พิมพ์หน้านี้ | ส่งหน้านี้ให้เพื่อน |
 


84000.org
 
       
 

84000.org::...

09-พระอุบาลีเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย

พระอุบาลี เกิดในตระกูลช่างกัลบก ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้รับแต่งตั้ง
ให้ทำหน้าที่เป็นช่างกัลบก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่างภูษามาลา มีหน้าที่ตัดแต่งพระเกศา
ประจำราชสกุลศากยะ ซึ่งมีเจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และ
เจ้าชายอานนท์ เป็นต้น ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี เสมอต้นเสมอปลายต่อเจ้าชาย
ทุก ๆ พระองค์ จนเป็นที่ไว้วางพระหฤทัย
  • ขอบวชตามเจ้าศากยะ
    ในสมัยที่พระพุทธองค์ เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่นครกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จไป
    ประทับที่อนุปิยอัมพวัน ซึ่งเป็นแว่นแคว้นของมัลลกษัตริย์ เจ้าชายศากยะทั้ง ๕ พระองค์ ที่
    กล่าวนามข้างต้น ได้ตัดสินพระทัยออกบวชเป็นพุทธสาวก และอุบาลีช่างกัลบกก็ขอบวชด้วย
    จึงรวมเป็น ๗ พระองค์ด้วยกัน
    พระอุบาลี เมื่อบวชแล้ว ได้ศึกษาพระกรรมฐานจากพระภาค หลังจากนั้นท่านมีความ
    ประสงค์จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า เพื่อหาความสงบตามลำพัง แต่เมื่อกราบทูลลาพระผู้มี
    พระภาคแล้ว พระองค์ไม่ทรงอนุญาต ได้มีรับสั่งแก่เธอว่า
    “อุบาลี ถ้าเธอไปอยู่ในป่าบำเพ็ญสมณธรรม ก็จะสำเร็จเพียงวิปัสสนาธุระ แต่ถ้าเธออยู่
    ในสำนักของคถาคต ก็จะสำเร็จธุระทั้งสอง คือ ทั้งวิปัสสนาธุระ และคันถธุระ (การเรียนคัมภีร์
    ต่าง ๆ )”
    ท่านปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสแนะนำ ได้ศึกษาพระพุทธพจน์ไปพร้อมกับเจริญ
    วิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลในพรรษานั้น หลังจากนั้นท่านก็เป็นกำลัง
    สำคัญ ในการเผยแผ่พระศาสนา เพราะความที่ท่านอยู่ใกล้ชิดพระบรมศาสดาโดยตรง ท่านจึงมี
    ความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ในด้านพระวินัย ท่านช่วยอบรมสั่งสอนถ่ายทอดความรู้ด้าน
    พระวินัยให้แก่ศิษย์สัทธิวิหาริกของท่านเป็นจำนวนมาก ถ้ามีอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์หรือ
    เกี่ยวกับพระวินัยแล้ว พระพุทธองค์จะทรงมอบให้ท่านเป็นผู้วินิจฉัย

  • ตัดสินใจคดีภิกษุณีท้อง
    สมัยหนึ่ง ลูกสาวเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ หลังจากแต่งงานแล้วเข้ามาบวชโดยไม่ทราบว่า
    ตนตั้งครรภ์ เมื่อบวชได้ไม่นานครรภ์โตขึ้นมาก เป็นที่รังเกียจสงสัยของพุทธบริษัททั้งหลาย
    พระพุทธองค์แม้จะทรงทราบความจริงอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ความจริงปรากฏชัดแก่พุทธบริษัททั้ง
    ปวง จึงรับสั่งให้พระอุบาลีเถระตัดสินความเรื่องนี้
    พระเถระ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาร่วมกันพิสูจน์ โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็น
    ประธาน มีนางวิสาขา และอนาถปิณฑิกะ เป็นต้น ร่วมกันพิจารณาเมื่อคณะผู้พิจารณาได้ตรวจดู
    มือ เท้า และลักษณะของครรภ์แล้วนับวันนับเดือนสอบประวัติย้อนหลังโดยละเอียดแล้วก็ทราบ
    ชัดเจนว่า “นางตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนบวช”
    พระอุบาลีเถระ จึงได้ประกาศตัดสินในท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง ๔ ว่า “ภิกษุณีรูปนี้ยังมี
    ศีลบริสุทธิ์อยู่” แล้วกราบทูลเนื้อความให้พระบรมศาสดาทรงทราบ พระพุทธองค์ได้ตรัส
    อนุโมทนาสาธุการแก่พระเถระว่า “ชำระความได้ถูกต้องยุติธรรม”

  • ปฐมสังคายนาวิสัชนาพระวินัย
    ผลงานที่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญ ทำให้พระพุทธศาสนายืนยาวสืบสอดมาถึงปัจจุบันนี้
    ก็คือ หลังจากที่พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระ ได้คัดเลือก
    พระอรหันตสาวก จำนวน ๕๐๐ รูป ร่วมกันทำปฐมสังคายนา โดยมติของที่ประชุมสงฆ์ได้มอบ
    ให้ท่านรับหน้าที่วิสัชนาพระวินัย โดยรวบรวมพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในที่ต่าง ๆ
    เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ นำมาจัดรวบรวมเป็นหมวดหมู่จนเป็น พระวินัยปิฎก ที่เป็นหลักฐานให้
    ศึกษากันในปัจจุบันนี้
    อนึ่ง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยการนำของพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ก็ถือว่า
    ท่านสืบเชื้อสายการศึกษาพระวินัยมากจากศิษย์ของพระอุบาลีเถระเช่นกัน
    ด้วยความที่ท่านพระอุบาลีเถระ เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านพระวินัยนี้ จึงได้รับยกย่องจาก
    พระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ทรงพระวินัย
    ท่านพระอุบาลีเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

84000.org...::

สารบัญหลักหมวดภิกษุ
| 01 | 02 | 03 | 04 | 05 | 06 | 07 | 08 | 09 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
| 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 |
 
     

 

| หน้าแรก | ส่งเมลให้webmaster | เว็บบอร์ด |