พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


394 วิธีทำจิตใจตอนเจ็บหนัก

ปัญหา ในเวลาเจ็บหนักจวนตาย ควรจะทำจิตใจอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติคอยกาลเวลานี้เป็นคำแนะนำของเราแก่ท่านทั้งหลาย
“ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นภายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรในความรู้ตัว มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เป็นประจำ พิจารณาเห็นจิตใจอยู่เป็นประจำ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เป็นประจำ อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้มีสติ
“ภิกษุเป็นผู้มีความรู้ตัวอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยหลับ.... การแล.... การเหลียว...การคู้เข้า...การเหยียดออก...การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ... การกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม... การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ... การเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง...
“ถ้าเมื่อภิกษุนั้น มีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า เวทนาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า เวทนานั้นมีที่อาศัยจึงเกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี่แลไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็เวทนาอาศัยกายอันไม่เที่ยง จักเที่ยงแต่ที่ไหนดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความเที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและเวทนา ย่อมละราคานุสัยในกายและสุขเวทนา ย่อมละปฏิฆานุสัยในกายและทุกขเวทนา ย่อมละอวิชชานุสัยในกายและอทุกขมสุขเวทนาเสียได้
“ถ้าภิกษุเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวย เวทนานั้น ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งกาย ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งกาย เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งชีวิต ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งชีวิต ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อกายแตกตายหลังแต่ความสิ้นชีวิต เวทนาที่ไม่น่าเพลิดเพลินทั้งปวงในโลกนี้ จักดับเย็นสนิทไป...


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันอาศัยน้ำมันและไส้จึงลุกโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้ ประทีปนั้นไม่มีเชื้อเพลิง พึงดับไป...”


เคลัญญสูตร ที่ ๑ สฬา. สํ. (๓๗๔-๓๘๑)
ตบ. ๑๘ : ๒๖๐-๒๖๔ ตท. ๑๘ : ๒๔๒-๒๔๕
ตอ. K.S. ๔ : ๑๔๒-๑๔๓

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :