ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าปรากฏแก่เทวดาและมนุษย์
[๘๘๙] คำว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ย่อมปรากฏเด่นชัด ความว่า พวกเทวดา ย่อมเห็นพระผู้มีพระภาคประทับแสดงธรรมอยู่ที่บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ ณ ควงไม้ปาริฉัตตกะ ใน ภพดาวดึงส์ ฉันใด พวกมนุษย์ก็ย่อมเห็นฉันนั้น. พวกมนุษย์ย่อมเห็นฉันใด พวกเทวดาก็ย่อม เห็นฉันนั้น. พระผู้มีพระภาคย่อมปรากฏแก่พวกเทวดาฉันใด ก็ย่อมปรากฏแก่พวกมนุษย์ฉันนั้น. พระผู้มีพระภาคย่อมปรากฏแก่มนุษย์ฉันใด ก็ย่อมปรากฏแก่พวกเทวดาฉันนั้น แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด. อีกอย่างหนึ่ง ท่านสมณพราหมณ์ บางพวกมิได้ฝึกตน ก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคลผู้ฝึกตน มิได้สงบ ก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคล ผู้สงบ มิได้ระงับ ก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคลผู้ระงับ มิได้ดับ ก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคลผู้ดับ. สมจริงดังภาษิตว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ ณ ภายใน งามแต่ภายนอก เป็นผู้ อันบริวารห้อมล้อมเที่ยวไปในโลก เหมือนหม้อน้ำทำด้วยดินหุ้มทองคำ และเหมือนเหรียญมาสกโลหะชุบทองคำฉะนั้น. พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ปรากฏแม้อย่างนั้น. พระผู้มีพระภาคทรงฝึกพระองค์แล้ว ย่อม ปรากฏโดยเพศแห่งพระพุทธเจ้าผู้ฝึกแล้ว ทรงสงบแล้ว ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งพระพุทธเจ้า ผู้สงบแล้ว ทรงระงับแล้ว ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งพระพุทธเจ้าผู้ระงับแล้ว ทรงดับแล้ว ย่อม ปรากฏโดยเพศแห่งพระพุทธเจ้าผู้ดับแล้ว โดยความจริง โดยเป็นจริง โดยถ่องแท้ โดยความ เป็นจริง โดยไม่วิปริต โดยสภาพ. ก็พระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้เป็นพระพุทธเจ้า มีพระอิริยาบถ มิได้กำเริบ ทรงสมบูรณ์ด้วยปณิธิ (ความปรารถนา) แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า พระผู้มี พระภาคผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีพระเกียรติอันบริสุทธิ์ ทรงเพรียบพร้อมด้วยพระเกียรติยศและความสรรเสริญเป็นเช่นนี้ เช่นนั้น และอย่างยิ่ง ใน ภพนาค ภพครุฑ ภพยักษ์ ภพอสูร ภพคนธรรพ์ ภพมหาราช ภพอินทร์ ภพพรหม แม้ด้วย เหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มี พระภาคทรงประกอบด้วยพละ ๑๐ ย่อมปรากฏ ประจักษ์ รู้ได้ด้วยเวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เดชธรรม พลธรรม คุณธรรม วิริยะ ปัญญา. สมจริงดังที่ตรัส ไว้ว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนภูเขาหิมวันต์ ฉะนั้น อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏในที่นี้ เหมือนลูกศรที่ยิงไปในกลางคืน ฉะนั้น. แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด.
ว่าด้วยจักษุ ๕ ประการ
คำว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ความว่า พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุ ด้วยจักษุ ๕ ประการ คือ มีพระจักษุแม้ด้วยมังสจักษุ ๑ มีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุ ๑ มีพระจักษุแม้ด้วย ปัญญาจักษุ ๑ มีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุ ๑ มีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุ ๑. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยมังสจักษุอย่าง? สี ๕ อย่าง คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีดำ และสีขาว ย่อมปรากฏมีอยู่ในมังสจักษุของพระผู้มีพระภาค. ขนพระเนตรของ พระผู้มีพระภาคตั้งอยู่ในที่ใด ที่นั้นมีสีเขียว เขียวสนิท น่าชม น่าดู เหมือนดอกผักตบ. ต่อจากที่ นั้นมีสีเหลือง เหลืองนวล สีเหมือนทองคำ น่าชมน่าดู เหมือนดอกกรรณิการ์. ขอบเบ้า พระเนตรทั้ง ๒ ของพระผู้มีพระภาค มีสีแดง แดงงาม น่าชม น่าดู เหมือนสีปีกแมลงทับ. ที่ท่ามกลางพระเนตรมีสีดำ ดำงาม ไม่หมองมัว ใสสนิท น่าชม น่าดู เหมือนสีสมอดำ (อิฐแก่ไฟ). ต่อจากที่นั้นมีสีขาว ขาวงาม เปล่งปลั่ง ขาวนวล น่าชม น่าดู เหมือนสีดาว ประกายพฤกษ์. พระผู้มีพระภาคมีพระมังสจักษุนั้นเป็นปกติเนื่องในพระวรกาย เกิดเฉพาะด้วย สุจริตกรรมในภพก่อน ทรงเห็นตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน. แม้เมื่อใด มีมือประกอบด้วยองค์ ๔ คือ พระอาทิตย์อัสดงคต ๑ วันอุโบสถมีในกาฬปักษ์ ๑ แนวป่าทึบ ๑ ก้อนอกาลเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ๑. เมื่อนั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงเห็นตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบในที่มืด อันประกอบด้วยองค์ ๔ แม้เห็นปานนี้. ที่หลุมก็ดี บานประตูก็ดี กำแพงก็ดี ภูเขาก็ดี กอไม้ ก็ดี เถาวัลย์ก็ดี เป็นเครื่องบังการเห็นรูปทั้งหลาย ย่อมไม่มี. หากว่า บุคคลพึงเอางาเมล็ดหนึ่ง ทำเป็นเครื่องหมายใส่ลงในเกวียนบรรทุกงา พระผู้มีพระภาคก็พึงทรงหยิบเอาเมล็ดงานั้นแหละขึ้น ได้. พระมังสจักษุเป็นปกติของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ ด้วยมังสจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยทิพยจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคย่อมทรงเห็นหมู่ สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วย ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ หนอ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึด ถือการทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์ เหล่านี้ ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ และทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วย ประการดังนี้. ก็พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงพระประสงค์ ก็พึงทรงเห็นแม้โลกธาตุหนึ่ง แม้โลกธาตุ ๒ แม้โลกธาตุ ๓ แม้โลกธาตุ ๔ แม้โลกธาตุ ๕ แม้โลกธาตุ ๑๐ แม้โลกธาตุ ๒๐ แม้โลกธาตุ ๓๐ แม้โลกธาตุ ๔๐ แม้โลกธาตุ ๕๐ แม้โลกธาตุพันหนึ่งเป็นส่วนเล็ก แม้โลกธาตุสองพันเป็น ส่วนกลาง แม้โลกธาตุสามพัน แม้โลกธาตุหลายพัน. พระผู้มีพระภาค ทรงพระประสงค์เท่าใด ก็พึงทรงเห็นเท่านั้น. ทิพยจักษุของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุ แม้ด้วยทิพยจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคทรงมีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง มีปัญญารื่นเริง มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาคมกล้า มีปัญญาชำแรกกิเลส ทรงฉลาดในประเภทปัญญา มีญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงบรรลุเวสารัชชญาณ ๔ ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็นบุรุษสีหะ ทรงเป็นบุรุษนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษนำธุระไปเป็นปกติ มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศหา ที่สุดมิได้ ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ ทรงนำไปโดย วิเศษ นำเนืองๆ ให้รู้จักประโยชน์ ให้เพ่งพิจารณาให้เห็นประโยชน์ ให้แล่นไปด้วยปสาทะ. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงเป็นผู้ให้มรรคที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น ทรงให้มรรคที่ยังไม่เกิด พร้อมให้เกิดขึ้นพร้อมผู้ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงรู้ซึ่งมรรค ทรงทราบซึ่งมรรค ทรง ฉลาดในมรรค. ก็แหละในบัดนี้ สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ ดำเนินตามมรรคอยู่ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม มีพรหมธรรม ผู้ตรัสบอก ผู้ตรัสบอกโดยประการ เป็นผู้นำออกซึ่งอรรถ ทรงประทานอมตธรรม ทรงเป็นธรรม สามี เป็นพระตถาคต. สิ่งที่ไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงทราบ ไม่ทรงทำให้แจ่มแจ้ง ไม่ทรงถูก ต้องด้วยปัญญา ย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น. ธรรมทั้งปวงรวมทั้งอดีต อนาคตและ ปัจจุบัน ย่อมมาสู่คลองในมุขคือพระญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้วโดยอาการทั้งปวง. ชื่อ ว่าประโยชน์ที่ควรแนะนำทุกๆ อย่าง อันชนควรรู้ มีอยู่คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง ประโยชน์มีในชาตินี้ ประโยชน์มีในชาติหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับ ประโยชน์ที่ปกปิด ประโยชน์ที่ควรแนะนำ ประโยชน์ที่บัณฑิตแนะนำไปแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษ ประโยชน์ไม่มีกิเลส ประโยชน์อันผ่องแผ้ว ประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปรอบในภายในพระพุทธญาณ. พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว มีพระญาณ ไม่ขัดข้องในอดีต มีพระญาณไม่ขัดข้องในอนาคต มีพระญาณไม่ขัดข้องในปัจจุบัน. กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทั้งหมด ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว. บทธรรม ที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระญาณ มีส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำ บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีส่วนสุดรอบแห่งพระญาณ พระ ญาณไม่เป็นไปรอบเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็ไม่เกินพระญาณไป ธรรมเหล่านั้นมีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน. เมื่อชั้นผะอบสองชั้นปิดกันสนิทพอดี ชั้นผะอบข้างล่างก็ไม่เกินชั้นผะอบข้างบน ชั้นผะอบข้างบนก็ไม่เกินชั้นผะอบข้างล่าง ชั้นผะอบ ทั้ง ๒ นั้นมีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน ฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็ดี พระ ญาณก็ดี ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน บทธรรม ที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระ ญาณมีส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำ บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีส่วนสุดรอบแห่งพระ ญาณ พระญาณไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็ไม่เกินพระ ญาณ ธรรมเหล่านั้น มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน ฉันนั้นเหมือนกัน. พระญาณ ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปรอบในธรรมทั้งปวง. ธรรมทั้งปวงเนื่องด้วยความนึก เนื่องด้วยความหวัง เนื่องด้วยมนสิการ เนื่องด้วยจิตตุบาท ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว. พระ ญาณของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปรอบในสัตว์ทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคย่อมทรง ทราบอัธยาศัย อนุสัย จริต อธิมุติ แห่งสัตว์ทั้งปวง ย่อมทรงทราบเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสธุลีน้อย ในปัญญาจักษุ มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการ ทราม ผู้ควรแนะนำได้โดยง่าย ผู้แนะนำได้โดยยาก เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์ โลก พร้อม ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็น ไปรอบในภายในพระพุทธญาณ. ปลาและเต่าทุกชนิด โดยที่สุดรวมทั้งปลาติมิ ปลาติมังคละ และปลาติมิติมิงคละ ย่อมเป็นไปรอบในภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปรอบในภายในพระพุทธ ญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน. นกทุกชนิด โดยที่สุดรวมทั้งครุฑเวนไตยโคตร ย่อมเป็นไปรอบใน ประเทศอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลายผู้เสมอด้วยพระสารีบุตรโดยปัญญา ย่อมเป็นไป รอบในประเทศแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระพุทธญาณย่อมแผ่ปกคลุมปัญญาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่. พวกบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะมีปัญญา ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูยิงขนหางทรายแม่น เที่ยวไปดุจทำลายทิฏฐิของผู้ อื่นด้วยปัญญาของตน บัณฑิตเหล่านั้น ปรุงแต่งปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหา เหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคตรัสย้อนถามและตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุที่ทรงแสดงออกและ ทรงสลัดออก. บัณฑิตเหล่านั้นเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงไพโรจน์ยิ่ง ด้วยพระปัญญาในที่นั้นโดยแท้แล พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุอย่างไร? พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดู สัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสธุลีมาก ในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ควรแนะนำได้โดย ง่าย ผู้แนะนำได้โดยยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่. ในกอบัวเขียว ในกอ บัวแดง หรือในกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางดอกเกิดในน้ำ เจริญ ในน้ำ ขึ้นตามน้ำ จมอยู่ในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ตั้งอยู่ เสมอน้ำ บางดอกเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด แม้ฉันใด พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพระพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลส ธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้แนะนำได้โดย ง่าย ผู้แนะนำได้โดยยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน. พระ ผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคลนี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นโทสจริต บุคคลนี้เป็นโมหจริต บุคคลนี้เป็นวิตักกจริต บุคคลนี้เป็นศรัทธาจริต บุคคลนี้เป็นญาณจริต. พระผู้มีพระภาคย่อม ตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต. ย่อมตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่บุคคลผู้เป็นโทสจริต. ทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ตั้งอยู่ในการเรียน ในการไต่ถาม ในการฟังธรรมตามกาลอัน ควร ในการสนทนาธรรมตามกาลอันควร ในการอยู่ร่วมกับครู. ย่อมตรัสบอกอานาปาณสติแก่ บุคคลผู้เป็นวิตักกจริต. ย่อมตรัสบอกพระสูตรอันเป็นนิมิตดี ความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม ความปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์ และศีลทั้งหลายของตน อันเป็นที่ ตั้งแห่งความเลื่อมใส แก่บุคคลผู้เป็นศรัทธาจริต. ย่อมตรัสบอกธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา ซึ่งมีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตา แก่บุคคลผู้เป็นญาณจริต. สมจริงดังประพันธ์คาถาว่า บุรุษยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลา พึงเห็นหมู่ชนโดยรอบ ฉันใด ข้าแต่พระผู้ มีพระภาคผู้มีพระปัญญาดี มีจักษุโดยรอบพระองค์ มีความโศกไป ปราศจากแล้ว ทรงขึ้นสู่ปราสาทอันสำเร็จด้วยธรรม ขอจงทรงตรวจ ดูหมู่ชนผู้อาเกียรณ์ด้วยความโศก ถูกชาติและชราครอบงำ ฉันนั้น. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยพุทธจักษุอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุอย่างไร? พระสัพพัญญุตญาณ เรียกว่า สมันตจักษุ. พระผู้มีพระภาคไปใกล้ ไปใกล้ดีแล้ว เข้าถึง เข้าถึงดีแล้ว เข้าไปถึงดีแล้ว ประกอบแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณ. สมจริงดังประพันธ์คาถาว่า สิ่งอะไรๆ ในไตรโลกธาตุนี้ อันปัญญาจักษุของพระตถาคตนั้นไม่เห็น แล้ว ย่อมไม่มี อนึ่ง ธรรมชาติอะไรๆ อันพระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง แล้วและที่ไม่พึงรู้ ย่อมไม่มี ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่ พระตถาคต ทรงทราบแล้วซึ่งธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด เพราะเหตุนั้น พระ ตถาคต จึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักษุ. พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแม้ด้วยสมันตจักษุอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏเด่นชัด.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๐๒๑๓-๑๐๓๖๖ หน้าที่ ๔๒๙-๔๓๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=10213&Z=10366&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=889&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=889&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=889&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=889&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=889              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]