พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


487 อินทรีย์ ๕ สนับสนุนกันและกัน

ปัญหา อินทรีย์ ทั้ง ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ต่างเป็นกำลังสนับสนุนกันอย่างไร?

พระสารีบุตรทูลตอบพระพุทธองค์ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในพระตถาคตหรือในศาสนาของพระตถาคต... จักเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมสมบูรณ์ มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
“.....วิริยะของอริยสาวกนั้นเป็นวิริยินทรีย์..... อริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว จักเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสิตเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง จักจดจำกิจที่ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานมาแล้วได้....
“ความระลึกถึงได้ของอริยสาวกนั้นเป็นสตินทรีย์ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้วมีสติตั้งมั่นแล้ว... จักยึดเหนี่ยวเอาความสลัดออกเป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว
“.....สมาธิของอริยสาวกนั้นเป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธาปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นอย่างถูกต้อง.... จักรู้ชัดอย่างนี้ว่าสงสารมีที่สุด และเบื้องต้นที่บุคคลรู้ไม่ได้ เบื้องต้นและที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัดไว้ แล่นไป ท่องเที่ยวไป ส่วนความดับเพราะสิ้นราคะโดยไม่มีส่วนเหลือ แห่งมวลความมืด คือ อวิชชาเป็นทางสงบ ทางประณีต คือ ทางสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นราคะ ความดับทุกข์ และนิพพาน
“....ปัญญาของอริยสาวกนั้นเป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้นมีศรัทธา พยายามแล้วพยายามเล่า ระลึกแล้วระลึกเล่า จิตตั้งมั่นแล้วตั้งมั่นเล่า รู้ชัดแล้วรู้ชัดเล่าอย่างนี้ ย่อมเชื่อมั่นว่า ธรรมเหล่านี้แลเมื่อก่อนเป็นแต่ธรรมที่เราได้ยินได้ฟังมา บัดนี้เราประสบธรรมนั้นด้วยนามกายแล้วดำรงอยู่ และแทงทะลุด้วยปัญญาเห็นแจ้งชัดอยู่.....”

สัทธาสูตร มหา. สํ. (๑๐๑๑-๑๐๑๕ )
ตบ. ๑๙ : ๒๙๗-๒๙๙ ตท. ๑๙ : ๒๘๑-๒๘๒
ตอ. K.S. ๕ : ๒๐๐-๒๐๒

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :