ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 247อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 10 / 301อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาสติปัฏฐานสูตร

               อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร               
               มหาสติปัฏฐานสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น มีพรรณนาตามลำดับบทดังต่อไปนี้.

               มูลกำเนิดมหาสติปัฏฐานสูตร               
               เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียว ก็เพราะชนชาวแคว้นกุรุสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งได้.
               เล่ากันว่า ชาวแคว้นกุรุ ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี และอุบาสก อุบาสิกา มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ ด้วยเสพปัจจัย คือฤดูเป็นที่สบาย เพราะแคว้นนั้นสมบูรณ์ด้วยสัปปายะ มีอุตุสัปปายะเป็นต้น. ชาวกุรุนั้นมีกำลังปัญญาอันร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์อุดหนุนแล้ว จึงสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งนี้ได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็นความเป็นผู้สามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งอันนี้ จึงทรงยกกัมมัฏฐาน ๒๑ ฐานะ ใส่ลงในพระอรหัต ตรัสมหาสติปัฏฐานสูตรที่มีอรรถอันลึกซึ้งนี้ แก่ชาวกุรุเหล่านั้น. เปรียบเสมือนบุรุษได้ผอบทองแล้ว พึงบรรจงใส่ดอกไม้นานาชนิดลงในผอบทองนั้น หรือว่าบุรุษได้หีบทองแล้ว พึงใส่รตนะ ๗ ลงฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าฉันนั้น ทรงได้บริษัทชาวกุรุแล้ว จึงทรงวางเทศนาที่ลึกซึ้ง.
               ด้วยเหตุนั้นแล ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระสูตรอื่นๆ อีก มีอรรถอันลึกซึ้งในคัมภีร์ทีฆนิกายนี้ ก็คือมหานิทานสูตร ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ก็คือสติปัฏฐานสูตร สาโรปมสูตร รุกโขปมสูตร รัฏฐปาลสูตร มาคัณฑิยสูตร อาเนญชสัปปายสูตร.
               อนึ่ง บริษัท ๔ ในแคว้นกุรุนั้น ต่างประกอบเนืองๆ ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่โดยปกติ โดยที่สุด คนรับใช้และคนงานทั้งหลาย ก็พูดกันแต่เรื่องที่เกี่ยวด้วยสติปัฏฐานกันทั้งนั้น แม้แต่ในที่ท่าน้ำ ที่กรอด้ายเป็นต้น ก็ไม่มีการพูดกันถึงเรื่องที่ไร้ประโยชน์เลย. ถ้าสตรีบางท่านถูกถามว่า คุณแม่จ๊ะ คุณแม่ใส่ใจสติปัฏฐานข้อไหน นางจะไม่ตอบว่าอะไร ชาวกุรุจะติเตียนเขาว่าน่าตำหนิชีวิตของเจ้าจริงๆ เจ้าถึงเป็นอยู่ ก็เหมือนตายแล้ว ต่อนั้นก็จะสอนเขาว่า อย่าทำอย่างนี้อีกต่อไปนะ แล้วให้เขาเรียนสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง. แต่สตรีผู้ใดพูดว่า ดิฉันใส่ใจสติปัฏฐานข้อโน้นเจ้าค่ะ ชาวกุรุก็จะกล่าวรับรองว่า สาธุ สาธุ แก่นาง สรรเสริญด้วยถ้อยคำต่างๆ เป็นต้นว่า ชีวิตของเจ้าเป็นชีวิตดีสมกับที่เจ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่เจ้าแท้ๆ.
               ในข้อนี้ มิใช่ชาวกุรุที่เกิดมาเป็นมนุษย์ประกอบด้วยการใส่ใจสติปัฏฐาน แต่พวกเดียวเท่านั้น แม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน ที่อาศัยชาวกุรุอยู่ก็ใส่ใจ เจริญสติปัฏฐานด้วยเหมือนกัน.
               ในข้อนั้น มีเรื่องสาธกดังต่อไปนี้.

               เรื่องลูกนกแขกเต้า               
               เขาเล่าว่า นักฟ้อนรำผู้หนึ่งจับลูกนกแขกเต้าได้ตัวหนึ่ง ฝึกสอนมันพูดภาษาคน (ตัวเองเที่ยวไปแสดงการฟ้อนรำในที่อื่นๆ). นักฟ้อนรำผู้นั้นอาศัยสำนักของนางภิกษุณีอยู่ เวลาไปในที่อื่นๆ ลืมลูกนกแขกเต้าเสียสนิทแล้วไป. เหล่าสามเณรีก็จับมันมาเลี้ยงตั้งชื่อมันว่า พุทธรักขิต.
               วันหนึ่ง พระมหาเถรีเห็นมันจับอยู่ตรงหน้า จึงเรียกมันว่า พุทธรักขิต. ลูกนกแขกเต้าจึงขานถามว่า อะไรจ๊ะ แม่เจ้า. พระมหาเถรีจึงถามว่า การใส่ใจภาวนาอะไรๆ ของเจ้ามีบ้างไหม. มันตอบว่า ไม่มีจ้ะ แม่เจ้า. พระมหาเถรีจึงสอนว่า ขึ้นชื่อว่าผู้อยู่ในสำนักของพวกนักบวช จะปล่อยตัวอยู่ไม่สมควร ควรปรารถนาการใส่ใจบางอย่าง แต่เจ้าไม่ต้องสำเหนียกอย่างอื่นดอก จงท่องว่า อัฏฐิ อัฏฐิ ก็พอ.
               ลูกนกแขกเต้านั้น ก็อยู่ในโอวาทของพระเถรี ท่องว่า อัฏฐิ อัฏฐิ อย่างเดียวแล้วเที่ยวไป. วันหนึ่ง ตอนเช้ามันจับอยู่ที่ยอดประตู ผึ่งแดดอ่อนอยู่ แม่เหยี่ยวตัวหนึ่งก็เฉี่ยวมันไปด้วยกรงเล็บ. มันส่งเสียงร้อง กิริๆ. เหล่าสามเณรีก็ร้องว่าแม่เจ้าพุทธรักขิตถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป เราจะช่วยมัน ต่างคว้าก้อนดินเป็นต้น ไล่ตามจนเหยี่ยวปล่อย.
               เหล่าสามเณรีนำมันมาวางไว้ตรงหน้าพระมหาเถรีๆ ถามว่า พุทธรักขิต ขณะถูกเหยี่ยวจับไป เจ้าคิดอย่างไร.
               ลูกนกแขกเต้าตอบว่า แม่เจ้า ไม่คิดอะไรๆ ดอก คิดแต่เรื่องกองกระดูกเท่านั้นจ้ะแม่เจ้า ว่ากองกระดูกพากองกระดูกไป จักเรี่ยราดอยู่ในที่ไหนหนอ.
               พระมหาเถรีจึงให้สาธุการว่า สาธุ สาธุ พุทธรักขิตนั้นจักเป็นปัจจัยแห่งความสิ้นภพของเจ้า ในกาลภายภาคหน้าแล.
               แม้สัตว์ดิรัจฉานในแคว้นกุรุนั้น ก็ประกอบเนืองๆ ซึ่งสติปัฏฐานด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึงความเจริญแพร่หลายแห่งสติปัฏฐานของชาวกุรุเหล่านั้น จึงได้ตรัสพระสูตรนี้.

               อธิบายความตามลำดับบท               
               ในพระสูตรนั้น ข้อว่าเป็นทางเดียว คือเป็นทางเอก.
               แท้จริง ทางมีมากชื่อ คือ
                         มัคคะ ปันถะ ปถะ ปัชชะ อัญชสะ วฏุมะ
                         อยนะ นาวา อุตตรเสตุ กุลละ ภิสิสังกมะ

               ทางนี้นั้น ในที่นี้ ท่านกล่าวโดยชื่อว่า อยนะ เพราะฉะนั้น ในข้อที่ว่า
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียวนี้

               จึงควรเห็นความอย่างนี้ว่า
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเอก มิใช่ทางสองแพร่ง.

               อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า เอกายนะ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า เป็นทางที่บุคคลพึงไปผู้เดียว. คำว่า ผู้เดียว คือคนที่ละการคลุกคลีด้วยหมู่ ปลีกตัวไปสงบสงัด. ข้อว่า พึงไป คือพึงดำเนินไป.
               อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า อยนะ เพราะอรรถวิเคราะว่าเป็นเครื่องไป. อธิบายว่า ไปจากสังสารวัฏสู่พระนิพพาน. หนทางไปของบุคคลผู้เป็นเอก ชื่อว่า เอกายนะ.
               บทว่า เอกสฺส คือ ของบุคคลผู้ประเสริฐสุดแห่งสรรพสัตว์.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงประเสริฐกว่าสรรพสัตว์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงอธิบายว่า หนทางของพระผู้มีพระภาคเจ้า. แม้สัตว์เหล่าอื่น ถึงจะเดินไปด้วยหนทางนั้นก็จริง แม้เช่นนั้น หนทางนั้นก็เป็นทางเดินของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น เพราะเป็นทางที่พระองค์ทรงทำให้เกิดขึ้น.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ (ในโคปกโมคคัลลานสูตร) ว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นดังนี้เป็นต้น.
               อีกนัยหนึ่ง ทางย่อมไป เหตุนั้นจึงชื่อว่าอยนะ. อธิบายว่า ไป คือเป็นไป. หนทางไปในธรรมวินัยอันเดียว ชื่อว่าเอกายนะ. ท่านอธิบายว่า หนทางเป็นไปในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ไม่เป็นไปในธรรมวินัย (ศาสนา) อื่น.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ (ในมหาปรินิพพานสูตร) ว่า
               ดูก่อนสุภัททะ มรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นอริยะ บุคคลจะได้ก็แต่ในธรรมวินัยนี้แล ดังนี้.
               ก็มรรคนั้นต่างกันโดยเทศนา แต่โดยอรรถก็อันเดียวกันนั้นเอง.
               อีกนัยหนึ่ง หนทางย่อมไปครั้งเดียว เหตุนั้นหนทางนั้นจึงชื่อเอกายนะ (ทางไปครั้งเดียว). ท่านอธิบายว่า หนทางแม้เป็นไปโดยมุข คือภาวนามีนัยต่างๆ กัน ณ เบื้องต้น ในเบื้องปลายก็ไปสู่พระนิพพานอันเดียวกันนั่นเอง.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
                         เอกายนํ ชาติขยนฺตทสฺสี
                         มคฺคํ ปชานาติ หิตานุกมฺปี
                         เอเตน มคฺเคน ตรึสุ ปุพฺเพ
                         ตริสฺสเร เจว ตรนฺติ โอฆํ

                                   พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเห็นธรรมเป็นที่สิ้นชาติ
                         ทรงพระกรุณาอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ทรงทราบ
                         ชัดเอกายนมรรค พระพุทธะทั้งหลายในอดีต พากันข้าม
                         โอฆะ (โอฆะ ๔) ด้วยมรรคนั้นมาแล้ว พระพุทธะทั้งหลาย
                         ในอนาคตก็จักข้ามโอฆะด้วยมรรคนั้น และพระพุทธะทั้ง
                         ปัจจุบัน ก็ข้ามโอฆะด้วยมรรคอย่างเดียวกันนั้นแล.

               แต่เกจิอาจารย์กล่าวตามนัยแห่งคาถาที่ว่า ชนทั้งหลายไม่ไปสู่ฝั่ง (พระนิพพาน) สองครั้งดังนี้ ว่า เพราะเหตุบุคคลไปพระนิพพานได้คราวเดียว ฉะนั้น หนทางนั้นจึงชื่อว่าเอกายนะ ไปคราวเดียว. คำนั้นไม่ถูก. เพราะอรรถนี้จะพึงมีพยัญชนะอย่างนี้ว่า สกึ อยโน ไปคราวเดียว.
               ก็ถ้าหากว่าจะพึงประกอบอรรถะ กล่าวอย่างนี้ว่า การไปครั้งเดียว คือการดำเนินครั้งเดียวของมรรคนั้นเป็นไปอยู่ดังนี้ พยัญชนะก็น่าจะถูก.
               แต่อรรถะไม่ถูกทั้งสองประการ.
               เพราะเหตุไร. ก็เพราะในที่นี้ท่านประสงค์แต่มรรคที่เป็นส่วนเบื้องต้น.
               เป็นความจริง ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาแต่มรรคที่มีสติปัฏฐานเป็นส่วนเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปโดยอารมณ์ ๔ มีกายเป็นต้น. มิได้ประสงค์เอามรรคที่เป็นโลกุตตระ. ด้วยว่ามรรคที่เป็นส่วนเบื้องต้นนั้นย่อมดำเนินไปแม้มากครั้ง ทั้งการดำเนินไปของมรรคนั้น ก็มิใช่มีครั้งเดียว.

               ธรรมสากัจฉาของพระมหาเถระ               
               ในข้อนี้ แต่ก่อนพระมหาเถระทั้งหลายก็ได้เคยสนทนากันมาแล้ว.
               ท่านพระจุลลนาคเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกกล่าวว่า สติปัฏฐาน เป็นมรรคเบื้องต้น (บุพพภาค). ส่วนท่านจุลลสุมนเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก อาจารย์ของท่านพระจุลลนาคเถระ กล่าวว่า เป็นมรรคผสม (มิสสกะ).
               ศิษย์ว่า เป็นส่วนเบื้องต้น ขอรับ.
               อาจารย์ว่า เป็นมรรคผสม นะเธอ.
               แต่เมื่ออาจารย์พูดบ่อยๆ เข้า ศิษย์ก็ไม่ค้าน กลับนิ่งเสีย. ทั้งศิษย์ทั้งอาจารย์ตกลงปัญหากันไม่ได้ ต่างก็ลุกไป. ภายหลังพระเถระผู้เป็นอาจารย์ เดินไปโรงสรงน้ำ คิดใคร่ครวญว่า เรากล่าวว่าเป็นมรรคผสม ส่วนท่านจุลลนาคยึดหลักกล่าวว่าเป็นส่วนเบื้องต้น ข้อวินิจฉัยในข้อนี้เป็นอย่างไรกันหนอ
               เมื่อทบทวนสวดพระสูตร (มหาสติปัฏฐานสูตร) ตั้งแต่ต้น ก็กำหนดได้ตรงนี้ที่ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ถึง ๗ ปี

               ก็รู้ว่าโลกุตตรมรรคเกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าตั้งอยู่ถึง ๗ ปีไม่มี ที่เรากล่าวว่าเป็นมรรคผสม ย่อมไม่ได้ (ไม่ถูก) ส่วนที่ท่านจุลลนาคเห็นว่า เป็นมรรคส่วนเบื้องต้น ย่อมได้ (ถูก) เมื่อเขาประกาศการฟังธรรมวัน ๘ ค่ำ ท่านก็ไป.
               เล่ากันว่า พระเถระเก่าๆ เป็นผู้รักการฟังธรรม ครั้นได้ยินเสียงประกาศ ก็เปล่งเสียงเป็นอันเดียวกันว่า ผมก่อน ผมก่อน.
               วันนั้นเป็นวาระของท่านพระจุลลนาคเถระ. ท่านนั่งบนธรรมาสน์ จับพัด กล่าวคาถาเบื้องต้น พระเถระผู้อาจารย์อยู่หลังอาสนะก็คิดว่าจะนั่งลับๆ ไม่พูดจาละ.
               แท้จริง พระเถระเก่าๆ ไม่ริษยากัน ไม่หยิบยกเอาความชอบใจของตนขึ้นเป็นภาระ อย่างแบกท่อนอ้อย ถือเอาแต่เหตุ (ที่ควร) เท่านั้น ที่มิใช่ก็สละไป เพราะฉะนั้น ท่านพระจุลลสุมนเถระจึงเรียกท่านจุลลนาคเบาๆ. ท่านจุลลนาคเถระได้ยินเหมือนเสียงอาจารย์เรียก จึงหยุดธรรมกถาถามว่า อะไรขอรับ.
               อาจารย์กล่าวว่า ท่านจุลลนาค ที่เรากล่าวว่า เป็นมรรคผสมนั้น ไม่ถูกดอก ส่วนที่เธอกล่าวว่า สติปัฏฐานเป็นมรรคเบื้องต้นถูกแล้ว.
               ท่านพระจุลลนาคเถระคิดว่า อาจารย์ของเราทรงปริยัติธรรมไว้ทั้งหมด เป็นสุตพุทธะทางพระไตรปิฎก ภิกษุเห็นปานนี้ยังวุ่นวายกับปัญหามาก ต่อไปภายภาคหน้า พระธรรมกถึกทั้งหลายจักวุ่นวายกับปัญหาชนิดนี้ เพราะฉะนั้น เราจักยึดพระสูตรเป็นหลักทำปัญหาชนิดนี้ ไม่ให้วุ่นวายต่อไปละ. สติปัฏฐานเป็นมรรคเบื้องต้น แต่ปฏิสัมภิทามรรค เรียกว่า เอกายนมรรค.
               ท่านจึงนำพระสูตร (ในธรรมบท ขุททกนิกาย) ตั้งเป็นบทอุเทศว่า
                         มคฺคานฎฺฐงฺคิโก เสฎฺโฐ    สจฺจานํ จตุโร ปทา
                         วิราโค เสฎฺโฐ ธมฺมานํ    ทิปทานญฺจ จกฺขุมา
                         เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ    ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา
                         เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปชฺชถ    มารเสนปฺปมทฺทนํ
                         เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปนฺนา    ทุกขสฺสสนฺตํ กริสฺสถ
                                   บรรดาทางทั้งหลาย ทางมีองค์ ๘ ประเสริฐสุด
                         บรรดาสัจจะทั้งหลาย บททั้ง ๔ (อริยสัจ) ประเสริฐสุด
                         บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคธรรม ประเสริฐสุด
                         บรรดาสัตว์สองเท้าทั้งหลาย พระพุทธเจ้าผู้มีจักษุ
                         ประเสริฐสุด
                                   ทางนี้เท่านั้น เพื่อความหมดจดแห่งทรรศนะ
                         ทางอื่นไม่มี ท่านทั้งหลายจงเดินทางนี้ ที่เป็นเครื่อง
                         กำจัดกองทัพมาร ท่านทั้งหลายเดินทางนี้แล้ว จัก
                         กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ดังนี้.
               ในข้อว่า มรรค ที่ชื่อว่ามรรค เพราะอรรถว่าอะไร.
               เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องเดินไปสู่พระนิพพานอย่างหนึ่ง
               เพราะอรรถว่า อันผู้ต้องการพระนิพพานพึงค้นหาอย่างหนึ่ง.
               ข้อว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย หมายความว่า เพื่อประโยชน์แก่ความหมดจดของสัตว์ทั้งหลายผู้มีจิตเศร้าหมอง เพราะมลทินทั้งหลายมีราคะเป็นต้น และเพราะอุปกิเลสทั้งหลาย มีอภิชฌาวิสมโลภะเป็นต้น
               เป็นความจริง สัตว์เหล่านี้คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอเนก ตั้งต้นแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่า ตัณหังกร เมธังกร สรณังกร ทีปังกร ซึ่งปรินิพพานในกัปป์เดียวเท่านั้น เบื้องต้นแต่ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ แต่กัปป์นี้ ลงมาจนถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่า ศากยมุนี เป็นที่สุด พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายร้อย แลพระอริยสาวกทั้งหลายอีกนับไม่ถ้วน ต่างลอยมลทินทางจิตทั้งหมด ถึงความหมดจดอย่างยิ่ง ด้วยทางนี้เท่านั้น.
               การบัญญัติความเศร้าหมองและผ่องแผ้ว โดยมลทินทางรูปอย่างเดียว ไม่มี.
               สมจริงดังคำที่กล่าวไว้ว่า
                         รูเปน สงฺกิลิฎฺเฐน    สํกิลิสฺสนฺติ มาณวา
                         รูเป สุทฺเธ วิสุชฺฌนฺติ    อนกฺขาตํ มเหสินา
                         จิตฺเตน สงฺกิลิฎฺเฐน    สํกิลิสฺสนฺติ มาณวา
                         จิตฺเต สุทฺเธ วิสุชฺฌนฺติ    อิติ วุตฺตํ มเหสินา.
                                   พระพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
                         มิได้ตรัสสอนว่า คนทั้งหลาย มีรูปเศร้าหมองแล้ว
                         จึงเศร้าหมอง มีรูปหมดจดแล้ว จึงหมดจด
                         แต่พระผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงสอนว่า
                         คนทั้งหลาย มีจิตเศร้าหมองแล้ว จึงเศร้าหมอง
                         มีจิตหมดจดแล้ว จึงหมดจด ดังนี้.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง ย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว
ดังนี้.
               ก็ความผ่องแผ้วแห่งจิตนั้น ย่อมมีได้ด้วยมรรค คือสติปัฏฐานนี้.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย.
               ข้อว่า เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ หมายความว่า เพื่อก้าวล่วง คือละโสกะและปริเทวะ. จริงอยู่ มรรคนี้อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อก้าวล่วงโสกะ เหมือนอย่างโสกะของสันตติมหาอำมาตย์เป็นต้น เพื่อก้าวล่วงปริเทวะ เหมือนอย่างปริเทวะของนางปฏาจาราเป็นต้น.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ.
               แท้จริง สันตติมหาอำมาตย์ฟังคาถาที่ว่า
                         ยํ ปุพฺเพ ตํ วิโสเธหิ    ปจฺฉา เต มาหุ กิญฺจนํ
                         มชฺเฌ เจ โน คเหสฺสสิ    อุปสนฺโต จริสฺสสิ
                                   ท่านจงทำความโศกในกาลก่อนให้เหือดแห้ง
                         ท่านอย่ามีความกังวลใจ ในกาลภายหลัง ถ้าท่านจัก
                         ไม่ยึดถือในท่ามกลางก็จักเป็นผู้สงบเที่ยวไป ดังนี้.
               แล้วก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               นางปฏาจาราฟังพระคาถานี้ว่า
                         น สนฺติ ปุตฺตา ตาณาย    น ปิตา นปิ พนฺธวา
                         อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส    นตฺถิ ญาตีสุ ตาณตา
                                   มีบุตรไว้เพื่อช่วยก็ไม่ได้ บิดาก็ไม่ได้
                         พวกพ้องก็ไม่ได้ เมื่อความตายมาถึงตัวแล้ว
                         ญาติทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้ ดังนี้.
               แล้วก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ก็เพราะเหตุว่า ชื่อว่าการไม่ถูกต้องธรรมบางอย่าง ในกาย เวทนา จิต ธรรมทั้งหลายแล้ว ภาวนาไม่มีเลย ฉะนั้น สันตติมหาอำมาตย์กับนางปฏาจาราแม้นั้นจึงควรทราบว่า เป็นผู้ก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ ด้วยมรรคนี้เอง.
               ข้อว่า เพื่อดับทุกข์ และโทมนัส ความหมายว่า เพื่อตั้งอยู่ไม่ได้ คือดับทั้งสองนี้ คือทุกข์ทางกาย และโทมนัสทางใจ. ด้วยว่ามรรคนี้ บุคคลเจริญแล้วย่อมเป็นไปเพื่อดับทุกข์ เหมือนทุกข์ของพระติสสเถระเป็นต้น ดับโทมนัส เหมือนอย่างโทมนัสของท้าวสักกะเป็นต้น.
               ในเรื่องทั้งสองนั้นแสดงความดังต่อไปนี้.

               เรื่องทุกข์ของพระติสสเถระ               
               เล่ากันว่า ในกรุงสาวัตถี บุตรของกุฏุมภีชื่อติสสะ ละทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ออกบวชโดดเดี่ยวอยู่ในป่าที่ไม่มีบ้าน. ภริยาของน้องชายท่าน ส่งโจร ๕๐๐ ให้ไปฆ่าท่านเสีย. พวกโจรไปล้อมท่านไว้. ท่านจึงถามว่า ท่านอุบาสกมาทำไมกัน. พวกโจรตอบว่า มาฆ่าท่านนะซิ.
               ท่านจึงพูดขอร้องว่า ท่านอุบาสกทั้งหลาย โปรดรับประกันอาตมา ให้ชีวิตอาตมาสักคืนหนึ่งเถิด. พวกโจรกล่าวว่า สมณะ ใครจักประกันท่านในฐานะอย่างนี้ได้.
               พระเถระก็จับหินก้อนใหญ่ทุบกระดูกขาทั้งสองข้าง แล้วกล่าวว่าประกันพอไหม. เหล่าโจรพวกนั้นก็ยังไม่หลบไป กลับก่อไฟนอนเสียที่ใกล้จงกรม
               พระเถระข่มเวทนา พิจารณาศีล อาศัยศีลที่บริสุทธิ์ก็เกิดปีติและปราโมช.
               ลำดับต่อจากนั้น ก็เจริญวิปัสสนา ทำสมณธรรมตลอดคืน ในยามทั้งสาม
               พออรุณขึ้น ก็บรรลุพระอรหัต จึงเปล่งอุทานว่า
                         อุโภ ปาทานิ ภินฺทิตฺวา    สญฺญมิสฺสามิ โว อหํ
                         อฏฺฏิยามิ หรายามิ    สราคมรเณ อหํ
                         เอวาหํ จินฺตยิตฺวาน    ยถาภูตํ วิปสฺสิสํ
                         สมฺปตฺเต อรุณุคฺคมฺหิ    อรหตฺตํ อปาปุณึ
                                   เราทุบเท้าสองข้าง ป้องกันท่านทั้งหลาย
                         เราเอือมระอาในความตายทั้งที่ยังมีราคะ เราคิด
                         อย่างนี้แล้ว ก็เห็นแจ้งตามเป็นจริง พอรุ่งอรุณมา
                         ถึง เราก็บรรลุพระอรหัต ดังนี้.

               เรื่องทุกข์ของภิกษุ ๓๐ รูป               
               ภิกษุ ๓๐ รูปอีกกลุ่มหนึ่ง เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจำพรรษาในวัดป่า ทำกติกากันว่า ผู้มีอายุ เราควรทำสมณธรรม ตลอดคืนในยามทั้งสาม เราไม่ควรมายังสำนักของกันและกัน แล้วต่างคนต่างอยู่.
               เมื่อภิกษุเหล่านั้นทำสมณธรรม ตอนใกล้รุ่งก็โงกหลับ เสือตัวหนึ่งก็มาจับภิกษุไปกินทีละรูปๆ. ภิกษุไรๆ ก็มิได้เปล่งแม้วาจาว่า เสือคาบผมแล้ว.
               ภิกษุถูกเสือกินไป ๑๕ รูป ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงวันอุโบสถ ภิกษุที่เหลือก็ถามว่าท่านอยู่ที่ไหน และรู้เรื่องแล้วก็กล่าวว่า ถูกเสือคาบควรบอกว่า บัดนี้ เราถูกเสือคาบไปๆ แล้วก็อยู่กันต่อไป.
               ต่อมา เสือก็จับภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งโดยนัยก่อน.
               ภิกษุหนุ่มก็ร้องว่า เสือขอรับ. ภิกษุทั้งหลายก็ถือไม้เท้า และคบเพลิงติดตามหมายว่าจะให้มันปล่อย เสือก็ขึ้นไปยังเขาขาด ทางที่ภิกษุทั้งหลายไปไม่ได้ เริ่มกินภิกษุนั้น ตั้งแต่นิ้วเท้า.
               ภิกษุทั้งหลายนอกนั้นก็ได้แต่กล่าวว่า สัปบุรุษ บัดนี้ กิจที่พวกเราจะต้องทำไม่มี ขึ้นชื่อว่าความวิเศษของภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏในฐานะเช่นนี้.
               ภิกษุหนุ่มนั้นนอนอยู่ในปากเสือ ข่มเวทนาเจ็บปวด แล้วเจริญวิปัสสนา ตอนเสือกินถึงข้อเท้าเป็นพระโสดาบัน ตอนกินไปถึงหัวเข่าเป็นพระสกทาคามี ตอนเสือกินไปถึงท้องเป็นพระอนาคามี ตอนเสือกินไปยังไม่ถึงหัวใจ ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
               จึงเปล่งอุทาน ดังนี้ว่า
                         สีลวา วตฺตสมฺปนฺโน    ปญฺญวา สุสมาหิโต
                         มุหุตฺตํ ปมาทมนฺวาย    พฺยคฺเฆ โน รุทฺธมานโส
                         ปญฺชรสฺมึ โส คเหตฺวา    สิลาย อุปรี กโต
                         กามํ ขาทตุ มํ พฺยคฺโฆ    อฎฺฐิยา จ นฺหารุสฺส จ
                         กิเลเส เขปยิสฺสามิ    ผุสิสฺสามิ วิมุตฺติยํ
                                   เรามีศีล ถึงพร้อมด้วยวัตร มีปัญญา มีใจมั่นคงดีแล้ว
                         อาศัยความประมาทครู่หนึ่ง ทั้งที่มีใจไม่คิดร้ายในเสือ มันก็
                         จับไว้ในกรงเล็บ พาไปไว้บนก้อนหิน เสือจงกินเราถึงกระดูก
                         และเอ็นก็ตามที เราจักทำกิเลสให้สิ้นไป จักสัมผัสวิมุตติ ดังนี้.

               เรื่องทุกข์ของพระปีติมัลลเถระ               
               ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ชื่อปีติมัลลเถระ ครั้งเป็นคฤหัสถ์ ท่านถือธงมาเกาะลังกา ถึง ๓ รัชกาล เข้าเฝ้าพระราชาแล้ว ได้รับพระราชานุเคราะห์
               วันหนึ่ง เดินทางไปประตูศาลาที่มีที่นั่งปูด้วยเสื่อลำแพน ได้ฟังนตุมหากวรรค (ในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่าน ท่านจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นท่านละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน ดั่งนี้แล้ว ก็คิดว่ามิใช่รูปเท่านั้น เวทนาก็ไม่ใช่ของตน.
               เขาทำพระบาลีนั้นให้เป็นหัวข้อ แล้วออกไปยังมหาวิหารขอบวช บรรพชาอุปสมบทแล้ว กระทำมาติกาให้ทั้งสองคล่องแคล่ว พาภิกษุ ๓๐ รูปไปยังลาน ณ ตำบลควปรปาลี กระทำสมณธรรม.
               เมื่อเท้าเดินไม่ไหว ก็คุกเข่าเดินจงกรม.
               ในคืนนั้น พรานเนื้อผู้หนึ่งสำคัญว่าเนื้อ ก็พุ่งหอกออกไป. หอกก็แล่นถูกท่านถึงทะลุ ท่านก็ให้เขาชักหอกออก เอาเกลียวหญ้าอุดปากแผล ให้เขาจับตัวนั่งบนหลังแผ่นหิน ให้เขาเปิดโอกาส เจริญวิปัสสนา ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา พยากรณ์แก่ภิกษุทั้งหลายที่พากันมาโดยให้เสียงไอ จาม เปล่งอุทานดังนี้ว่า
                         ภาสิตํ พุทฺธเสฎฺฐสฺส    สพฺพโลกคฺควาทิโน
                         น ตุมฺหากมิทํ รูปํ    ตํ ชเหยฺยาถ ภิกฺขโว
                         อนิจฺจา วต สงฺขารา    อุปฺปาทวยธมฺมิโน
                         อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ    เตสํ วูปสโม สุโข
                                   พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ที่สรรเสริญกันว่า
                         เลิศทุกแหล่งล้า ทรงภาษิตไว้ว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปนี้มิใช่ของท่าน ท่าน
                         ทั้งหลายพึงละรูปนั้นเสีย
                                   สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีเกิดและเสื่อม
                         ไปเป็นธรรมดา เกิดแล้วก็ดับ ความสงบระงับแห่ง
                         สังขารเหล่านั้น เป็นสุข ดังนี้.

               มรรคนี้ย่อมเป็นไปเพื่อดับทุกข์เหมือนอย่างทุกข์ของพระติสสเถระเป็นต้นเพียงเท่านี้ก่อน.

               เรื่องโทมนัสของท้าวสักกะ               
               ก็ท้าวสักกะจอมเทพทรงเห็นบุพพนิมิต ๕ ประการของพระองค์ ถูกมรณภัยคุกคาม เกิดโทมนัส เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามปัญหา.
               ท้าวเธอก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมด้วยเทวดาแปดหมื่นองค์ ด้วยอำนาจการวิสัชนาอุเบกขาปัญหา. เรื่องการอุบัติของท้าวเธอจึงกลับเป็นปกติอีก.

               เรื่องโทมนัสของสุพรหมเทพบุตร               
               แม้สุพรหมเทพบุตรอันนางเทพอัปสรพันหนึ่งห้อมล้อม ก็เสวยสวรรคสมบัติ. ในจำพวกนางเทพอัปสรพันหนึ่งนั้น นางเทพอัปสรห้าร้อยมัวเก็บดอกไม้จากต้น ก็จุติไปเกิดในนรก สุพรหมเทพบุตรรำพึงว่าทำไม เทพอัปสรเหล่านี้จึงชักช้าอยู่ก็รู้ว่าพวกนางไปเกิดในนรก จึงหันมาพิจารณาดูตัวเองว่าอายุเท่าไรแล้วหนอ ก็รู้ว่าตนจะสิ้นอายุ จะไปเกิดในนรกนั้นด้วย ก็หวาดกลัว เกิดโทมนัสอย่างยิ่ง เห็นว่า พระบรมศาสดาเท่านั้นจะยังความโทมนัสของเรานี้ให้พินาศไป ไม่มีผู้อื่น แล้วก็พานางเทพอัปสรห้าร้อยที่เหลือเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
               ทูลถามปัญหาว่า
                         นิจฺจุตฺรสฺตมิทํ จิตฺตํ    นิจฺจุพฺพิคฺคมิทํ มโน
                         อนุปฺปนฺเนสุ กิจฺเจสุ    อโถ อุปฺปตฺติเตสุ จ
                         สเจ อตฺถิ อนุตฺรสฺตํ    ตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต
                                   จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ จิตใจนี้หวาดอยู่เป็นนิตย์
                         ทั้งในกิจที่ยังไม่เกิด ทั้งในกิจที่เกิดแล้ว ถ้าหากว่าความ
                         ไม่หวาดสะดุ้งมีอยู่ ขอพระองค์ที่ถูกทูลถามแล้ว โปรด
                         บอกความไม่หวาดสะดุ้งนั้น แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด.

               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสบอกสุพรหมเทพบุตร
               (ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค) ว่า
                         นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา    นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา
                         นาญฺญตฺร สพฺพปฏินิสฺสคฺคา    โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ
                                   นอกจากปัญญาเครื่องรู้ ตปะเครื่องเผาความชั่ว
                         นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากความสละคืนทุก
                         สิ่งทุกอย่าง เราก็มองไม่เห็นความสวัสดีของสัตว์ทั้งหลาย
                         ดังนี้.
               ในที่สุดเทศนา สุพรหมเทพบุตรก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยนางเทพอัปสรห้าร้อยทำสมบัตินั้นให้ถาวรแล้วกลับไปยังเทวโลก.
               มรรคนี้อันบุคคลเจริญแล้ว บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเป็นไปเพื่อดับโทมนัส เหมือนอย่างโทมนัสของท้าวสักกะเป็นต้น ดังกล่าวมานี้.
               มรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นอริยะ เรียกว่า ญายธรรม ในข้อที่ว่า ญายสฺส อธิคมาย เพื่อบรรลุญายธรรม ท่านอธิบายว่า เพื่อบรรลุ คือเพื่อถึงญายธรรมนั้น.
               จริงอยู่ มรรค คือสติปัฏฐานที่เป็นโลกิยะเบื้องต้นนี้ อันบุคคลเจริญแล้วย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุมรรคที่เป็นโลกุตตระ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพื่อบรรลุญายธรรม.
               ข้อว่า เพื่อให้แจ้งพระนิพพาน ท่านอธิบายว่า เพื่อทำให้แจ้ง คือเพื่อประจักษ์ด้วยตนเองซึ่งอมตธรรม ที่ได้ชื่อว่านิพพาน เพราะเว้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัด. จริงอยู่ มรรคนี้อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมยังการทำให้แจ้งพระนิพพานให้สำเร็จไปตามลำดับ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน ดังนี้.
               ในพระสูตรนั้น ถึงเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลายแล้ว ข้อที่ว่า เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะเป็นต้น ก็เป็นอันสำเร็จใจความได้ก็จริง แต่ยกเว้นผู้ฉลาดรู้ข้อยุติของคำสั่งสอนเสียแล้ว ก็ไม่ปรากฏแก่คนอื่นๆ ได้ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหาได้ทรงทำให้ชนผู้ฉลาดรู้ข้อยุติของคำสั่งสอนเสียก่อนแล้ว ทรงแสดงธรรมในภายหลังไม่ หากแต่ทรงยังชนทั้งหลายให้รู้อรรถะนั้นๆ ด้วยสูตรนั้นๆ เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น ในที่นี้ เอกายนมรรคจะยังอรรถใดๆ ให้สำเร็จได้ ก็ทรงแสดงอรรถนั้นๆ ให้ปรากฏ จึงตรัสข้อว่า เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะเป็นต้น.
               หรืออีกนัยหนึ่ง ความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปได้ด้วยเอกายนมรรค
               ความหมดจดนั้น ย่อมมีได้ด้วยความก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ
               ความก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ ย่อมมีได้ด้วยความดับทุกข์และโทมนัส
               ความดับทุกข์และโทมนัส ย่อมมีได้ด้วยการบรรลุญายธรรม
               การบรรลุญายธรรม ย่อมมีได้ด้วยการทำให้แจ้งพระนิพพาน
               เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงลำดับการอันนี้ จึงตรัสว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย แล้วตรัสข้อว่า เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เป็นต้นไป.
               อีกนัยหนึ่ง คำที่กล่าวมานี้เป็นการพรรณนาคุณของเอกายนมรรค.
               เปรียบเหมือนอย่างว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคุณด้วยบททั้ง ๘ ด้วยฉฉักกเทศนา (ฉฉักกสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงแก่ท่านทั้งหลาย ถึงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย จักประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ คือฉฉักกธรรม ๖ ดังนี้ฉันใด
               และตรัสคุณด้วยบททั้ง ๙ ด้วยอริยวังสเทศนา (อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ เหล่านี้รู้กันว่า เลิศมีมานาน เป็นวงศ์พระอริยะ เป็นของเก่า ในอดีตก็ไม่มีใครรังเกียจไม่เคยรังเกียจ ในปัจจุบันก็ไม่รังเกียจกัน ในอนาคตก็จักไม่รังเกียจกัน สมณพราหมณ์ผู้รู้ก็ไม่เกลียดแล้ว ดังนี้ฉันใด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคุณของเอกายนมรรค แม้อันนี้ด้วยบททั้ง ๗ มีว่า เพื่อหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้นก็ฉันนั้น.
               ถ้าจะถามว่า เพราะเหตุใด?
               ก็ตอบได้ว่า เพื่อให้เกิดอุตสาหะแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้นฟังการตรัสคุณ (ของเอกายนมรรค) รู้ว่า
               มรรคนี้นำไปเสียซึ่งอุปัททวะ ๔ คือ โสกะ อันเป็นเครื่องเผาใจ ปริเทวะ อันเป็นการพิไรรำพัน ทุกขะ อันเป็นความไม่สำราญทางกาย โทมนัส อันเป็นความไม่สำราญทางใจ
               นำมาซึ่งคุณวิเศษ ๓ คือ วิสุทธิ ญายธรรม พระนิพพาน ดังนี้แล้วก็เกิดอุตสาหะ สำคัญเทศนานี้ว่า ควรเล่า ควรเรียน ควรทรงจำ ควรบอกกล่าวและจักสำคัญมรรคอันนี้ว่า ควรเจริญ.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคุณ (ของเอกายนมรรค) เพื่อให้เกิดอุตสาหะแก่ภิกษุเหล่านั้น เหมือนพ่อค้าผ้ากัมพลเป็นต้น โฆษณาคุณภาพของผ้ากัมพล เป็นต้นฉะนั้น.
               เหมือนอย่างว่า แม้ว่าพ่อค้าผ้ากัมพลอันมีค่านับแสน โฆษณาว่า โปรดซื้อผ้ากัมพล มนุษย์ทั้งหลายก็ยังไม่ทราบก่อนดอกว่า ผมคนก็มี ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์ก็มีเป็นต้น มันมีกลิ่นสาบสัมผัสหยาบ แต่ก็เรียกว่าผ้ากัมพลเหมือนกัน
               ต่อเมื่อใด พ่อค้านั้นโฆษณาว่าผ้ากัมพลสีแดงทำในแคว้นคันธาระ ละเอียดสดใส สัมผัสละมุน เมื่อนั้น ถ้ามีเงินพอก็จะซื้อเอา มีไม่พอก็อยากจะชม ฉันใด
               แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียวดังนี้ ก็ยังไม่ปรากฏก่อนดอกว่า หนทางไหน ด้วยว่าแม้หนทางที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์มีประการต่างๆ ก็เรียกกันว่า หนทางเหมือนกัน
               แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลายดังนี้ เป็นต้น ภิกษุทั้งหลายก็ทราบว่าหนทางนี้นำเสียซึ่งอุปัทวะ ๔ นำมาซึ่งคุณวิเศษ ๓ แล้วก็เกิดอุตสาหะ สำคัญเทศนานี้ว่า ควรเล่า ควรเรียน ควรทรงจำ ควรบอกกล่าวและจักสำคัญมรรคอันนี้ว่า ควรเจริญ.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสคุณ (ของเอกายนมรรค) จึงตรัสว่า เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น.
               อนึ่ง ข้ออุปมาว่าด้วยพ่อค้าผ้ากัมพลสีเหลืองอันมีค่าแสน นำมาเปรียบฉันใด ในข้อนี้ก็ควรนำข้ออุปมาว่าด้วยพ่อค้าทองชมพูนุทสีสุก แก้วมณีกรองน้ำให้ใส แก้วมุกดาที่บริสุทธิ์ ผ้าขนสัตว์ และแก้วประพาฬเป็นต้น เอามาเปรียบฉันนั้น.
               คำว่า ยทิทํ เป็นศัพท์นิบาต. ศัพท์นิบาตนั้นมีความดังนี้ว่า เหล่านี้ใด (เย อิเม).
               คำว่า จตฺตาโร (๔) เป็นศัพท์กำหนดจำนวน. ด้วยจำนวนนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการกำหนดจำนวนสติปัฏฐานว่า ไม่ต่ำกว่านั้น ไม่สูงกว่านั้น.
               คำว่า สติปัฏฐานทั้งหลาย ได้แก่ สติปัฏฐาน ๓ คืออารมณ์แห่งสติก็มี ความที่พระบรมศาสดาทรงล่วงเลยความยินร้ายและยินดีในพระสาวกทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติ ๓ อย่างก็มี ตัวสติก็มี.
               อารมณ์แห่งสติ เรียกว่าสติปัฏฐาน ได้ในบาลีเป็นต้น (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับไปแห่งสติปัฏฐาน ๔ ท่านทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดแห่งกายเป็นอย่างไร ความเกิดแห่งกาย ก็เพราะอาหารก่อให้เกิด
ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสติปัฏฐาน ได้ในบาลี (ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค) เป็นต้นว่า
               กายเป็นที่ปรากฏมิใช่สติ สติเป็นที่ปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย.
               คำนั้นมีความดังนี้. ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า เป็นที่ตั้งในที่นี้.
               ถามว่า อะไรตั้ง.
               ตอบว่า สติ. ที่ตั้งอยู่แห่งสติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน.
               อีกนัยหนึ่ง ความตั้งเป็นประธาน เหตุนั้นจึงชื่อว่า ปัฏฐาน. ความตั้งแห่งสติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน เหมือนอย่างการยืนของช้าง การยืนของม้าเป็นต้น.
               ความที่พระบรมศาสดาทรงล่วงเลยความยินร้าย และความยินดีในพระสาวกทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติ ๓ อย่าง เรียกว่า สติปัฏฐาน ได้ในบาลี (สฬายตนวิภังสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) นี้ว่า
               สติปัฏฐาน ๓ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระอริยะ ทรงเสพสติปัฏฐาน ไรเล่า เมื่อทรงเสพสติปัฏฐาน ไรเล่า จึงเป็นพระศาสดา สมควรสอนพระสาวก ดังนี้.
               คำนั้นมีความดังนี้ ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะเป็นธรรมที่ควรตั้งไว้. อธิบายว่า ควรให้เป็นไป.
               ถามว่า เพราะเป็นธรรมที่ควรตั้งไว้ด้วยอะไร.
               ตอบว่า ด้วยสติ. การตั้งไว้ด้วยสติชื่อว่าสติปัฏฐาน
               ก็สติเท่านั้น เรียกว่าสติปัฏฐาน ได้ในบาลี (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) เป็นต้นว่า
               สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัมโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ ดังนี้.
               คำนั้นมีความดังนี้
               ธรรมชาติใดตั้งอยู่ทั่ว อธิบายว่า เข้าไปตั้งมั่น คือแล่นเป็นไป เหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าปัฏฐาน. สตินั้นเอง ชื่อว่าสติปัฏฐาน. อีกนัยหนึ่ง ที่ชื่อว่าสติ เพราะอรรถว่าระลึกได้ ที่ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่า เข้าไปตั้งไว้. เพราะฉะนั้น สตินั้นด้วย ปัฏฐานด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าสติปัฏฐาน. ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาสติปัฏฐานอันนี้.
               ถามว่า หากเป็นเช่นนั้น เหตุไร คำว่าสติปัฏฐานทั้งหลายจึงเป็นคำพหูพจน์.
               ตอบว่า เพราะต้องมีสติมาก. เป็นความจริง สติเหล่านั้นมีมาก เพราะต่างแห่งอารมณ์.
               ถามว่า แต่เหตุไร คำว่ามรรค จึงเป็นเอกวจนะ.
               ตอบว่า เพราะมีทางเดียว ด้วยอรรถว่าเป็นมรรค. เป็นความจริง สติเหล่านั้นแม้มี ๔ ก็นับว่าทางเดียว ด้วยอรรถว่าเป็นมรรค.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ถามว่า ในคำว่ามรรค ที่ชื่อว่ามรรค เพราะอรรถว่าอะไร ตอบว่า เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องไปสู่พระนิพพานด้วย เพราะอรรถว่า ผู้ต้องการพระนิพพานจะพึงค้นหาด้วย.
               สติทั้ง ๔ นั้นทำกิจให้สำเร็จในอารมณ์ทั้งหลาย มีกายเป็นต้นจึงถึงพระนิพพานในภายหลัง แต่ผู้ต้องการพระนิพพานทั้งหลาย จำต้องดำเนินไปตั้งแต่ต้นมา เพราะฉะนั้น สติทั้ง ๔ จึงเรียกว่า หนทางเดียว.
               เทศนาพร้อมด้วยอนุสนธิ ย่อมมีด้วยการอนุสนธิ
               คำว่า สติ เหมือนดังในบาลีทั้งหลาย (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) เป็นต้นว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมรรค เป็นเครื่องกำจัดกองทัพมาร เธอจงฟัง มรรคนั้นเป็นเครื่องกำจัดกองทัพมารเป็นอย่างไร คือสัมโพชฌงค์ ๗ ดังนี้.
               คำว่า มรรค เป็นเครื่องกำจัดกองทัพมาร และคำว่า สัมโพชฌงค์ ๗ โดยอรรถก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น ฉันใด
               คำว่า เอกายนมรรค กับคำว่า สติปัฏฐาน ๔ โดยอรรถก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้นก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นเอกวจนะ ก็เพราะเป็นทางเดียว ด้วยอรรถว่าเป็นมรรค เป็นพหุวจนะ ก็เพราะมีสติมาก โดยความต่างแห่งอารมณ์.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานว่ามี ๔ ไม่หย่อนไม่ยิ่ง.
               ตอบว่า ก็เพราะจะทรงให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์.
               แท้จริง ในจำพวกเวไนยสัตว์ที่เป็นตัณหาจริต ทิฏฐิจริต ผู้เป็นสมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน) และวิปัสสนายานิก (ผู้มีวิปัสสนาเป็นยาน) ที่เป็นไปโดยส่วนทั้งสอง คือ ปัญญาอ่อนและปัญญากล้า
               กายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์หยาบเป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้มีตัณหาจริต มีปัญญาอ่อน. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์ละเอียด เป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้มีตัณหาจริต มีปัญญากล้า. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานที่มีอารมณ์ไม่แยกออกมากนัก เป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้มีทิฏฐิจริต มีปัญญาอ่อน. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานที่มีอารมณ์แยกออกมาก เป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้มีทิฏฐิจริต มีปัญญากล้า.
               อนึ่ง สติปัฏฐานข้อ ๑ ที่มีนิมิตอันจะพึงบรรลุได้โดยไม่ยาก เป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้เป็นสมถยานิก มีปัญญาอ่อน. สติปัฏฐานข้อที่ ๒ เพราะไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์อย่างหยาบ จึงเป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้เป็นสมถยานิก มีปัญญากล้า. สติปัฏฐานข้อที่ ๓ มีอารมณ์ที่แยกออกไม่มากนัก เป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้เป็นวิปัสสนายานิก มีปัญญาอ่อน. สติปัฏฐานข้อที่ ๔ มีอารมณ์ที่แยกออกมาก เป็นทางหมดจด สำหรับเวไนยสัตว์ผู้เป็นวิปัสสนายานิก มีปัญญากล้า.
               เพราะเหตุดังนั้น จึงกล่าวว่า สติปัฏฐานมี ๔ เท่านั้น ไม่หย่อนไม่ยิ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ตรัสว่า สติปัฏฐานมี ๔ ก็เพื่อละเสียซึ่งวิปัลลาสความสำคัญผิดว่างาม สุข เที่ยงและเป็นตัวตน. แท้จริง กายเป็นอสุภะ ไม่งาม แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยังสำคัญว่างาม ในกายนั้น. ด้วยทรงแสดงความไม่งามในกายนั้นแก่สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสสติปัฏฐานข้อที่ ๑ เพื่อละวิปัลลาสนั้นเสีย. และในเวทนาเป็นต้น ที่สัตว์ยึดถือว่าสุข เที่ยง เป็นตัวตน เวทนาก็เป็นทุกข์ จิตไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา. แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยังสำคัญว่าสุข เที่ยง เป็นตัวตน ในเวทนา จิต ธรรมนั้น ด้วยทรงแสดงความเป็นทุกข์เป็นต้นในเวทนา จิต ธรรมนั้นแก่สัตว์เหล่านั้นจึงตรัสสติปัฏฐาน ๓ ที่เหลือเพื่อละวิปัลลาสเหล่านั้นเสีย เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่าที่ตรัสว่า สติปัฏฐาน ๔ ไม่หย่อนไม่ยิ่ง ก็เพื่อละความสำคัญผิดว่างาม สุข เที่ยงและตัวตนเสีย ดังที่กล่าวมานี้. มิใช่เพื่อละวิปัลลาสอย่างเดียวเท่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ที่ตรัสสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อละโอฆะ โยคะ อาสวะ คัณฐะ อุปาทานและอคติ อย่างละ ๔ ด้วย เพื่อกำหนดรู้อาหาร ๔ อย่างด้วย พึงทราบในที่มาในปกรณ์ (บาลี) เท่านี้ก่อน.
               ส่วนในอรรถกถาท่านกล่าวว่า สติปัฏฐานมีอันเดียวเท่านั้น โดยเป็นความระลึกและโดยเป็นที่ประชุมลงเป็นอันเดียวกัน มี ๔ ด้วยอำนาจอารมณ์. เปรียบเหมือนพระนครมี ๔ ประตู คนที่มาแต่ทิศตะวันออกนำสิ่งของที่อยู่ทางทิศตะวันออก มาเข้าพระนครทางประตูทิศตะวันออก คนที่มาแต่ทิศใต้ ทิศตะวันตกก็เหมือนกัน คนที่มาแต่ทิศเหนือก็นำสิ่งของที่อยู่ทางทิศเหนือ มาเข้าพระนครทางประตูทิศเหนือฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น.
               จริงอยู่ นิพพานเปรียบเหมือนนคร โลกุตตรมรรคมีองค์แปด เปรียบเหมือนประตูพระนคร สติปัฏฐานมีกายเป็นต้น เปรียบเหมือนทิศทั้งหลายมีทิศตะวันออกเป็นต้น. ก็คนที่มาแต่ทิศตะวันออกนำสิ่งของที่อยู่ทางทิศตะวันออกมาเข้าพระนครทางประตูทิศตะวันออกฉันใด ผู้ปฏิบัติโดยมุขแห่งกายานุปัสสนา เจริญกายานุปัสสนา ๑๔ วิธี ย่อมหยั่งลงสู่พระนิพพานอันเดียวกันนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดจากอานุภาพแห่งการเจริญกายานุปัสสนาก็ฉันนั้น.
               คนที่มาแต่ทิศใต้นำสิ่งของที่อยู่ทางทิศใต้ย่อมเข้ามาสู่พระนครทางประตูทิศใต้ฉันใด ผู้ปฏิบัติโดยมุขแห่งเวทนานุปัสสนาเจริญเวทนานุปัสสนา ๙ วิธี ย่อมหยั่งลงสู่พระนิพพานอันเดียวกันนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดจากอานุภาพแห่งการเจริญเวทนานุปัสสนาก็ฉันนั้น.
               คนที่มาแต่ทิศตะวันตกนำสิ่งของที่อยู่ทางทิศตะวันตก ย่อมเข้ามาสู่พระนครทางประตูทิศตะวันตกฉันใด ผู้ปฏิบัติโดยมุขแห่งจิตตานุปัสสนา เจริญจิตตานุปัสสนา ๑๖ วิธี ย่อมหยั่งลงสู่พระนิพพานอันเดียวกันนั้นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดจากอานุภาพแห่งการเจริญจิตตานุปัสสนาฉันนั้น.
               คนที่มาแต่ทิศเหนือนำสิ่งของที่อยู่ทางทิศเหนือ ย่อมเข้ามาสู่พระนครทางประตูทิศเหนือฉันใด ผู้ปฏิบัติโดยมุขแห่งธัมมานุปัสสนา เจริญธัมมานุปัสสนา ๕ วิธี ย่อมหยั่งลงสู่พระนิพพานอันเดียวกันนั้นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดจากอานุภาพแห่งการเจริญธัมมานุปัสสนาก็ฉันนั้น.
               บัณฑิตพึงทราบว่า ที่ท่านกล่าวว่า สติปัฏฐานมีอันเดียวเท่านั้น ก็ด้วยอำนาจความระลึกได้ อย่างหนึ่ง ด้วยอานุภาพประชุมลงสู่ความเป็นอันเดียวกันหนึ่ง ที่กล่าวว่ามี ๔ ก็โดยจัดตามอารมณ์ ดังกล่าวมาฉะนี้.
               คำว่า มี ๔ เป็นอย่างไร เป็นคำถามด้วยหมายจะตอบ (ถามเองตอบเอง).
               คำว่า ในธรรมวินัยนี้ คือ ในพระศาสนานี้.
               คำว่า ภิกฺขเว นั้น เป็นคำเรียกบุคคลผู้รับธรรม.
               คำว่า ภิกษุนั้น เป็นคำแสดงถึงบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยข้อปฏิบัติ. เทวดาและมนุษย์แม้เหล่าอื่น ก็ดำเนินการปฏิบัติให้พร้อมเหมือนกัน. แต่ที่ตรัสว่า ภิกษุ ก็เพราะเป็นผู้ประเสริฐอย่างหนึ่ง เพราะทรงแสดงภาวะของภิกษุด้วยการปฏิบัติอย่างหนึ่ง.
               เป็นความจริง ในบุคคลทั้งหลายผู้รับคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ เพราะเป็นประหนึ่งภาชนะรองรับคำสั่งสอนมีประการต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ.
               แต่เมื่อทรงถือเอาภิกษุแล้วคนทั้งหลายที่เหลือก็เป็นอันทรงถือเอาด้วย เหมือนอย่างในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นต้น เหล่าราชบริพารนอกนั้น ก็เป็นอันท่านรวมไว้ด้วยศัพท์ว่าราช. ผู้ใดปฏิบัติข้อปฏิบัตินี้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าภิกษุ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุ ก็เพราะจะทรงแสดงภาวะของภิกษุด้วยการปฏิบัติ.
               เป็นความจริง ผู้ปฏิบัติจะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม ย่อมนับได้ว่า เป็นภิกษุทั้งนั้น.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ (ในธรรมบท ขุททกนิกาย) ว่า
                         อลงฺกโตฺ เจปิ สมํ จเรยฺย
                         สนฺโต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี
                         สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ
                         โส พฺราหฺมโณ โส สมโณ ส ภิกฺขุ

                                   หากว่า บุคคลมีธรรมประดับแล้ว เป็น
                         ผู้สงบแล้ว ฝึกแล้ว เป็นคนแน่ เป็นพรหมจารี
                         เลิกอาชญากรรมในสัตว์ทั้งปวง พึงประพฤติ
                         สม่ำเสมออยู่ไซร้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าพราหมณ์ ผู้นั้น
                         ก็ชื่อว่าสมณะ ผู้นั้นก็ชื่อว่าภิกษุ ดังนี้.

               คำว่า ในกาย คือ ในรูปกาย.
               จริงแล้ว รูปกายในที่นั้นท่านประสงค์เอาว่า กาย เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ และธรรมทั้งหลายมีผมเป็นต้น เหมือนตัวของช้างตัวของรถเป็นต้น. ที่ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมฉันใด ที่ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นแหล่งที่มาของสิ่งที่น่ารังเกียจฉันนั้น.
               จริงแล้ว กายนั้นเป็นแหล่งที่มาของสิ่งน่ารังเกียจ คือน่าเกียจอย่างยิ่ง แม้เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ากาย.
               คำว่า เป็นแหล่งที่มา คือเป็นถิ่นเกิด ใจความของคำในคำว่า เป็นแหล่งที่มานั้น มีดังนี้ ธรรมชาติทั้งหลายมาแต่กายนั้น เหตุนั้น กายนั้นจึงชื่อว่าเป็นแหล่งที่มา.
               อะไรมา.
               สิ่งอันน่าเกลียดทั้งหลายมีผมเป็นต้นย่อมมา. ชื่อว่า อายะ เพราะเป็นแหล่งมาแห่งสิ่งน่าเกลียดทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า พิจารณาเห็นกาย หมายความว่า มีปกติพิจารณาเห็นในกาย หรือพิจารณาเห็นกาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้จะตรัสว่า ในกายแล้ว บัณฑิตพึงทราบว่าทรงกระทำศัพท์ว่ากาย ครั้งที่สองว่า พิจารณาเห็นกายอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงแสดงการกำหนด และการแยกออกจากก้อนเป็นต้น โดยไม่ปนกัน.
               ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในกาย หรือพิจารณาเห็นจิตในกาย หรือพิจารณาเห็นธรรมในกายหามิได้ ที่แท้พิจารณาเห็นกายในกายต่างหาก เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันทรงแสดงการกำหนดไม่ปนกัน ด้วยทรงแสดงอาการ คือพิจารณาเห็นกายในวัตถุที่นับว่ากาย. มิใช่พิจารณาเห็นธรรมอย่างหนึ่ง ที่พ้นจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ทั้งมิใช่พิจารณาเห็นเป็นหญิงหรือเป็นชาย ที่พ้นจากผมขนเป็นต้น.
               จริงอยู่ ในข้อนั้น กายแม้อันใด ที่นับว่าเป็นที่รวมของภูตรูปและอุปาทายรูป มีผมขนเป็นต้น มิใช่พิจารณาเห็นธรรมอย่างหนึ่งที่พ้นจากภูตรูปและอุปาทายรูป ที่แท้พิจารณาเห็นกายเป็นที่รวมอวัยวะน้อยใหญ่ในกายแม้อันนั้น เหมือนพิจารณาเห็นส่วนประกอบของรถฉะนั้น พิจารณาเห็นกายเป็นที่รวมของผมขนเป็นต้น เหมือนพิจารณาเห็นส่วนน้อยใหญ่ของพระนคร พิจารณาเห็นกายเป็นที่รวมของภูตรูปและอุปาทายรูป เหมือนแยกใบและก้านของต้นกล้วย และเหมือนแบกำมือที่วางเปล่าฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันทรงแสดงการแยกออกจากก้อน ด้วยทรงแสดงวัตถุที่นับได้ว่ากาย โดยเป็นที่รวมโดยประการต่างๆ นั่นแล้ว.
               ความจริง กายหรือชายหญิง หรือธรรมไรๆ อื่นที่พ้นจากกายอันเป็นที่รวมดังกล่าวแล้ว หาปรากฏในกายนั้นไม่ แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยึดมันผิดๆ โดยประการนั้นๆ ในกายที่สักว่า เป็นที่รวมแห่งธรรมดังกล่าวแล้ว อยู่นั่นเอง.
               เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                         ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฎฺฐํ    ยํ ทิฎฺฐํ ตํ น ปสฺสติ
                         อปสฺสํ พชฺฌเต มูฬฺโห    พชฺฌมาโน น มุจฺจติ
                                   บุคคลเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ได้เห็น
                         สิ่งใดเห็นแล้วก็ไม่เห็นสิ่งนั้น เมื่อไม่เห็น
                         ก็หลงติด เมื่อติดก็ไม่หลุดพ้น ดังนี้.
               ท่านกล่าวคำนี้ ก็เพื่อแสดงการแยกออกจากก้อนเป็นต้น.
               ด้วยศัพท์ว่าอาทิเป็นต้น ในคำนี้บัณฑิตพึงทราบความดังนี้.
               ก็ภิกษุนี้พิจารณาเห็นกายในกายนี้เท่านั้น ท่านอธิบายว่า มิใช่พิจารณาเห็นธรรมอย่างอื่น. คนทั้งหลายแลเห็นน้ำในพยับแดด แม้ที่ไม่มีน้ำฉันใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายอันนี้ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่สวยงาม ว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนและสวยงามฉันนั้น หามิได้ ที่แท้ พิจารณาเห็นกาย ท่านอธิบายว่า พิจารณาเห็นกายเป็นที่รวมของอาการ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนและไม่สวยงามต่างหาก.
               อีกอย่างหนึ่ง ก็กายอันนี้ใด ที่ท่านกล่าวไว้ข้างหน้าว่า มีลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นต้น มีกระดูกที่ป่นเป็นที่สุด ตามนัยพระบาลีเป็นต้นว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปป่าก็ดี ฯลฯ เธอมีสติหายใจเข้า ดังนี้
               และกายอันใดที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค (ขุททกนิกาย) ว่า
               ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายคือดิน กายคือน้ำ กายคือไฟ กายคือลม กายคือผม กายคือขน กายคือผิวหนัง กายคือหนัง กายคือเนื้อ กายคือเลือด กายคือเอ็น กายคือกระดูก กายคือเยื่อในกระดูก โดยความเป็นของไม่เที่ยง ดังนี้
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความของกายนั้นทั้งหมด แม้อย่างนี้ว่า ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย โดยพิจารณาเห็นในกายอันนี้เท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความอย่างนี้ว่า พิจารณาเห็นกาย ที่นับว่าเป็นที่รวมแห่งธรรมมีผมเป็นต้นในกาย โดยไม่พิจารณาเห็นส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่พึงถือว่าเป็นเรา เป็นของเราในกาย แต่พิจารณาเห็นกายนั้นๆ เท่านั้นเป็นที่รวมแห่งธรรมต่างๆ มีผมขนเป็นต้น.
               อนึ่ง พึงทราบความอย่างนี้ว่า พิจารณาเห็นกายในกาย แม้โดยพิจารณาเห็นกายที่นับว่าเป็นที่รวมแห่งอาการมีลักษณะไม่เที่ยงเป็นต้น ทั้งหมดทีเดียว ซึ่งมีนัยที่มาในปฏิสัมภิทามรรค ตามลำดับบาลี เป็นต้นว่า พิจารณาเห็นในกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่โดยเป็นของเที่ยงดังนี้.
               จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทา คือพิจารณาเห็นกายในกายรูปนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายอันนี้โดยเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เห็นโดยเป็นของเที่ยง พิจารณาเห็นโดยเป็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นโดยเป็นสุข พิจารณาเห็นโดยมิใช่ตัวตน ไม่ใช่เห็นเป็นตัวตน ด้วยอำนาจอนุปัสสนา (การพิจารณาเห็น) ๗ ประการ มีพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมเบื่อหน่าย มิใช่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด มิใช่กำหนัด ย่อมดับทุกข์ มิใช่ก่อทุกข์ ย่อมสละ มิใช่ยึดถือ.
               ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาเห็นกายอันนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาความสำคัญว่าเที่ยงเสียได้. เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาความสำคัญว่าเป็นสุขเสียได้. เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่ใช่ตัวตน ย่อมละอัตตสัญญาความสำคัญว่าเป็นตัวตนเสียได้. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีเสียได้. เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดเสียได้. เมื่อดับทุกข์ ย่อมละเหตุเกิดทุกข์เสียได้. เมื่อสละย่อมละความยึดถือเสียได้ ดังนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้.
               คำว่า อยู่ คือเป็นไปอยู่.
               คำว่า มีเพียร มีอรรถว่า สภาพใดย่อมแผดเผากิเลสทั้งหลายในภพทั้ง ๓ เหตุนั้น สภาพนั้นชื่อว่าอาตาปะแผดเผากิเลส คำนี้เป็นชื่อของความเพียร. ความเพียรของผู้นั้นมีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อาตาปีมีความเพียร.
               คำว่า มีสัมปชัญญะ คือ ผู้ประกอบด้วยความรู้ที่นับว่า สัมปชัญญะ.
               คำว่า มีสติ คือ ประกอบด้วยสติกำกับกาย.
               ก็ภิกษุรูปนี้กำหนดอารมณ์ด้วยสติ พิจารณาเห็นด้วยปัญญา ธรรมดาว่าปัญญาพิจารณาเห็นของผู้เว้นจากสติ ย่อมมีไม่ได้
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าสติแล จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในที่นี่จึงตรัสว่า ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ดังนี้.
               กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นอันทรงอธิบายด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ความท้อแท้ภายใน ย่อมทำอันตรายแก่ผู้ไม่มีความเพียร ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ย่อมหลงลืมในการกำหนดอุบายในการงดเว้นสิ่งที่มิใช่อุบาย ผู้มีสติหลงลืมแล้ว ย่อมไม่สามารถในการกำหนดอุบายและในการสละสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย ด้วยเหตุนั้น กัมมัฏฐานนั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น กัมมัฏฐานนั้นย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งธรรมเหล่าใด เพื่อทรงแสดงธรรมเหล่านั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ. ทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และองค์แห่งสัมปโยคะ
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงองค์แห่งการละ จึงตรัสว่า นำออกเสีย ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า นำออกเสีย หมายความว่า นำออกเสีย ด้วยการนำออกชั่วขณะหรือด้วยการนำออกด้วยการข่มไว้.
               คำว่า ในโลก ก็คือในกายอันนั้นแหละ.
               จริงอยู่ กายในที่นี้ทรงหมายถึงโลก เพราะอรรถว่าชำรุดทรุดโทรม. อภิชฌาและโทมนัส มิใช่พระโยคาวจรนั้นละได้ในอารมณ์เพียงกายเท่านั้น แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็ละได้เหมือนกัน
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในวิภังค์ (สติปัฏฐานวิภังค์) ว่า
               อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก.
               คำนั้น ท่านกล่าวตามนัยแห่งการขยายความ เพราะธรรมเหล่านั้นนับได้ว่าเป็นโลก. แต่ท่านกล่าวคำอันใดไว้ว่า โลกเป็นอย่างไร โลกก็คือกายอันนั้นแหละ ความในคำนั้นมีดังนี้แล.
               พึงเห็นการเชื่อมความดังนี้ว่า นำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลกนั้น. ก็เพราะในที่นี้ กามฉันท์รวมเข้ากับศัพท์ว่า อภิชฌา พยาบาทรวมเข้ากับศัพท์ว่าโทมนัส ฉะนั้น
               จึงควรทราบว่า ทรงอธิบายการละนิวรณ์ด้วยการทรงแสดงธรรมอันเป็นคู่ที่มีกำลังนับเนื่องในนิวรณ์. แต่โดยพิเศษ ในที่นี้ ตรัสการละความยินดีที่มีกายสมบัติเป็นมูลด้วยการกำจัดอภิชฌา ตรัสการละความยินร้ายที่มีกายวิบัติเป็นมูล ด้วยการกำจัดโทมนัส ตรัสการละความยินดียิ่งในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา ตรัสการละความไม่ยินดียิ่งในการเจริญกายานุปัสสนา ด้วยการกำจัดโทมนัส ตรัสการละกายของผู้ใส่ซึ่งภาวะว่างามเป็นสุขเป็นต้นที่ไม่มีจริงในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา และตรัสการละการเอาออกไปซึ่งภาวะที่ไม่งาม เป็นทุกข์เป็นต้นที่มีอยู่จริงในกาย ด้วยการกำจัดโทมนัส. ด้วยพระดำรัสนั้น เป็นอันทรงแสดงอานุภาพของความเพียร และความเป็นผู้สามารถในการประกอบความเพียรของพระโยคาวจร.
               แท้จริง อานุภาพของความเพียรนั้น ก็คือเป็นผู้หลุดพ้นจากความยินดียินร้าย ครอบงำความไม่ยินดีและความยินดี และเว้นจากใส่สิ่งที่ไม่มีจริง และนำออกซึ่งสิ่งที่มีจริง. ก็พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้หลุดพ้นจากความยินดียินร้าย เป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี และความยินดี ไม่ใส่สิ่งที่ไม่มีจริง ไม่นำออกซึ่งสิ่งที่มีจริง จึงชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการประกอบความเพียรด้วยประการฉะนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง ตรัสกัมมัฏฐานด้วยอนุปัสสนา ในคำที่ว่า กาเย กายานุปสฺสี พิจารณาเห็นกายในกาย. ตรัสการบริหารกายของพระโยคาวจรบำเพ็ญกัมมัฏฐาน ด้วยวิหารธรรมที่กล่าวไว้แล้ว ในคำนี้ว่า วิหรติ อยู่.
               ก็ในคำเป็นต้นว่า อาตาปี มีความเพียร พึงทราบว่า
               ตรัสความเพียรชอบด้วยอาตาปะความเพียรเครื่องเผากิเลส
               ตรัสกัมมัฏฐานที่ให้สำเร็จประโยชน์ทั่วๆ ไป หรืออุบายเครื่องบริหารกัมมัฏฐานด้วยสติสัมปชัญญะ
               หรือตรัสสมถะที่ได้มาด้วยอำนาจกายานุปัสสนา
               ตรัสวิปัสสนาด้วยสัมปชัญญะ
               ตรัสผลแห่งภาวนาด้วยการกำจัดซึ่งอภิชฌาและโทมนัสฉะนี้.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 247อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 10 / 301อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=6257&Z=6764&bgc=honeydew
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=9140
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=9140
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :