ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๔. ฉัททันตชาดก
ว่าด้วยพญาช้างฉัททันต์
[๒๓๒๗] ดูกรพระน้องนาง ผู้มีอวัยวะงามอร่ามดังทอง มีผิวพรรณเหลืองงามเลิศ พระเนตรทั้งสองแจ่มใส เหตุไรหนอ พระน้องจึงเศร้าโศกซูบไป ดุจ ดอกไม้ที่ถูกขยี้ ฉะนั้น? [๒๓๒๘] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หม่อมฉันแพ้พระครรภ์ โดยการแพ้พระครรภ์เป็น เหตุให้หม่อมฉันฝันเห็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่าย. [๒๓๒๙] กามสมบัติของมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ และในสวนนันทนวัน กามสมบัติทั้งหมดนั้น เป็นของฉันทั้งสิ้น ฉันจะให้แก่เธอได้ทั้งนั้น. [๒๓๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นายพรานป่าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในแว่นแคว้น ของพระองค์จงมาประชุมพร้อมกัน หม่อมฉันจะแจ้งเหตุที่แพ้พระครรภ์ ของหม่อมฉันให้นายพรานป่าเหล่านั้นทราบ. [๒๓๓๑] ดูกรพระเทวี นายพรานป่าเหล่านี้ ล้วนแต่มีฝีมือ เป็นคนแกล้วกล้า ชำนาญป่า รู้จักชนิดของเนื้อ ย่อมสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของเราได้. [๒๓๓๒] ท่านทั้งหลายผู้เป็นเชื้อแถวของนายพราน ที่มาพร้อมกันอยู่ ณ ที่นี้ จงฟัง ฉัน ฉันฝันเห็นช้างเผือกผ่องงามีรัศมี ๖ ประการ ฉันต้องการงาช้างคู่นั้น เมื่อไม่ได้ชีวิตก็หาไม่. [๒๓๓๓] บิดาหรือปู่ทวด ของข้าพระองค์ทั้งหลายก็ยังไม่เคยได้ เห็นทั้งยังไม่เคย ได้ยินว่า พญาช้างที่มีงา มีรัศมี ๖ ประการ พระนางเจ้าทรงนิมิตเห็น พญาช้างมีลักษะเช่นไร ขอได้ตรัสบอกพญาช้างที่มีลักษณะเช่นนั้น แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า. [๒๓๓๔] ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ เบื้องบน ๑ เบื้องล่าง ๑ ทิศทั้ง ๑๐ นี้ พระองค์ ทรงฝันเห็นพญาช้าง ซึ่งมีงามีรัศมี ๖ ประการอยู่ทิศไหน พระเจ้าข้า.? [๒๓๓๕] จากที่นี้ตรงไปทิศอุดร ข้ามภูเขาสูงใหญ่ ๗ ลูก ภูเขาใหญ่ชื่อสุวรรณปัส มีพรรณไม้ผลิดอกอยู่ไสว มีฝูงกินนรเที่ยววิ่งเล่นอยู่ ท่านจงขึ้นไปบน ภูเขาอันเป็นที่อยู่แห่งหมู่กินนรทั้งหลายแล้วมองลงมาตามเชิงเขา ทันใด นั้น จะได้เห็นต้นไทรใหญ่ที่มีสีเทียมเมฆ มีย่านไทร ๘,๐๐๐ ห้อยย้อยอยู่. ที่โคนต้นไทรนั้น มีพญาช้างเผือกผ่องงามีรัศมี ๖ ประการอาศัยอยู่ ยากที่คนอื่นจะจับได้ มีช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือกล้วนมีงางอนงาม วิ่ง ไล่ประหารเร็วดังลมพัด รักษาพญาช้างนั้นอยู่. ช้างเหล่านั้นย่อมบันลือ เสียงน่าหวาดกลัว ย่อมโกรธแม้ต่อลมที่พัดถูกตัว ถ้าเห็นมนุษย์ ณ ที่นั้น เป็นต้องขยี้เสียให้เป็นภัสมธุลี แม้แต่ละอองก็ไม่ถูกต้องพญาช้างได้เลย. [๒๓๓๖] ข้าแต่พระราชเทวี เครื่องอาภรณ์ที่แล้วไปด้วยเงิน แก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์มีอยู่ในราชสกุลมากมาย เหตุไร พระแม่เจ้าจึงทรง ประสงค์เอางาช้างมาทำเป็นเครื่องประดับเล่า พระแม่เจ้าทรงปรารถนา จะให้ฆ่าพญาช้าง ซึ่งมีงามีรัศมี ๖ ประการเสีย หรือว่าจะให้พญาช้างฆ่า พวกเชื้อแถวของนายพรานเสียกระมัง? [๒๓๓๗] ดูกรนายพราน ฉันริษยาด้วย เสียใจด้วย เพราะนึกถึงความหลังก็ ตรอมใจ ขอท่านจงทำตามความประสงค์ของฉัน ฉันจักให้บ้านส่วยแก่ ท่าน ๕ ตำบล. [๒๓๓๘] พญาช้างนั้นอยู่ที่ไหน ยืนที่ไหน ทางไหนที่พญาช้างไปอาบน้ำ พญาช้าง อาบน้ำด้วยประการอย่างไร ข้าพระองค์จะรู้จักคติแห่งพญาช้างได้อย่างไร? [๒๓๓๙] ในที่ๆ พญาช้างอยู่นั้น มีสระอยู่ใกล้ๆ น่ารื่นรมย์ มีท่าราบเรียบ น้ำมากมาย สะพรั่งไปด้วยพรรณไม้ดอก มีหมู่ภมรมาคลึงเคล้า พญาช้าง นั้น ลงอาบที่สระนั้นแหละ ชำระศีรษะแล้วห้อยพวงดอกอุบล มีร่างกาย เผือกผ่องดังดอกบัวขาบ บันเทิงใจให้มเหสีชื่อว่าสรรพภัททา เดินหน้า กลับไปยังที่อยู่ของตน. [๒๓๔๐] นายพรานนั้น ยึดเอาพระราชดำรัสของพระนางซึ่งประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นเอง แล้วถือเอาแล่งลูกธนูข้ามภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ ลูกไปจนถึงลูกที่ชื่อสุวรรณปัส อันสูงโดด. ขึ้นไปถึงภูเขาอันเป็นที่อยู่ของหมู่กินนรแล้ว มองลงมา ยังเชิงเขา ได้เห็นต้นไทรใหญ่มีสีเทียมเมฆ มีย่านไทร ๘,๐๐๐ ห้อยย้อย อยู่ ณ ที่นั้น ทันใดนั้นเอง ก็ได้เห็นพญาช้างเผือกผ่องงามีรัศมี ๖ ประการ ยากที่คนเหล่าอื่นจะจับได้ มีช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก ล้วนแต่มีงางอนงาม วิ่งไล่เร็วดุจลมพัด รักษาพญาช้างอยู่. และได้เห็นสระโบกขรณีอัน น่ารื่นรมย์อยู่ใกล้ๆ ที่อยู่ของพญาช้างนั้น ทั้งท่าน้ำก็ราบเรียบน้ำมากมาย มีพรรณไม้ดอกบานสะพรั่ง มีหมู่ภมรเที่ยวเคล้าคลึงอยู่ แลเห็นที่ที่พญา ช้างลงอาบน้ำ. จนกระทั้งที่ๆ พญาช้างเดิน ยืนอยู่ และทางที่พญาช้างลง อาบนั้นก็แลเห็น นายพรานผู้มีใจลามก ถูกพระนางสุภัททาผู้ตกอยู่ใน อำนาจจิตทรงใช้มา ก็มาตระเตรียมหลุม. [๒๓๔๑] นายพรานผู้กระทำกรรมอันชั่วช้า ขุดหลุมเอากระดานปิดเสร็จแล้ว สอด ธนูเข้าไว้ เอาลูกธนูลูกใหญ่ยิงพญาช้างซึ่งมายืนอยู่ข้างหลุมของตน. พระยาช้างถูกยิงแล้วก็ร้องก้องโกญจนาท ช้างทุกๆ เชือกพากันบันลือ อื้ออึงวิ่งไปทั้ง ๘ ทิศ ทำหญ้าและไม้ให้เป็นจุณไป. พญาช้างฉัททันต์เอา เท้ากระชุ่นดินด้วยคิดว่า จักฆ่ามันเสีย แต่ได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ อัน เป็นธงชัยของฤาษี ทั้งที่ได้รับความทุกข์ ก็เกิดความรู้สึกว่า ธงชัยแห่ง พระอรหันต์อันสัตบุรุษไม่พึงทำลาย. [๒๓๔๒] ผู้ใดยังไม่หมดกิเลส ปราศจากทมะและสัจจะ ผู้นั้นไม่ควรจะนุ่งห่มผ้า กาสาวะ. ส่วนผู้ใดคลายกิเลสได้แล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีล ประกอบด้วย ทมะและสัจจะ ผู้นั้นย่อมควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะแท้. [๒๓๔๓] พญาช้างถูกลูกศรใหญ่เสียบเข้าแล้ว ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย ได้ถามนาย พรานว่า เพื่อนเอ๋ย ท่านประสงค์อะไร เพราะเหตุไร หรือว่าใคร ใช้ให้ท่านมาฆ่าเรา? [๒๓๔๔] ดูกรพญาช้างผู้เจริญ พระนางสุภัททาพระมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช อันประชาชนสักการะบูชาอยู่ในราชสกุล พระนางได้ทรงนิมิตเห็นท่าน และได้โปรดให้ทำสักการะแก่ข้าพเจ้าแล้ว ตรัสบอกข้าพเจ้าว่า มีพระ- ประสงค์งาทั้งคู่ของท่าน. [๒๓๔๕] ที่จริง พระนางสุภัททาทรงทราบอยู่ว่างางามๆ แห่งบิดาและปู่ทวดของเรา มีอยู่เป็นอันมาก แต่พระนางเป็นคนพาล โกรธเคือง ผูกเวร ต้องการจะ ฆ่าเรา. ดูกรนายพราน ท่านจงลุกขึ้นเถิด จงหยิบเลื่อยมาตัดงาคู่นี้เถิด ประเดี๋ยวเราจะตายเสียก่อน ท่านจงกราบทูลพระนางสุภัททาผู้ยังผูกโกรธ ว่า พญาช้างตายแล้ว เชิญพระนางรับงาคู่นี้ไว้เถิด. [๒๓๔๖] นายพรานนั้น ลุกขึ้นจับเลื่อย เลื่อยงาพญาช้างทั้งคู่อันงดงามหาที่เปรียบ มิได้ในพื้นปฐพีแล้ว รีบถือหลีกออกจากที่นั้นไป. [๒๓๔๗] ช้างเหล่านั้นตกใจ ได้รับความเสียใจ เพราะพญาช้างถูกยิงพากันวิ่งไปยัง ทิศทั้ง ๘ เมื่อไม่เห็นปัจจามิตรของพญาช้าง ก็พากันกลับมายังที่อยู่ของ พญาช้าง. [๒๓๔๘] ช้างเหล่านั้นพากันคร่ำครวญร่ำไห้อยู่ ณ ที่นั้น ต่างสูบเอาฝุ่นพ่นขึ้นบน กระพองของตนๆ ยกนางสรรพภัททาผู้เป็นมเหสีให้เป็นหัวหน้า พากัน กลับยังที่อยู่ของตนทั้งหมด. [๒๓๔๙] นายพรานนั้น ถือเอางาพญาช้างทั้งคู่อันงดงาม หาที่เปรียบในพื้นปฐพีมิได้ ซึ่งแผ่รัศมีดุจสีทองไปรอบๆ มาถึงยังพระนครกาสีแล้ว น้อมนำงาทั้งคู่ เข้าไปถวายพระนางสุภัททากราบทูลว่า พญาช้างล้มแล้ว ขอเชิญพระนาง ทอดพระเนตรงาทั้งคู่นี้เถิด. [๒๓๕๐] พระนางสุภัททาผู้เป็นพาล ครั้นทอดพระเนตรงาพญาช้างทั้งคู่ ผู้เป็นสามี ที่รักในชาติก่อนแล้ว หทัยของพระนางก็แตกทำลาย ณ ที่นั้นเอง เพราะ เหตุนั้นเอง พระนางจึงได้สวรรคต. [๒๓๕๑] พระศาสดาได้บรรลุสัมโพธิญาณแล้ว มีพระอานุภาพมาก ได้ทรงทำการแย้ม ในท่ามกลางบริษัท ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พากันทูลถามว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ทรงทำการแย้มให้ปรากฏ เมื่อไม่มีเหตุ? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดูนางกุมารีสาวคนนั้น นุ่งห่ม ผ้ากาสาวพัสตร์ ประพฤติอนาคาริยวัตร นางกุมารีคนนั้นแล เป็นนาง- สุภัททาในกาลนั้น เราตถาคตเป็นพญาช้างในกาลนั้น. นายพรานถือเอา งาทั้งคู่อันงดงามของพญาช้าง หาที่เปรียบในพื้นปฐพีมิได้ กลับมายัง พระนครกาสีในกาลนั้น เป็นพระเทวทัต. พระพุทธเจ้าผู้ปราศจากความ กระวนกระวาย ความเศร้าโศก และกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วยพระองค์ เองแล้ว ได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้ อันเป็นของเก่า ไม่รู้จักสิ้นสูญ ซึ่ง พระองค์ท่องเที่ยวไปแล้วตลอดกาลนาน เป็นบุรพจรรยาทั้งสูงทั้งต่ำว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คราวครั้งนั้น เราเป็นพญาช้างฉัททันต์อยู่ที่สระฉัททันต์ นั้น ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ฉัททันตชาดกที่ ๔.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๙๔๑๕-๙๕๒๔ หน้าที่ ๔๑๑-๔๑๕. https://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=9415&Z=9524&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/atita100/m_siri.php?B=27&siri=514              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2327              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [2327-2351] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=27&item=2327&items=25              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=4638              The Pali Tipitaka in Roman :- [2327-2351] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=27&item=2327&items=25              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=4638              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja514/en/francis

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :