ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ปิงคิยมาณวกปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของท่านปิงคิยะ
[๕๑๑] (ท่านปิงคิยะทูลถามว่า) ข้าพระองค์เป็นคนแก่ มีกำลังน้อย ปราศจากผิวพรรณ. นัยน์ตาไม่แจ่มใส. หูฟังไม่สะดวก. ข้าพระองค์อย่า เป็นคนหลง เสียไปในระหว่างเลย. ขอพระองค์โปรดตรัส บอกธรรมที่ข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง อันเป็นคนที่ละชาติและชรา ณ ที่นี้เถิด. [๕๑๒] คำว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่ มีกำลังน้อย ปราศจากผิวพรรณ ความว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่ คนเฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ มีอายุ ๑๒๐ ปี แต่ กำเนิด. คำว่า มีกำลังน้อย ความว่า ทุรพล มีกำลังน้อย มีเรียวแรงน้อย. คำว่า ปราศจากผิวพรรณ ความว่า ปราศจากผิวพรรณ มีผิวพรรณปราศไป ผิวพรรณ อันงามผ่องเมื่อวัยต้นนั้นหายไปแล้ว มีโทษปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์เป็นคน แก่มีกำลังน้อย ปราศจากผิวพรรณ. คำว่า อิติ ในอุเทศว่า อิจฺจายสฺมา ปิงฺคิโย ดังนี้ เป็นบทสนธิ. คำว่า อายสฺมา เป็น เครื่องกล่าวด้วยความรัก. คำว่า ปิงฺคิโย เป็นชื่อ เป็นคำร้องเรียกของพราหมณ์นั้น. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านปิงคิยะทูลถามว่า. [๕๑๓] คำว่า นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่สะดวก ความว่า นัยน์ตาไม่แจ่มใส ไม่ หมดจด ไม่บริสุทธิ์ ไม่ผ่องแผ้ว. ข้าพระองค์เห็นรูปไม่ชัดด้วยนัยน์ตาเช่นนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นัยน์ตาไม่แจ่มใส. คำว่า หูฟังไม่สะดวก ความว่า หูไม่แจ่มใส ไม่หมดจด ไม่บริสุทธิ์ ไม่ผ่องแผ้ว. ข้าพระองค์ฟังเสียงไม่ชัดด้วยหูเช่นนั้น. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ สะดวก. [๕๑๔] คำว่า ข้าพระองค์อย่าเป็นคนหลงเสียไปในระหว่างเลย ความว่า ข้าพระองค์ อย่าเสียหายพินาศไปเลย. คำว่า เป็นผู้หลง คือ เป็นผู้ไม่รู้ ไปแล้วในอวิชชา ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทราม. คำว่า ในระหว่าง ความว่า ข้าพระองค์ไม่รู้ ไม่ทำให้แจ้ง ไม่ทำให้ปรากฏ ไม่ได้เฉพาะ ไม่ถูกต้อง ไม่ทำให้กระจ่างแล้ว ซึ่งธรรม ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค ของพระองค์ พึงทำกาละเสีย ในระหว่างแท้จริง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ข้าพระองค์อย่าเป็นคนหลงเสียไปในระหว่างเลย. [๕๑๕] คำว่า ขอโปรดตรัสบอกธรรม ในอุเทศว่า อาจิกฺข ธมฺมํ ยมหํ วิชญฺญํ ดังนี้ ความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ... ขอจงประกาศ ซึ่งพรหมจรรย์ยังงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง และสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน ข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอพระองค์โปรด ตรัสบอกธรรม. คำว่า ที่ข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง ความว่า ที่ข้าพระองค์พึงรู้ พึงรู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด บรรลุได้ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอโปรดตรัสบอกธรรมที่ ข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง. [๕๑๖] คำว่า เป็นที่ละชาติและชรา ณ ที่นี้ ความว่า เป็นที่ละ ที่สงบ ที่สละคืน ที่ระงับชาติ ชราและมรณะ เป็นอมตนิพพาน ณ ที่นี้แหละ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นที่ละชาติ และชรา ณ ที่นี้ เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่ มีกำลังน้อย ปราศจากผิวพรรณ. นัยน์ตาไม่แจ่มใส. หูฟังไม่สะดวก. ข้าพระองค์อย่า เป็นคนหลง เสียไปในระหว่างเลย. ขอพระองค์โปรดตรัส บอกธรรมที่ข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง อันเป็นที่ละชาติและชรา ณ ที่นี้เถิด. [๕๑๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรปิงคิยะ) ชนทั้งหลาย ผู้มัวเมา ย่อมเดือดร้อนในเพราะรูปทั้งหลาย เพราะเห็น ชนทั้งหลายลำบากอยู่ ในเพราะรูปทั้งหลาย. ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ละรูปเสีย เพื่อ ความไม่เกิดต่อไป. [๕๑๘] คำว่า รูเปสุ ในอุเทศว่า ทิสฺวาน รูเปสุ วิหญฺญมาเน ดังนี้ ความว่า มหาภูตรูป ๔ และรูปอันอาศัยมหาภูตรูป ๔. สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อน ลำบาก ถูกเขา เบียดเบียน ถูกเขาฆ่า เพราะเหตุแห่งรูป เพราะปัจจัยแห่งรูป เพราะการณะแห่งรูป. เมื่อรูปมี อยู่ พระราชาทั้งหลายย่อมให้ทำกรรมกรณ์หลายอย่าง คือให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วย หวายบ้าง ให้ตอกคาบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ให้ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูก บ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง ทำให้มีหม้อข้าวเดือดบนศีรษะบ้าง ให้ถลกหนังศีรษะโล้นมีสีขาว ดังสังข์บ้าง ทำให้มีหน้าเหมือนหน้าราหูบ้าง ทำให้ถูกเผาทั้งตัวบ้าง ทำให้มีไฟลุกที่มือบ้าง ให้ ถลกหนังแล้วผูกเชือกฉุดไปบ้าง ให้ถลกหนังแล้วให้นุ่งเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง ทำให้มีห่วง เหล็กที่ศอกและเข่าแล้วใส่หลาวเหล็กตรึงไว้บ้าง ให้เอาเบ็ดเกี่ยวติดที่เนื้อปากบ้าง ให้ถากด้วย พร้าให้ตกไปเท่ากหาปณะบ้าง ให้มีตัวถูกถากแล้วทาด้วยน้ำแสบบ้าง ให้นอนตะแคงแล้วตอก หลาวเหล็กไว้ในช่องหูบ้าง ให้ถลกหนังแล้วทุบกระดูกพันไว้เหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วย น้ำมันอันร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินเนื้อที่ตัวบ้าง เอาหลาวเสียบเป็นไว้บ้าง และเอาดาบตัดศีรษะ. สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อนลำบาก ถูกเขาเบียดเบียน ถูกเขาฆ่า เพราะเหตุ ปัจจัย การณะแห่ง รูปอย่างนี้. เพราะพบเห็น พิจารณา เทียบเคียง ให้เจริญ ทำให้กระจ่าง ซึ่งชนทั้งหลายผู้ เดือดร้อนลำบากอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า เพราะเห็นชนทั้งหลายลำบากอยู่ในเพราะ รูปทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า ปิงคิยะ ในอุเทศว่า ปิงฺคิยาติ ภควา ดังนี้. คำว่า ภควา นี้ เป็นเครื่องกล่าวโดยเคารพ. ฯลฯ คำว่า ภควา เป็นสัจฉิกาบัญญัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสบอกว่า. [๕๑๙] คำว่า รุปฺปนฺติ ในอุเทศว่า รุปฺปนฺติ รูเปสุ ชนา ปมตฺตา ดังนี้ ความว่า เดือดร้อน กำเริบ ลำบาก ถูกเบียดเบียน ถูกฆ่า หวาดเสียว ถึงโทมนัส คือ เดือดร้อน กำเริบ ลำบาก ถูกเบียดเบียน ถูกฆ่า หวาดเสียว ถึงโทมนัส เพราะโรคนัยน์ตา เพราะ โรคในหู ฯลฯ เพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เสือกคลาน เพราะเหตุนั้น จึง ชื่อว่า ย่อมเดือดร้อนในเพราะรูปทั้งหลาย. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อจักษุเสื่อม เสีย เสื่อมไปรอบ เป็นไปต่างๆ ปราศไป อันตรธานไป ชนทั้งหลายก็เดือดร้อน ฯลฯ เมื่อหู จมูก ลิ้น กาย ฯลฯ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เสื่อม เสีย เสื่อมไปรอบ เป็นไปต่างๆ ปราศไป อันตรธานไป ชนทั้งหลายก็ เดือดร้อน. ฯลฯ แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า ย่อมเดือดร้อนในเพราะรูปทั้งหลาย. คำว่า ชนทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา และมนุษย์. ความประมาทในคำว่า ผู้ประมาท ดังนี้ ควรกล่าว ความปล่อย ความตามเพิ่มความ ปล่อยจิตไปในกายทุจริตก็ดี ในวจีทุจริตก็ดี ในมโนทุจริตก็ดี ในเบญจกามคุณก็ดี หรือความ ไม่ทำเนืองๆ ความทำหยุดๆ ความประพฤติย่อหย่อน ความปลงฉันทะ ความทอดธุระ ความ ไม่ซ่องเสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจ ความไม่ประกอบเนืองๆ ใน ความเจริญธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล ชื่อว่าความประมาท ความประมาท กิริยาที่ประมาท ความ เป็นผู้ประมาท เห็นปานนี้ ตรัสว่า ความประมาท. ชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยความประมาทนี้ ชื่อว่าผู้ประมาท เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนทั้งหลายผู้ประมาทย่อมเดือดร้อนในเพราะรูปทั้งหลาย. [๕๒๐] คำว่า เพราะเหตุนั้น ในอุเทศว่า ตสฺมา ตุวํ ปิงฺคิย อปฺปมตฺโต ดังนี้ ความว่า เพราะ เหตุนั้น เพราะการณะนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนินทานั้น คือ เมื่อท่านเห็นโทษในรูปทั้งหลาย อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่าน. คำว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ความว่า เป็นผู้ทำด้วยความเคารพ ทำเนืองๆ ฯลฯ ไม่ ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านเป็นผู้ ไม่ประมาท. [๕๒๑] คำว่า รูปํ ในอุเทศว่า ชหสฺส รูปํ อปุนพฺภวาย ดังนี้ คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปอันอาศัยมหาภูตรูป ๔. คำว่า จงละรูป ความว่า จงละ จงละขาด จงบรรเทา จงทำให้สิ้นสุด จงให้ถึง ความไม่มีซึ่งรูป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าจงละรูป. คำว่า เพื่อความไม่เกิดต่อไป ความว่า รูปของท่านพึงดับในภพนี้นี่แหละ ฉันใด ความ มีปฏิสนธิอีก ไม่พึงบังเกิด คือ ไม่เกิด ไม่พึงเกิดพร้อม ไม่พึงบังเกิด คือไม่เกิด ไม่พึง เกิดพร้อม ไม่พึงบังเกิด ไม่พึงบังเกิดเฉพาะในกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโว- *การภพ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ สงสาร วัฏฏะ อีก ชื่อว่า พึงดับ คือ สงบ ถึงความตั้งอยู่ ไม่ได้ ระงับไป ในภพนี้นี่แหละ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า จงละรูปเสียเพื่อความไม่เกิด ต่อไป. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ชนทั้งหลายผู้มัวเมา ย่อมเดือดร้อนในเพราะรูปทั้งหลาย เพราะ เห็นชนทั้งหลายลำบากอยู่ในเพราะรูปทั้งหลาย ดูกรปิงคิยะ เพราะ เหตุนั้น ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ละรูปเสียเพื่อความไม่เกิด ต่อไป. [๕๒๒] ทิศทั้ง ๑๐ นี้ คือ ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบนและทิศ เบื้องต่ำ พระองค์ไม่ทรงเห็นแล้ว ไม่ทรงได้ยินแล้ว ไม่ได้ทรง ทราบแล้ว หรือไม่ทรงรู้แจ้งแล้วเพียงน้อยหนึ่ง มิได้มีในโลก. ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง อันเป็นเหตุ ละชาติและชรา ณ ที่นี้เถิด. [๕๒๓] คำว่า ทิศทั้ง ๑๐ นี้ คือ ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบนและทิศเบื้องต่ำ ความว่า ทิศ ๑ คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ในภพหน้า ฯลฯ ปรมัตถประโยชน์ พระองค์ไม่ทรงเห็นแล้ว ไม่ทรงได้ยินแล้ว ไม่ทรง ทราบแล้ว ไม่ทรงรู้แจ้งแล้วเพียงน้อยหนึ่ง มิได้มี ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระองค์มิได้ทรงเห็นแล้ว มิได้ทรงได้ยินแล้ว มิได้ทรงทราบแล้ว หรือมิได้ทรงรู้แจ้ง แล้วเพียงน้อยหนึ่ง มิได้มีในโลก. [๕๒๔] คำว่า ขอจงโปรดตรัสบอกธรรม ในอุเทศว่า อาจิกฺข ธมฺมํ ยมหํ วิชญฺญํ ดังนี้ ความว่า ขอจงตรัสบอก ... ขอจงประกาศ ซึ่งพรหมจรรย์อันงามในเบื้องต้น ฯลฯ ข้อปฏิบัติ อันให้ถึงนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอจงโปรดตรัสบอกธรรม. คำว่า ที่ข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง ความว่า ที่ข้าพระองค์พึงรู้ พึงรู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทง ตลอด บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอจงโปรดตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ พึงรู้แจ้ง. [๕๒๕] คำว่า เป็นเหตุละชาติและชรา ณ ที่นี้ ความว่าเป็นที่ละ ที่สงบ ที่สละคืน ที่ระงับชาติชราและมรณะ เป็นอมตนิพพาน ณ ที่นี้แหละ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นที่ละชาติ และชรา ณ ที่นี้. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ทิศทั้ง ๑๐ นี้ คือ ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบนและทิศ เบื้องต่ำ พระองค์ไม่ทรงเห็นแล้วไม่ทรงได้ยินแล้ว ไม่ได้ทรง ทราบแล้ว หรือไม่ทรงรู้แจ้งแล้วเพียงน้อยหนึ่ง มิได้มีในโลก. ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง อันเป็นเหตุ ละชาติและชรา ณ ที่นี้เถิด. [๕๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรปิงคิยะ) ท่านเห็นอยู่ซึ่งหมู่ มนุษย์ ผู้ถูกตัณหาครอบงำเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้างแล้ว. ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ละตัณหา เสีย เพื่อความไม่เกิดต่อไป. [๕๒๗] รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา ชื่อว่า ตัณหา ในอุเทศว่า ตณฺหาธิปนฺเน มนุเช เปกฺขมาโน ดังนี้. คำว่า ผู้ถูกตัณหาครอบงำ ความว่า ผู้ถูกตัณหาครอบงำ คือ ผู้ไปตามตัณหา ผู้แล่นไป ตามตัณหา ผู้จมอยู่ในตัณหา ผู้ถูกตัณหาครอบงำ มีจิตอันตัณหายึดไว้. คำว่า มนุเช เป็น ชื่อของสัตว์. คำว่า เห็นอยู่ ความว่า เห็น พบ ตรวจดู เพ่งดู พิจารณา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เห็นอยู่ซึ่งหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำ. พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า ปิงคิยะ. [๕๒๘] คำว่า เดือดร้อน ในอุเทศว่า สนฺตาปชาเต ชรสา ปรเต ดังนี้ ความว่า ผู้เดือดร้อนเพราะชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เพราะ ทุกข์อันมีในนรก ฯลฯ เพราะทุกข์ เพราะความฉิบหายแห่งทิฏฐิ ผู้เกิดจัญไร เกิดอุบาทว์ เกิด ความขัดข้อง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เดือดร้อน. คำว่า อันชราถึงรอบด้านแล้ว ความว่า ผู้อันชราถูกต้อง ถึงรอบด้าน ประชุมลง ไป ตามชาติ ชราก็แล่นตาม พยาธิก็ครอบงำ มรณะก็ห้ำหัน ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่ซ่อนเร้น ไม่ถืออะไรเป็นสรณะ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เดือดร้อน อันชราถึงรอบ ด้านแล้ว. [๕๒๙] คำว่า ตสฺมา ในอุเทศว่า ตสฺมา ตุวํ ปิงฺคิย อปฺปมตฺโต ดังนี้ ความว่า เพราะเหตุนั้น คือ เพราะการณะนั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิทานนั้น คือ เมื่อ เห็นโทษในตัณหาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่าน. คำว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ความว่า เป็นผู้ทำโดยความเคารพ ทำเนืองๆ ไม่ประมาทแล้ว ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท. [๕๓๐] รูปตัณหา ... ธรรมตัณหา ชื่อว่า ตัณหา ในอุเทศว่า ชหสฺส ตณฺหํ อปุนพฺภวาย ดังนี้, คำว่า จงละตัณหา ความว่า จงละ จงละขาด บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความ ไม่มีซึ่งตัณหา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า จงละตัณหา. คำว่า เพื่อความไม่เกิดต่อไป ความว่า รูปของท่านพึงดับในภพนี้นี่แหละ ฉันใด ความมีปฏิสนธิอีก ไม่พึงบังเกิด คือ ไม่พึงเกิด ไม่พึงเกิดพร้อม ไม่พึงบังเกิด ไม่พึงบังเกิดเฉพาะในกามธาตุ ... หรือวัฏฏะ พึงดับ สงบ ถึง ความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ในภพนี้นี่แหละ ฉันนั้น. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า จงละตัณหา เสียเพื่อความไม่เกิดต่อไป. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ท่านเห็นอยู่ซึ่งหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำ เดือดร้อน อันชรา ถึงรอบข้างแล้ว. ดูกรปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นผู้ ไม่ประมาท ละตัณหาเสียเพื่อความไม่เกิดต่อไป. [๕๓๑] พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ธรรมจักษุอันปราศจากกิเลสธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่สัตว์หลายพันผู้มีฉันทะเป็นอันเดียวกัน มีประโยคเป็นอันเดียวกัน มีความประสงค์ เป็นอันเดียวกัน มีการอบรมวาสนาเป็นอันเดียวกัน กับปิงคิยพราหมณ์นั้น ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา. ส่วนปิงคิยพราหมณ์นั้น มีธรรมจักษุ (อนาคามิมรรค) อันปราศจากกิเลสธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา. หนังเสือ ชฎา ผ้า. คากรอง ไม้เท้า เต้าน้ำ ผมและหนวดหายไปแล้ว พร้อมกับการได้ธรรมจักษุ. พระปิงคิยะนั้น เป็นภิกษุทรงผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ทำความเคารพด้วยการปฏิบัติเป็นไป ตามประโยชน์ นั่งนมัสการ พระผู้มีพระภาคประกาศว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค เป็นพระศาสดาของข้าพระองค์, ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล.
จบ ปิงคิยมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๖.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๔๙๓๖-๕๑๑๙ หน้าที่ ๒๐๑-๒๐๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=4936&Z=5119&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=30&siri=35              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=511              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [511-531] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=30&item=511&items=21              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=2028              The Pali Tipitaka in Roman :- [511-531] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=30&item=511&items=21              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=2028              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-16.htm

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :