พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


031 ทำอย่างไรจะเข้าถึงแก่นพระศาสนา

ปัญหา ธรรมดาต้นไม้ใหญ่ย่อมมีทั้งใบอ่อน สะเก็ด เปลือก กระพี้และแก่น พระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ ก็น่าจะมีเครื่องประกอบเหล่านี้อะไรคือใบอ่อน สะเก็ด เปลือก กระพี้ และแก่นของพระพุทธศาสนา? ภิกษุในพระพุทธศาสนาควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะเข้าถึงแก่นพระศาสนา?

     พุทธดำรัสตอบ “...กุลบุตรบางคนในโลกนี้คิดเห็นว่าเราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันโศกแลความร่ำไรแลทุกข์และความเสียใจความคับแค้นทั้งหลายครอบงำแล้ว... เป็นผู้ออกจากเรือนบวชแล้ว ในธรรมวินัยด้วยศรัทธา... ครั้นบวชแล้วอย่างนั้น ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ เธอก็เป็นผู้มีความยินดีเต็มความดำริด้วยลาภสักการะความสรรเสริญนั้น ย่อมยกตนข่มผู้อื่น ... ว่าเราเป็นผู้มีลาภสักการะแลความสรรเสริญ ส่วนภิกษุเหล่าอื่นเป็นผู้ลี้ลับมีศักดานุภาพน้อย ดังนี้ เธอไม่ให้เกิดความพอใจไม่พากเพียร เพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอันยิ่งกว่าประณีตกว่าลาภสักการะความสรรเสริญนั้น... เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่ กระพี้ เปลือกสะเก็ดเสีย เด็ดเอาใบอ่อนที่กิ่งด้วยเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้
     “...กุลบุตรอีกคนหนึ่ง เห็นทุกข์อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ออกจากเรือนบวชในธรรมวินัย... ให้ลาภสักการะสรรเสริญเกิดข้นอยู่อย่างนั้น แต่ไม่เป็นผู้มีใจยินดีด้วยลาภสักการะสรรเสริญนั้น... เธอให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นอยู่ ครั้นให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นผู้มีใจยินดีเต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายที่ประณีตกว่าศีล เรากล่าวบุคคลนี้ว่าเปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่... ล่วงแก่นกระพี้ เปลือกเสียถากเอาสะเก็ดเข้าใจว่าแก่ถือเอาไปกิจที่ควรทำด้วยแก่นไม้ ของบุรุษนั้นก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้
     “...ผู้หนึ่งครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ให้ความถึงพร้อมด้วยศีล เกิดขึ้นอยู่... แต่ไม่เต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น เธอให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้น ครั้นให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นแล้ว เธอก็มีใจยินดีเต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้น ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้น ... ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมอื่น ซึ่งประณีตกว่าความถึงพร้อมด้วยสมาธิ เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้...เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ล่วงแก่นกระพี้เสีย ถากเอาเปลือกเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้
     “...ผู้หนึ่งครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ให้ความถึงพร้อมด้วยศีล ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นแล้ว... แต่ไม่เต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น เธอให้ญาณทัสสนะคือ ความรู้ความเห็นเกิดขึ้นได้ ครั้นให้ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแล้ว เธอก็มีใจยินดี... ย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วย ญาณทัสสนะ นั้น ... ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอื่นซึ่งประณีตกว่า... เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้...เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ล่วงแก่นกระพี้เสีย ถากเอาเปลือกเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้
     “...กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ ... ให้ความถึงพร้อมด้วยศีลแลสมาธิแล ญาณทัสสนะเกิดขึ้นอยู่ เธอก็ไม่เป็นผู้มีใจยินดี... พากเพียรอยู่เพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอื่นอันประณีตกว่าญาณทัสสนะ ธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะเป็นไฉน
     “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุฌานที่แรก... ธรรมนี้ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะ
     “อีกข้อหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้บรรลุฌานที่สาม... ได้บรรลุฌานที่สี่ ... บรรลุอากาสานัญจายตนอรูปฌาน... บรรลุวิญญาณัญจายตนอรูปฌาน...บรรลุอากิญจัญญายตนอรูปฌาน... บรรลุเนวสัญญานาสัญญานอรูปฌาน... บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ... อาสวะทั้งหลายของภิกษุนั้นสิ้นไปแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา แม้ธรรมนี้ก็ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบเหมือนบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่รู้จักว่าแก่น ตัดเอาแต่แก่นเท่านั้นถือเอาไป กิจที่ควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักสำเร็จประโยชน์ได้ ดังนี้
     “พรหมจรรย์นี้มิใช่มีลาภสักการะความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยศีลและสมาธิ แลญาณทัสสนะเป็นอานิสงค์ พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติ ความที่จิตพ้นวิเศษอันไม่กำเริบนี้แลเป็นประโยชน์ พรหมจรรย์นี้มีวิมุตินั้นเป็นแก่นสาร มีวิมุตินั้นเป็นที่สุดรอบ ๙”

จูฬสาโรปมสูตร มู. ม. (๓๕๕-๓๖๐)
ตบ. ๑๒ : ๓๗๗-๓๘๔ ตท.๑๒ : ๓๑๒-๓๑๗
ตอ. MLS. I : ๒๔๗-๒๕๓


<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster