรมย์ ไปสู่ ทักขิณาปถชนบท [๒] พราหมณ์นั้นอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี อันเป็นพรมแดนแว่น แคว้นอัสสกะและแว่นแคว้นมุฬกะต่อกัน เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วย การเที่ยวภิกขาและผลไม้. [๓] เมื่อพราหมณ์นั้นเข้าไปอาศัย (อยู่) บ้านได้เป็นหมู่ใหญ่ด้วย ความเจริญอันเกิดแต่บ้านนั้น พราหมณ์นั้นได้บูชามหายัญ [๔] พราหมณ์นั้นบูชามหายัญแล้วก็กลับเข้าไปสู่อาศรม เมื่อ พราหมณ์นั้นกลับเข้าไปแล้ว พราหมณ์อื่นก็มา. [๕] พราหมณ์อื่นมีเท้าพิการ เดินงกงัน ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ เข้าไปหาพาวรีพราหมณ์แล้ว ขอทรัพย์ห้าร้อย. [๖] พาวรีพราหมณ์เห็นพราหมณ์นั้นเข้าแล้ว ก็เชิญให้นั่ง แล้ว ก็ถามถึงความสุขสำราญและความไม่มีโรค และได้กล่าว คำนี้ว่า [๗] ทรัพย์ของเรามีอันจะพึงให้ เราสละหมดแล้ว. ดูกรพราหมณ์ ท่านเชื่อเราเถิด ทรัพย์ห้าร้อยของเราไม่มี. [๘] ถ้าเมื่อเราขอ ท่านจักไม่ให้. ในวันที่เจ็ด ศีรษะของท่านจง แตกเจ็ดเสี่ยง. [๙] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก ปรุงแต่งแสดงเหตุให้กลัว. พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เป็นทุกข์. [๑๐] มีลูกศรคือความโศกเสียบแทงแล้ว ไม่บริโภคอาหาร ก็ซูบ ผอม. ใช่แต่เท่านั้น ใจของพาวรีพราหมณ์ผู้มีจิตเป็นอย่างนั้น ย่อมไม่ยินดีในการบูชา. [๑๑] เทวดา (ที่สิงอยู่ใกล้อาศรมของพราหมณ์พาวรี) ผู้ปรารถนา ประโยชน์ เห็นพาวรีพราหมณ์หวาดกลัวเป็นทุกข์อยู่ จึงเข้า ไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า. [๑๒] พราหมณ์ผู้มีความต้องการทรัพย์นั้น เป็นคนโกหก ย่อม ไม่รู้จักศีรษะ. ความรู้จักศีรษะหรือธรรมอันให้ศีรษะตกไป ย่อมไม่มีแก่พราหมณ์นั้น. [๑๓] พาวรีพราหมณ์ดำริว่า เทวดานี้อาจรู้ได้ในบัดนี้. (กล่าวว่า) ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะ ตกไปแก่ข้าพเจ้าเถิด. ข้าพเจ้าจะขอฟังคำของท่าน. [๑๔] แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป. ข้าพเจ้า ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้. ความเห็นซึ่งศีรษะและธรรมอันให้ ศีรษะตกไป ย่อมมีแก่พระชินะทั้งหลายเท่านั้น. [๑๕] พา. ก็ในบัดนี้ ใครในปฐพีมณฑลนี้ย่อมรู้จักศีรษะและธรรม อันให้ศีรษะตกไป. ดูกรเทวดา ขอท่านจงบอกท่านผู้นั้นแก่ ข้าพเจ้าเถิด. [๑๖] เท. พระสักยบุตร เป็นวงศ์ของพระโอกกากราชเสด็จออก จากเมืองกบิลพัสดุ์บุรี เป็นพระพุทธเจ้าผู้นำสัตว์โลก เป็น ผู้ทำ (แสดง) ธรรมอันสว่าง. [๑๗] ดูกรพราหมณ์ พระสักยบุตรนั่นแหละ เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งปวง มี จักษุในธรรมทั้งปวง ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งธรรม ทั้งปวง ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ. [๑๘] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระพุทธเจ้าในโลก มี พระจักษุ ย่อมทรงแสดงธรรม. ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด. พระองค์จักทรงพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ท่าน. [๑๙] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า แล้วมีความ เบิกบานใจ มีความโศกเบาบาง และได้ปีติอันไพบูลย์. [๒๐] พราหมณ์พาวรีนั้น มีใจยินดี มีความเบิกบาน โสมนัส ถามถึง (พระผู้มีพระภาค) กะเทวดานั้น. (และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ประทับอยู่ ณ ที่ใด คือ บ้านนิคมหรือชนบทที่เขาทำแล้ว เราทั้งหลายพึงไป นมัสการพระสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสัตว์ ณ ที่นั้น. [๒๑] เท. พระสักยบุตรนั้น เป็นพระชินะ มีพระปัญญาสามารถ มีพระปัญญากว้างขวางเช่นแผ่นดินอันประเสริฐ เป็น นักปราชญ์ ไม่มีอาสวะ ทรงรู้แจ้งศีรษะและธรรมอันให้ ศีรษะตกไป ทรงองอาจกว่านรชน ประทับอยู่ ณ พระราช- มณเฑียรแห่งพระเจ้าโกศลในพระนครสาวัตถี. [๒๒] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ ผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์มา (บอกว่า). ดูกรมาณพทั้งหลาย มานี่เถิด. เราจักบอก.ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา. [๒๓] ความปรากฏเนืองๆ แห่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดนั้น ยากที่จะหาได้ในโลก วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก มีพระนามปรากฏว่า พระ- สัมพุทธเจ้า. ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี ดู พระสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์. [๒๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ก็ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นแล้วจะรู้จักว่า เป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร? ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะรู้จัก พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยอุบายอย่างไร? ขอท่านจง บอกอุบายนั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ไม่รู้เถิด. [๒๕] พา. ก็มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ทั้งหลาย ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งบริบูรณ์แล้วโดยลำดับ. [๒๖] ท่านผู้ใดมีมหาบุรุษลักษณะเหล่านั้นในกายตัว ท่านผู้นั้นมีคติ เป็นสองอย่างเท่านั้น มิได้มีคติเป็นที่สาม. [๒๗] คือ ถ้าอยู่ครองเรือน พึงครอบครองแผ่นดินนี้. ย่อมปกครอง โดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา. [๒๘] และถ้าท่านผู้นั้นออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ- อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกิเลสดังหลังคาอันเปิดแล้ว ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า. [๒๙] พราหมณ์พาวรี (บอกแล้ว) ซึ่งชาติ โคตร ลักษณะ และมนต์อย่างอื่นอีก กะพวกศิษย์ (ได้สั่งว่า). ท่าน ทั้งหลายจงถามถึงศีรษะ และธรรมอันให้ศีรษะตกไปด้วยใจ เท่านั้น. [๓๐] ถ้าท่านผู้นั้นจักเป็นพระพุทธเจ้าผู้เห็นธรรมไม่มีเครื่องกั้น. เมื่อ ท่านทั้งหลายถามปัญหาด้วยใจแล้ว ก็จักแก้ด้วยวาจา. [๓๑] พราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ คือ อชิตพราหมณ์ ติสสเมตเตยย- พราหมณ์ ปุณณกพราหมณ์ เมตตคูพราหมณ์. [๓๒] โธตกพราหมณ์ อุปสีวพราหมณ์ นันทพราหมณ์ เหมก- พราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ กัปปพราหมณ์ ชตุกัณณี- พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต. [๓๓] ภัทราวุธพราหมณ์ อุทยพราหมณ์ โปสาลพราหมณ์ โมฆ- ราชพราหมณ์ผู้เป็นนักปราชญ์ ปิงคิยพราหมณ์ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ได้ฟังวาจาของพราหมณ์พาวรีแล้ว. [๓๔] ทั้งหมดนั้น เฉพาะคนหนึ่งๆ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ปรากฏ แก่โลกทั้งปวง เป็นผู้เจริญฌาน ยินดีในฌาน เป็นธีรชน ผู้มีจิตอบรมด้วยวาสนาในกาลก่อน. [๓๕] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทุกคน ทรงชฎาและหนังเสือ อภิวาท พราหมณ์พาวรีและกระทำประทักษิณแล้ว มุ่งหน้าเดินไปทาง ทิศอุดร. [๓๖] สู่สถานเป็นที่ตั้งแห่งแว่นแคว้นมฬุกะ เมืองมาหิสสติในกาล นั้น เมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวน- สวหยะ. [๓๗] เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต เมืองสาวัตถี เป็นเมืองอุดม เมืองเสตัพยะ เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองกุสินารา. [๓๘] เมืองปาวา โภคนคร เมืองเวสาลี เมืองมคธและปาสาณเจดีย์ อันเป็นรมณียสถาน น่ารื่นรมย์ใจ. [๓๙] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา (ปาสาณเจดีย์) เหมือนคน กระหายน้ำรีบหาน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ารีบหาลาภใหญ่ และเหมือน คนถูกความร้อนแผดเผาและรีบหาร่ม ฉะนั้น. [๔๐] ก็ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมแล้วทรง แสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือ สีหนาทอยู่ในป่า. [๔๑] อชิตพราหมณ์ ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้เพียงดังว่าดวงอาทิตย์ มีรัศมีฉายออกไป และเหมือนดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ. [๔๒] ลำดับนั้น อชิตพราหมณ์ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง รื่นเริงใจ เพราะได้เห็นอนุพยัญชนะบริบูรณ์ ในพระกายของพระผู้มี- พระภาค ได้ทูลถามปัญหาด้วยใจ. [๔๓] อ. ท่านเจาะจงใคร? จงบอกชาติ บอกโคตรพร้อมด้วย ลักษณะ. บอกความสำเร็จในมนต์ทั้งหลาย. พราหมณ์สอน มาณพ เท่าไร? [๔๔] พ. พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี ชื่อพาวรีโดยโคตร. ลักษณะ ๓ อย่างมีในตัวของพราหมณ์นั้น. พราหมณ์นั้นเป็นผู้ถึงฝั่งแห่ง ไตรเพท. [๔๕] พาวรีพราหมณ์ ถึงความสำเร็จในธรรมของตน สอนมาณพ ๕๐๐ ในมหาบุรุษลักษณะ และคัมภีร์อิติหาสะ พร้อมทั้งคัมภีร์ นิฆัณฑุศาสตร์ และคัมภีร์เกฏุภศาสตร์. [๔๖] ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดเสียซึ่งตัณหา ขอพระองค์ ทรงประกาศความกว้างแห่งลักษณะทั้งหลาย ของพราหมณ์- พาวรี. ความสงสัยอย่าได้มีแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเลย. [๔๗] พราหมณ์นั้นย่อมปกปิดหน้าได้ด้วยลิ้น. มีอุณาโลมอยู่ใน ระหว่างคิ้ว. และมีอวัยวะที่ซ่อนอยู่ในผ้าอยู่ในฝัก. ดูกร มาณพ ท่านจงรู้อย่างนี้. [๔๘] ชนทั้งปวงไม่ได้ฟังใครๆ ซึ่งเป็นผู้ถาม ได้ฟังปัญหาทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคทรงแก้แล้วเกิดความโสมนัส ประนมอัญชลี ย่อมคิดไปต่างๆ (ว่า) [๔๙] ใครหนอเป็นเทวดา เป็นพระพรหม หรือเป็นพระอินทร์ผู้ สุชัมบดี เมื่อเขาถามปัญหาด้วยใจ จะแก้ปัญหานั้นกะใครได้? [๕๐] อ. พาวรีพราหมณ์ย่อมถามถึงศีรษะ และธรรมอันทำให้ศีรษะ ตกไป. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหา ขอพระองค์ทรง โปรดพยากรณ์ข้อนั้น. กำจัดเสียซึ่งความสงสัยของข้าพระองค์ ทั้งหลายเถิด. [๕๑] พ. ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ วิชชาประกอบกับ ศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ เป็นธรรมเครื่องยัง ศีรษะให้ตกไป. [๕๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพผู้อันความโสมนัสเป็นอันมากอุดหนุนแล้ว กระทำซึ่งหนังเสือเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วซบเศียรลงแทบพระ- ยุคลบาท (ทูลว่า) [๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วย พวกศิษย์ มีจิตเบิกบานโสมนัส ขอถวายบังคมพระยุคลบาท ของพระองค์. [๕๔] พ. พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยพวกศิษย์จงเป็นผู้มีสุข. ดูกรมาณพ และแม้ท่านก็ขอให้มีความสุข มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด. [๕๕] เราให้โอกาสแก่พาวรีพราหมณ์ แก่ท่าน และแก่พราหมณ์ ทั้งหมด ตลอดข้อสงสัยทั้งปวง. ท่านทั้งหลายย่อมปรารถนา ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ในใจ ก็จงถามเถิด. [๕๖] เมื่อพระสัมพุทธเจ้าทรงประทานโอกาสแล้ว อชิตพราหมณ์ นั่งประนมมือ แล้วทูลถามปฐมปัญหากะพระตถาคต ใน บริษัทนั้น.
จบวัตถุคาถา.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๑-๑๖๙ หน้าที่ ๑-๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=1&Z=169&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=1              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1-56] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=30&item=1&items=56              The Pali Tipitaka in Roman :- [1-56] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=30&item=1&items=56              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-00-Introduction.htm

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :