ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 247อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 10 / 301อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาสติปัฏฐานสูตร

หน้าต่างที่ ๓ / ๖.

               เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ วิธีอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ เพื่อจะตรัสเวทนานุปัสสนา ๙ วิธี จึงตรัสว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนาเป็นอย่างไรเล่า เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขเวทนา ความว่า ภิกษุกำลังเสวยเวทนาที่เป็นสุข ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา. จะวินิจฉัยในคำนั้น แม้เด็กทารกที่ยังนอนหงาย เมื่อเสวยสุขในคราวดื่มน้ำนมเป็นต้น ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา ก็จริงอยู่. แต่คำว่า สุขเวทนาเป็นต้นนี้ มิได้ตรัสหมายถึงความรู้ชัดอย่างนั้น. เพราะความรู้ชัดเช่นนั้น ไม่ละความเห็นว่าสัตว์ ไม่ถอนความสำคัญว่าเป็นสัตว์ ไม่เป็นกัมมัฏฐานหรือสติปัฏฐานภาวนาเลย. ส่วนความรู้ชัดของภิกษุนี้ ละความเห็นว่าสัตว์ ถอนความสำคัญว่าเป็นสัตว์ได้ ทั้งเป็นกัมมัฏฐาน เป็นสติปัฏฐานภาวนา. ก็คำนี้ตรัสหมายถึงความเสวยสุขเวทนาพร้อมทั้งที่รู้ตัวอยู่ อย่างนี้ว่า ใครเสวย ความเสวยของใคร เสวยเพราะเหตุไร.

               สักว่าเวทนาไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา               
               จะวินิจฉัยในปัญหาเหล่านั้น ถามว่า ใครเสวย ตอบว่า มิใช่สัตว์หรือบุคคลไรๆ เสวย.
               ถามว่า ความเสวยของใคร ตอบว่า มิใช่ความเสวยของสัตว์หรือบุคคลไรๆ.
               ถามว่า เสวยเพราะเหตุไร ตอบว่า ก็เวทนาของภิกษุนั้นมีวัตถุเป็นอารมณ์อย่างเดียว เหตุนั้น เธอจึงรู้อย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายเสวยเวทนา เพราะทำวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งเวทนามีสุขเวทนาเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์.
               ก็คำว่า เราเสวยเวทนา เป็นเพียงสมมติเรียกกัน เพราะยึดถือความเป็นไปแห่งเวทนานั้น. เธอกำหนดว่า สัตว์ทั้งหลายเสวยเวทนาเพราะทำวัตถุให้เป็นอารมณ์ อย่างนี้ พึงทราบว่า เธอย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา เหมือนพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งสำนักอยู่ที่จิตตลบรรพต.

               พระเถระผู้เสวยทุกขเวทนา               
               ได้ยินว่า พระเถระทุรนทุรายกลิ้งเกลือกอยู่ด้วยเวทนากล้าแข็ง คราวอาพาธไม่ผาสุก. ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งเรียกถามว่า ท่านเจ็บตรงไหนขอรับ. ท่านตอบว่า บอกที่เจ็บไม่ได้ดอกเธอ ฉันทำวัตถุเป็นอารมณ์ เสวยเวทนา. ถามว่า ตั้งแต่เวลารู้ชัดอย่างนั้น ท่านอดกลั้นไว้ไม่ควรหรือขอรับ. ตอบว่า ฉันจะอดกลั้นนะเธอ. ภิกษุหนุ่มกล่าวว่า อดกลั้นได้ก็ดีนะสิ ขอรับ. พระเถระก็อดกลั้น (ทุกขเวทนา). โรคลมก็ผ่าแล่งจนถึงหัวใจ ไส้ของพระเถระก็ออกมากองบนเตียง. พระเถระชี้ให้ภิกษุหนุ่มดู ถามว่า อดกลั้นขนาดนี้ควรไหม. ภิกษุหนุ่มก็นิ่ง. พระเถระก็ประกอบความเพียรสม่ำเสมอ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เป็นพระอรหัตสมสีสี ปรินิพพานแล้ว.
               อนึ่ง ภิกษุผู้เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น เสวยทุกขเวทนา ฯลฯ อทุกขสุขเวทนาปราศจากอามิสอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ อทุกขมสุขเวทนาปราศจากอามิส เหมือนเมื่อเธอเสวยสุขเวทนาแล.

               เวทนาเป็นอรูปกัมมัฏฐาน               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสรูปกัมมัฏฐานด้วยประการฉะนี้แล้ว เมื่อจะตรัสอรูปกัมมัฏฐาน แต่เพราะที่ตรัสด้วยอำนาจผัสสะ หรือด้วยอำนาจจิต กัมมัฏฐานไม่ปรากฏชัด ปรากฏเหมือนมืดมัว ส่วนความเกิดขึ้นแห่งเวทนาทั้งหลายปรากฏชัด กัมมัฏฐานปรากฏชัดด้วยอำนาจเวทนา ฉะนั้น จึงตรัสอรูปกัมมัฏฐานด้วยอำนาจเวทนา แม้ในพระสูตรนี้ เหมือนอย่างในสักกปัญหสูตร. กถามรรค ในพระสูตรนี้นั้น พึงทราบโดยนัยที่ตรัสไว้ในสักกปัญหสูตรแล้วนั่นแลว่า ก็กัมมัฏฐานมี ๒ อย่าง คือรูปกัมมัฏฐาน และอรูปกัมมัฏฐาน ดังนี้เป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ในคำว่า สุขเวทนา ดังนี้เป็นต้น มีปริยาย (ทาง) แห่งความรู้ชัดอีกอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้.
               ข้อว่า สุขํ เวทนํ เวทิยามีติ ปชานาติ รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา ความว่า
               เมื่อเสวยสุขเวทนา เพราะขณะเสวยสุขเวทนา ไม่มีทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาดังนี้. เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าเวทนาไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะในขณะที่ไม่มีทุกขเวทนาที่เคยมีมาก่อน และเพราะก่อนแต่นี้ ก็ไม่มีสุขเวทนานี้. เธอรู้ตัวในสุขเวทนานั้นอย่างนี้.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ (ในทีฆนขสูตร มูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย) ดังนี้ว่า
               ดูก่อนอัคคิเวสสนะ สมัยใด เสวยสุขเวทนา สมัยนั้น หาเสวยทุกขเวทนาไม่ หาเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่ ย่อมเสวยสุขเวทนาเท่านั้น สมัยใด เสวยทุกขเวทนา ฯลฯ เสวยอทุกขมสุขเวทนา สมัยนั้น หาเสวยสุขเวทนาไม่ หาเสวยทุกขเวทนาไม่ เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น
               ดูก่อนอัคคิเวสสนะ แม้สุขเวทนาแล ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความจางไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้ทุกขเวทนาเล่า ฯลฯ แม้อทุกขมสุขเวทนาเล่า ไม่เที่ยง ฯลฯ มีความดับไปเป็นธรรมดา
               ดูก่อนอัคคิเวสสนะ อริยสาวกสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในสุขเวทนา แม้ในทุกขเวทนา แม้ในอทุกขสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นย่อมหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำก็ทำเสร็จแล้ว กิจอย่างอื่นเพื่อเป็นอย่างนี้ไม่มีอีกดังนี้.

               เวทนาที่เป็นสามิสและนิรามิส               
               จะวินิจฉัยในข้อว่า สามิสํ วา สุขํ หรือสุขเวทนาที่มีอามิส เป็นต้น
               โสมนัสสเวทนาอาศัยอามิสคือกามคุณ ๕ อาศัยเรือน ๖ ชื่อว่าสามิสสุขเวทนา
               โสมนัสสเวทนาอาศัยเนกขัมมะ ๖ ชื่อว่านิรามิสสุขเวทนา
               โทมนัสสเวทนาอาศัยเรือน ๖ ชื่อว่าสามิสทุกขเวทนา
               โทมนัสสเวทนาอาศัยเนกขัมมะ ๖ ชื่อว่านิรามิสทุกขเวทนา
               อุเบกขาเวทนาอาศัยเรือน ๖ ชื่อว่าสามิสอทุกขมสุขเวทนา
               อุเบกขาอันอาศัยเนกขัมมะ ๖ ชื่อว่านิรามิสอทุกขมสุขเวทนา.
               อนึ่ง การจำแนกเวทนาแม้เหล่านั้นท่านกล่าวไว้ในสักกปัญหสูตรแล้วแล.

               เวทนาในเวทนานอก               
               ข้อว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา หรือภายใน ความว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายของตน ในเวทนาทั้งหลายของคนอื่น หรือในเวทนาทั้งหลายของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยการกำหนดสุขเวทนาเป็นต้น อย่างนี้อยู่.
               ส่วนในข้อว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิด (ในเวทนาทั้งหลาย) นี้ มีวินิจฉัยว่า ภิกษุเมื่อเห็นความเกิด และความเสื่อมแห่งเวทนาทั้งหลายด้วยอาการอย่างละ ๕ ว่า เพราะอวิชชาเกิด จึงเกิดเวทนาดังนี้เป็นต้น พึงทราบว่า เธอพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดในเวทนาทั้งหลาย ตามกาลอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในเวทนาทั้งหลาย ตามกาลอยู่.
               ข้อต่อจากนี้ไปก็มีนัยดังที่กล่าวมาแล้วในกายานุปัสสนานั่นแล.

               สติกำหนดเวทนาเป็นอริยสัจ ๔               
               แต่ในเวทนานุปัสสนานี้ มีข้อต่างกันอย่างเดียว คือพึงประกอบความอย่างนี้ว่า สติที่กำหนดเวทนาเป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจเป็นต้นแล้ว พึงทราบว่า เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ของภิกษุผู้กำหนดเวทนาเป็นอารมณ์.
               คำที่เหลือก็มีความเช่นนั้นเหมือนกัน.
               จบเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน               

               จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๙ วิธี อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสจิตตานุปัสสนา ๑๖ วิธี จึงตรัสว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตตานุปัสสนาเป็นอย่างไรเล่า เป็นต้น.

               จำแนกอารมณ์ของจิต               
               บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า จิตมีราคะ คือจิตที่เกิดพร้อมด้วยโลภะ ๘ อย่าง.
               บทว่า จิตปราศจากราคะ คือจิตที่เป็นกุศล และอพยากฤตฝ่ายโลกิยะ. แต่ข้อนี้เป็นการพิจารณา มิใช่เป็นการชุมนุมธรรม เพราะฉะนั้น ในคำว่า จิตมีราคะ นี้ จึงไม่ได้โลกุตตรจิต แม้แต่บทเดียว. อกุศลจิต ๔ ดวงที่เหลือ จึงไม่เข้าบทต้น ไม่เข้าบทหลัง.
               บทว่า จิตมีโทสะ ได้แก่จิต ๒ ดวง ที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัส.
               บทว่า จิตปราศจากโทสะ ได้แก่จิตที่เป็นกุศล และอพยากฤตฝ่ายโลกิยะ. อกุศลจิต ๑๐ ดวงที่เหลือ ไม่เข้าบทต้น ไม่เข้าบทหลัง.
               บทว่า จิตมีโมหะ ได้แก่จิต ๒ ดวง คือจิตที่เกิดพร้อมด้วยวิจิกิจฉาดวง ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยอุทธัจจะดวง ๑. แต่เพราะโมหะย่อมเกิดได้ในอกุศลจิตทั้งหมด ฉะนั้น แม้อกุศลจิตที่เหลือก็ควรได้ในบทว่า จิตมีโมหะ นี้โดยแท้.
               จริงอยู่ อกุศลจิต ๑๒ (โลภมูล ๘ โทสมูล ๒ โมหมูล ๒) ท่านประมวลไว้ในทุกกะ (หมวด ๒) นี้เท่านั้น.
               บทว่า จิตปราศจากโมหะ ได้แก่จิตที่เป็นกุศล และอพยากฤตฝ่ายโลกิยะ.
               บทว่า จิตหดหู่ ได้แก่จิตที่ตกไปในถีนมิทธะ. ก็จิตที่ตกไปในถีนมิทธะนั้น ชื่อว่า จิตหดหู่.
               บทว่า ฟุ้งซ่าน ได้แก่จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุทธัจจะ. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุทธัจจะนั้น ชื่อว่า จิตฟุ้งซ่าน.
               บทว่า จิตเป็นมหัคคตะ ได้แก่จิตที่เป็นรูปาวจร และอรูปาวจร.
               บทว่า จิตไม่เป็นมหัคคตะ ได้แก่จิตที่เป็นกามาวจร.
               บทว่า สอุตฺตรํ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่จิตที่เป็นกามาวจร.
               บทว่า อนุตฺตรํ จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่จิตที่เป็นรูปาวจร และอรูปาวจร. แม้ในจิตเหล่านั้น จิตที่ชื่อว่า สอุตตระ ได้แก่จิตเป็นรูปาวจร จิตชื่อว่า อนุตตระ ได้แก่ จิตที่เป็นอรูปาวจร.
               บทว่า สมาหิตํ จิตตั้งมั่นแล้ว ได้แก่อัปปนาสมาธิหรืออุปจารสมาธิ.
               บทว่า อสมาหิตํ จิตไม่ตั้งมั่น ได้แก่จิตที่เว้นจากสมาธิทั้งสอง.
               บทว่า วิมุตฺตํ จิตหลุดพ้น ได้แก่จิตหลุดพ้นด้วยตทังควิมุตติ และวิกขัมภนวิมุตติ.
               บทว่า อวิมุตฺตํ จิตไม่หลุดพ้น ได้แก่จิตที่เว้นจากวิมุตติทั้งสอง. ส่วนสมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ ไม่มีโอกาสในบทนี้เลย.

               จิตในจิตนอก               
               คำว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา หรือภายใน ความว่า ภิกษุโยคาวจรกำหนดจิตที่เป็นไปในสมัยใดๆ ด้วยการกำหนดจิตมีราคะเป็นต้นอย่างนี้ ชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตของตน หรือในจิตของคนอื่น ในจิตของตนตามกาล หรือในจิตของคนอื่นตามกาลอยู่.
               ก็ในคำว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดนี้ พึงนำความเกิดและความเสื่อมแห่งวิญญาณออกเทียบเคียงด้วยอาการอย่างละ ๕ ว่า เพราะเกิดอวิชชา วิญญาณจึงเกิดดังนี้เป็นต้น.
               ข้อต่อไปจากนี้ ก็มีนัยดังกล่าวมาแล้วแล.

               สติกำหนดจิตเป็นอริยสัจ ๔               
               แต่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ มีข้อแตกต่างกันอย่างเดียว คือพึงประกอบความว่า สติที่กำหนดจิตเป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจ ดังนี้เป็นต้น แล้วพึงทราบว่า เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ ของภิกษุผู้กำหนดจิตเป็นอารมณ์.
               คำที่เหลือก็เช่นเดียวกันนั่นแล.
               จบจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 247อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 10 / 301อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=6257&Z=6764&bgc=snow
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=9140
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=9140
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :