ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
๓. สุวรรณสามชาดก
สุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี
[๔๘๒] ใครหนอยิงเราผู้มัวประมาทกำลังแบกหม้อน้ำ ด้วยลูกศร กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ คนไหนยิงเราแล้วแอบอยู่ เนื้อของเราก็กินไม่ได้ ประโยชน์ด้วยหนังก็ไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ คนที่ยิงนี้ เข้าใจว่าเราเป็นผู้ อันจะพึงยิง ด้วยเหตุอะไรหนอ ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรใคร เราจะ รู้จักท่านได้อย่างไร ดูกรสหาย เราถามแล้วขอท่านจงบอกเถิด ท่านยิง เราแล้วแอบอยู่ทำไมเล่า. [๔๘๓] เราเป็นพระราชาของชนชาวกาสี ชนทั้งหลายเรียกเราว่า พระเจ้าปิลยักข์ เราละแว่นแคว้นมาเที่ยวแสวงหามฤคเพราะความโลภ อนึ่ง เราเป็น ผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏว่าแม่นยำ หนักแน่น แม้ช้างมาสู่ระยะลูกศร ของเรา ก็ไม่พึงพ้นไปได้ ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรใคร เราจักรู้จัก ท่านได้อย่างไร ขอท่านจงบอกนาม และโคตรของบิดาท่าน และตัว ของท่านเถิด. [๔๘๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรของฤาษีผู้เป็นบุตรของนายพราน ญาติทั้งหลายเรียกข้าพระองค์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ว่า สามะ วันนี้ ข้าพระองค์ ถึงปากมรณะนอนอยู่อย่างนี้ ถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรอันใหญ่ซาบยาพิษ เหมือนมฤคที่ถูกพรานป่ายิงแล้ว ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอด พระเนตร ข้าพระองค์ผู้นอนเปื้อนโลหิตของตน เชิญทอดพระเนตรดู ลูกศรอันแล่นเข้าข้างขวาทะลุออกข้างซ้าย ข้าพระองค์กำลังบ้วนเลือดอยู่ เป็นผู้กระสับกระส่าย ขอทูลถามพระองค์ว่า พระองค์ยิงข้าพระองค์แล้ว จะแอบอยู่ทำไม เสือเหลืองถูกเขาฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกเขาฆ่าเพราะงา เมื่อเป็นอย่างนี้ พระองค์เข้าพระทัยว่า ข้าพระองค์อันพระองค์ควรยิง ด้วยเหตุไรหนอ. [๔๘๕] ดูกรสามะ มฤคปรากฏแล้ว มาสู่ระยะลูกศร เห็นท่านเข้าแล้วก็หนีไป เพราะเหตุนั้น เราจึงเกิดความโกรธ. [๔๘๖] จำเดิมแต่ข้าพระองค์จำความได้ รู้จักถูกและผิด ฝูงมฤคในป่าแม้ดุร้าย ย่อมไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์ จำเดิมแต่ข้าพระองค์นุ่งผ้าเปลือกไม้ตั้งอยู่ ในปฐมวัย ฝูงมฤคในป่าดุร้าย ย่อมไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์ ข้าแต่ พระราชา ฝูงกินนรผู้ขลาดอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์ เห็นข้าพระองค์ย่อมไม่ สะดุ้งกลัว เราทั้งหลายชื่นชมต่อกันไปสู่ภูเขาและป่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรหนอ ฝูงมฤคจึงสะดุ้งกลัวข้าพระองค์. [๔๘๗] ดูกรพ่อสามะ เนื้อหาได้สะดุ้งกลัวท่านไม่ เรากล่าวเท็จแก่ท่านดอก เราเป็นผู้อันความโกรธและความโลภครอบงำแล้ว จึงยิงท่านด้วยลูกศรนั้น ดูกรพ่อสามะ ท่านมาจากไหนหรือใครใช้ให้ท่านมา ท่านผู้จะตักน้ำ จึงไปยังแม่น้ำมิคสัมมตาแล้วกลับมา. [๔๘๘] มารดาบิดาของข้าพระองค์ตามืด ข้าพระองค์เลี้ยงท่านทั้งสองนั้นในป่าใหญ่ ข้าพระองค์ไปตักน้ำมาแต่แม่น้ำมิคสัมมตา เพื่อท่านทั้งสองนั้น. [๔๘๙] อาหารของท่านทั้งสองนั้นยังพอมีอยู่ เมื่อเช่นนั้น ชีวิตของท่านทั้งสอง นั้นจักดำรงอยู่เพียง ๖ วัน ท่านทั้งสองตามืด เห็นจักตายเสีย เพราะ ไม่ได้น้ำ ความทุกข์เพราะความถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้ หาเป็นความ ทุกข์ของข้าพระองค์นักไม่ เพราะความทุกข์เช่นนี้ อันบุรุษจะต้องได้ ประสบ ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นมารดานั้น เป็นความทุกข์ของ ข้าพระองค์ ยิ่งกว่าความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนั้นเสียอีก ความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้ หาเป็นความทุกข์ของข้า พระองค์นักไม่ เพราะความทุกข์เช่นนี้อันบุรุษจะต้องได้ประสบ ความ ทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นบิดานั้นเป็นความทุกข์ของข้าพระองค์ ยิ่งกว่า ความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนั้นเสียอีก มารดานั้นจักเป็น กำพร้าร้องไห้อยู่ตลอดราตรีนาน จักเหือดแห้งไปในกึ่งราตรี เหมือน แม่น้ำน้อย จักเหือดแห้งไปในคิมหันตฤดูเป็นแน่ บิดานั้นจักเป็นกำพร้า ร้องไห้อยู่ตลอดราตรีนาน จักเหือดแห้งไปในกึ่งราตรี หรือในที่สุดราตรี เหมือนแม่น้ำน้อย จักเหือดแห้งไปในคิมหันตฤดูเป็นแน่ ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เคยหมั่นบีบนวดบนมือและเท้าของท่านทั้งสองนั้นจักบ่นเรียก หาข้าพระองค์ว่า พ่อสามะๆ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ ลูกศรคือความโศก เพราะไม่ได้เห็นท่านทั้งสองนี้แล จะยังหัวใจของข้าพระองค์ให้หวั่นไหว เพราะข้าพระองค์ไม่ได้เห็นท่านทั้งสองผู้ตามืด ข้าพระองค์เห็นจักต้องละ ชีวิตไป. [๔๙๐] ดูกรสามะผู้งดงามน่าดู ท่านอย่าคร่ำครวญไปนักเลย เราจักยอมทำงาน เลี้ยงมารดาบิดาของท่านในป่าใหญ่ เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏว่า แม่นยำหนักแน่น เราจักยอมทำงานเลี้ยงมารดาบิดาของท่านในป่าใหญ่ เราจักเที่ยวแสวงหาของที่เป็นเดนของเหล่ามฤค และมูลมันผลไม้ในป่า ยอมกระทำงานเลี้ยงมารดาบิดาของท่านในป่าใหญ่ ดูกรสามะ ป่าซึ่งเป็น ที่อยู่แห่งมารดาบิดาของท่านอยู่ที่ไหน เราจักเลี้ยงมารดาบิดาของท่าน ให้เหมือนอย่างที่ท่านได้เลี้ยงมา ฉะนั้น. [๔๙๑] ข้าแต่พระราชา หนทางที่เดินเฉพาะคนเดียว ซึ่งมีอยู่ทางหัวนอนของ ข้าพระองค์ เสด็จดำเนินแต่นี้สิ้นระยะกึ่งเสียงกู่ ก็จะเสด็จถึงเรือนที่อยู่ แห่งมารดาของข้าพระองค์ ขอเชิญพระองค์เสด็จดำเนินแต่ที่นี้ไปเลี้ยง มารดาบิดาของข้าพระองค์ในสถานที่นั้นเถิด. [๔๙๒] ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระบาทขอถวายบังคมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ ผู้ผดุงแคว้นกาสี ข้าพระบาทขอถวายบังคมแด่พระองค์ ขอพระองค์โปรด ทรงพระกรุณาบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาผู้ตามืดของข้าพระองค์ในป่าใหญ่ด้วย เถิด ข้าพระบาทขอประคองอัญชลีแด่พระองค์ ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระบาทขอน้อมเกล้าบังคมแด่พระองค์ ข้าพระองค์ขอทูลสั่ง ขอ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาตรัสบอกการกราบลาของข้าพระองค์กะมารดา ด้วยเถิด พระเจ้าข้า. [๔๙๓] สามบัณฑิตผู้กำลังหนุ่มแน่นงดงามน่าดู ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว อันกำลังแห่ง พิษซาบซ่าน ได้ถึงวิสัญญี. [๔๙๔] พระราชาพระองค์นั้น ทรงคร่ำครวญน่าสงสารเป็นอันมากว่า เราสำคัญว่า จะไม่แก่ไม่ตาย เราได้เห็นสามบัณฑิตทำกาลกิริยา ในวันนี้ จึงได้รู้ ความแก่ความตาย แต่ก่อนหารู้ไม่ ความไม่มาแห่งมฤตยูย่อมไม่มี สามบัณฑิตอันลูกศรกำซาบยาพิษซึมซาบแล้ว พูดกะเราอยู่ บัดนี้ ครั้น กาลล่วงไปอย่างนี้ในวันนี้ ไม่พูดอะไรๆ เลย เราจะต้องไปสู่นรกเป็นแน่ เราไม่มีความสงสัยในข้อนี้เลย เพราะว่าบาปอันหยาบช้าอันทำแล้วตลอด ราตรีนานในกาลนั้น คนทั้งหลายย่อมติเตียนเรา เพราะเราทำกรรมอัน หยาบช้าในบ้านเมือง ก็ในป่าอันหามนุษย์มิได้ใครเล่าจะควรกล่าวติเตียน เรา คนทั้งหลายประชุมกันในบ้านเมือง จะยังกันและกันให้ระลึกถึงกรรม จะโจทนาว่ากล่าวเอาโทษเรา ก็ในป่าอันหามนุษย์มิได้ ใครเล่าหนอจะ โจทนาว่ากล่าวเอาโทษเรา. [๔๙๕] นางเทพธิดานั้นหายไปจากภูเขาคันธมาทน์ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ เพื่อ อนุเคราะห์พระราชาว่า ดูกรมหาราชา ได้ยินว่า พระองค์ได้ทรงทำความผิด อันเป็นกรรมชั่ว มารดาบิดาและบุตร รวม ๓ คนผู้หาความประทุษร้าย มิได้ พระองค์ฆ่าเสียด้วยลูกศรลูกเดียว เชิญเสด็จมานี่เถิด ดิฉันจะ พร่ำสอนพระองค์ด้วยวิธีที่พระองค์จะพึงมีคติดี พระองค์จะทรงเลี้ยงดู มารดาบิดาทั้งสองนั้นผู้ตามืดโดยธรรม ดิฉันเข้าใจว่าสุคติจะพึงมีแก่ พระองค์. [๔๙๖] พระราชานั้นทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก ทรงถือหม้อน้ำ มุ่งพระพักตร์เฉพาะทิศทักษิณเสด็จหลีกไป. [๔๙๗] นั่นเสียงฝีเท้าของใครหนอ นี้เป็นเสียงฝีเท้ามนุษย์เดินมาเป็นแน่ เสียง ฝีเท้าของสามบุตรเราไม่ดัง ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ สามบุตร เดินเบา วางเท้าเบา เสียงฝีเท้าของสามบุตรเราไม่ดัง ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ. [๔๙๘] ข้าพเจ้าเป็นพระราชาของชนชาวกาสี ชนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่า พระเจ้า ปิลยักขราช ข้าพเจ้าละแว่นแคว้นมาเที่ยวแสวงหาเนื้อ เพราะความโลภ ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏว่าเป็นผู้แม่นยำหนักแน่น แม้ช้าง มาสู่ที่ข้าพเจ้ายิงลูกศร ก็ไม่พึงพ้นไปได้. [๔๙๙] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง พระองค์มิได้เสด็จ มาร้าย พระองค์เป็นผู้ใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว ขอจงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้ ข้าแต่พระราชา เชิญเสวยผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะทราง และ ผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้เล็กน้อย ขอได้ทรงเลือกเสวยแต่ที่ดีๆ เถิด ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอจงทรงดื่มน้ำซึ่งเป็นน้ำเย็น อันนำมาแต่แม่น้ำ มิคสัมมตานที ซึ่งไหลออกจากซอกเขา ถ้าพระองค์ทรงหวัง. [๕๐๐] ท่านทั้งสองตามืดไม่สามารถจะเห็นไรๆ ในป่า ใครหนอนำผลไม้มาเพื่อ ท่านทั้งสอง การเก็บผลาผลไว้โดยเรียบร้อยนี้ ปรากฏแก่ข้าพเจ้าเหมือน การเก็บของคนตาดี. [๕๐๑] สามะหนุ่มน้อยรูปร่างสันทัดงดงามน่าดู ผมของเธอยาว ดำ เลื้อยลง ไปปลายงอนช้อนขึ้นเบื้องบน เธอนั่นแหละนำผลไม้มา ถือหม้อน้ำมา เห็นจะกลับมาใกล้แล้ว ขอเดชะ. [๕๐๒] ข้าพเจ้าได้ฆ่าสามกุมารผู้บำรุงบำเรอท่านเสียแล้ว พระคุณเจ้ากล่าวถึง สามกุมารผู้งดงามน่าดูใด ผมของสามกุมารนั้นยาว ดำ เลื้อยลงไป ปลายงอนช้อนขึ้นเบื้องบน สามกุมารนั้นข้าพเจ้าฆ่าเสียแล้ว นอนอยู่ หาดทราย เปรอะเปื้อนด้วยโลหิต. [๕๐๓] ข้าแต่ทุกูลบัณฑิต ท่านพูดอยู่กับใครซึ่งบอกว่า ข้าพเจ้าฆ่าสามกุมาร เสียแล้ว ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า สามกุมารถูกฆ่าเสีย แล้ว ใบอ่อนแห่งต้นโพบายอันลมพัดให้หวั่นไหว ฉันใด ใจของดิฉัน ย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า สามกุมารถูกฆ่าเสียแล้ว ฉันนั้น. [๕๐๔] ดูกรนางปาริกา ท่านผู้นี้ คือ พระเจ้ากาสี พระองค์ทรงยิงสามกุมาร ด้วยลูกศร ที่แม่น้ำมิคสัมมตานที เราทั้งสองอย่าปรารถนาบาปต่อ พระองค์เลย. [๕๐๕] บุตรสุดสวาทที่รักอันหาได้ยาก ได้เลี้ยงเราทั้งสองผู้ตามืดอยู่ในป่า ไฉน จะไม่ยังจิตให้โกรธในบุคคลผู้ฆ่าบุตรสุดที่รักคนเดียวนั้นได้. [๕๐๖] บุตรสุดที่รักอันหาได้ด้วยยาก ได้เลี้ยงเราทั้งสองผู้ตามืดอยู่ในป่า บัณฑิต ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้ไม่โกรธในบุคคลผู้ฆ่าบุตรสุดที่รักคน เดียวนั้น. [๕๐๗] พระคุณเจ้าทั้งสองอย่าคร่ำครวญ เพราะข้าพเจ้ากล่าวว่า สามกุมารข้าพเจ้า ฆ่าเสียแล้ว ให้มากไปเลย ข้าพเจ้าจักยอมทำงานเลี้ยงดูพระคุณเจ้าทั้งสอง ในป่าใหญ่ ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏว่าเป็นผู้แม่นยำ หนักแน่น จักยอมทำการงานเลี้ยงดูพระคุณเจ้าทั้งสองในป่าใหญ่ ข้าพเจ้า จักแสวงหาสิ่งของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อ และมูลมันผลไม้ในป่า ยอมทำ การงานเลี้ยงพระคุณเจ้าทั้งสองในป่าใหญ่. [๕๐๘] ดูกรมหาราชเจ้า เหตุนั้นไม่สมควร การทรงทำการงานนั้นไม่สมควร ในอาตมาทั้งสองพระองค์เป็นพระราชาของอาตมาทั้งสอง อาตมาทั้งสอง ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์. [๕๐๙] ข้าแต่ท่านผู้เชื้อชาติเนสาท พระคุณเจ้ากล่าวเป็นธรรม พระคุณเจ้าบำเพ็ญ การถ่อมตน ขอพระคุณเจ้าจงเป็นบิดาของข้าพเจ้า ข้าแต่นางปาริกา ขอพระคุณเจ้าจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า. [๕๑๐] ข้าแต่พระเจ้ากาสี อาตมาทั้งสองขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นมิ่งขวัญของชาวกาสี อาตมาทั้งสองขอนอบน้อมแด่พระองค์ อาตมา ทั้งสองขอประคองอัญชลีแด่พระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดพาอาตมา ทั้งสองไปให้ถึงที่ที่สามกุมารนอนอยู่เถิด อาตมาทั้งสองจะสัมผัสเท้า ทั้งสอง และดวงหน้าอันงดงามผุดผ่องของเธอและทรมานตนให้ถึงกาล กิริยา. [๕๑๑] สามกุมารถูกฆ่านอนอยู่ที่ป่าใด ดุจดวงจันทร์ตกลงเหนือแผ่นดิน ป่านั้น เป็นป่าใหญ่ เกลื่อนกล่นด้วยพาลมฤค ปรากฏเหมือนที่สุดอากาศ สามกุมารถูกฆ่านอนอยู่ในป่าใด ดุจดวงอาทิตย์ตกลงเหนือแผ่นดิน ป่านั้นเป็นป่าใหญ่ เกลื่อนกล่นด้วยพาลมฤค ปรากฏเหมือนที่สุดอากาศ สามกุมารถูกฆ่านอนอยู่ในป่าใด เปื้อนด้วยฝุ่นละออง ป่านั้นเป็นป่าใหญ่ เกลื่อนกล่นด้วยพาลมฤค ปรากฏเหมือนที่สุดอากาศ สามกุมารถูกฆ่า นอนอยู่ที่ป่าใด ป่านั้นเป็นป่าใหญ่ ปรากฏเหมือนที่สุดอากาศ พระคุณเจ้า ทั้งสองจงอยู่ในอาศรมนี้เถิด. [๕๑๒] ถ้าในป่านั้นจะมีพาลมฤคนับด้วยร้อย นับด้วยพันและนับด้วยหมื่นไซร้ อาตมาทั้งสองไม่มีความกลัวในพาลมฤคทั้งหลายในป่าไหนๆ เลย. [๕๑๓] ในกาลนั้น พระเจ้ากาสีทรงพาฤาษีทั้งสองผู้ตามืดไปในป่าใหญ่ ทรงจูง มือฤาษีทั้งสองไปในที่ที่สามกุมารถูกฆ่านั้น. [๕๑๔] ดาบสทั้งสองเห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนเปื้อนฝุ่นละออง ถูกทิ้งอยู่ ในป่าใหญ่ ดังดวงจันทร์ตกอยู่เหนือแผ่นดิน ดาบสทั้งสองเห็นสามกุมาร ผู้เป็นบุตรนอนเปื้อนฝุ่นละออง ถูกทิ้งอยู่ในป่าใหญ่ ดังดวงอาทิตย์ตก อยู่เหนือแผ่นดิน ดาบสทั้งสองเห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนเปื้อนฝุ่น ละออง ถูกทิ้งอยู่ในป่าใหญ่ ก็คร่ำครวญน่าสงสารนัก ดาบสทั้งสอง เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนเปื้อนฝุ่นละอองอยู่ ยกแขนทั้งสองขึ้น คร่ำครวญว่า ความไม่ควรย่อมเป็นไปในโลกนี้ ดูกรลูกสามะผู้งดงาม น่าดู เจ้ามัวเมามากนักแล ไม่พูดอะไรๆ ในเมื่อกาลล่วงไปแล้วในวัน นี้ ดูกรลูกสามะผู้งดงามน่าดู เจ้าเคลิบเคลิ้มมากนักแล ไม่พูดอะไรๆ ในเมื่อกาลล่วงไปแล้วในวันนี้ ดูกรสามะผู้งดงามน่าดู เจ้าขัดเคืองมาก นักแล ไม่พูดอะไรๆ ในเมื่อกาลล่วงไปแล้วในวันนี้ ดูกรลูกสามะผู้ งดงามน่าดู เจ้าช่างหลับเอาเสียจริงๆ ไม่พูดอะไรๆ ในเมื่อกาลล่วง ไปแล้วในวันนี้ ดูกรลูกสามะผู้งดงามน่าดู เจ้าปราศจากใจเอาเสียจริงๆ ไม่พูดอะไรๆ ในเมื่อกาลล่วงไปแล้วในวัน บัดนี้ใครจักชำระชฎาอัน หม่นหมองเปื้อนฝุ่นละออง ลูกสามะนี้เป็นผู้เลี้ยงดูเราทั้งสองผู้ตามืด มาทำกาลกิริยาเสียแล้ว ใครเล่าจักจับไม้กวาดกวาดอาศรมของเราทั้งสอง ลูกสามะนี้เลี้ยงดูเราทั้งสองผู้ตามืด มาทำกาลกิริยาเสียแล้ว บัดนี้ใคร เล่าจักจัดน้ำร้อนมาให้เราทั้งสองอาบ ลูกสามะนี้เลี้ยงดูเราทั้งสองผู้ตามืด มากระทำกาลกิริยาเสียแล้ว บัดนี้ใครเล่าจักให้เราบริโภคมูลมันและ ผลไม้ในป่า ลูกสามะนี้เป็นผู้เลี้ยงดูเราทั้งสองผู้ตามืด มากระทำกาล- กิริยาเสียแล้ว. [๕๑๕] มารดาผู้สะอึกสะอื้นด้วยความโศกถึงบุตร ได้เห็นสามะผู้เป็นบุตรนอน เกลือกเปื้อนฝุ่นละอองอยู่ ได้กล่าวสัจจกิริยาว่า ลูกสามะนี้เป็นผู้มี ปกติประพฤติธรรมมาแต่กาลก่อน ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะ จงหายไป ลูกสามะนี้เป็นผู้มีปกติประพฤติเพียงดังพรหมมาแต่กาลก่อน ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้เป็นผู้มีปกติ กล่าวคำสัตย์มาแต่กาลก่อน ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจง หายไป ลูกสามะนี้เป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดา ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของ ลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญ ในตระกูล ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้ เป็นที่รักอย่างยิ่งปานชีวิตของเรา ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะ จงหายไป บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามะได้ทำแล้ว มีอยู่แก่เราและ บิดาของเธอ ด้วยบุญกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามะจงหายไป. [๕๑๖] บิดาผู้คร่ำครวญอยู่ ด้วยความโศกถึงบุตร เห็นสามะผู้บุตรนอนเกลือก เปื้อนฝุ่นละอองอยู่ ได้กล่าวสัจจกิริยาว่า ลูกสามะนี้เป็นผู้มีปกติประ- พฤติธรรมมาแต่กาลก่อน ... ด้วย บุญกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูก สามะจงหายไป. [๕๑๗] นางสุนทรีเทพธิดา หายไปจากภูเขาคันธมาทน์ ได้กล่าวสัจจวาจานี้ ด้วย ความเอ็นดูสามกุมารว่า เราเคยอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์มานาน ไม่มีใครอื่น จะเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าสามกุมาร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของสาม กุมารจงหายไป ป่าทั้งหมดที่ภูเขาคันธมาทน์ล้วนแต่เป็นไม้หอม ด้วย สัจจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงหายไป เมื่อดาบสทั้งสองบ่นเพ้อ รำพันน่าสงสารเป็นอันมาก ขอสามกุมารผู้ยังหนุ่มแน่น งามน่าดู จง ลุกขึ้นเร็วพลัน. [๕๑๘] ข้าพเจ้าผู้มีนามว่าสามะ ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าลุก ขึ้นได้แล้วโดยสวัสดี ขอท่านทั้งหลายอย่าคร่ำครวญนักเลย จงพูดกับ ข้าพเจ้าด้วยเสียงอันไพเราะเถิด. [๕๑๙] ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง พระองค์มิได้เสด็จมา ร้าย พระองค์ผู้เป็นใหญ่มาถึงแล้ว ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้ ข้าแต่ พระราชา เชิญเสวยผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะทราง และผลหมาก เม่า อันเป็นผลไม้เล็กน้อย ขอได้ทรงเสวยแต่ที่ดีๆ เถิด ข้าแต่มหา- ราชเจ้า น้ำเย็นที่ข้าพระองค์นำมาแต่น้ำมิคสัมมตานทีมีอยู่ เชิญพระองค์ ดื่มเถิด ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์. [๕๒๐] ฉันหลงเอามาก หลงเอาจริงๆ หลงไปทั่วทิศ ฉันได้เห็นสามะผู้กระทำ กาลกิริยา ทำไมท่านจึงเป็นได้อีกหนอ. [๕๒๑] ข้าแต่มหาราชเจ้า โลกย่อมสำคัญบุรุษผู้ยังมีชีวิตอยู่ได้เสวยเวทนาอย่าง หนัก มีความดำริในใจเข้าไปใกล้แล้ว ยังเป็นอยู่แท้ๆ ว่าตายแล้ว ข้า- แต่มหาราชเจ้า โลกย่อมสำคัญบุรุษผู้ยังมีชีวิตอยู่เสวยเวทนากล้า ถึง ความดับสนิท ยังเป็นอยู่แท้ๆ ว่าตายแล้ว. [๕๒๒] บุคคลใด เลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม แม้เทวดาและมนุษย์ย่อมสรร- เสริญผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้น บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้นในโลก นี้ บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์. [๕๒๓] ฉันหลงเอามากเหลือเกิน มืดไปทั่วทิศ ดูกรสามะ ฉันขอถึงท่านเป็น สรณะ และขอท่านจงเป็นสรณะของฉัน. [๕๒๔] ข้าแต่ขัตติยมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระชนนีและ พระชนกเถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่ สวรรค์ ข้าแต่ขัตติยมหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระ- โอรสและพระมเหสี ... ในมิตรและอำมาตย์ ... ในพาหนะ ... และพลนิกาย ... ในชาวบ้านและชาวนิคม ... ในชาวแว่นแคว้นและชาวชนบท ... ในสมณะ และพราหมณ์ ... ในฝูงเนื้อและฝูงนกเถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรม ในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่สวรรค์ ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงประ- พฤติธรรมเถิด ธรรมอันพระองค์ทรงประพฤติแล้ว ย่อมนำความสุขมา ให้ ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด พระอินทร์ เทพ- เจ้าพร้อมทั้งพรหม ถึงแล้วซึ่งทิพยสถาน เพราะธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรม.
จบ สุวรรณสามชาดกที่ ๓

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๓๒๐๑-๓๔๔๑ หน้าที่ ๑๒๔-๑๓๓. https://84000.org/tipitaka/atita10/v.php?B=28&A=3201&Z=3441&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/atita10/m_siri.php?B=28&siri=15              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=482              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [482-524] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=28&item=482&items=43              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=2349              The Pali Tipitaka in Roman :- [482-524] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=28&item=482&items=43              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=2349              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja540/en/cowell-rouse

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :