ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

หน้าที่ ๑๘๔.

โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของท่านโมฆราช
[๔๙๐] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า) ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม ๒ ครั้งแล้ว. พระผู้มี- พระภาคผู้มีพระจักษุมิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์. ข้า- พระองค์ได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระเทพฤาษี (มีผู้ทูล ถามปัญหา) เป็นครั้งที่ ๓ ย่อมทรงพยากรณ์. [๔๙๑] คำว่า ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม ๒ ครั้งแล้ว ความว่า พราหมณ์ นั้นได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ๒ ครั้ง. พระผู้มีพระภาคอันพราหมณ์นั้น ทูลถามปัญหา ไม่ทรงพยากรณ์ในลำดับแห่งพระจักษุว่า ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ของพราหมณ์นี้ จักมี. พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า สักกะ ในคำว่า สกฺก. พระผู้มีพระภาคทรงผนวชจาก ศากยสกุล แม้เพราะเหตุดังนี้ จึงทรงพระนามว่า สักกะ. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก นับว่ามีทรัพย์มาก แม้เพราะเหตุ ดังนี้ จึงทรงพระนามว่า สักกะ. พระผู้มีพระภาคนั้นทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือสติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน. พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก นับว่ามีทรัพย์ด้วยทรัพย์อันเป็นรัตนะหลายอย่างนี้ แม้เพราะเหตุดังนี้ พระองค์ จึงทรงพระนามว่า สักกะ. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็นผู้อาจ ผู้องอาจ ผู้สามารถ มีความสามารถ ผู้กล้า ผู้แกล้วกล้า ผู้ก้าวหน้า ผู้ไม่ขลาด ผู้ไม่หวาดเสียว ผู้ไม่สะดุ้ง ผู้ไม่หนี ละความกลัวความ ขลาดเสียแล้ว ปราศจากขนลุกขนพอง แม้เพราะเหตุดังนี้ จึงทรงพระนามว่า สักกะ เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ ... ๒ ครั้งแล้ว.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๘๕.

คำว่า ได้ทูลถามแล้ว ความว่า ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม ทูลขอ ทูล เชื้อเชิญ ทูลให้ทรงประสาท ๒ ครั้งแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ ได้ทูลถาม ๒ ครั้งแล้ว. คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา โมฆราชา เป็นบทสนธิ. ฯลฯ คำว่า อายสฺมา เป็นเครื่องกล่าวด้วยความรัก. คำว่า โมฆราชา เป็นชื่อ เป็นคำร้องเรียกของพราหมณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านโมฆราชทูลถามว่า. [๔๙๒] คำว่า มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ในอุเทศว่า น เม พฺยากาสิ จกฺขุมา ความว่า มิได้ตรัสบอก ... มิได้ทรงประกาศ แก่ข้าพระองค์. คำว่า พระจักษุ ความว่า พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยจักษุ ๕ ประการ คือ ด้วย มังสจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ สมันตจักษุ. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยมังสจักษุอย่างไร? สี ๕ อย่าง คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีดำและสีขาว ย่อมปรากฏแก่พระผู้มีพระภาคในมังสจักษุ. ขนพระเนตรตั้งอยู่เฉพาะใน ที่ใด ที่นั้นมีสีเขียว เขียวดี น่าดู น่าชม เหมือนสีดอกผักตบ. ที่ถัดนั้นเข้าไปมีสีเหลือง เหลืองดี เหมือนสีทองคำ น่าดู น่าชม เหมือนดอกกรรณิการ์เหลือง. เบ้าพระเนตรทั้ง ๒ ข้าง ของพระผู้มีพระภาค มีสีแดง แดงดี น่าดู น่าชม เหมือนสีปีกแมลงทับทิมทอง. ที่ท่ามกลาง มีสีดำ ดำดี ไม่มัวหมอง ดำสนิท น่าดู น่าชม เหมือนสีอิฐแก่ไฟ. ที่ถัดนั้นเข้าไปมีสีขาว ขาวดี ขาวล้วน ขาวผ่อง น่าดู น่าชม เหมือนสีดาวประกายพฤกษ์. พระผู้มีพระภาคมีพระ- *มังสจักษุเป็นปกตินั้น เนื่องในพระอัตภาพ อันเกิดขึ้นเพราะสุจริตกรรมในภพก่อน ย่อมทอด พระเนตรเห็นตลอดที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน. แม้ในเวลาใดมีความมืด ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ๑ คืนวันอุโบสถข้างแรม ๑ แนวป่าทึบ ๑ อกาลเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ๑ ในความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ เห็นปานนี้ ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาค ก็ทรงทอดพระเนตรเห็นตลอดที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ. หลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้ หรือเถาวัลย์ ไม่เป็นเครื่องกันในการทอดพระเนตรเห็นรูปทั้งหลายเลย. หากว่าบุคคลพึงเอา เมล็ดงาเมล็ดหนึ่งเป็นเครื่องหมาย ใส่ลงในเกวียนสำหรับบรรทุกงา บุคคลนั้นพึงเอาเมล็ดงานั้น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๘๖.

ขึ้น. มังสจักษุเป็นปกติของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วย มังสจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคย่อมทรงพิจารณา เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ฯลฯ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทรง ทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้. พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์จะดูโลกธาตุ หนึ่งก็ดี สองก็ดี สามก็ดี สี่ก็ดี ห้าก็ดี สิบก็ดี ยี่สิบก็ดี สามสิบก็ดี สี่สิบก็ดี ห้าสิบก็ดี ร้อยก็ดี พันหนึ่งเป็นส่วนน้อยก็ดี สองพันเป็นส่วนปานกลางก็ดี สามพันก็ดี สี่พันเป็นส่วน ใหญ่ก็ดี หรือว่าทรงประสงค์เพื่อจะทรงดูโลกธาตุเท่าใด ก็ทรงเห็นโลกธาตุเท่านั้น. ทิพยจักษุ ของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคมีพระปัญญาใหญ่ มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาไว มีพระปัญญาคมกล้า มีพระปัญญา ทำลายกิเลส ทรงฉลาดในประเภทปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทาแล้ว ทรง ถึงแล้วซึ่งเวสารัชชญาณ ๔ ทรงพลญาณ ๑๐ ทรงเป็นบุรุษผู้องอาจ ทรงเป็นบุรุษสีหะ ทรงเป็น บุรุษนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษนำธุระไป มีญาณไม่มีที่สุด มีเดชไม่มีที่สุด มี ยศไม่มีที่สุด เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก นับว่ามีทรัพย์ เป็นผู้นำ นำไปให้วิเศษ นำเนืองๆ ให้เข้าใจ ให้เพ่งพินิจ เป็นผู้ตรวจ ให้เลื่อมใส. พระผู้มีพระภาคนั้นทรงยังมรรค ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ทรงยังประชาชนให้เข้าใจมรรคที่ยังไม่เข้าใจ ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรง รู้มรรค ทรงรู้แจ้งมรรค ฉลาดในมรรค. ก็แหละในบัดนี้ พระสาวกทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินตาม มรรค ประกอบในภายหลังอยู่. พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงรู้อยู่ ชื่อว่าทรงรู้ ทรงเห็นอยู่ ชื่อว่า ทรงเห็น เป็นผู้มีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีคุณอันประเสริฐ เป็นผู้ตรัสบอกธรรม ตรัสบอกทั่วไป ทรงแนะนำประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามีเสด็จไปอย่างนั้น. บทธรรมที่ พระองค์มิได้ทรงรู้ มิได้ทรงเห็น มิได้ทรงทราบ มิได้ทรงทำให้แจ่มแจ้ง มิได้ทรงถูกต้อง ด้วย ปัญญา ไม่มีเลย. ธรรมทั้งหมดรวมทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ย่อมมาสู่คลองในมุข คือ พระญาณ ของ พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว โดยอาการทั้งปวง. ขึ้นชื่อว่าบทธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ควรแนะนำ ควรรู้ มีอยู่. ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ประโยชน์ในภพนี้ ประโยชน์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๘๗.

ในภพหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก ประโยชน์เปิดเผย ประโยชน์ลี้ลับ ประโยชน์ที่ควร แนะนำ ประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ไม่มีโทษ ประโยชน์ไม่มีกิเลส ประโยชน์ขาวหรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง. ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ. กายกรรมทั้งหมด วจีกรรมทั้งหมด มโนกรรมทั้งหมด ย่อมเป็นไปตามพระญาณของ พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว. พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว มีพระญาณมิได้ขัดข้องในอดีต อนาคต ปัจจุบัน. บทธรรมที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำ ก็เท่านั้น พระญาณมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นที่สุด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีพระญาณเป็นที่สุด พระญาณไม่เป็นไปล่วงบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็ไม่ล่วงพระญาณ ธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกันและกัน. ลิ้นผอบ ๒ ลิ้นสนิทกัน ลิ้นผอบข้างล่าง ไม่เกิน ลิ้นผอบข้างบน ลิ้นผอบข้างบน ก็ไม่เกินลิ้นผอบข้างล่าง ลิ้นผอบทั้ง ๒ นั้นตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกัน ฉันใด พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว มีบทธรรมที่ควรแนะนำและพระญาณตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกัน และกัน ฉันนั้นเหมือนกัน. บทธรรมที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณก็เท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระญาณมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นที่สุด บทธรรมที่ควรแนะนำ ก็มีพระญาณเป็นที่สุด พระญาณไม่เป็นไปล่วงบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควร แนะนำก็ไม่เป็นไปล่วงพระญาณ ธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ในที่สุดแห่งกันและกัน. พระญาณของ พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง. ธรรมทั้งปวงเนื่องด้วยอาวัชชนะ เนื่องด้วยอากังขา เนื่องด้วยมนสิการ เนื่องด้วยจิตตุบาท ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว. พระญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคย่อมทรง ทราบฉันทะเป็นที่มานอน อนุสัย จริต อธิมุติ ของสัตว์ทั้งปวง. ทรงทราบชัดซึ่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญาน้อย ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญามาก ที่มี อินทรีย์แก่กล้า ที่มีอินทรีย์อ่อน ที่มีอาการดี ที่มีอาการชั่ว ที่ให้รู้ง่าย ที่ให้รู้ยาก ที่เป็นภัพพสัตว์ ที่เป็นอภัพพสัตว์ โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ย่อมเป็นไปในภายในแห่งพระพุทธญาณ. ปลาและเต่าทุกชนิด โดยที่สุดรวมถึงปลาติมิติมิงคละ ย่อมเป็นไปในภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน. นกทุกชนิดโดยที่สุดรวม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๘๘.

ถึงครุฑสกุลเวนเตยยะ ย่อมบินไปในประเทศอากาศ ฉันใด พระสาวกทั้งหลายเสมอด้วย พระสารีบุตรโดยปัญญา ย่อมเป็นไปในประเทศแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระพุทธ- *ญาณย่อมแผ่ปกคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ที่เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียด มีวาทะโต้ตอบกับผู้อื่น เป็นดังนายขมังธนูยิงขนทรายแม่น บัณฑิตเหล่านั้นเป็นประหนึ่งว่าเที่ยวทำลายทิฏฐิเขาด้วยปัญญาของตน. บัณฑิตเหล่านั้นปรุงแต่ง ปัญหาเข้ามาเฝ้าพระตถาคตแล้ว ทูลถามปัญหาเหล่านั้น. พระผู้มีพระภาคตรัสบอกและตรัสแก้ แล้ว ทรงแสดงเหตุและอ้างผลแล้ว. บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค. ในลำดับ นั้นแล พระผู้มีพระภาคย่อมไพโรจน์ยิ่งขึ้นไปด้วยพระปัญญาในสถานที่นั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่า มีพระจักษุแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดูโลก ด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญาน้อย ผู้มีกิเลสเพียง ดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญามาก ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี ผู้มีอาการชั่ว ผู้แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้มีปกติเห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่. ใน กออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบลบัวเขียว ดอกปทุมบัวหลวง หรือ ดอกบุณฑริก บัวขาว บางชนิดเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ไปตามน้ำ จมอยู่ในน้ำอันน้ำเลี้ยงไว้ บางชนิดเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ตั้งอยู่เสมอน้ำ บางชนิดเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ โผล่พ้นจากน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ แม้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้มีกิเลสเพียง ดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญาน้อย ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในนัยน์ตาคือปัญญามาก ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี ผู้มีอาการชั่ว ผู้แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวก มีปกติเห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคล นี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นโทสจริต บุคคลนี้เป็นโมหจริต บุคคลนี้เป็นวิตักกจริต บุคคลนี้ เป็นศรัทธาจริต บุคคลนี้เป็นญาณจริต. พระผู้มีพระภาคตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต. ตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่บุคคลผู้เป็นโทสจริต. ทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ตั้งอยู่ใน เพราะอุเทศและปริปุจฉา ในการฟังธรรมโดยกาล ในการสนทนาธรรมโดยกาล ในการอยู่ร่วม กับครู. ตรัสบอกอนาปานัสสติแก่บุคคลผู้เป็นวิตักกจริต ตรัสบอกความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๘๙.

ความที่ธรรมเป็นธรรมดี ความที่สงฆ์ปฏิบัติดี และศีลทั้งหลายของตน ซึ่งเป็นนิมิต เป็นที่ตั้ง แห่งความเลื่อมใส แก่บุคคลผู้เป็นศรัทธาจริต. ตรัสบอกอาการไม่เที่ยง อาการเป็นทุกข์ อาการ เป็นอนัตตา อันเป็นวิปัสสนานิมิตแก่บุคคลผู้เป็นญาณจริต. บุคคลยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลา พึงเห็นหมู่ชนโดยรอบ แม้ ฉันใด ข้าแต่พระสุเมธผู้มีพระสมันตจักษุ พระองค์เสด็จ ขึ้นแล้วสู่ปราสาทอันสำเร็จด้วยธรรม ปราศจากความโศก ก็ทรงเห็นหมู่ชนที่อาเกียรณ์ด้วยความโศก ผู้อันชาติและชรา ครอบงำ เปรียบฉันนั้น. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุอย่างไร? สัพพัญญุตญาณ ท่านกล่าวว่า สมันตจักษุ. พระผู้มีพระภาคทรงเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณ. บทธรรมอะไรๆ อันพระผู้มีพระภาคนั้นไม่ทรงเห็น ไม่ทรง รู้แจ้ง หรือไม่พึงทรงทราบ มิได้มีเลย. พระผู้มีพระภาค ทรงรู้เฉพาะซึ่งบทธรรมทั้งปวง. เนยยบทใดมีอยู่ พระผู้มี- พระภาคทรงทราบซึ่งเนยยบทนั้น. เพราะเหตุนั้น พระตถาคต จึงเป็นพระสมันตจักษุ. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุอย่างนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มี- *พระภาคมีพระจักษุ ไม่ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์. [๔๙๓] คำว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระเทพฤาษี (เมื่อมีผู้ถาม ปัญหา) เป็นครั้งที่ ๓ ย่อมทรงพยากรณ์ดังนี้ ความว่า ข้าพระองค์ได้ศึกษา ทรงจำ เข้าไป กำหนดไว้แล้วอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าใครทูลถามปัญหา อันชอบแก่เหตุเป็นครั้งที่ ๓ ย่อมทรง พยากรณ์ มิได้ตรัสห้าม. คำว่า ผู้เป็นพระเทพฤาษี ความว่า พระผู้มีพระภาคทั้งเป็นเทพทั้งเป็นฤาษี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นพระเทพฤาษี. พระราชาทรงผนวชแล้ว เรียกกันว่า พระราชฤาษี พราหมณ์บวช

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๐.

แล้วก็เรียกกันว่า พราหมณ์ฤาษี ฉันใด พระผู้มีพระภาคทั้งเป็นเทพ ทั้งเป็นฤาษี ก็ฉันนั้น เหมือนกัน. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นพระเทพฤาษี. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงผนวชแล้ว แม้เพราะเหตุดังนี้ พระองค์จึงชื่อว่า พระฤาษี. พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งศีลขันธ์ใหญ่ แม้เพราะเหตุอย่างนี้ พระองค์จึงชื่อว่าเป็นพระฤาษี. พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งสมาธิขันธ์ใหญ่ ปัญญาขันธ์ใหญ่ วิมุตติขันธ์ใหญ่ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่ แม้เพราะเหตุดังนี้ พระองค์ จึงชื่อว่า เป็นพระฤาษี. พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งการทำลายกองแห่ง ความมืดใหญ่ การทำลายวิปลาสใหญ่ การถอนลูกศรคือตัณหาใหญ่ การคลายกองทิฏฐิใหญ่ การล้มมานะเพียงดังว่าธงใหญ่ การสงบอภิสังขารใหญ่ การสลัดออกซึ่งโอฆกิเลสใหญ่ การปลง ภาระใหญ่ การตัดเสียซึ่งสังสารวัฏใหญ่ การดับความเดือดร้อนใหญ่ การระงับความเร่าร้อนใหญ่ การให้ยกธรรมดังว่าธงใหญ่ขึ้น แม้เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงชื่อว่า เป็นพระฤาษี. พระผู้มีพระภาค ทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งสติปัฏฐานใหญ่ สัมมัปปธานใหญ่ อิทธิบาทใหญ่ อินทรีย์ ใหญ่ พละใหญ่ โพชฌงค์ใหญ่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ใหญ่ นิพพานใหญ่ แม้เพราะเหตุดังนี้ พระองค์จึงชื่อว่า พระฤาษี. อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคอันสัตว์ทั้งหลายที่มีอานุภาพมาก แสวงหา เสาะหา ค้นหาว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน พระผู้มีพระภาคเป็นเทวดา ล่วงเทวดาประทับอยู่ ณ ที่ไหน พระผู้มีพระภาคผู้องอาจกว่านรชนประทับอยู่ ณ ที่ไหน แม้เพราะเหตุดังนี้ พระองค์จึงชื่อ ว่า เป็นพระฤาษี. เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระเทพฤาษี (มีผู้ทูลถามปัญหา) เป็นครั้งที่ ๓ ย่อมทรงพยากรณ์. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม ๒ ครั้งแล้ว. พระ- ผู้มีพระภาคมีพระจักษุมิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ข้า- พระองค์ได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระเทพฤาษี (มีผู้ ทูลถามปัญหา) เป็นครั้งที่ ๓ ย่อมทรงพยากรณ์. [๔๙๔] โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกกับเทวโลก ย่อมไม่ทราบความ เห็นของพระองค์ ผู้โคดมเป็นผู้มียศ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๑.

[๔๙๕] คำว่า โลกนี้ ในอุเทศว่า อยํ โลโก ปโร โลโก ดังนี้ คือ มนุษยโลก. คำว่า โลกอื่น คือ โลกทั้งหมด ยกมนุษยโลกนี้ เป็นโลกอื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า โลกนี้ โลกอื่น. [๔๙๖] คำว่า พรหมโลกกับเทวโลก ความว่า พรหมโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พรหมโลกกับเทวโลก. [๔๙๗] คำว่า ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ ความว่า โลกย่อมไม่ทราบซึ่งความ เห็น ความควร ความชอบใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของพระองค์ว่า พระผู้มีพระภาค นี้มีความเห็นอย่างนี้ มีความควรอย่างนี้ มีความชอบใจอย่างนี้ มีลัทธิอย่างนี้ มีอัธยาศัยอย่างนี้ มีความประสงค์อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์. [๔๙๘] คำว่า ผู้โคดมเป็นผู้มียศ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงถือยศแล้ว เพราะฉะนั้น พระองค์จึงมียศ. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคอันเทวดาและมนุษย์สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ทรงเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะฉะนั้น จึง ชื่อว่า ผู้โคดมเป็นผู้มียศ. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกกับเทวโลก ย่อมไม่ทราบความ เห็นของพระองค์ ผู้โคดมเป็นผู้มียศ. [๔๙๙] ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ เห็นธรรมอันงามอย่างนี้. เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น. [๕๐๐] คำว่า ผู้เห็นธรรมอันงามอย่างนี้ ความว่า ผู้เห็นธรรมอันงาม เห็นธรรมอันเลิศ เห็นธรรมอันประเสริฐ เห็นธรรมอันวิเศษ เห็นธรรมเป็นประธาน เห็นธรรมอันอุดม เห็นธรรม อย่างยิ่งอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้เห็นธรรมอันงามอย่างนี้. [๕๐๑] คำว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้า ความว่า พวกข้าพระองค์ เป็นผู้มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้า ฯลฯ เพื่อให้ทรงชี้แจง เพื่อตรัส แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๒.

[๕๐๒] คำว่า พิจารณาเห็นโลกอย่างไร ความว่า ผู้มองเห็น เห็นประจักษ์ พิจารณา เทียบเคียง เจริญ ทำให้แจ่มแจ้งอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พิจารณาเห็นโลกอย่างไร? [๕๐๓] คำว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น ความว่า มัจจุราชย่อมไม่เห็น ไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ ไม่ได้เฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ เห็นธรรมอันงามอย่างนี้. เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น. [๕๐๔] ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความ เป็นของสูญ ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว พึงข้ามพ้นมัจจุราช ได้ด้วยอุบายอย่างนี้. เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น. [๕๐๕] คำว่า โลก ในอุเทศว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ ดังนี้ คือ นิรยโลก ติรัจฉานโลก ปิตติวิสยโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก. ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โลก โลก ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า โลก เพราะเหตุเท่าไรหนอแล? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ เรากล่าวว่าโลก เพราะเหตุว่า ย่อมแตก. อะไรแตก? จักษุแตก รูปแตก จักษุวิญญาณแตก จักษุสัมผัสแตก สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุขเวทนาก็ดี ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็แตก. หูแตก เสียง แตก จมูกแตก กลิ่นแตก ลิ้นแตก รสแตก กายแตก โผฏฐัพพะแตก มนะแตก ธรรมารมณ์ แตก มโนวิญญาณแตก มโนสัมผัสแตก สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุขเวทนาก็ดี ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็แตก. ดูกรภิกษุ ธรรมมีจักษุเป็นต้นนั้น ย่อมแตกดังนี้แล เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวว่าโลก. คำว่า จงพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ความว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดย ความเป็นของสูญ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยสามารถความกำหนดว่าไม่เป็นไปในอำนาจ ๑ ด้วยสามารถการพิจารณาเห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่า ๑.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๓.

บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญด้วยสามารถการกำหนดว่า ไม่เป็นไป ในอำนาจ อย่างไร? ใครๆ ย่อมไม่ได้อำนาจในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ใน วิญญาณ. สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และจะพึงได้ ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่ เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็น อย่างนี้ รูปของเราจงอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. เวทนาเป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้ จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และพึงได้ในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า ขอเวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. สัญญาเป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักเป็น อัตตาแล้วไซร้ สัญญานี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และพึงได้ในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า ขอสัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. สังขารเป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารนี้จักเป็น อัตตาแล้วไซร้ สังขารนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และจะพึงได้ในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้ สังขารของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสังขารเป็น อนัตตา ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในสังขารว่า ขอสังขารของเราจงเป็น อย่างนี้ สังขารของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. วิญญาณเป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณ นี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ วิญญาณนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และจะพึงได้ในวิญญาณว่า ขอ วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะ วิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่า ขอ วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๔.

และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้ไม่ใช่ ของท่านทั้งหลาย ทั้งไม่ใช่ของผู้อื่น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่านี้อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีเจตนาเป็นมูลเหตุ. ท่านทั้งหลายพึงเห็นว่าเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกายนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมมนสิการโดยแยบคายด้วยดีถึงปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละว่า เพราะเหตุ ดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะ วิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหา เป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติ เป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่ง กองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชานั้นแลดับโดยสำรอกไม่เหลือ สังขาร จึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬาย- *ตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหา จึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกอบทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อม มีด้วยอาการอย่างนี้. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยสามารถการกำหนด ว่าไม่เป็นไปในอำนาจ อย่างนี้. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยสามารถการพิจารณาเห็นสังขาร โดยความเป็นของว่างเปล่า อย่างไร? ใครๆ ย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ. รูปไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระว่าความเที่ยง เป็นแก่นสาร โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตนเป็นแก่นสาร โดยความเที่ยง โดยความยั่งยืน โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา. เวทนาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร สัญญาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร สังขาร ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร วิญญาณไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจาก

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๕.

แก่นสาร โดยสาระว่าความเที่ยงเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตน เป็นแก่นสาร โดยความเที่ยง โดยความยั่งยืน โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวน เป็นธรรมดา. ต้นอ้อไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต้นละหุ่งไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต้นมะเดื่อไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต้นรักไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต้นทองหลางไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ฟองน้ำไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต่อมน้ำไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต้นกล้วยไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง พยัมแดดไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฉันใด รูปไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระว่าความเที่ยงเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตนเป็นแก่นสาร โดยความเที่ยง โดยความยั่งยืน โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา เวทนาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร สัญญาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร สังขารไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร วิญญาณไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดย สาระว่า ความเที่ยงเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตนเป็นแก่นสาร โดยความเที่ยง โดยความยั่งยืน โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยสามารถการพิจารณา เห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่า อย่างนี้. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้. อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๖ อย่าง คือ บุคคลย่อมเห็นรูปโดยความที่ตนไม่เป็นใหญ่ ๑ โดยทำตามความชอบใจไม่ได้ ๑ โดยเป็น ที่ตั้งแห่งความไม่สบาย ๑ โดยไม่เป็นไปในอำนาจ ๑ โดยเป็นไปตามเหตุ ๑ โดยว่างเปล่า ๑. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความที่ตนไม่เป็นใหญ่ ... โดย ว่างเปล่า. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ โดยอาการ ๖ อย่างนี้. อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๑๐ อย่าง คือ บุคคลย่อมพิจารณาเห็นรูป โดยความว่าง ๑ โดยความเปล่า ๑ โดยความสูญ ๑ โดยไม่ใช่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๖.

ตน ๑ โดยไม่เป็นแก่นสาร ๑ โดยเป็นดังผู้ฆ่า ๑ โดยความเสื่อม ๑ โดยเป็นมูลแห่งทุกข์ ๑ โดยมีอาสวะ ๑ โดยความเป็นขันธ์อันปัจจัยปรุงแต่ง ๑. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความว่าง ... โดยความเป็นขันธ์อันปัจจัยปรุงแต่ง. บุคคลย่อมพิจารณาเห็น โลกโดยความเป็นของสูญ โดยอาการ ๑๐ อย่างนี้. อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ โดยอาการ ๑๒ อย่าง คือ ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูปไม่ใช่สัตว์ ๑ ไม่ใช่ชีวิต ๑ ไม่ใช่บุรุษ ๑ ไม่ใช่คน ๑ ไม่ใช่มาณพ ๑ ไม่ใช่หญิง ๑ ไม่ใช่ชาย ๑ ไม่ใช่ตน ๑ ไม่ใช่ของที่เนื่องกับตน ๑ ไม่ใช่เรา ๑ ไม่ใช่ของเรา ๑ ไม่มีใครๆ ๑. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่สัตว์ ... ไม่มีใครๆ. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๑๒ อย่างนี้. และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเล่าไม่ใช่ของท่าน ทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้น อันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขตลอดกาลนาน. ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย เวทนาไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ... สัญญาไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ... สังขารไม่ใช่ของ ท่านทั้งหลาย ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละวิญญาณ นั้นเสีย วิญญาณนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอด กาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? หญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ใด ที่มีอยู่ในเชตวันวิหารนี้ ชนพึงนำหญ้า ไม้ กิ่งไม้และใบไม้นั้นไปเสีย เผาเสีย หรือพึงทำตามควรแก่เหตุ. ท่านทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำเราทั้งหลายไปเสีย เผาเสีย หรือทำตามควรแก่เหตุบ้างหรือหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. นั่นเป็นเพราะเหตุอะไร? เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ตนหรือสิ่งที่เนื่องกับตนของข้าพระองค์ทั้งหลาย อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย. สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๗.

เพื่อความสุขตลอดกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูป นั้นเสีย รูปนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละ สิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอด กาลนาน. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้. ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า โลกสูญ ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า โลกสูญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เพราะสูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องกับตน ฉะนั้น จึงกล่าวว่า โลกสูญ. ดูกรอานนท์ สิ่งอะไรเล่าสูญจากตน หรือจากสิ่งที่เนื่องกับตน? จักษุสูญ รูปสูญ จักษุวิญญาณสูญ จักษุสัมผัสสูญ สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุข- *เวทนาก็ดี ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็สูญจากตนหรือสิ่งที่เนื่องกับตน. หูสูญ เสียงสูญ จมูกสูญ กลิ่นสูญ ลิ้นสูญ รสสูญ กายสูญ โผฏฐัพพะสูญ ใจสูญ ธรรมารมณ์สูญ มโนวิญญาณสูญ มโนสัมผัสสูญ สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุข- *เวทนาก็ดี ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็สูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่อง กับตน. ดูกรอานนท์ เพราะสูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องกับตนนั่นแล ฉะนั้น จึงกล่าวว่า โลกสูญ. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้. ดูกรคามณิ เมื่อบุคคลเห็นซึ่งความเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรม ทั้งสิ้น ซึ่งความสืบต่อแห่งสังขารทั้งสิ้น ตามความเป็นจริง ภัยนั้นย่อมไม่มี. เมื่อใด บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกเสมอ หญ้าและไม้ด้วยปัญญา เมื่อนั้น บุคคลนั้นก็ไม่พึงปรารถนา ภพหรืออัตภาพอะไรๆ อื่น เว้นไว้แต่นิพพานอันไม่มี ปฏิสนธิ. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้. และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมตาม ค้นหารูป. คติของรูปมีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาเวทนา. คติของเวทนามีอยู่เท่าไร? ตามค้นหา สัญญา. คติของสัญญามีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาสังขาร. คติของสังขารมีอยู่เท่าไร? ตามค้นหา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๘.

วิญญาณ. คติของวิญญาณมีอยู่เท่าไร? ก็เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ เมื่อภิกษุตามค้นหารูป คติ ของรูปมีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาเวทนา คติของเวทนามีเท่าไร? ตามค้นหาสัญญา คติของสัญญา มีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาสังขาร คติของสังขารมีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาวิญญาณ คติของวิญญาณ มีอยู่เท่าไร? แม้ความถือใดด้วยอำนาจทิฏฐิว่า เราก็ดี ด้วยอำนาจตัณหาว่า ของเราก็ดี ด้วย อำนาจมานะว่า เป็นเราก็ดี ของภิกษุใดมีอยู่ ความถือแม้นั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น. บุคคลย่อม พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้. คำว่า จงพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ความว่า จงมองดู จงพิจารณา จงเทียบเคียง จงตรวจตรา จงให้แจ่มแจ้ง จงทำให้ปรากฏ ซึ่งโลกโดยความเป็นของสูญ เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า จงพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ. [๕๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่าโมฆราช ในอุเทศว่า โมฆราช สทา สโต ดังนี้. คำว่า ทุกเมื่อ คือ ตลอดกาลทั้งปวง ฯลฯ ในตอนวัยหลัง. คำว่า ผู้มีสติ คือ มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญสติปัฏฐาน เครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้นตรัสว่า เป็นผู้มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูกรโมฆราช ... มีสติทุกเมื่อ. [๕๐๗] ทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ตรัสว่า อัตตานุทิฏฐิ ในอุเทศว่า อตฺตานุทิฏฺฐิ อูหจฺจ ดังนี้. ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับ แนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับ แนะนำในธรรมของบุรุษ ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง ตามเห็น รูปในตนบ้าง ตามเห็นตนในรูปบ้าง ตามเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็น ตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง ทิฏฐิอันไปแล้ว ทิฏฐิอันรกชัฏ ทิฏฐิเป็นทางกันดาร ทิฏฐิเป็นข้าศึก (เสี้ยนหนาม) ทิฏฐิอันแส่ ไปผิด ทิฏฐิเป็นเครื่องประกอบไว้ ความถือ ความยึดถือ ความถือมั่น ความจับต้องทางชั่ว ทางผิด ความเป็นผิด ลัทธิแห่งเดียรถีย์ ความถือโดยการแสวงหาผิด ความถือวิปริต ความ ถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในวัตถุไม่จริงว่าเป็นจริง ทิฏฐิ ๖๒ มีเท่าไร? ทิฏฐินี้เป็น อัตตานุทิฏฐิ. คำว่า ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว ความว่า รื้อ ถอน ฉุด ชัก ลากออก เพิกขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งอัตตานุทิฏฐิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ถอน อัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙๙.

[๕๐๘] คำว่า พึงข้ามพ้นมัจจุได้ด้วยอุบายอย่างนี้ ความว่า พึงข้ามขึ้น ก้าวล่วง เป็น ไปล่วง แม้ซึ่งมัจจุ แม้ซึ่งชรา แม้ซึ่งมรณะ ด้วยอุบายอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงข้ามพ้น มัจจุได้ด้วยอุบายอย่างนี้. [๕๐๙] คำว่า พิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ ความว่า มองเห็น พิจารณาเห็น เทียบเคียง พิจารณา ให้เจริญ ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งโลกด้วยอย่างนี้. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พิจารณาเห็นโลก อย่างนี้. [๕๑๐] แม้มารก็ชื่อว่ามัจจุราช แม้ความตายก็ชื่อว่ามัจจุราช ในอุเทศว่า มจฺจุราชา น ปสฺสติ ดังนี้. คำว่า ย่อมไม่เห็น ความว่า มัจจุราชย่อมไม่เห็น คือ ไม่ประสบ ไม่พบ ไม่ปะ ไม่ได้เฉพาะ. สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เนื้อที่อยู่ในป่า เมื่อเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ เดินไปก็ไม่ระแวง ยืนอยู่ก็ไม่ระแวง นั่งพักอยู่ก็ไม่ระแวง นอนอยู่ ก็ไม่ระแวง. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเนื้อนั้นไม่ไปในทางของพราน แม้ฉันใด ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็เหมือนฉันนั้นแล สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ทำมาร ให้มืด กำจัดมารไม่ให้มีทาง ไปแล้วสู่สถานเป็นที่ไม่เห็นด้วยจักษุแห่งมารผู้ลามก. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าทุติยฌาน อันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอก ผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่. เข้า ตติยฌาน เข้าจตุตถฌาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ทำมารให้มืด กำจัดมารไม่ ให้มีทาง ไปแล้วสู่สถานเป็นที่ไม่เห็นด้วยจักษุของมารผู้ลามก. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะ ล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวงอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ทำมารให้มืด กำจัดมารไม่ให้มีทาง ไปแล้วสู่สถานเป็นที่ ไม่เห็นด้วยจักษุของมารผู้ลามก. อีกประการหนึ่ง ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง เข้าวิญญาณัญ- *จยาตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดไม่ได้. ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง เข้าอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า อะไรๆ น้อยหนึ่งไม่มี ล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดย

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๐.

ประการทั้งปวง เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่. ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดย ประการทั้งปวง เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่. และอาสวะของภิกษุนั้นก็หมดสิ้นไป เพราะเห็น ด้วยปัญญา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่าทำมารให้มืด กำจัดมารไม่ให้มีทาง ไปแล้วสู่ สถานเป็นที่ไม่เห็นด้วยจักษุของมารผู้ลามก ข้ามแล้วซึ่งตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ. ภิกษุ นั้นเดินอยู่ก็ไม่ระแวง ยืนอยู่ก็ไม่ระแวง นั่งอยู่ก็ไม่ระแวง นอนอยู่ก็ไม่ระแวง. ข้อนั้นเพราะ เหตุไร? เพราะภิกษุนั้นไม่ไปในทางแห่งมารผู้ลามก. เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มัจจุราชย่อมไม่เห็น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความ เป็นของสูญทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว พึงข้ามพ้น มัจจุได้ด้วยอุบายอย่างนี้. เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น. พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของ ข้าพระองค์. ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล.
จบ โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๕.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๔๕๑๙-๔๙๓๕ หน้าที่ ๑๘๔-๒๐๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=4519&Z=4935&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=34              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=490              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [490-510] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=30&item=490&items=21              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=1754              The Pali Tipitaka in Roman :- [490-510] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=30&item=490&items=21              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=1754              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-15.htm

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :