พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


048 พระอรหันต์นิพพานแล้วไปไหน

๔๖. ปัญหา คนธรรมดาตายแล้วย่อมเกิดในภพต่างๆ ตามกรรม ส่วนพระอรหันต์ผู้สิ้นกรรมแล้ว ไปเกิดที่ไหน?

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนวัจฉะ คำว่า จะเกิดดังนี้ไม่ควรเลย.... คำว่า ไม่เกิดดังนี้ก็ไม่ควร.... คำว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ก็ไม่ควร.... คำว่าเกิดก็มีใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ก็ไม่ควร
“.....ธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเป็นยากที่จะรู้ สงบระงับประณีตไม่ใช่ธรรมที่จะหลั่งถึงได้ด้วยความตรึกละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยากดูก่อนวัจฉะ...... เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้..... ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านท่านจะพึงรู้หรือไม่ว่าไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”
วัจฉะ “ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”
พุทธะ “...... ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้อาศัยอะไรจึงลุกเล่า ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?
วัจฉะ “......ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้จึงลุกอยู่”
พุทธะ “......ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้จะดับไปต่อหน้าเราแล้ว?”
วัจฉะ “ ...... ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว.....”
พุทธะ “......ไฟที่ดับไปต่อหน้าท่านแล้วนั้นไปยังทิศไหนจากทิศนี้.... ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?”
วัจฉะ “...... ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้จึงลุกแต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่า ไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว”
พุทธะ “......ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะรูปใด...... เพราะเวทนาใด....... เพราะสัญญาใด........ เพราะสังขารใด เพราะวิญญาณใด รูป...... เวทนา...... สัญญา.....สังขาร..... วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เห็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความมี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูป....... เวทนา...... สัญญา.... สังขาร...... วิญญาณ มีคุณอันลึกอันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มีไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้”

อัคคิวัจฉโคตตสูตร ม. ม. (๒๔๘-๒๕๑)
ตบ. ๑๓ : ๒๔๕-๒๔๘ ตท.๑๓ : ๒๐๙-๒๑๑
ตอ. MLS. II : ๑๖๕-๑๖๖


<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :