ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปทานสูตร

               สุมังคลวิลาสีนี               
               ทีฆนิกาย มหาวรรควรรณนา               
               อรรถกถามหาปทานสูตร               
               มหาปทานสูตรมีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กเรริกุฎี ณ พระวิหารเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี.
               ต่อไปนี้เป็นการพรรณนาบทตามลำดับในมหาปทานสูตรนั้น.
               บทว่า ในกเรริ ในบทว่า กเรริกุฏิกายํ เป็นชื่อของไม้กุ่มน้ำ กเรริมณฑปตั้งอยู่ใกล้ประตูกุฎีนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่ากเรริกุฎี เหมือนท่านเรียกว่าโกสัมพกุฏี เพราะตั้งอยู่ใกล้ประตูต้นเล็บเหยี่ยว.
               นัยว่าภายในพระวิหารเชตวัน มีเรือนใหญ่อยู่ ๔ หลัง คือกเรริกุฎี โกสัมพกุฎี คันธกุฎี สฬลฆระ (เรือนไม้สน) หลังหนึ่งๆ สำเร็จด้วยการบริจาคทรัพย์หลังละหนึ่งแสน. ใน ๔ หลังนั้นพระเจ้าปเสนทิทรงสร้างสฬลฆระ ที่เหลืออนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้าง. เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงประทับอยู่ ณ กเรริกุฎี โดยที่อนาถบิณฑิกคฤหบดีได้สร้างทิพยพฤกษ์ ดุจเทววิมานไว้เบื้องบนเสาทั้งหลาย.
               บทว่า ปจฺฉาภตฺตํ ความว่า เมื่อภิกษุฉันอาหารมื้อเดียว และมิใช่ฉันภายหลังอาหาร ฉันแต่เช้าตรู่แม้ฉันภายในเที่ยงวัน ก็ชื่อว่าปัจฉาภัตเหมือนกัน. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์ปัจฉาภัตรหลังอาหารตามปรกติ.
               บทว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺตานํ ความว่า เมื่อภิกษุกลับจากบิณฑบาตฉันอาหารเสร็จแล้วลุกขึ้น.
               บทว่า กเรริมณฺฑลมาเล ความว่า ณ ศาลานั่งซึ่งสร้างไว้ไม่ไกลกเรริมณฑปนั่นเอง.
               ได้ยินว่า กเรริมณฑปนั้นอยู่ในระหว่างคันธกุฎีและศาลา. เพราะฉะนั้น คันธกุฎีบ้าง กเรริกุฎีบ้าง ศาลาบ้าง ท่านเรียกว่าโรงกเรริมณฑล.
               บทว่า ปุพฺเพนิวาสปฏิสํยุตฺตา ความว่า ธรรมีกถาประกอบด้วยบุพเพสันนิวาส กล่าวคือขันธสันดานที่อาศัยอยู่ในชาติก่อนจำแนกออกอย่างนี้ คือชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้างอันเป็นไปแล้ว.
               บทว่า ธมฺมี คือประกอบด้วยธรรม.
               บทว่า อุทปาทิ ความว่า บุพเพนิวาสญาณของพระทศพลน่าอัศจรรย์จริง.
               ถามว่า ชื่อว่าบุพเพนิวาส ใครระลึกได้ ใครระลึกไม่ได้
               ตอบ เดียรถีย์ระลึกได้ พระสาวก พระปัจเจกพุทธะระลึกได้. เดียรถีย์พวกไหนระลึกได้. เดียรถีย์เหล่าใดถึงความเป็นผู้เลิศเป็นกรรมวาที เดียรถีย์แม้เหล่านั้นก็ระลึกได้ตลอด ๔๐ กัปเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นไม่ได้. พระสาวกระลึกได้แสนกัป. พระอัครสาวกทั้งสองระลึกได้อสงไขยและแสนกัป. พระปัจเจกพุทธะระลึกได้สองอสงไขยและแสนกัป. แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีกำหนดเท่านั้นเท่านี้. พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงระลึกเท่าที่ทรงหวัง เดียรถีย์ทั้งหลายระลึกได้ตามลำดับขันธ์ พ้นลำดับแล้วไม่สามารถระลึกได้.
               เดียรถีย์ทั้งหลาย แม้ระลึกได้ตามลำดับก็ถึงความเป็นผู้ไม่มีความรู้สึก ย่อมไม่เห็นความเป็นไปของขันธ์ เหมือนนกตกลงไปในตาข่าย และคนพิการตกลงไปในหลุม. เขาเหล่านั้นตกแล้วในที่นั้น ย่อมเห็นว่าเท่านี้เอง ยิ่งกว่านี้ไม่มี. ด้วยเหตุนี้ การระลึกถึงบุพเพสันนิวาสของพวกเดียรถีย์ย่อมเป็นเหมือนคนตาบอดเดินไปด้วยปลายไม้เท้า. ธรรมดาคนตาบอด เมื่อยังมีคนถือปลายไม้เท้าอยู่ย่อมเดินไปได้ เมื่อไม่มีก็นั่งอยู่ที่นั้นเองฉันใด พวกเดียรถีย์ก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมสามารถระลึกถึงได้ตามลำดับขันธ์ เว้นลำดับเสียแล้วย่อมไม่สามารถระลึกได้.
               แม้พระสาวกทั้งหลาย ก็ระลึกถึงตามลำดับขันธ์ได้ ครั้นถึงความเป็นผู้ไม่มีความรู้สึก ย่อมไม่เห็นความเป็นไปของขันธ์. แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ชื่อว่ากาลอันไม่มีแห่งขันธ์ทั้งหลายของสัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปสู่วัฏฏะเหล่านั้นย่อมไม่มี แต่ในอสัญญภพย่อมเป็นไป ๕๐๐ กัป เพราะฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายก้าวล่วงกาลประมาณเท่านี้ ตั้งอยู่ในคำแนะนำอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประทานแล้ว ย่อมระลึกถึงข้างหน้าได้เหมือนท่านโสภิตะฉะนั้น.
               อนึ่ง พระอัครสาวกทั้งสองและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตรวจดูจุติและปฏิสนธิแล้ว ย่อมระลึกถึงได้. กิจคือจุติและปฏิสนธิของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มี. พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระประสงค์จะทรงเห็นฐานะใดๆ ย่อมทรงเห็นฐานะนั้นๆ ทีเดียว. อนึ่ง เดียรถีย์ทั้งหลายเมื่อระลึกถึงบุพเพสันนิวาสย่อมระลึกถึงสิ่งที่ตนเห็นแล้ว กระทำแล้ว ฟังแล้วเท่านั้น. พระสาวกทั้งหลายและพระปัจเจกพุทธะทั้งหลายก็เหมือนอย่างนั้น. แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงระลึกถึงสิ่งทั้งหมดที่เดียวที่พระองค์หรือผู้อื่นเห็นแล้วกระทำแล้วฟังแล้ว.
               บุพเพนิวาสญาณของพวกเดียรถีย์เป็นเช่นกับแสงหิ่งห้อย ของพระสาวกทั้งหลายเป็นเช่นกับแสงประทีป ของพระอัครสาวกเป็นเช่นกับแสงดาวประกายพฤกษ์ ของพระปัจเจกพุทธะทั้งหลายเป็นเช่นกับแสงพระจันทร์ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเช่นกับแสงสุริยมณฑลพันดวง.
               พระพุทธเจ้านั้นไม่กำหนดประมาณเท่านี้ว่า ร้อยชาติ พันชาติ แสนชาติ หรือร้อยกัป พันกัป แสนกัป เมื่อพระพุทธเจ้าทรงระลึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมไม่พลาด ย่อมไม่ขัดข้องโดยแท้ ความนึกคิดต่อเนื่องกันย่อมเป็นความต่อเนื่องกันด้วยความหวัง ความไตร่ตรองและจิตตุปบาทนั่นเอง บุพเพนิวาสญาณย่อมแล่นไป ไม่ติดขัดดุจลูกศรเหล็กแล่นไปฉับพลันในกองใบไม้ที่ผุ และดุจอินทวัชระที่ซัดไปบนยอดเขาสิเนรุ.
               บทว่า อโห มหนฺตํ ภควโต ปุพฺเพนิวาสญาณํ ความว่า การสนทนาเกิดขึ้น คือเป็นไปแล้วปรารภพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการฉะนี้ เพื่อแสดงความทั้งหมดนั้น โดยย่อท่านจึงกล่าวไว้ในบาลีเพียงว่า อิติปิ ปุพฺเพนิวาโส อิติปิ ปุพฺเพนิวาโส ในบทเหล่านั้นบทว่า อิติปิ แปลว่าแม้อย่างนี้
               ข้อความใดที่ควรกล่าวไว้ในบาลีนี้ว่า อสฺโสสิ โข ภควา ฯเปฯ อถ ภควา อนุปฺปตฺโต ท่านกล่าวไว้แล้วในอรรถกถาพรหมชาลสูตรนั้นแล ต่อไปนี้ข้อความนั้นเป็นความต่างกัน. ในสูตรนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้สดับโดยพระสัพพัญญุตญาณ. ในสูตรนี้ได้สดับโดยทิพพโสต.
               อนึ่ง ในสูตรนั้นสนทนาถึงคุณและโทษยังค้างอยู่. ในสูตรนี้สนทนาถึงบุพเพนิวาสญาณ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้สรรเสริญคุณปรารภบุพเพนิวาสญาณของเรา แต่ไม่รู้ความสำเร็จแห่งบุพเพนิวาสญาณของเรา ช่างเถิด เราจักกล่าวถึงความสำเร็จแห่งบุพเพนิวาสญาณนั้น แล้วแสดงแก่พวกเธอ จึงเสด็จมาประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์อันประเสริฐซึ่งตามปกติตั้งไว้เพื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่งแสดงธรรม ซึ่งขณะนั้นภิกษุทั้งหลายปูลาดถวายไว้ มีพระพุทธประสงค์จะทรงแสดงธรรมกถาเกี่ยวกับบุพเพนิวาสญาณแก่ภิกษุเหล่านั้น ในที่สุดแห่งคำถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนาเรื่องอะไรกัน และแห่งคำตอบตั้งแต่ต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากลับจากบิณฑบาตแล้วในเวลาปัจฉาภัต ได้นั่งประชุมกัน ณ โรงกเรริมณฑล แล้วเกิดสนทนาธรรมกันขึ้นเกี่ยวกับบุพเพนิวาสญาณว่า บุพเพนิวาส บุพเพนิวาส ดังนี้พระเจ้าข้า จึงตรัสคำเป็นต้นว่า พวกเธอปรารถนาจะฟังหรือไม่.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิจฺเฉยฺยาถโน แปลว่า พวกเธอปรารถนาจะฟังหรือไม่หนอ.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายมีใจรื่นเริง เมื่อจะทูลวิงวอนกะพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะทรงกระทำธรรมกถานี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอตสฺส คือ การกระทำธรรมกถานี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำทูลวิงวอนของภิกษุเหล่านั้น มีพระพุทธประสงค์จะทรงแสดง จึงทรงชักชวนภิกษุเหล่านั้นในการเงี่ยหูฟังและตั้งใจฟังด้วยดีด้วยพระดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้น พวกเธอทั้งหลายจงฟังแล้ว มีพระพุทธประสงค์จะประกาศการระลึกถึงทางอันตัดขาดแล้ว ไม่ทั่วไปแก่ชนเหล่าอื่น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นับแต่นี้ไปดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ยํ วิปสฺสี คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ในกัปใด.
               แท้จริง ยํ ศัพท์นี้ ใช้ในปฐมาวิภัตติ์ ในบททั้งหลายเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อความใดที่ข้าพระองค์สดับมาแล้วรับมาแล้วต่อหน้าพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ข้าพระองค์จะกราบทูลข้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ใช้ในทุติยาวิภัตติ์ในบททั้งหลายเป็นต้นว่า ท่านอกิตตยิ พวกข้าพเจ้าได้ถามข้อความอันใดไว้ พวกข้าพเจ้าจะขอถามข้อความอันนั้นอื่น ขอเชิญท่านจงบอกข้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเถิดดังนี้.
               ใช้ในตติยาวิภัตติ์ ในบททั้งหลายเป็นต้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ไม่มีช่องว่างด้วยโลกธาตุหนึ่ง ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้.
               แต่ในบทนี้ พึงทราบว่าใช้ในสัตตมีวิภัตติ์. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ยสฺมึ กปฺเป แปลว่า ในกัปใด.
               บทว่า อุทปาทิ ความว่า ยังหมื่นโลกธาตุให้บันลือเกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า ภทฺทกปฺเป ความว่า ในสุนทรกัป คือในสาระกัป เพราะมีพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น ๕ พระองค์ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยกย่องกัปนี้ จึงตรัสอย่างนี้.
               ดังได้ทราบมาว่า ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงบำเพ็ญอภินิหาร ย่อมไม่มีแม้ในกัปเดียวในระหว่างนั้นที่พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ทรงอุบัติแล้ว. ก็แต่ก่อนอภินิหารของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ พระตัณหังกร พระเมธังกร พระสรณังกร พระทีปังกร ทรงอุบัติแล้วในกัปเดียว. ในส่วนที่เหนือขึ้นไปของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ได้ว่างเปล่าพระพุทธเจ้าไปถึงหนึ่งอสงไขยทีเดียว.
               ในที่สุดอสงไขยกัป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ พระองค์เดียวเท่านั้นทรงอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง. แม้จากนั้นก็ได้ว่างเปล่าพระพุทธเจ้าไปอีกหนึ่งอสงไขย.
               ในที่สุดอสงไขยกัป พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ พระสุมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระโสภิตะ ทรงอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง. แม้จากนั้นก็ว่างเปล่าพระพุทธเจ้าไปอีกหนึ่งอสงไขย.
               ในที่สุดอสงไขยกัป ต่อไปอีกอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระนารทะ ทรงอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง. แม้จากนั้นก็ได้ว่างเปล่าพระพุทธเจ้าไปอีกหนึ่งอสงไขย.
               ในที่สุดอสงไขยกัป ต่อไปอีกแสนกัป พระผู้มีพระภาคพระนามว่าพระปทุมุตตระ พระองค์เดียวเท่านั้นทรงอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง. ต่อจากนี้ไปอีกสามหมื่นกัป พระพุทธเจ้าสองพระองค์ คือ พระสุเมธะ พระสุชาตะ ทรงอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง. ในส่วนที่เหนือออกไป จากนั้น ต่อไปอีก ๑๘,๐๐๐ กัป พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธัมมทัสสี ทรงอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง. ต่อจากนั้นไป ๙๔ กัป พระพุทธเจ้าพระนามว่า สิทธัตถ ทรงอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง ต่อจากนั้นไป ๙๒ กัป พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระติสสะ พระปุสสะ ทรงอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง. ต่อจากนั้นไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงอุบัติขึ้น. ต่อจากนั้น ๓๑ กัป พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระสิขี พระเวสสภู ทรงอุบัติขึ้น.
               ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายทรงอุบัติขึ้น พระเมตเตยยะจักทรงอุบัติขึ้นภายหลัง. กัปนี้เป็นสุนทรกัปเป็นสารกัป เพราะมีพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น ๕ พระองค์ด้วยประการฉะนี้ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงยกย่องกัปนี้ จึงตรัสอย่างนี้.
               ถามว่า ข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าประมาณเท่านั้น ทรงอุบัติขึ้นแล้วก็ดี จักทรงอุบัติขึ้นก็ดีในกัปนี้ ย่อมเป็นการปรากฏแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้นหรือ หรือว่าย่อมเป็นการปรากฏแม้แก่ผู้อื่นด้วย.
               ตอบว่า ย่อมเป็นการปรากฏแม้แก่ผู้อื่นด้วย.
               ถามว่า แก่ใคร. ตอบว่า แก่พรหมชั้นสุทธาวาส.
               จริงอยู่ ในกาลดำรงอยู่แห่งกัป เมื่อโลกสันนิวาสดำรงอยู่ตลอดอสงไขยหนึ่ง ฝนเริ่มตกเพื่อให้โลกดำรงอยู่. ย่อมเป็นเหมือนหิมะตกในสุดแคว้นแต่ต้นเทียว. จากนั้นก็มีรำข้าวประมาณหนึ่ง งาประมาณหนึ่ง ข้าวสารประมาณหนึ่ง ถั่วเขียวประมาณหนึ่ง ถั่วทองประมาณหนึ่ง พุทรา มะขามป้อม ฟักเหลือง ฟักเขียว น้ำเต้า ประมาณหนึ่ง เป็นสายน้ำงอกงามขึ้นโดยลำดับ หนึ่งอุสภะ สองอุสภะ กึ่งคาวุต หนึ่งคาวุต กึ่งโยชน์ หนึ่งโยชน์ สองโยชน์ สามโยชน์ สิบโยชน์ ฯลฯ แสนโยชน์เป็นประมาณ ตั้งอยู่บริบูรณ์ในระหว่างแสนโกฏิจักรวาฬจนถึงอกนิฏฐพรหมโลก. ลำดับนั้น น้ำนั้นตกโดยลำดับ เมื่อน้ำตก เทวโลกทั้งหลายย่อมดำรงอยู่ในที่ของเทวโลกเป็นปกติ. วิธีสร้างเทวโลกเหล่านั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในบุพเพนิวาสกถา ในวิสุทธิมรรค.
               ก็ฐานะของมนุสสโลก เหมือนเมื่อน้ำเข้าไปแล้วปิดปากธมกรกเสีย น้ำนั้นก็อยู่ได้ด้วยอำนาจของลม. แผ่นดินย่อมตั้งอยู่ได้เหมือนใบบัวอยู่หลังน้ำ. มหาโพธิบัลลังก์ เมื่อโลกพินาศ จะพินาศในภายหลัง เมื่อโลกดำรงอยู่ก็ดำรงอยู่ก่อน. ณ โพธิบัลลังก์นั้น กอบัวกอหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นเป็นบุพพนิมิต หากว่าในกัปนั้นของโพธิบัลลังก์นั้น พระพุทธเจ้าจักทรงอุบัติ ดอกบัวย่อมเกิดขึ้น หากไม่ทรงอุบัติ ดอกบัวจะไม่เกิด.
               อนึ่ง เมื่อดอกบัวเกิดหากพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งจักทรงอุบัติก็เกิดดอกเดียว. หากพระพุทธเจ้าจักทรงอุบัติ ๒ องค์ ๓ องค์ ๔ องค์ ๕ องค์ ดอกบัวก็เกิด ๕ ดอก. อนึ่ง ดอกบัวเหล่านั้นเป็นดอกมีช่อติดกันในก้านเดียวนั่นเอง. ท้าวสุทธาวาสพรหมทั้งหลายชวนกันว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พวกเรามากันเถิด จักเห็นบุพนิมิต แล้วพากันมายังมหาโพธิบัลลังก์สถาน ในกัปที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังไม่ทรงอุบัติดอกบัวก็ไม่มี. ทวยเทพทั้งหลายเห็นกอบัวไม่มีดอก ก็มีความเสียใจว่า พ่อคุณเอ๋ย โลกจักมืดมนหนอ สัตว์ทั้งหลายถูกความมืดครอบงำจักเต็มในอบาย เทวโลก ๖ พรหมโลก ๙ จักว่างเปล่า ครั้นเห็นดอกบัวในเวลาบานต่างดีใจว่า เมื่อพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทรงก้าวลงสู่ครรภ์พระมารดา ประสูติ ตรัสรู้ ยังธรรมจักรให้เป็นไป ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์หยั่งลงจากเทวโลก ทรงปลงอายุสังขารเสด็จดับขันธปรินิพพาน พวกเราจักเห็นปาฏิหาริย์ อันทำให้หมื่นจักรวาฬหวั่นไหว และอบายทั้ง ๔ จักเสื่อมโทรม เทวโลก ๖ พรหมโลก ๙ จักบริบูรณ์พากันเปล่งอุทานไปสู่พรหมโลกของตนของตน.
               อนึ่ง ดอกบัว ๕ ดอกเกิดขึ้นแล้วในกัปนี้. แม้ท้าวสุทธาวาสพรหมทั้งหลาย ครั้นเห็นดอกบัวเหล่านั้นก็รู้ความนี้ว่า พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ทรงอุบัติแล้ว องค์ที่ ๕ จักทรงอุบัติต่อไปดังนี้ ด้วยอานุภาพแห่งนิมิตเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ข้อนั้นเป็นการปรากฏแม้แก่ผู้อื่น ดังนี้.

               อายุปริจฺเฉทวณฺณนา               
               แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบุพเพนิวาส ด้วยสามารถกำหนดกัป โดยนัยเป็นต้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นับแต่นี้ไป ดังนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงด้วยสามารถกำหนดชาติเป็นต้นของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าพระวิปัสสี ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยในการกำหนดอายุ.
               บททั้งสองนี้ว่า ปริตฺตํ ลหุกํ เป็นไวพจน์ของอายุน้อยนั่นเอง. ด้วยว่า อายุใดน้อย อายุนั้นย่อมเป็นของนิดหน่อยและเยา.
               บทว่า อปฺปํวา ภิยฺโย คือ อายุเกินกว่า ๑๐๐ ปีมีน้อย. ครั้นยังไม่ถึง ๑๐๐ ปี ย่อมเป็นอยู่ ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี หรือ ๖๐ ปี. แต่คนอายุยืนอย่างนี้หาได้ยากนัก ได้ข่าวว่า คนโน้นอยู่นานอย่างนี้ ควรพากันไปดูในที่นั้นๆ.
               บรรดาคนมีอายุยืนนั้น นางวิสาขาอุบาสิกาอยู่ได้ ๑๒๐ ปี พราหมณ์โปกขรสาติ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์เสละ พราหมณ์พาวริยะ พระอานนทเถระ พระมหากัสสปเถระก็เหมือนกัน แต่พระอนุรุทธเถระอยู่ถึง ๑๕๐ ปี พระพากุลเถระอยู่ ๑๖๐ ปี ท่านผู้นี้มีอายุยืนกว่าทั้งหมด. แม้ท่านก็อยู่ไม่ถึง ๒๐๐ ปี.
               ก็พระโพธิสัตว์แม้ทั้งปวงมีพระวิปัสสีเป็นต้น ถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ด้วยอสังขาริกจิต สหรคตด้วยโสมนัสและสัมปยุตด้วยญาณ อันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งเมตตา. เมื่อถือปฏิสนธิด้วยจิตดวงนั้นจะมีอายุอสงไขยหนึ่ง. ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าทั้งปวงจึงมีอายุอสงไขยหนึ่ง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ท่านเหล่านั้นจึงไม่ตั้งอยู่ถึงอสงไขย.
               ตอบว่า เพราะความวิบัติแห่งฤดูและโภชนะ. จริงอยู่ อายุย่อมเสื่อมบ้าง ย่อมเจริญบ้างด้วยอำนาจแห่งฤดูและโภชนะ.
               ในข้อนั้น เมื่อใดพระราชาทั้งหลายไม่เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม เมื่อนั้นอุปราช เสนาบดี เศรษฐี สกลนคร สกลรัฐ ก็ย่อมไม่ประกอบด้วยธรรมเหมือนกัน. เมื่อเป็นดังนั้น อารักขเทวดาของชนเหล่านั้น ภุมมเทวดาผู้เป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น อากาสัฎเทวดาผู้เป็นมิตรของภุมมเทวดา อุณหวลาหกเทวดาผู้เป็นมิตรของอากาสัฎเทวดา อัพภวลาหกเทวดาผู้เป็นมิตรของอุณหวลาหกเทวดาเหล่านั้น สีตวลาหกเทวดาผู้เป็นมิตรของอัพภวลาหกเทวดาเหล่านั้น วัสสวลาหกเทวดาผู้เป็นมิตรของสีตวลาหกเทวดาเหล่านั้น จาตุมมหาราชิกาเทวดาผู้เป็นมิตรของวัสสวลาหกเทวดาเหล่านั้น ดาวดึงสเทวดาผู้เป็นมิตรของจาตุมมหาราชิกาเทวดาเหล่านั้น ยามาเทวดาผู้เป็นมิตรของดาวดึงสเทวดาเหล่านั้นเป็นต้น ตราบเท่าถึงภวัคพรหม เว้นพระอริยสาวกเทวดาทั้งหมด แม้พรหมบริษัทก็เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม.
               พระจันทร์พระอาทิตย์ย่อมดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ เพราะเทวดาเหล่านั้นไม่ประกอบด้วยธรรม. ลมย่อมไม่พัดไปตามทางลม. เมื่อลมไม่พัดไปตามทางลม ย่อมทำให้วิมานซึ่งตั้งอยู่บนอากาศสะเทือน. เมื่อวิมานสะเทือน พวกเทวดาก็ไม่มีจิตใจจะไปเล่นกีฬา เมื่อเทวดาไม่มีจิตใจจะไปเล่นกีฬา ฤดูหนาว ฤดูร้อนย่อมไม่เป็นไปตามฤดูกาล. เมื่อฤดูไม่เป็นไปตามฤดูกาล ฝนย่อมไม่ตกโดยชอบ บางครั้งตก บางครั้งไม่ตก ตกในบางท้องที่ ไม่ตกในบางท้องที่ ก็เมื่อตกย่อมตก ขณะหว่าน ขณะแตกหน่อ ขณะแตกก้าน ขณะออกรวง ขณะออกน้ำนมเป็นต้น ย่อมตกโดยประการที่ไม่เป็นอุปการะแก่ข้าวกล้าเลย และแล้งไปนาน ด้วยเหตุนั้น ข้าวกล้าจึงสุกไม่พร้อมกัน ปราศจากสมบัติมีกลิ่นสีและรสเป็นต้น. แม้ในข้าวสารที่ใส่ในภาชนะเดียวกัน ข้าวในส่วนหนึ่งดิบ ส่วนหนึ่งเปียกแฉะ ส่วนหนึ่งไหม้. บริโภคข้าวนั้นเข้าไปย่อมถึงโดยอาการ ๓ อย่างในท้อง. สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีโรคมากและมีอายุน้อยด้วยเหตุนั้น. อายุย่อมเสื่อมด้วยอำนาจของฤดูและโภชนะด้วยประการฉะนี้โดยแท้.
               แม้ทวยเทพทั้งปวงตลอดถึงพรหมโลกย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม โดยนัยอันมีในเบื้องต้นว่า ก็เมื่อใดพระราชาเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม เมื่อนั้นแม้เสนาบดีและอุปราชก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดังนี้. เพราะทวยเทพเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมดำเนินไปโดยสม่ำเสมอ. ลมย่อมพัดไปตามทางของลม ย่อมไม่ทำให้วิมานที่ตั้งอยู่บนอากาศสะเทือน. เมื่อวิมานไม่สะเทือนพวกเทวดาก็มีแก่ใจเล่นกีฬา. ฤดูย่อมเป็นไปตามกาลอย่างนี้. ฝนย่อมตกโดยชอบเกื้อกูลข้าวกล้าตั้งแต่ขณะหว่าน ตกตามเวลา แล้งไปตามเวลา. ด้วยเหตุนั้น ข้าวกล้าสุกพร้อมกัน มีกลิ่นหอม มีสีงาม มีรสอร่อย มีโอชะ. โภชนะที่ปรุงด้วยข้าวกล้านั้นแม้บริโภคแล้วก็ถึงความย่อยง่าย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีโรคมีอายุยืนด้วยเหตุนั้น. อายุย่อมเจริญด้วยอำนาจฤดูและโภชนะด้วยประการฉะนี้.
               ในบรรดาพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงอุบัติในขณะที่สัตว์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี พระสิขีทรงอุบัติในขณะที่สัตว์มีอายุ ๗๐,๐๐๐ ปี ดังนั้น ท่านกำหนดอายุนี้ไว้ คล้ายกับเสื่อมไปโดยลำดับ แต่ไม่ใช่เสื่อมอย่างนั้น.
               พึงทราบว่าอายุเจริญ เจริญแล้วเสื่อม.
               ถามว่า อย่างไร.
               ตอบว่า ในภัทรกัปนี้ก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ทรงอุบัติในขณะที่สัตว์มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี กำหนดอายุไว้ ๕ ส่วน ดำรงอยู่ ๔ ส่วน เมื่อถึงส่วนที่ ๕ ก็ปรินิพพาน. อายุนั้นเสื่อมถึงกาลกิริยาเมื่ออายุ ๑๐ ปี แล้วเจริญอีกเป็นอสงไขย จากนั้นก็เสื่อมดำรงอยู่ในขณะที่สัตว์มีอายุ ๓๐,๐๐๐ ปี. กาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะทรงอุบัติ. แม้เมื่อพระโกนาคมนะนิพพานแล้วอย่างนั้น อายุนั้นเสื่อมถึงกาลกิริยาเมื่ออายุ ๑๐ ปี แล้วเจริญอีกเป็นอสงไขย เสื่อมอีกดำรงอยู่ในขณะที่สัตว์มีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี. กาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติ. แม้เมื่อพระกัสสปะนั้นปรินิพพานอย่างนั้นแล้ว อายุนั้นก็เสื่อมถึงกาลกิริยาเมื่อมีอายุ ๑๐ ปี แล้วเจริญอีกเป็นอสงไขยเสื่อมอีก ถึงกาลกิริยาเมื่อมีอายุ ๑๐๐ ปี. ทีนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราทรงอุบัติ.
               อายุมิได้เสื่อมลงโดยลำดับอย่างนั้น พึงทราบว่าเจริญ เจริญแล้วจึงเสื่อม. ในข้อนั้นพึงทราบว่า ข้อที่เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุเจริญ พระพุทธเจ้าย่อมทรงอุบัติ นั้นแลเป็นกำหนดอายุของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               การกำหนดอายุจบ               

               พึงทราบวินิจฉัยในการกำหนดสถานที่ตรัสรู้.               
               บทว่า ปาฏลิยามูเล คือ ภายใต้ต้นแคฝอย. ลำต้นแคฝอยนั้นโดยส่วนสูงถึง ๑๐๐ ศอก คือ วันนั้นลำต้นพุ่งขึ้นไป ๕๐ ศอกกิ่ง ๕๐ ศอก. อนึ่ง ต้นแคฝอยนั้นในวันนั้นมีดอกดุจติดกับช่อปกคลุมเป็นอันเดียวกันตั้งแต่โคนต้น. กลิ่นทิพย์ฟุ้งไป. มิใช่ดอกแคฝอยต้นนี้ต้นเดียวเท่านั้นบาน. ต้นแคฝอยทั้งหมดในหมื่นจักรวาฬก็บาน. มิใช่แคฝอยอย่างเดียวบาน. บรรดาต้นไม้ทั้งหมดในหมื่นจักรวาฬก็บาน เช่น กอปทุมบานที่กอ ก้านปทุมบานที่ก้าน สายปทุมบานที่สาย อากาศปทุมบานบนอากาศบัวหลวง ทำลายพื้นดินผุดขึ้น. แม้มหาสมุทรก็ดาดาษไปด้วย ปทุม ๕ ชนิดและด้วยบัวขาบ บัวแดง. ทั้งหมื่นจักรวาฬได้มีกลุ่มดอกไม้คล้ายธง เกลื่อนกลาดไปด้วยพวงดอกไม้เนื่องกัน และกองดอกไม้ที่ร่วง ณ ที่นั้นๆ แพรวพราวไปด้วยดอกไม้สีต่างๆ ได้เป็นเช่นกับสวนนันทวัน จิตรลดาวัน มิสสกวัน และปารุสกวัน. เป็นดุจยกธงขึ้น ณ ริมขอบจักรวาฬด้านทิศตะวันออก จดริมขอบจักรวาฬด้านทิศตะวันตก. และดุจยกธงขึ้น ณ ริมขอบจักรวาฬด้านทิศตะวันตก ทิศใต้ ทิศเหนือ จดริมขอบจักรวาฬด้านทิศใต้. ได้เป็นจักรวาฬอันสมบูรณ์ด้วยสิริของกันและกันอย่างนี้.
               บทว่า อภิสมฺพุทฺโธ ความว่า แทงตลอดคุณ ความเจริญ สิริอันเป็นพุทธะ คือตรัสรู้ยิ่งซึ่งอริยสัจ ๔.
               แม้ในบททั้งหลายเป็นต้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสรู้ยิ่งแล้ว ณ ควงไม้บุณฑริก ดังนี้ พึงทราบการพรรณนาโดยนัยนี้แล.
               ก็บทว่า ปุณฺฑรีโก ในที่นี้ คือ ต้นมะม่วงมีรสหวาน. แม้ต้นมะม่วงนั้นก็มีปริมาณนั้นเหมือนกัน. อนึ่ง ในวันนั้นต้นมะม่วงนั้นก็ปกคลุมไปด้วยดอกอันเป็นทิพย์และมีกลิ่นหอม. ไม่ใช่ดอกอย่างเดียว ได้มีผลดกด้วย. มะม่วงนั้นข้างหนึ่งผลอ่อน ข้างหนึ่งผลปานกลาง ข้างหนึ่งผลยังไม่แก่จัด ข้างหนึ่งผลแก่จัดมีรสอร่อย มีโอชะดุจใส่ทิพย์โอชะลงไปห้อยย้อยลง. ต้นมะม่วงนั้นฉันใด ในหมื่นจักรวาฬก็ฉันนั้น ต้นไม้ที่ออกดอกก็ได้ประดับด้วยดอกต้นไม้ที่ออกผลก็ได้ประดับด้วยผล.
               บทว่า สาโล คือ ต้นสาละ. แม้ต้นสาละนั้นก็มีปริมาณนั้นเหมือนกัน. พึงทราบดอกสิริความเจริญอย่างนั้นเหมือนกัน. แม้ในต้นไม้ซึกก็นัยนี้เหมือนกัน. ในต้นมะเดื่อไม่มีดอกความงอกงามของผลในต้นมะเดื่อนี้มีนัยกล่าวแล้วในต้นมะม่วงนั้นแล. ในต้นไทรก็อย่างเดียวกันในโพธิ์ใบก็อย่างเดียวกัน.
               บัลลังก์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์อย่างเดียวกัน. แต่ต้นไม้เป็นอย่างอื่น. ในบรรดาต้นไม้เหล่านั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงรู้แจ้งถึงการตรัสรู้ กล่าวคือมรรคญาณ ๔ ณ ควงไม้ใดๆ ไม้นั้นๆ ท่านเรียกว่า โพธิ. นี้ชื่อว่ากำหนดสถานที่ตรัสรู้.

               สาวกยุคปริจฺเฉทวณฺณนา               
               พึงทราบวินิจฉัยในการกำหนดสาวก.
               บทว่า ขณฺฑติสฺสํ คือ สาวกชื่อว่า ขัณฑะและติสสะ. ท่านทั้งสองนั้น ท่านขัณฑะร่วมบิดาเดียวกันเป็นน้อง ท่านติสสะเป็นปุโรหิต. ท่านขัณฑะบรรลุที่สุดแห่งปัญญาบารมี ท่านติสสะบรรลุที่สุดแห่งสมาธิบารมี.
               บทว่า อคฺคํ อธิบายว่า เป็นผู้สูงสุด เพราะความเป็นผู้มีคุณไม่เหมือนกับผู้ที่เหลือ ยกเว้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี.
               บทว่า ภทฺทยุคํ อธิบายว่า ชื่อว่าคู่เจริญเพราะความเป็นผู้เลิศ.
               บทว่า อภิภูสมฺภวํ คือ สาวกชื่อว่าอภิภู และสัมภวะ
               ท่านทั้งสองนั้น ท่านอภิภูบรรลุที่สุดแห่งปัญญาบารมีไปสู่พรหมโลกจากอรุณวดี กับพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี แล้วแสดงปาฎิหาริย์หลายอย่างแก่พรหมบริษัท แสดงธรรมแผ่ไปทั่วหมื่นโลกธาตุให้มืดมิด แล้วส่องแสงสว่างแก่ผู้ที่เกิดสังเวชว่านี้อะไรกัน แล้วอธิษฐานว่า ขอให้ชนทั้งปวงจงเห็นรูปของเราและจงได้ยินเสียงของเราดังนี้ ได้กล่าวสองคาถาว่า ท่านทั้งหลายจงเริ่มได้ดังนี้เป็นต้น ให้ได้ยินเสียง. ท่านสัมภวะได้บรรลุที่สุดแห่งสมาธิบารมี.
               บทว่า โสณุตฺตรํ คือ พระสาวกชื่อว่าโสณะและพระอุตตระ. ในท่านทั้งสองนั้น ท่านโสณะบรรลุปัญญาบารมี ท่านอุตตระบรรลุสมาธิบารมี.
               บทว่า วิธูรสญฺชีวํ คือ พระสาวกชื่อว่าวิธูระและสัญชีวะ ในท่านทั้งสองนั้น ท่านวิธุระบรรลุปัญญาบารมี. ท่านสัญชีวะบรรลุสมาธิบารมี เป็นผู้มักเข้าสมาบัติพยายามด้วยกำลังสมาบัติ ในที่พักกลางคืนที่พักกลางวัน กุฏี ถ้ำและมณฑปเป็นต้น เข้านิโรธในป่าตลอดวัน. พวกทำงานในป่าเป็นต้น เข้าใจว่า ท่านมรณภาพจึงพากันเผาท่าน. ท่านสัญชีวะนั้น ครั้นออกจากสมาบัติตามกำหนด ห่มคลุมเข้าไปยังบ้านเพื่อบิณฑบาต. อาศัยเหตุนั้นแล ชนทั้งหลายจึงรู้จักท่านว่า ท่านสัญชีวะ ดังนี้.
               บทว่า ภิยฺโยสุตฺตรํ คือ พระสาวกชื่อว่า ภิยโยสะและอุตตระ. ในท่านทั้งสองนั้น ท่านภิยโยสะเป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ท่านอุตตระเป็นผู้เลิศด้วยสมาธิ.
               บทว่า ติสฺสภารทฺวาชํ คือ พระสาวกชื่อว่าติสสะและภารทวาชะ. ในท่านทั้งสองนั้น ท่านติสสะได้บรรลุปัญญาบารมี ท่านภารทวาชะได้บรรลุสมาธิบารมี.
               บทว่า สารีปุตฺตโมคฺคลฺลานํ คือ พระสาวกชื่อว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะ. ในท่านทั้งสองนั้น ท่านสารีบุตรได้เป็นผู้เลิศในทางปัญญา ท่านโมคคัลลานะได้เป็นผู้เลิศในทางสมาธิ.
               นี้ชื่อว่ากำหนดคู่อัครสาวก.

               สาวกสนฺนิปาตปริจฺเฉทวณฺณนา               
               พึงทราบวินิจฉัยในการกำหนดการประชุมสาวก.
               การประชุมครั้งแรกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ภิกษุทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ. ภิกษุทั้งหมดมีบาตรและจีวรบังเกิดฤทธิ์. ภิกษุทั้งหมดไม่ได้นัดหมายกันมา. อนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกันในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ.
               ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งจับพัดยังภิกษุให้ลงอุโบสถ. ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ก็นัยนี้แล. ในการประชุมทั้งหมดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เหลือก็เป็นอย่างนั้น. ก็แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายได้มีการประชุมในปฐมโพธิกาลเท่านั้น
               เพราะเหตุใด. พระสูตรนี้ ท่านกล่าวไว้แล้วในภาคอื่น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การประชุมสาวกของเราในบัดนี้ ให้มีหนเดียว ดังนั้นการประชุมจึงจบ.
               ในบทว่า อฑฺฒเตรสานิภิกฺขุสตานิ ความว่า ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป คือ บุราณชฎิล ๑,๐๐๐ รูป ปริวารพระอัครสาวก ๒๕๐ รูป. ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ควรกล่าวถึงเรื่องตั้งแต่อภินิหารของพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว แสดงถึงการบรรพชา. อนึ่ง บรรดาบรรพชิตเหล่านั้น พระมหาโมคคัลลานะบรรลุพระอรหัต ในวันที่เจ็ด. พระธรรมเสนาบดี เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตร อันเป็นธรรมยาคะที่เตรียมไว้แก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน ณ ถ้ำสูกรขาตา ท่ามกลางภูเขาคิชฌกูฎ ในวันที่ ๑๕ ส่งญาณไปเพื่อรู้ตามโดยระลึกไปตามเทศนา ได้บรรลุสาวกบารมีญาณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึงการบรรลุพระอรหัตของพระเถระแล้ว เสด็จขึ้นไปยังเวหาสไปปรากฏ ณ พระวิหารเวฬุวัน. พระเถระรำพึงว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปไหนหนอ ครั้นทราบความที่พระองค์ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน แม้ท่านเองก็เหาะสู่เวหาสไปปรากฏ ณ พระวิหารเวฬุวันเหมือนกัน. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศปาติโมกข์ (หลักคำสอน) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงการประชุมนั้น จึงตรัสว่า ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูปเป็นต้น.
               นี้คือกำหนดการประชุมของพระสาวก

               อุปฏฺฐากปริจฺเฉทวณฺณนา               
               พึงทราบวินิจฉัย ในการกำหนดอุปฐากต่อไป.
               บทว่า พระอานนท์ ท่านกล่าวหมายถึงความที่พระอานนทเถระ เป็นอุปฐากประจำ. เพราะว่า ในปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีพระอุปฐากไม่ประจำ. บางคราวพระนาคสมาละถือบาตรและจีวรตามเสด็จ. บางคราวพระนาคิตะ. บางคราวพระอุปวาณะ. บางคราวพระสุนักขัตตะ. บางคราวจุนทสมณุเทส. บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระเมฆิยะ.
               ในบรรดาท่านเหล่านั้น บางคราวพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางไกลกับพระนาคสมาลเถระ เสด็จถึงทางสองแพร่ง. พระเถระหลีกออกจากทาง กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จะไปตามทางนี้. ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะพระเถระนั้นว่า มานี่ภิกษุ เราจะไปทางนี้. พระเถระนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์รับบาตรและจีวรของพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะไปตามทางนี้แล้วก็เตรียมจะวางบาตรและจีวรลงบนพื้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะพระเถระนั้นว่า นำมาเถิดภิกษุ แล้วทรงรับบาตรและจีวรเสด็จไป. เมื่อภิกษุนั้นไปอีกทางหนึ่ง พวกโจรชิงบาตรและจีวรไป และตีศีรษะ. ภิกษุนั้นคิดว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา ไม่มีผู้อื่นแล้ว ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งที่เลือดไหล. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นี่อะไร ภิกษุ. จึงกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุนั้นว่า อย่าคิดไปเลย ภิกษุ เราห้ามเธอถึงเหตุนั้น แล้วทรงปลอบภิกษุนั้น.
               ก็บางคราวพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปยังชันตุคามในวังสมฤคทายวันด้านปาจีน กับพระเมฆิยเถระ. แม้ ณ ที่นั้นพระเมฆิยะไปบิณฑบาตในชันตุคาม เห็นสวนมะม่วงน่าประทับใจ ณ ฝั่งแม่น้ำ กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงรับบาตรและจีวรของพระองค์ไปเถิด ข้าพระองค์จะบำเพ็ญสมณธรรมที่สวนมะม่วงนั้น แม้ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง ก็ไปจนได้ ครั้นถูกอกุศลวิตกครอบงำ จึงกลับมากราบทูลเหตุที่เกิดขึ้นนั้นให้ทรงทราบ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะพระเมฆิยะว่า เรากำหนดรู้เหตุนี้แก่เธอแล้วยังได้ห้ามเธอไว้ แล้วได้เสด็จไปยังพระนครสาวัตถี โดยลำดับ.
               ณ พระนครสาวัตถีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุ ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันบวรที่ปูไว้ ณ บริเวณคันธกุฎี ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราเป็นผู้แก่ ภิกษุบางรูป เมื่อเราบอกว่าเราไปตามทางนี้กันเถิด ได้ไปเสียทางอื่น บางรูปวางบาตรและจีวรของเราไว้บนพื้น พวกเธอจงเลือกภิกษุรูปหนึ่ง เป็นอุปฐากประจำของเรา.
               ภิกษุทั้งหลายเกิดธรรมสังเวช.
               ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ตั้งความปรารถนาไว้กะพระองค์ บำเพ็ญบารมีตลอดอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ธรรมดาอุปฐากมีปัญญามากเช่นข้าพระองค์สมควรมิใช่หรือ ข้าพระองค์จักอุปฐากพระองค์ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามพระสารีบุตรว่า อย่าเลย สารีบุตร เธออยู่ในทิศใด ทิศนั้นไม่ว่างเปล่าทีเดียว โอวาทของเธอเช่นเดียวกับโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เธอไม่ต้องทำหน้าที่อุปฐากเรา.
               พระมหาสาวก ๘๐ รูป เริ่มแต่พระมหาโมคคัลลานะเป็นต้นได้ลุกขึ้นโดยทำนองเดียวกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามพระสาวกเหล่านั้นทั้งหมด. แต่พระอานนทเถระนั่งนิ่งทีเดียว.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะพระอานนทเถระนั้นอย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ หมู่ภิกษุกราบทูลขอตำแหน่งอุปฐาก แม้ท่านก็จงกราบทูลขอบ้างดังนี้. พระอานนทเถระนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ชื่อว่าการอุปฐากที่กราบทูลขอแล้วได้มาจะเป็นเช่นไร พระศาสดาไม่ทรงเห็นเราดอกหรือ หากพระองค์จักพอพระทัย จักทรงบอกว่า อานนท์ จงอุปฐากเราดังนี้.
               ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไม่ควรให้ผู้อื่นส่งเสริม จักรู้ด้วยตนเองแล้วอุปฐากเรา. แต่นั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ท่านพระอานนท์ลุกขึ้นเถิด จงกราบทูลขอตำแหน่งอุปฐากกะพระทศพล.
               พระเถระลุกขึ้นกราบทูลขอพร ๘ ประการ คือ ข้อห้าม ๔ ข้อ ข้อขอร้อง ๔ ข้อ
               พึงทราบข้อห้าม ๔ ข้อ.
               พระอานนทเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีต ที่พระองค์ได้มาแก่ข้าพระองค์ จักไม่ประทานบิณฑบาต จักไม่ให้อยู่ในคันธกุฎีเดียวกัน รับนิมนต์แล้วจักไม่ไปร่วมกัน ด้วยประการฉะนี้ ข้าพระองค์จักอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็เธอเห็นโทษอะไรในข้อนี้.
               กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากข้าพระองค์จักได้สิ่งเหล่านี้ จักมีผู้กล่าวหาแก่ข้าพระองค์ว่า พระอานนท์ใช้จีวรอันประณีตที่พระทศพลได้แล้ว ฉันบิณฑบาต อยู่ในคันธกุฎีเดียวกัน ไปสู่ที่นิมนต์ร่วมกัน เมื่อได้ลาภนี้ จึงอุปฐากพระตถาคต เมื่ออุปฐากอย่างนี้จะหนักหนาอะไร.
               พระอานนทเถระกราบทูลขอข้อห้าม ๔ ข้อเหล่านี้.
               พึงทราบข้อขอร้อง ๔ ข้อ.
               พระอานนทเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้ หากข้าพระองค์จักได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในขณะที่บริษัทมาจากภายนอกแคว้น ภายนอกชนบท เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ามาถึงแล้ว ขณะใดความสงสัยเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ ขณะนั้นข้าพระองค์จักได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมข้อใดลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จกลับมาแล้ว จักทรงแสดงธรรมข้อนั้นแก่ข้าพระองค์ ด้วยประการฉะนี้ ข้าพระองค์จักอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ เธอเห็นอานิสงส์อะไรในข้อนี้.
               กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรทั้งหลายผู้มีศรัทธาในพระศาสนานี้ เมื่อไม่ได้โอกาสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมกล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ วันพรุ่งนี้โปรดรับภิกษาในเรือนของพวกกระผมพร้อมด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่เสด็จไป ณ ที่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าจักไม่ได้โอกาสเพื่อชี้แจงกะบริษัท ในขณะที่เขาปรารถนาและเพื่อบรรเทาความสงสัย จักมีผู้กล่าวว่า อะไรกันพระอานนท์ อุปฐากพระทศพล แม้เพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงทำการอนุเคราะห์แก่พระอานนท์ ดังนี้.
               อนึ่ง ชนทั้งหลายจักถามข้าพระพุทธเจ้าลับหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ในที่ไหน ดังนี้ หากข้าพระองค์จักชี้แจงข้อนั้นไม่ได้ จักมีผู้กล่าวว่าแม้เพียงเท่านี้ ท่านก็ยังไม่รู้ ท่านไม่ละพระผู้มีพระภาคเจ้าดุจเงาเที่ยวไปตลอดกาลนาน เพราะเหตุไรดังนี้ ด้วยเหตุนั้น ข้าพระองค์ปรารถนาจะกล่าวธรรมแม้ที่พระองค์ทรงแสดงลับหลังอีกครั้ง.
               พระอานนท์กราบทูลขอข้อขอร้อง ๔ ข้อนี้
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงประทานแก่พระอานนท์นั้น. พระอานนท์ ครั้นรับพร ๘ ประการเหล่านี้แล้วก็ได้เป็นอุปฐากประจำด้วยประการฉะนี้. พระอานนท์บรรลุผลแห่งบารมีที่บำเพ็ญมาตลอดแสนกัปเพื่อตำแหน่งนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ ภิกษุอานนท์ผู้เป็นอุปฐากของเราได้เป็นอุปฐากผู้เลิศ ดังนี้ หมายถึงความที่พระอานนท์นี้เป็นอุปฐากประจำนั้น.
               นี้เป็นการกำหนดอุปฐาก.
               การกำหนดบิดามีความง่ายอยู่แล้ว.
               บทว่า วิหารํ ปาวิสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่วิหาร เพราะเหตุอะไร
               นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสดังนั้นแล้วทรงดำริว่า เราบรรลุถึงที่สุดอันหาระหว่างมิได้แล้ว ยังไม่ได้กล่าวถึงวงศ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๗ พระองค์เลย ก็เมื่อเราเข้าไปยังวิหาร ภิกษุเหล่านี้ได้ปรารภถึงบุพเพนิวาสญาณโดยประมาณอันยิ่งแล้วจักกล่าวถึงคุณ เมื่อเป็นเช่นนั้น เรามากล่าวถึงพุทธวงศ์อันหาระหว่างมิได้ให้ภิกษุทั้งหลาย บรรลุถึงที่สุดแล้วจักแสดง ดังนี้ ทรงให้โอกาสภิกษุทั้งหลายสนทนากันจึงเสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่พระวิหาร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแบบอันใดไว้ วาระ ๙ เหล่านี้มาแล้วในแบบแผนนั้น คือ กำหนดกัป กำหนดชาติ กำหนดโคตร กำหนดอายุ กำหนดการตรัสรู้ กำหนดคู่สาวก กำหนดการประชุมสาวก กำหนดอุปฐาก กำหนดบิดา. วาระหลายอย่างยังไม่มาถึงแต่จะนำมาแสดง.

               สมฺพหุลวาร               
               จริงอยู่ เมื่อบุตรสมควรแก่ตระกูลและวงศ์หนึ่งของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เกิดแล้วควรออกบวช นี้แลเป็นวงศ์ นี้เป็นประเพณี.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะว่าตั้งแต่การหยั่งลงสู่ครรภ์ของมารดาของพระโพธิสัตว์ผู้เป็นพระสัพพัญญูทั้งหลายมีปาฏิหาริย์หลายอย่างดังได้กล่าวแล้วในตอนก่อน ผิว่า เมืองเกิดบิดามารดาภรรยาบุตรของพระโพธิสัตว์เหล่านั้นไม่พึงปรากฏ เมืองเกิดบิดาบุตรของบุคคลนี้ก็ไม่ปรากฏ.
               ผู้นี้เห็นจะเป็นเทวดา ท้าวสักกะมารหรือพรหม และสำคัญว่าปาฏิหาริย์เช่นนี้ของเทวดาทั้งหลายไม่น่าอัศจรรย์ พึงสำคัญถึงปาฏิหาริย์อันไม่ควรฟัง ไม่ควรเชื่อ. แต่นั้น การตรัสรู้ไม่พึงมี เมื่อไม่มีการตรัสรู้ การอุบัติของพระพุทธเจ้าก็ไม่มีประโยชน์ คำสอนก็ไม่นำให้พ้นไปจากทุกข์ เพราะฉะนั้น เมื่อบุตรสมควรแก่ตระกูลและวงศ์ของพระโพธิสัตว์ทั้งปวงเกิด ควรออกบวช นี้แลเป็นวงศ์ นี้เป็นประเพณี. เพราะฉะนั้น ควรนำวาระหลายๆ อย่างมาแสดงด้วยสามารถแห่งบุตรเป็นต้น.

               สมฺพหุลปริจฺเฉทวณฺณนา               
               ในสัมพหุลวาระ พึงทราบบุตรทั้ง ๗ ตามลำดับของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์เหล่านี้ก่อน คือ
               สมวัตตักขันธะ อตุละ สุปปพุทธะ อุตตระ สัตถวาหะ วิชิตเสนะ ราหุลเป็นที่ ๗.
               ในบรรดาบุตรเหล่านั้น เมื่อเจ้าชายราหุลประสูติ พวกราชบุรุษนำหนังสือบอกข่าว มาวางไว้บนพระหัตถ์ของพระมหาบุรุษ.
               ลำดับนั้น ความสิเนหาในพระโอรสทำให้พระวรกายทุกส่วนของพระมหาบุรุษซาบซ่าน. พระมหาบุรุษดำริว่า เมื่อบุตรเกิดเพียงคนเดียว ความสิเนหาในบุตรยังเป็นถึงเพียงนี้ ถ้าเราจักมีบุตรกว่า ๑,๐๐๐ คน ในบุตรเหล่านั้น เมื่อคนหนึ่งเกิดความผูกพันด้วยสิเนหาเพิ่มมากขึ้นอย่างนี้ หัวใจจักแตกสลายเป็นแท้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ห่วงเกิดแล้ว เครื่องผูกพันเกิดแล้ว. ในวันนั้นเอง พระมหาบุรุษทรงสละราชสมบัติออกทรงผนวช. ในการเกิดบุตรของพระโพธิสัตว์ทุกองค์มีนัยนี้แล
               นี้การกำหนดบุตร
               บุตรแม้ทั้ง ๗ เหล่านั้นได้มีมารดาเหล่านี้ คือ
               พระนางสุตตนา พระนางสัพพกามา พระนางสุจิตตา พระนางโรจนี พระนางรุจจตินี พระนางสุนันทา และพระนางพิมพาเป็นองค์ที่ ๗.
               ก็พระนางพิมพาเทวี เมื่อราหุลกุมารประสูติ ได้ปรากฏชื่อว่าราหุลมารดา.
               นี้การกำหนดภรรยา.
               ก็พระโพธิสัตว์ ๒ องค์นี้คือ พระวิปัสสี พระกกุสันธะ เสด็จขึ้นรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์. พระโพธิสัตว์ ๒ องค์ คือ พระสิขี พระโกนาคมนะ ประทับบนคอช้างประเสริฐออกทรงผนวช. พระเวสสภูโพธิสัตว์ประทับนั่งบนวอทองออกทรงผนวช.
               พระกัสสปะประทับนั่งบนพื้นมหาปราสาท ยังอานาปานจตุตถฌานให้เกิด ออกจากฌานแล้วกระทำฌานนั้นให้เป็นบาท ทรงอธิษฐานว่า ปราสาทจงไปหยั่งลง ณ โพธิมณฑล ปราสาทไปทางอากาศแล้วหยั่งลง ณ โพธิมณฑล. แม้พระมหาบุรุษลงจากปราสาทนั้น ประทับบนพื้นทรงอธิษฐานว่า ปราสาทจงไปตั้งอยู่ ณ ที่เดิม. ปราสาทนั้นก็ต้องอยู่ในที่เดิม. แม้พระมหาบุรุษก็ทรงประกอบความเพียรตลอด ๗ วัน ประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ.
               ก็พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเสด็จประทับม้ากัณฐกะ ออกทรงผนวช.
               นี้การกำหนดยาน.
               วิหารของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณโยชน์หนึ่ง. ของพระสิขี ๓ คาวุต. ของพระเวสสภู กึ่งโยชน์. ของพระกกุสันธะ คาวุตหนึ่ง. ของพระโกนาคมนะ กึ่งคาวุต. ของพระกัสสปะ ๒๐ อุสภะ.
               วิหารของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราตั้งอยู่ในเนื้อที่ ๑๖ กรีสโดยวัดตามปกติ ๘ กรีสโดยวัดของหลวง.
               นี้การกำหนดพระวิหาร.
               เศรษฐีทั้งหลายให้ช่างทำอิฐทองคำ ยาว ๑ ศอก กว้าง ๑ คืบ สูง ๘ นิ้ว ปูโดยส่วนขวางแล้ว ซื้อสร้างที่อยู่ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี. ปูด้วยผาลไม้เส้าทองคำซื้อถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี. ให้ช่างทำเท้าช้างทองคำปูโดยขวาง ซื้อถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเวสสภู. ปูด้วยอิฐทองคำ ตามนัยที่กล่าวแล้ว ซื้อถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธ. ปูด้วยเต่าทองคำ ตามนัยที่กล่าวแล้ว ซื้อถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ. ปูด้วยทองแท่ง ซื้อถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ. และปูโดยขวางแห่งกหาปณะอันมีเครื่องหมาย ซื้อถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย.
               นี้กำหนดในการถือพื้นที่สร้างวิหาร.
               อุปฐากผู้ที่ซื้อพื้นที่ทำให้เป็นวิหารถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสีนั้น ชื่อปุนัพพสุมิตตะ. ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิขี ชื่อสิริวัฑฒ์. ถวายพระเวสสภู ชื่อโสตถิยะ. ถวายพระกกุสันธะ ชื่ออัจจุตะ. ถวายพระโกนาคมนะ ชื่ออุคคะ. ถวายพระกัสสปะ ชื่อสุมนะ. ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ชื่อสุทัตตะ.
               ก็อุปฐากเหล่านั้นทั้งหมดได้เป็นเศรษฐีคหบดีมหาศาล.
               นี้กำหนดอุปัฏฐาก.
               ยังมีสถานที่อื่นอีก ๔ แห่ง อันเป็นสถานที่ที่จะเว้นเสียมิได้ คือ โพธิบัลลังก์ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เว้นไม่ได้ย่อมมีในที่เดียวเท่านั้น. การแสดงพระธรรมจักรในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เว้นไม่ได้เลย. การเหยียบพระบาทครั้งแรก ณ ประตูสังกัสสนคร ตอนเสด็จลงจากเทวโลก เว้นไม่ได้เลย. ที่ตั้งเท้าเตียง ๔ ที่ในพระคันธกุฎี ในเชตวันมหาวิหาร เว้นไม่ได้ทีเดียว. ก็แต่ว่า วิหารมีเล็กบ้างใหญ่บ้าง. แม้วิหารก็เว้นไม่ได้. แต่นครเว้นได้ กาลใดนครอยู่ด้านปาจีน กาลนั้นวิหารอยู่ด้านปัจฉิม. กาลใดนครอยู่ด้านทักษิณ กาลนั้นวิหารอยู่ด้านอุดร. กาลใดนครอยู่ด้านปัจฉิม กาลนั้นวิหารอยู่ด้านปาจีน. กาลใดนครอยู่ด้านอุดร กาลนั้นวิหารอยู่ด้านทักษิณ. ก็บัดนี้ นครอยู่ด้านอุดรวิหารอยู่ด้านทักษิณ.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีความต่างกันอยู่ ๕ อย่าง คือ ต่างกันโดยอายุ ต่างกันโดยประมาณ ต่างกันโดยตระกูล ต่างกันโดยความเพียร ต่างกันโดยรัศมี.
               พระพุทธเจ้าบางพระองค์มีพระชนมายุยืน บางพระองค์มีพระชนมายุน้อย ชื่อว่าต่างกันโดยอายุ. เป็นความจริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ได้มีพระชนมายุประมาณแสนปี. พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราได้มีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี. พระพุทธเจ้าบางพระองค์สูง บางพระองค์เตี้ย ชื่อว่าต่างกันโดยประมาณ. เป็นความจริงอย่างนั้น พระทีปังกรสูง ๘๐ ศอก พระสุมนะ สูง ๙๐ ศอก แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายสูง ๑๘ ศอก. บางพระองค์ทรงอุบัติในตระกูลกษัตริย์ บางพระองค์ทรงอุบัติในตระกูลพราหมณ์ ชื่อว่าต่างกันโดยตระกูล.
               ความเพียรของบางพระองค์มีเวลาสั้น เช่น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ของบางพระองค์ยาวนานดังเช่นพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ชื่อว่าต่างกันโดยความเพียร.
               พระรัศมีจากพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุมังคละ ประมาณหมื่นโลกธาตุ. ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราประมาณวาหนึ่งโดยรอบ ชื่อว่าต่างกันโดยรัศมี. ในความต่างกันนั้น ต่างกันโดยรัศมีเกี่ยวกับพระพุทธประสงค์. พระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงมีพระประสงค์เท่าใด รัศมีจากพระวรกายของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นย่อมแผ่ไปเท่านั้น. รัศมีจากพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุมังคละ ย่อมแผ่ไปหมื่นโลกธาตุเป็นนิจ ดังนี้ ได้เป็นพระพุทธประสงค์.
               แต่ชื่อว่าความต่างกันในคุณ คือ การตรัสรู้ไม่มี.
               โบราณกบัณฑิตแสดงเรื่องอื่นอีก เช่น กำหนดสหชาต และกำหนดนักษัตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย.
               บุคคลและสิ่งที่เกิดร่วมกับพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ ๗ เหล่านี้ คือ ราหุลมารดา พระอานนทเถร พระฉันนะ ม้ากัณฐกะ หม้อขุมทรัพย์ ต้นมหาโพธิ พระกาฬุทายี.
               อนึ่ง พระมหาบุรุษทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงแสดงพระธรรมจักร ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ในฤกษ์อุตตราสาฬหะ ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานโดยฤกษ์วิสาขะ. ประชุมพระสาวกและทรงปลงอายุสังขารโดยฤกษ์มาฆะ. เสด็จลงจากเทวโลกโดยฤกษ์อัสสยุชะ พึงนำมาแสดงเพียงเท่านี้.
               นี้กำหนดหลายวาระ.
               บัดนี้พึงทราบความในบทว่า อถโข เตสํ ภิกฺขูนํ เป็นต้น
               ภิกษุเหล่านั้นเกิดความประหลาดใจยิ่งนักว่า ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวถึงการเข้าสู่ปฏิสนธิตั้งแต่จุติ การส่งญาณย้อนหลังตั้งแต่ปฏิสนธิไปถึงจุติ อันเป็นทางของบุพเพนิวาส อันนี้หนักมาก ดุจทรงชี้รอยเท้าบนอากาศ แล้วจึงกล่าวว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง เมื่อจะแสดงเหตุแม้อื่นอีก จึงกล่าวว่า ยตฺร หิ นาม ตถาคโต ดังนี้.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม เป็นนิบาตใช้ในความว่าน่าอัศจรรย์.
               อธิบายว่า พระตถาคตพระองค์ใดเล่า.
               ในบทว่า ฉินฺนปปญฺเจ นี้ ความว่า กิเลส ๓ อย่างเหล่านี้ คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ ชื่อธรรมทำให้เนินช้า.
               บทว่า ฉินฺนวฏุเม นี้ ท่านกล่าววัฏฏะ คือกุศลกรรมและอกุศลกรรมว่า วฏุมะ.
               บทว่า ปริยาทินฺนวฏฺเฏ เป็นไวพจน์ของบทว่า ฉินฺนวฏฺเมนั้นนั่นแล. อธิบายว่า ควบคุมวัฏฏะ คือกรรมทั้งหมดได้แล้ว.
               บทว่า สพฺพทุกฺขวีติวตฺเต ได้แก่ ล่วงทุกข์ กล่าวคือวิปากวัฏฏะ ทั้งหมด.
               บทว่า อนุสฺสริสฺสติ นี้เป็นคำกล่าวถึงอนาคต ด้วยอำนาจของนิบาตว่า ยตฺรหิ ดังนี้. ก็ในบทนี้ พึงทราบอธิบายด้วยสามารถแห่งอดีต จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ไม่ใช่จักระลึกถึงในบัดนี้.
               บทว่า เอวํสีลา ความว่า มีศีลอย่างนี้โดยมรรคศีล ผลศีล โลกิยศีล โลกุตตรศีล.
               บทว่า เอวํธมฺมา ความว่า ธรรมเป็นฝ่ายสมาธินั่นแล ท่านประสงค์ในบทนี้. อธิบายว่า มีสมาธิอย่างนี้โดยมรรคสมาธิ ผลสมาธิ โลกิยสมาธิ โลกุตตรสมาธิ.
               บทว่า เอวํปญฺญา ความว่า มีปัญญาอย่างนี้ด้วยสามารถแห่งมรรคปัญญา เป็นต้น.
               บทว่า เอวํวิหารี อธิบายว่า หากมีปัญหาว่า ก็ในบทนี้ เพราะธรรมฝ่ายสมาธิ ท่านยึดถือในภายหลังเป็นอันยึดถือวิหารธรรมด้วย เพราะเหตุไร จึงยึดถือธรรมที่ยึดถืออยู่แล้วอีกเล่า.
               ตอบว่า นี้ไม่ใช่เป็นการยึดถือ. เพราะบทนี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงนิโรธสมาบัติ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นได้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ คือนิโรธสมาบัติ พึงทราบความในบทนี้อย่างนี้.
               บทว่า เอวํ วิมุตฺตา ความว่า ความพ้นในบทนี้มี ๕ อย่าง คือ
               พ้นด้วยข่มไว้ (วิกขัมภนวิมุตติ) พ้นชั่วคราว (ตทังควิมุตติ) พ้นเด็ดขาด (สมุจเฉทวิมุตติ) พ้นอย่างสงบ (ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ) พ้นออกไป (นิสสรณวิมุตติ).
               ในวิมุตติเหล่านั้น สมาบัติ ๘ จัดเป็นวิกขัมภนวิมุตติ เพราะพ้นจากนิวรณ์เป็นต้นที่ข่มไว้ได้เอง. อนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นจัดเป็นตทังควิมุตติ เพราะกำหนดด้วยสามารถเป็นข้าศึกของธรรมนั้นๆ เอง เพราะพ้นจากนิจจสัญญาเป็นต้นเหล่านั้น. อริยมรรค ๔ จัดเป็นสมุจเฉทวิมุตติ เพราะพ้นจากกิเลสที่ตัดขาดแล้วเอง. สามัญญผล ๔ จัดเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสงบของกิเลสด้วยอานุภาพมรรค. นิพพานจัดเป็นนิสสรณวิมุตติ เพราะพ้น คือเพราะปราศจาก คือเพราะตั้งอยู่ไกลจากกิเลสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พึงทราบเนื้อความในบทนี้ว่า พ้นแล้วอย่างนี้ด้วยสามารถแห่งวิมุตติ ๕ เหล่านี้.
               บทว่า ปฏิสลฺลานา วุฎฺฐิโต ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากความเป็นผู้ประทับอยู่พระองค์เดียว.
               ถามว่า สืบเนื่องกันอย่างไรจากบทว่า อิโต โส ภิกฺขเว ดังนี้.
               ตอบว่า ก็พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มด้วยสองบทเหล่านี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้แทงตลอดธรรมธาตุนี้ และว่าแม้ทวยเทพก็พากันกราบทูลความนี้แก่ตถาคตดังนี้.
               ในบททั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบทกราบทูลของเทวดา จักใคร่ครวญถึงโกลาหลของเทวจารึกในตอนจบพระสูตร. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภเทศนานี้ด้วยสามารถการสืบเนื่องจากบทธรรมธาตุ.
               ในบทเหล่านั้น พึงทราบ ๑๑ บท เป็นต้นว่า ขตฺติโย ชาติยา โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในนิทานกัณฑ์.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=1&Z=1454
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :